Skip to main content
sharethis

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ สัปดาห์นี้พบกับข่าวเกาหลีเหนือเปิด ‘ทางเข้า’ ให้ ‘ไพเรตเบย์’, บาห์เรนแบนการนำเข้าหน้ากาก ‘Guy Fawkes’, คดีฟ้องร้องลิขสิทธิ์มายากลในอเมริกา ฯลฯ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

Week 8

05-03-2013

หลังจาก The Pirate Bay โดนไล่ล่า "ทางเข้า" จากสวีเดน และนอร์เวย์ ทาง Pirate Bay ก็ได้ตอบรับการเป็น "ทางเข้า" ให้จากเกาหลีเหนือ

หากตามข่าวคงจะทราบว่า "พันธมิตรสิทธิ" นั้นไล่บี้จะฟ้อง Pirate Party สวีเดนฐานเป็นโฮสต์ "ทางเข้า" ให้ The Pirate Bay ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ Pirate Party สวีเดนหยุดเป็นโฮสต์ "ทางเข้า" เพื่อถอยไปตั้งหลักก่อนฟ้องพันธมิตรสิทธิกลับ และพร้อมกันนั้น Pirate Party ของนอร์เวย์และสเปนก็อาสาไปเป็นโฮสต์ "ทางเข้า" ให้แทน

ปรากฎว่าในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านทาง Pirate Party สเปนยังไม่พร้อม มี Pirate Party นอร์เวย์อย่างเดียวที่เป็นโฮสต์ให้ ทาง Pirate Party นอร์เวย์ก็โดนขู่จะฟ้องจนต้องถอนการเป็นโฮสต์เช่นเดียวกับ Pirate Party สวีเดน จนส่งผลให้ The Pirate Bay "ดาวน์" หรือเข้าไม่ได้ไปพักใหญ่

ไม่น่าหลังจากนั้น The Pirate Bay ก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการเปิดตัวโฮสต์ทางเข้าใหม่จากเกาหลีเหนือ โดยมีถ้อยแถลงจากทางเว็บว่าพวกเขาได้รับการติดต่อจากผู้นำเกาหลีเหนือมาสักพักแล้วและก็คุยๆ กันอยู่ สุดท้ายก็เลยได้เกาหลีเหนือเป็น "ที่ลี้ภัยเสมือน"

ทาง The Pirate Bay หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการที่เกาหลีเหนือเป็นโฮสต์ให้จะเป็นโอกาสให้ชาวเกาหลีได้เข้าถึง The Pirate Bay และบรรดาศิลปวัฒนธรรมในนั้น

และเรื่องทั้งหมดก็น่าตลกสิ้นดีที่เกาหลีเหนือกลับมาเป็นผู้ป้องกัน "เสรีภาพทางการแสดงออก" จากเว็บไซต์ตะวันตกที่โดนไล่ล่าจากดินแดนแห่งเสรีภาพทางการแสดงออกอย่างอเมริกาเอง

ทั้งนี้เกาหลีเหนือเป็นแค่โฮสต์ทางเข้าเท่านั้น ที่ตั้งจริงๆ ของ The Pirate Bay ก็ยังกระจายอย่างลึกลับผ่าน Cloud Server ทั่วโลก

News Source: http://torrentfreak.com/the-pirate-bay-moves-to-north-korea-gets-virtual-asylum-130304/ , http://falkvinge.net/2013/03/04/the-pirate-bay-offline-norways-pirate-party-cuts-rope-following-threats/ , http://falkvinge.net/2013/03/04/after-being-cut-from-norway-the-pirate-bay-returns-from-north-korea/

 

บาห์เรนแบนการนำเข้าหน้ากาก Guy Fawkes แล้ว

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130228/23213922162/bahrain-bans-import-guy-fawkes-masks.shtml

 

06-03-2013

นักมายากลฟ้องนักมายากลอีกคนฐานละเมิดลิขสิทธิมายากล

ทั้งนี้นักมายากลที่เป็นโจทก์คือ Teller แห่งคณะ Penn & Teller โดยเขาฟ้องนักมายากลนาม Gerard Dogge ฐานขโมยกลของเขา

ทั้งนี้ Teller ก็ได้อ้างว่าเขาไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์มายากลของเขาตั้งแต่ปี 1983 แล้ว แต่ปัญหาคือมันก็ไม่เคยมีคดีมาก่อนว่ามายากลนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งถ้าคดีนี้ไปถึงชั้นศาลจริงก็น่าจะมีประเด็นน่าสนใจจำนวนมากเกี่ยวกับหลักการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผุดขึ้นมาก

อย่างไรก็ดีตอนนี้ก็ยังหาตัว Dogge ไม่ได้เพราะเขาก็หายตัวไปอย่างลึกลับสมเป็นนักมายากล

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130304/03161322186/magician-sued-teller-copyright-infringement-has-tried-disappearing-act-response.shtml , http://www.hollywoodreporter.com/thr-esq/teller-learns-why-not-easy-424577

 

รายงานจาก Policy Bandwidth ระบุว่าบรรดาบรรษัทที่มีธุรกิจบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่ในโลกไม่ใช่บริษัทอเมริกัน

ดังนั้นในแง่หนึ่งแล้วการพยายามจะยืนยันของฝ่ายอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์อเมริกันในการผลักดันให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มข้นในโลกเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกันเองจึงไม่เที่ยงตรงนัก

ทั้งนี้ก็ดูจะปฏิเสธได้ยากพอสมควรว่าอุตสาหกรรมทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่นสุดของอเมริกัน คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่อุตสาหกรรมนี้จะเป็นปากเสียงใหญ่ในการผลักดันการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์โดยรวมในปัจจุบัน

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130304/02123822183/so-much-protecting-us-interests-most-big-ip-intensive-firms-are-foreign-owned.shtml

 

07-03-2013

อเมริกาเริ่มมีกฎหมายห้ามนายจ้างขอ Password ของ Account ในเว็บ Social Media ของผู้สมัครงาน

ในปัจจุบันนายจ้างจำนวนมากเริ่มทำการขอ Password ของ Account เว็บ Social Media ของผู้สมัครงานมากขึ้น อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้สมัครงานมาก

บางรัฐในอเมริกาได้ออกกฎหมายเพื่อป้องการกันละเมิดความเป็นส่วนตัวนี้มาแล้ว เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ อีก 28 รัฐก็กำลังพิจารณากฎหมายแบบเดียวกันนี้อยู่

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/03/stand-headline-social-media-blog-post

 

08-03-2013

แคลิฟอร์เนียผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจผู้ปกครองในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสูงสุด

กฎหมายที่ว่าคือ Online Privacy Protection Act ของแคลิฟอร์เนีย ภายใต้กฎหมายนี้ผู้ปกครองจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ตามเว็บไซต์ได้ถ้าทำการเรียกร้อง และผู้ปกครองมีสิทธิ์ในการห้ามเด็กใช้บางเว็บไซต์ได้ด้วยซ้ำ

ซึ่งนี่เป็นเรื่องตลกเล็กน้อย เพราะภายใต้กฎหมายแคลิฟอร์เนีย การปรากฎของกฎหมายนี้หมายความว่าเด็กมีสิทธิ์ทำแท้งโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ แต่ไม่มีสิทธิ์จะเล่น Facebook ได้โดยผู้ปกครองไม่รู้

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130302/02285622177/proposed-california-bill-would-require-sites-to-hand-over-private-info-kids-to-their-parents.shtml

 

09-03-2013

รัฐเท็กซัสเริ่มพิจารณากฎหมายให้ส่งพวกเอกสารทางกฎหมายเช่นหมายฟ้อง หมายศาล ทางเว็บเครือข่ายสังคม

ทั้งนี้ปัญหาของกฎหมายนี้ก็คือประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของการรับเอกสารทางกฎหมาย เช่นถ้ามีการ Tweet ให้คนโดนฟ้องคลิกไปอ่านหมายฟ้องที่เป็น pdf มันก็เป็นยิ่งกว่าการไปให้เอกสารเหล่านี้ในที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็สร้างความอับอายให้แก่ผู้รับได้มาก

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130307/18414322247/texas-legislator-introduces-bill-that-would-allow-legal-papers-to-be-served-to-peoples-social-media-accounts.shtml

 

อดีตนางแบบเครื่องสำอางค์ Revlon ฟ้องซีรี่ส์ Mad Men ฐานที่ในฉากเปิดซีรีส์นำรูปจากโฆษณาเก่าของเธอมาใช้อย่างไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ภาพดังกล่าวเป็นภาพจากโฆษณาเครื่องสำอางค์ Revlon ในศตวรรษที่ 1950 โดยภาพนั้นปรากฎเป็นลายของตึกในฉากเปิดเรื่องของ Mad Men

News Source: http://www.businessinsider.com/gita-hall-may-sues-mad-men-2013-3 , http://www.jdsupra.com/legalnews/youre-getting-sued-for-what-an-eo-ody-66646/

 

ศาลชั้นต้นอเมริกาตัดสินว่าการ "ลอก" คำฟ้องนั้นไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ศาลไม่ได้กล่าวเหตุผลชัดเจน แต่จำเลยก็แก้ต่างในศาลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำซ้ำเอกสารของศาลที่ปรากฎต่อสาธารณะ ดังนั้นมันจึงเป็นการใช้โดยชอบธรรม ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

News Source: http://www.jdsupra.com/legalnews/creative-but-perhaps-too-creative-lawy-41691/

 

10-03-2013

เทศกาลดนตรี South by South West 2013 (เรียกย่อว่า SXSW 2013) ครั้งที่ 9 ปล่อยเพลงของบรรดานักดนตรีที่มาเล่นในเทศกาลซึ่งไม่มีการล็อคลิขสิทธิ์ใดๆ กว่า 1200 เพลงซึ่งมีความจุกว่า 7 GB ให้โหลดฟรีอย่างถูกต้องทาง Bittorrent

ทั้งนี้เทศกาลนี้ ได้ปล่อยเพลงฟรีของบรรดานักดนตรีที่เข้าร่วมให้ดาวน์โหลดมาตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2005 และก็เป็นเทศกาลที่จัดและปล่อยเพลงให้ดาวน์โหลดอย่างต่อเนื่องทุกปีจนเพลงตั้งแต่ปีแรกยันปีล่าสุดนี่ก็มีความจุรวมกันกว่า 45 GB เข้าไปแล้ว

ซึ่งเทศกาล SXSW 2013 ปีนี้จัดที่ Austin รัฐ Texas ในวันที่ 12-17 มีนาคม 2013 นี้

News Source: http://torrentfreak.com/sxsw-2013-on-bittorrent-7-39-gb-of-free-music-130310/

 

SimCity ภาคล่าสุดเปิดตัวอย่างฉาวโฉ่กับระบบล็อคลิขสิทธิ์ใหม่ที่แม้แต่เล่นคนเดียวก็ต้อง "เชื่อมต่อ" กับเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ตลอดเวลา

ปัญหาคือเซิร์ฟเวอร์ไม่มีศักยภาพพอที่จะเชื่อมต่อผู้เล่นได้หมด ผู้เล่นจำนวนมากที่ซื้อเกมอย่างถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไ่มสามารถจะเล่นได้ ก่อให้ผู้เล่นทั่วโลกลุกฮือกันล่ารายชื่อให้ทาง EA Games ยกเลิก DRM หรือการล็อคลิขสิทธิ์เกมนี้เสีย (ดูที่ https://www.change.org/petitions/electronic-arts-inc-remove-always-online-drm-from-simcity-and-future-games)

ทั้งนี้ประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ของการเชื่อมต่อไม่ได้นี้ ได้ทำคะแนวรีวิวเกมที่บรรดาเกมเมอร์จำนวนมากรอเป็นเวลานาน ทำให้หลายๆ เว็บไซต์ให้คะแนนเกมนี้ต่ำมาก และนี่ยังไม่รวมเสียงก่นด่าการล็อคลิขสิทธิ์ที่กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต ที่ยิ่งถูกกระตุ้นด้วยการขยายตัวของข่าวฉาวนี้ที่เริ่มลงในสื่อใหญ่ๆ จนทำให้นี่อาจเป็นกรณีการล็อคลิขสิทธิ์ที่ฉาวโฉ่ที่สุดในระดับโลกนับแต่อุตสาหกรรมดนตรีหยุดล็อคลิขสิทธิ์บน CD เนื่องจากไม่ช่วยให้ยอดขายดีขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้คนไปโหลดแบบเถื่อนที่ไม่มีการล็อคลิขสิทธิ์

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/03/tale-simcity-users-struggle-against-onerous-drm , http://www.techdirt.com/articles/20130307/14574822243/simcity-backlash.shtml

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net