ASEAN Weekly: ชนชั้นนำอุษาคเนย์

รับชมแบบ HD คลิกที่นี่

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ติดตามการวิเคราะห์ลักษณะของชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแต่ละประเทศมีผู้นำที่มียุทธศาสตร์ในการครองอำนาจและพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันไป ถ้าจะมองให้ลึกซึ้งต้องทำความเข้าใจกลุ่มชนชั้นนำในโครงสร้างทางการเมืองของรัฐต่างๆ โดยที่โครงสร้างทางการเมืองหลังได้รับเอกราชของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังได้ มีผลอย่างยิ่งยวดต่อกุศโลบายของชนชั้นนำ ทั้งนี้หนังสือ The Cambridge History of Southeast Asia ซึ่ง Nicholas Tarling เป็นบรรณาธิการนั้น แบ่งโครงสร้างรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

หนึ่ง โครงสร้างแบบปฏิวัติ รัฐเหล่านี้จะผ่านการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยสงคราม และการปฏิวัติ เช่น รัฐในอินโดจีน กรณีเวียดนาม และกรณีอินโดนีเซีย สมัยซูการ์โน

สอง โครงสร้างแบบพหุภาพ กรณีพม่าและมาเลเซีย ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ กรณีพม่า สมัยนายพลออง ซาน พยายามให้เกิดเขตปกครองพิเศษ และให้หลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ก็ถูกลอบสังหาร พออูนุขึ้นมาเป็นผู้นำก็ปฏิเสธความเป็นพหุรัฐ และยิ่งปฏิเสธหนักในสมัยที่เนวินขึ้นมาเป็นรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร

กรณีต่อมาคือ มาเลเซีย เกิดจากการรวมตัวของหน่วยการเมืองหลากหลายในสมัยอาณานิคม รวมทั้งประชากรหลายเชื้อชาติทั้งจีน อินเดีย มลายู มาเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยผู้นำทางการเมืองมาเลเซียใช้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มต่างๆ ในประเทศ โดยมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ นอกจากนี้มาเลเซียก็ยอมแยกสิงคโปร์ออกไปเป็นรัฐเอกราช ซึ่งผิดกับพม่าที่ไม่ยอมให้รัฐใดแยกออกไปเป็นเอกราช

และสาม โครงสร้างแบบรัฐบาลใช้อำนาจแบบเต็มพิกัด เมื่อบ้านเมืองโกลาหล มักจะมีผู้นำที่รวบสถาบันทางการเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ใต้อาณัติเพื่อปกครองอย่างมั่นคง เช่น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในฟิลิปปินส์ ซูฮาร์โตที่ครองอำนาจกว่า 30 ปี ในอินโดนีเซีย เนวิน ผู้นำเผด็จการพม่าที่ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505 หรือกรณีของไทยคือในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถอนม กิตติขจร

โดยสามโครงสร้างหลักยังดำรงอยู่และมีผลต่อการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อคำถามที่ว่าหลักการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ดุลยภาคกล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนโครงสร้าง หรือภูมิทัศน์ทางการเมือง ชนชั้นนำอาจไม่ใช่แค่กองทัพหรือชนชั้นนำโดดๆ อาจมีการผนึกเกาะเกี่ยวของชนชั้นนำที่หลากหลาย เดี๋ยวร่วมมือกัน เดี๋ยวขัดแย้งกัน ขณะที่การเป็นอาเซียนภิวัฒน์จะทำให้มีการสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างชนชั้นนำของประเทศเพื่อนบ้าน มีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ 

และนอกจากอาเซียนภิวัฒน์ ยังมีเอเชียภิวัฒน์ มีตัวแสดงชนชั้นนำใหม่ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติจากชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้ามาร่วมด้วย และในอนาคตเราอาจจะถวิลหาการรวมกันให้เหนียวแน่นในอาเซียน แต่อย่าลืมว่าผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นอัตตาธิปไตย เพราะฉะนั้นคนพวกนี้สนใจแต่อำนาจ ฐานพวกพ้องวงศ์วาน แม้แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในรัฐตนเองยังมีปัญหา นับประสาอะไรกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นอัตตาธิปไตยจะเป็นสลักระเบิดอยู่ท่ามกลางอาเซียนภิวัฒน์

 

คำอธิบายภาพปก: ผู้นำบางส่วนของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO องค์กรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านค่ายสังคมนิยม โดยผู้นำเหล่านี้ถ่ายภาพร่วมกันในเข้าร่วมการประชุม SEATO ที่มะนิลา 24 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ในจำนวนนี้มีผู้นำจากชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นผู้นำอำนาจนิยมด้วย เช่น นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีจากเวียดนามใต้ (ปัจจุบันถูกผนวกกับเวียดนามเหนือกลายเป็นเวียดนามใน พ.ศ. 2518) เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีจากไทย

ในภาพจากซ้ายไปขวา นายกรัฐมนตรีเงวียน เกา กี (นายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้), แฮโรลด์ โฮลด์ (นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย) ปัก จอง ฮี (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้) เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) เคท โฮลีโยอัค (นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์) พลจัตวาเงวียน วัน ทิว (ประธานาธิบดีเวียดนามใต้) จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกรัฐมนตรีไทย) และลินดอน บี จอห์นสัน (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) 

ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/SEATO / Frank Wolfe/White House Photo Office/Lyndon B.Johnson Library (public domain)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท