รอยแผลเก่า จาก อ.อ.ป. สู่การละเมิดสิทธิบริการขั้นพื้นฐาน

ถ้อยคำถาม เมื่อชุมชนจะมีการพัฒนาต่อไปด้วยการติดตั้งไฟฟ้า ย่อมมีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เหตุใด อ.อ.ป.ต้องเข้ามาขับไล่ ทั้งที่จริง พวกเขาเหล่านั้น มีสิทธิในพื้นที่ดินทำกินมาก่อน

 
 
ความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ คือ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ความต้องการดังกล่าวนั้น แน่นอนว่า เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนในสังคมต้องได้รับด้วยความสมดุล ด้วยความเสมอภาคในการดำเนินชีวิตร่วมกัน ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายเรื่อง หลากมุม ที่ชีวิตคนในระดับรากหญ้ายังไม่เคยถูกคลี่ดู เช่น ชาวชุมชนบ่อแก้ว พบว่าสิ่งที่พวกเขากว่า 277 ครอบครัว ต้องตกอยู่ในสภาพความเป็นผู้ที่เดือดร้อนกรณีสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกิน
 
ท่ามกลางปัญหา อุปสรรค ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้สร้างขึ้นมา หากเป็นเพราะพวกเขาต่างประสบชะตากรรม ด้วยมาจากการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิ์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ที่เบียดขับให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนตกขอบไปจากเส้นทางเดินชีวิตขั้นพื้นฐานในผืนดินของพวกเขาเอง ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ กลายเป็นแรงงานรับจ้าง บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย เพราะไม่มีที่ดินทำกิน
 
 
กำเนิดชุมชนบ่อแก้ว
 
ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความร่วมแรง รวมใจ ของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม พวกเขาเลือกที่จะยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ภายหลังที่ อ.อ.ป. ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกป่ายูคาลิปตัส (สวนป่าคอนสาร) เมื่อปี 2521
 
ทว่าผลลัพธ์ของการต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กลับถูกสนองด้วยการถูก ข่มขู่ คุกคาม จากผู้มีอิทธิพล ที่เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.ว่าจ้างมา กระทั่งมาสู่การดำเนินคดีกล่าวหาให้พวกเขาตกเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่เป็นพื้นที่ดินทำกินของพวกเขาเหล่านั้นมาก่อน มีการดำเนินการประกาศเขตป่าฯ
 
การกระทำของ อ.อ.ป.กลายให้พวกเขาเป็นคนพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย กระทั่งปรากฏการณ์เข้ามายึดผืนดินทำกินเดิมกลับคืนมา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.52 พร้อมลงหลักปักฐานเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการตนเองของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน
 
ด้วยการปลูกพืชผัก ทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ที่จะส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และเพื่อเป็นการให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เป็นการสร้างความมั่งคงอาหาร ด้วยการบริหารจัดการระบบผืนดินเพื่อให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนสืบทอดไปถึงลูกหลาน
 
 
เมื่อชีวิตถูกแขวนไว้ภายใต้กระบวนการยุติธรรม
 
แม้ชีวิตของพวกเขาไม่เคยมอดดับไปตามอุปสรรค แต่หัวใจที่เสมือนเป็นเชื้อไฟที่โหมพัด ทำให้พวกเขาไม่เคยละทิ้งในสิทธิที่ควรได้ที่ถูกความไม่เป็นธรรมฉวยโอกาสมาประกาศเขตป่าสงวนฯ ให้นายทุน หรือ อ.อ.ป.เข้ามาสัมปทาน แล้วขับไล่พวกเขาออกไปนั้น
 
การที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่ชอบธรรมดังกล่าว กลับถูก อ.อ.ป.ใช้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีกล่าวหาให้พวกเขาตกเป็นผู้บุกรุกสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ฟ้องดำเนินคดีขับไล่ผู้เดือดร้อนให้ออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.52
 
ระหว่างทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว เสมือนยิ่งเป็นการกดทับย้ำลงไปในคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ย่ำแย่ หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม เมื่อศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 30 คน ในวันที่ 21 ธ.ค.54 โดยอุทธรณ์ยืนตามศาลขั้นต้นว่า ชาวบ้านมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ
 
ให้ชาวบ้าน ที่ถูกดำเนินคดีพร้อมบริวาร ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาล
 
 
สู่ 2 มาตรฐาน ขวางพัฒนาไฟฟ้า
 
กว่า 4 ปี นับแต่ 17 ก.ค.52 ที่ชาวบ่อแก้วเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสารกลับคืนมา ทุกช่วงจังหวะของชีวิตที่ล่วงผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน ชุมชนบ่อแก้วได้ขอใช้ไฟฟ้าเพื่อทำการเกษตร ด้วยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำการพัฒนาระบบน้ำ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แท้งค์น้ำที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรเป็นอย่างมาก
 
ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.56 ชาวบ้านจึงได้มีการยื่นขอไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน และนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่งที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนนำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอคอนสารได้อนุมัติและดำเนินการติดตั้งแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค.56
 
ต่อมาวันที่ 3 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จำนวน 5 คน ลักลอบเข้ามาด้านหลังของชุมชน สั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนไฟฟ้า ทั้งข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นของเขตสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และชาวบ้านต่างก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยอม พร้อมชี้แจงถึงสิทธิที่จะอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ทำกินเดิม
 
เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นในวันที่ 4 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสาร และขอให้การไฟฟ้าทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 เพื่อกดดัน ข่มขวัญให้ชาวบ้านหวาดกลัว
 
จากกรณีดังกล่าว เมื่อ 7 ก.พ.56 ชาวชุมชนบ่อแก้ว จึงรวมใจกันชุมนุมขอเข้าพบนายอำเภอคอนสาร เพื่อร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรม กรณีที่ อ.อ.ป.บุกเข้าไปสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน โดยชาวบ้านระบุข้อเรียกร้องให้นายอำเภอคอนสาร ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคอนสาร กำนันตำบลทุ่งพระ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งพระ
 
เพื่อขอให้มีการชะลอและยุติการดำเนินการยกเลิกรื้อถอนระบบไฟฟ้าจากชุมชน
 
 
ล้มโต๊ะเจรจา เหตุ 'ออป.' ห้ามใช้ไฟฟ้า
 
การเจรจาเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติในการยกเลิกรื้อถอนไฟฟ้า ระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 11 ก.พ.56 โดยมีนายอำเภอคอนสารเป็นประธาน ณ หอประชุมอำเภอคอนสาร เป็นอันล้มเหลว เนื่องจากหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ในฐานะตัวแทน อ.อ.ป.อ้างเงื่อนไขของข้อกฎหมาย แม้ชาวบ้านพยายามยืนยันถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ก่อนที่ อ.อ.ป.จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เพื่อปลูกป่ายูคาฯ
 
และแม้ว่าชาวบ้านจะร่วมกันยกกรณีความไม่เป็นธรรมในอีกมุมหนึ่งของศูนย์ธรรมรัศมี ที่มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งชุมชนเพียง 200 เมตร ซึ่งมีทั้งการก่อสร้างถาวรวัตถุ มีการก่อสร้างอาคาร และมีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบาย
 
ขณะเดียวกันนายอำเภอคอนสารก็ยืนยันตาม อ.อ.ป.ให้เป็นผู้ตัดสินใจ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะร่วมประชุมกันต่อไป จึงได้พร้อมใจกันเดินออกจากที่ประชุมโดยที่การประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมประกาศยืนยันร่วมกันว่าจะชุมนุมเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรม
 
 
นับจากวันที่ 11 – 14 ก.พ. 56 ที่ชาวบ้านต้องกินนอนอยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ หากหน่วยงานภาคประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาค ไม่ออกแฉลงการณ์ร่วมกันประณามการกระทำของ อ.อ.ป.ที่ละเมิดสิทธิชาวบ้านมานับแล้วครั้งไม่ถ้วนแล้วนั้น อ.อ.ป.จะยุติเรื่องดังกล่าวหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมยุติลงพร้อมกับร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการติดตามแผนปฏิรูปที่ดิน โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข กรรมมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
 
ผ่านทางนายอำเภอคอนสาร นายไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ ที่ลงมาพบพร้อมกับรับหนังสือข้อเสนอแนะแผนการปฏิรูปที่ดินของชุมชน ที่ได้ประกาศเดินหน้าแผนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามข้อตกลงเดิม โดยจำแนกเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ร่วม ที่สาธารณะของชุมชน ป่าชุมชน และพื้นที่สิทธิ์การใช้ส่วนบุคคล
 
ก็ยังเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกขั้นตอน หลากหลายวิธีการที่ อ.อ.ป.หยิบขึ้นมาดำเนินการกับชาวบ้านนั้นเป็นไปด้วยความชำนาญ ตามความถนัดของพวกอันธพาล ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง เช่น มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ในกรณีนายวัก โยธาธรรม ที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ลักลอบนำอาวุธนั้นไปซุกไว้ใต้ถุนบ้าน เมื่อปี 2529
 
ล่าสุดมาสู่การขับไล่ชาวบ้านให้ทำการรื้อถอนไฟฟ้า เสมือนเป็นการยืมดาบฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น โดยทำเรื่องร้องเรียนต่อการไฟฟ้าให้ถอนมิเตอร์ พร้อมแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ให้ดำเนินคดีต่อทั้งชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ผู้รับเหมาติดตั้งไฟฟ้าให้กับชุมชนบ่อแก้ว ถือเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความละอายใจ ไม่มีศักดิ์ศรี ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์โดยอย่างยิ่ง
 
การที่ชาวบ้านต้องการความยั่งยืนบนผืนดิน ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเมื่อชุมชนจะมีการพัฒนาต่อไปด้วยการติดตั้งไฟฟ้า ย่อมมีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
 
เหตุใด อ.อ.ป.ต้องเข้ามาขับไล่ให้พวกเขาทำการรื้อถอน ทั้งที่จริง พวกเขาเหล่านั้น มีสิทธิในพื้นที่ดินทำกินมาก่อน
 
เพื่อลบรอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ถูก อ.อ.ป. กระทำมานานกว่า 35 ปี ให้สามารถจางลง และเหือดหายไปได้ และเพื่อให้ผืนดินทำกินนั้นกลับคืนสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของพวกเขาเหมือนดังที่เคยเป็น
 
เพราะฉะนั้น อ.อ.ป.ต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายออกไป รวมถึงต้องยกเลิกสวนป่าคอนสาร และคืนพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้าน พร้อมทั้งถอนการบังคับคดี และเร่งนำที่ดินจำนวน 1,500 ไร่ มาดำเนินการจัดการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”
 
ตามข้อตกลงที่ทั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาคมตำบลทุ่งพระ ลงมาสำรวจพร้อมมีมติร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินชาวบ้าน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท