Skip to main content
sharethis

จากกรณีการนำเสนอข่าวภาคใต้ที่นักศึกษาออกมาประท้วง ผอ.ไทยพีบีเอสขอบคุณนักศึกษาชายแดนใต้ช่วยตรวจสอบการทำงาน เตรียมปรับกระบวนการทำงานข่าวให้รัดกุมขึ้น ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้เปิดเผยแหล่งข่าวเพราะเป็นมาตรฐานวิชาชีพ ยืนยันเดินหน้าเปิดพื้นที่ชายแดนใต้ให้รอบด้าน

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส

11 มี.ค.56 เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า กรณีไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ในข่าวภาคค่ำวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา จนมีข้อเรียกร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอรายงานข่าวชิ้นนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ถูกพาดพิง เรื่องนี้นำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบตามกรอบจริยธรรม โดยคณะอนุกรรมการสรุปว่า การนำเสนอข่าวขาดความรอบคอบ และให้เยียวยาเปิดพื้นที่การนำเสนอใหม่ที่รอบด้าน

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้อย่างรอบด้านมาโดยตลอด มีอิสระ มีแหล่งข้อมูลชัดเจน ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวสถานการณ์ภาคใต้ในข่าวภาคค่ำเมื่อวันที่ 24 ก.พ. นำไปสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พร้อมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง

ผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า การนำเสนอข่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล, ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลอื่น แต่ไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว  ควรให้มีการเยียวยาเปิดพื้นที่การนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน และให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ไทยพีบีเอสได้เปิดพื้นที่เยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว

ผู้อำนวยการการไทยพีบีเอสย้ำว่า ไทยพีบีเอส ยังคงยืนยันการทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน เช่น การทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมาย

มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายสมชัย ยังกล่าวขอบคุณกลุ่มนักศึกษา ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความล่อแหลม และความซับซ้อนของประเด็นปัญหามาก  การทำงานของสื่อมวลชนต้องระมัดระวัง ซึ่งการที่นักศึกษามาดูแลตรวจสอบและให้ข้อมูลอีกด้านถือเป็นประโยชน์ของการทำงานสื่อ  และตั้งความหวังว่าจะสามารถร่วมกันทำงานด้วยกันไปในอนาคต

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า  เมื่อพิจารณาดูชิ้นงานซึ่งขาดความรอบคอบที่ไม่ปรากฏการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลในเนื้อข่าว แม้จะมีการระบุในตัวโปรยก็ตาม  รวมถึงประเด็นขาดความรอบด้าน ที่นำเสนอพาดพิงกลุ่มบุคคล แต่ไม่ได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มที่ถูกพาดพิงนั้น  ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด  โดยนำมาซึ่งข้อวินิจฉัยให้เข้มงวดการทำงานนั้น   เมื่อตนมารับหน้าที่เป็นผู้บริหาร ได้พยายามเริ่มกระบวนการปรับปรุงการทำงานของสำนักข่าวให้เป็นระบบมากขึ้น  แต่ยอมรับว่ายังไม่ตกผลึกชัดเจน  และการทำงานยังมีจุดอ่อนบางส่วน  ซึ่งในสัปดาห์นี้จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น  โดยกำหนดให้บรรณาธิการข่าวทุกภาคจะต้องรับผิดชอบในเนื้อหาและภาพที่นำเสนอ จัดวางระบบการมอบหมายงานข่าวที่ชัดเจน  ในเดือนมีนาคมนี้จะประกาศใช้คู่มือการทำงานข่าว ที่เป็นคู่มือซึ่งได้พัฒนาให้กรอบการดำเนินงานวัดขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานบุคลากรด้านข่าวของไทยพีบีเอส  ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีประกาศใช้ และในเดือนเมษายนนี้จะจัดการฝึกอบรมเพิ่มขีดความสามารถของทีมข่าว  โดยเน้นหนักการทำงานข่าวให้มีมาตรฐานตามกรอบจริยธรรมสื่อที่มีไว้   

กรณีคณะอนุกรรมการฯ  เห็นสมควรให้มีการเยียวยาและเปิดพื้นที่ให้รอบด้าน นายสมชัยกล่าวว่า หลังเกิดข้อร้องเรียน และก่อนที่จะมีมติของคณะอนุกรรมการฯ เราได้พยายามเปิดพื้นที่หลายลักษณะเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่นักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบคิดเห็น เช่น ประเด็นตำหนิการทำงานไทยพีบีเอส ประเด็นวิธีคิดทางสังคมของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่  ขณะที่เมื่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่กิจกรรมเสวนาเมื่อวันนักข่าว 5 มี.ค.  เรื่อง “บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอส  ไปร่วมรับฟังและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่  มีการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์และความรู้สึกของคนในพื้นที่นั้นโดยตรง  และสื่อสารผ่านหน้าจอหลักในช่วงข่าว  และวันนี้ในรายการดีสลาตันก็พยายามเปิดพื้นที่นำเสนอเนื้อหาให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงว่าไทยพีบีเอส น้อมรับการตรวจสอบจากภาคประชาชนหากมาตรฐานการทำงานของเราไม่ถึงขั้นที่เราเป็นผู้กำหนดไว้ในจริยธรรม  และจะพยายามรับฟังเสียงความคิดเห็นและหาวิธีการอื่นที่มากกว่านี้ที่จะปรับกระบวนการทำงานของเราให้สอดคล้องกับกระแสความรู้สึกและสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ทั้งนี้ในเดือนเมษายนนี้ไทยพีบีเอส ได้กำหนดวาระประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวในกระบวนการสันติภาพไว้เป็นวาระสำคัญของสถานี และจะขอทำหน้าที่เป็นเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน รวมถึงนักศึกษาที่จะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารข้อมูล  ความคิดเห็นและความรู้สึกต่อสถานการณ์จริงในพื้นที่

ส่วนประเด็นที่จะให้ไทยพีบีเอส เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล นายสมชัยกล่าวว่า หลักการสากลของมาตรฐานการทำงานสื่อมวลชนทั่วไป  สื่อจะให้ความคุ้มครองปกป้องแหล่งที่มาของผู้ให้ข่าวไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งไทยพีบีเอส ขอรักษามาตรฐานจริยธรรมนี้ไว้

อนึ่ง คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เป็นกลไกที่กฏหมายกำหนดไว้ให้มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่เห็นว่ารายการที่เผยแพร่โดย ส.ส.ท. มีลักษณะขัดหรือละเมิดต่อจริยธรรมของสื่อ ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน คือ กรรมการนโยบายส.ส.ท. (2คน) ผู้บริหารองค์การ (1 คน) ผู้แทนองค์กรสื่อสารมวลชน (2คน) ผู้แทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค (1 คน) ผู้แทนสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ (1 คน) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก (2 คน) เพื่อให้การพิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

สรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ต่อกรณีข่าวนักศึกษาชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เป็นประธานในการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอข่าวเด่นประเด็นใต้ ในหัวข้อ “นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องของสำนักข่าว มาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ประชุมได้อภิปรายซักถามและมีความเห็นว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้พยายามนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้อย่างรอบด้านมาโดยตลอด มีความเป็นอิสระและแหล่งข้อมูลอ้างอิงชัดเจน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวสถานการณ์ภาคใต้ที่เป็นเหตุให้นักศึกษามายื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นนั้น อนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า มีความบกพร่องเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ไม่เปิดเผยแหล่งข่าวหรือผู้ให้ข้อมูลที่ต้องอ้างถึง ทั้งที่การนำเสนอข่าวสามารถอ้างแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลได้ตามความเหมาะสม

ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อที่ 10 คือ “จริยธรรมด้านการปกป้องและการปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม” ข้อที่ 12 คือ “จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมืองและนโยบายสาธารณะ” และข้อที่ 13 คือ “จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์ความขัดแย้ง การชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ การปราบปรามที่รุนแรง การก่อการร้าย และภาวะสงคราม”

โดยสรุปที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้

1. การนำเสนอข่าวชิ้นดังกล่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล

2. การนำเสนอข่าวยังขาดความรอบด้าน ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว

3. เห็นสมควรให้มีการเยียวยา และเปิดพื้นที่เพื่อการนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน โดยให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ

4. ให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net