Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้องถือว่าภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบของทหาร ในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ภายใต้การนำของประธาน คือ นางอมรา พงศาพิชญ์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ในฐานะของผู้นำองค์กร อิสระสำคัญเฉกเช่นหน่วยงานนี้

 

 ประเด็นสิทธิมนุษยชนในอเมริกาได้รับความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับมีหน่วยงานเฉพาะด้านนี้ ทั้งในองค์กรการปกครองระดับท้องถิ่นหลายแห่ง  เช่น ตามเมือง(City)ต่างๆ ยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องสิทธิมนุษยชนเอาด้วยซ้ำ (เปรียบเทียบกับเมืองไทยเพื่อให้เห็นภาพ  คือ  ในระดับเทศบาลของอเมริกายังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำเทศบาลเลย) รวมถึงในระดับการปกครองในส่วนของรัฐบาลกลาง หรือในระดับประเทศ

 

ขณะที่วัฒนธรรมอเมริกันเองก็ถือว่า สิทธิมนุษยชน มีความสำคัญมากในอันดับต้นๆ ทั้งโดยตัวกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญและระบบวัฒนธรรมของอเมริกันเอง

 

ความจริงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยคนปัจจุบัน ก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากอเมริกา ดังนั้นไม่มากก็น้อย น่าจะเป็นเหตุทำให้น่าเชื่อได้ว่า ย่อมต้องได้รับการซึมซับ เรื่องราวเชิงความรู้และเชิงวัฒนธรรม ค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของอเมริกันมาก่อนอย่างแน่นอน       และย่อมต้องทราบดีว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้ ในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ทั้งสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล  คือ เหมือนกันหมดทั่วโลก

 

เชื่อว่า เมืองไทยเองตระหนักถึงเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญ จนเกิดเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมา นับตั้งแต่ปี 2544 พร้อมกับข้อกำหนดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดเดียวกันนี้

 

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบฯใหญ่ครั้งล่าสุด คนไทยหลายๆคน คงไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯในเมืองไทยนั้นมีอยู่ด้วยซ้ำ  รวมถึงบทบาทหน้าที่ว่ามีอย่างไรบ้าง   แหละเป็นเหตุให้ที่ผ่านมา ทั้งสื่อและประชาชนมีคำถามมากมายต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระแห่งชาติชุดเดียวกันนี้

 

เหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปหรือองค์กรประชาชนที่เดือดร้อนเกี่ยวกับการถูกเบียดเบียนหรือละเมิดเรื่องสิทธิ์ ก็อาจไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ์ต่อคณะกรรมการสิทธิฯได้

 

หน้าที่บางประการของคณะกรรมการสิทธิฯ เช่น ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการ ,         หน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้เป็นต้นนั้น

 

มองอย่างพื้นๆแล้ว นอกเหนือไปจากการการละเมิดต่อชีวิต(ที่ถือว่าร้ายแรงมาก)ชัดเจนประการหนึ่งแล้ว ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆในเมืองไทยยังมีหลายรูปแบบที่มองไม่ใคร่เห็นกัน แต่มีอยู่ และไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการสิทธิฯได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะรับผิดชอบตามกฎหมายหรือไม่ หรือมองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับในสังคมไทย?

 

ความจริงสิทธิทำนองนี้ ก็จัดเข้าในหมวด ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน

 

ตัวอย่างเช่น การรับสมัครบุคลากรเข้าทำงานในองค์กรต่างๆในเมืองไทย ยังแบ่งแยกและถือเกณฑ์ตาม เพศและอายุซึ่งกฎหมายสิทธิ์เข้าไปคุ้มครองไม่ถึง  เพราะไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาเรื่องเพศและอายุเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

 

การที่เศรษฐกิจของประเทศจะเดินหน้าไปด้วยดีมีเสถียรภาพ(ดีกว่าที่เป็นอยู่)ได้นั้น ต้องอาศัยแรงงานและมันสมองของคนในประเทศโดยไม่ทำให้เรื่องเพศและวัย(อายุ)กลายเป็นข้อจำกัด ซึ่งน่าเสียดายประสบการณ์ของคนเหล่านี้ที่น่าจะเอามาสร้างสรรค์ประเทศได้มาก ยกเว้นในบางสาขาอาชีพที่มีลักษณะการทำงานรูปแบบพิเศษ เช่น ต้องใช้กำลังหรือความคล่องตัวด้านภายภาพ

 

ข้อจำกัดเรื่องเพศและวัยในการทำงานที่เห็นกันมากที่สุดในเมืองไทย เช่น การที่ผู้มีอายุเกิน 35 หรือ 40 ปีขึ้นไป ถูกปฏิเสธในการรับเข้าทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งนี่ก็คือ การแบ่งแยกหรือ Discrimination อีกอย่างหนึ่งที่มีการละเมิดจนเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นความอยุติธรรมที่คุ้นชิน” ในในสังคมไทย

   

เปรียบเทียบตัวอย่างในอเมริกา เพื่อนคนไทยที่ลาสเวกัส (รัฐเนวาด้า) คนหนึ่ง โดนเรียกตัวไปทำงานที่สำนักงานเอฟบีไอ หลังจากที่เขาผ่านการสอบสัมภาษณ์ ที่วอชิงตันดีซี ในขณะที่เขามีอายุ 55 ปีในตอนนั้น

 

นักศึกษาอเมริกันจำนวนมาก ในหลากหลายสาชาวิชา กว่าจะเรียนจบปริญญาตรี หรือหลักสูตรต่างๆ อายุก็ปาไปค่อนครึ่งชีวิต อย่างเช่น มีนักศึกษาแพทย์จำนวนมากเรียนจบเอาตอนที่พวกเขามีอายุ เลย 45 ปี แล้ว รวมทั้งคนอเมริกันอีกหลายคน ที่อาศัยความพยายามในการศึกษาอย่างไม่ย่อท้อ โดย “วัย”ไม่ถูกทำให้กลายเป็นข้อจำกัด ตราบเท่าที่ร่างกาย และจิตใจของพวกเขายังสามารถทำงานตามลักษณะของงานได้ที่กำหนดให้ทำได้

 

การทำงานอย่างไม่ย่อท้อและแข็งขัน โดยไม่ให้วัยกลายเป็นอุปสรรค เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอเมริกัน เพราะส่วนใหญ่หลังจากชั้นมัธยมปลาย(High school) แล้วก็ต้องหางานทำ ส่งเสียตัวเองเรียน

 

ดังนั้น การมองวัย(อายุ)ว่า เป็นข้อจำกัดในการทำงาน ถือเป็นความผิดปกติสำหรับวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน ขณะเดียวกันการไม่รับคนทำงานโดยข้ออ้างเรื่องวัย(อายุ)สำหรับการทำงานส่วนใหญ่ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอเมริกัน ผู้ที่โดนปฏิเสธการจ้างงานจากลักษณะดังกล่าวนี้สามารถนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลได้ (ยกเว้นงานบางประเภท ที่ต้องอาศัยความพิเศษทางด้านกายภาพ)

   

และนี่คือตัวอย่างแค่ ความเท่าเทียมเรื่องวัย ที่ให้ภาพที่แตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างชัดเจน

 

หากเป็นเมืองไทยอาจมีคำพูดที่ได้ยินกันจนชินว่า คุณแก่เกินไป(ที่จะทำงาน)ซะแล้วซึ่ง คณะกรรมการสิทธิฯอาจไม่ได้ยินคำพูดพวกนี้ก็ได้ หรือได้ยิน แต่ก็ชินหูจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

 

ความจริง ประเด็นใหญ่ใจความ กลับไม่ใช่เรื่องค่าจ้างที่มากหรือน้อย(ตามวัยและประสบการณ์)แต่อย่างใด หากประเด็นที่ถูกหมดเม็ดซ่อนเร้นเอาไว้ ก็คือ การแบ่งแยกในเรื่องวัย

 

สถานการณ์ในเมืองไทยนับว่า เป็นเรื่องติดตลก เพราะยึดติด “วัฒนธรรม(วัย)สี่สิบ”  คือ หากผู้ประสงค์อยากได้งานทำโดยที่ต้องไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท หรือที่ใดๆ แต่อายุเลยสี่สิบขึ้นไป จะพบกับความยากลำบากแสนสาหัสสากรรจ์เนื่องด้วยเกณฑ์สมบัติด้านอายุ ที่เปรียบเสมือนกำแพงใหญ่ในการได้(หรือไม่ได้)งานทำ

 

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นว่าพวกที่ต้องการงานทำเหล่านี้ จะได้ค่าจ้างในอัตราที่สูงตามวัย เพราะค่าจ้างเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับวัยหรือแม้กระทั่งประสบการณ์การทำงาน  ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประสงค์จะทำงานต้องการและพอใจทำงานนั้นหรือไม่ ขณะมีผู้ที่(จะ)ว่าจ้างก็ต้องพร้อมรับพิจารณาการจ้างโดยปราศจากการคำนึงถึงวัย(อายุ)ของผู้สมัครงาน

 

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเมืองไทย จึงเท่ากับเป็นการประเมินค่าความสำเร็จของคนในเชิงเดี่ยวที่หมายถึง การประเมินค่าจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมเชิงวัตถุ + วัย (+ เพศ +….)  โดยขาดองค์ประกอบอย่างอื่นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ(มีความสุข)

 

ขณะเดียวกันการแบ่งแยกเรื่องวัย(อายุ) ไม่จำเป็นว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากเท่านั้น ผู้ที่อยู่อายุน้อย ก็อาจถูกกีดกันจากสังคมหรือองค์กรที่รับสมัครงานได้อีกด้วย

 

แม้กระทั่งการทำธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงินในเมืองไทย ข้อจำกัดในเรื่องอายุก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเกณฑ์จากบรรดาธนาคารทั้งหลายเช่นกัน เช่น การประเมินและการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ที่ใช้เกณฑ์เรื่องอายุของลูกค้าเพื่อการอนุมัติสินเชื่อ หรือธุรกรรมทั่วไปอย่างอื่นก็ตาม

           

ในเมื่อการรับคนเข้าทำงาน หรือการติดต่อทำธุรกรรมการเงินต่างๆ มีเงื่อนไขในเรื่องความมากน้อยของอายุ และรายละเอียดการแบ่งแยกที่เป็นข้อจำกัดหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ไยจะไปพูดถึงการส่งเสริมกิจกรรมด้านอื่นๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไกลออกไปจากที่เป็นอยู่ได้

 

เพราะวัย(อายุ) เป็นหลักพื้นฐานสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน(สากล) นั่นเอง และสามารถช่วยให้ประเทศวัฒนาไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีเสถียรภาพภายในในแง่ของสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค(ยุติธรรม)

 

หากถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล คณะกรรมการสิทธิฯ ย่อมจะต้องรู้ว่า ยังมีหน้าที่และเรื่องที่ต้องสะสางเกี่ยวกับการยกระดับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำก้ำกึ่งเอารัดเอาเปรียบอยู่อีกหลายเรื่อง  ดังมี เรื่องอายุ(ไม่)เป็นเพียงตัวเลข นี้เป็นต้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net