Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มหานครลอนดอนไม่เพียงสนับสนุนการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ยังได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สอดรับกับการเดิน และการปั่นจักรยาน ภายใต้ฐานแนวคิดสนับสนุนการเดินทางระยะสั้นที่สามารถควบคุมเวลาได้

[1] บทนำ

จักรยานนับว่าเป็นพาหนะประเภทหนึ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองหรือใจกลางเมืองสำคัญที่มีการใช้งานจักรยานเป็นยานพาหนะอย่างกว้างขวาง เหตุที่ประชาชนชาวอังกฤษบางส่วนได้นิยมใช้จักรยานหรือหันมาใช้จักรยานในการคมนาคมติดต่อ ก็เพราะรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น รวมไปถึงองค์กรเอกชนบางองค์กรได้หันมาสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ในการเดินทางระยะสั้นบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง

มหานครลอนดอนหรือ Greater London เป็นเมืองหลวงของประเทศอังกฤษที่ประกอบด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ในการบริหารท้องถิ่นออกถึง 32 เขตการปกครอง (Borough) โดยจากการจายอำนาจจากมหานครลงไปสู่เขตการปกครองย่อยนี้เอง ย่อมทำให้แต่ละเขตการปกครองพัฒนาการใช้งานที่ดินกับโครงสร้างสาธารณะในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองให้มีการคมนาคมขนส่งหรือการเดินทางเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนให้สะดวกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการรองรับการคมนาคมขนส่งประเภทต่างๆ ย่อมเป็นหน้าที่ของมหานครลอนดอนและเขตการปกครองต่างๆ โดยมีสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน (Transport of London) มาควบคุมและบังคับการบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งในมหานครให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

มหานครลอนดอนไม่เพียงสนับสนุนการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ได้แก่ โครงข่ายรถไฟใต้ดินสาธารณะ (London Underground) โครงข่ายรถไฟฟ้าบนดินสาธารณะ (London Overground) โครงข่ายรถประจำทาง (Bus) โครงข่ายรถไฟลอยฟ้าสาธารณะ (Docklands Light Railway) โครงข่ายรถรางสาธารณะ (London Tramlink) มหานครลอนดอนยังได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สอดรับกับการเดิน (Walking) และการปั่นจักรยาน (Cycling) ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองภายใต้ฐานแนวคิดสนับสนุนการเดินทางระยะสั้นที่สามารถควบคุมเวลาได้ การประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครัวเรือน การส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนและการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุประการหนึ่งที่รัฐบาล มหานครลอนดอนและสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน พยายามแสวงหาแนวทางและมาตรการในการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาอาศัยวิธีการเดินทางโดยการเดินหรือใช้จักรยานสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในระยะสั้นบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง แทนการโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ

ด้วยข้อดีหลายประการดังที่กล่าวมาทำให้มหานครลอนดอนและเขตการปกครองในมหานครลอนดอน หันมาใส่ใจต่อการสนับสนุนการขี่จักรยานให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน โดยมหานครลอนดอนและสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน ได้กำหนดเทคนิคและวิธีการสนับสนุนการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนหลายประการตามรายละเอียดด้านล่างดังต่อไปนี้


ภาพที่ 1 ทางจักรยานในสวนสาธารณะไฮด์ ปาร์ค ในมหานครลอนดอน

 

[2] การใช้จักรยานในมหานครลอนดอน

มหานครลอนดอนวางมาตรการและนโยบายในการสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน (Cycling Revolution London) ในปี 2010 อันก่อให้เกิดจากความร่วมมือของมหานครลอนดอน หน่วยราชการของมหานครลอนดอน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานหรือการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งนี้ แนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนดังกล่าวได้มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้มหานครลอนดอนสามารถก้าวไปสู่การเป็นเมืองแห่งการปั่นจักรยาน (cyclised city) ในอนาคต อนึ่ง นายบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) เทศมนตรีมหานครลอนดอนคนปัจจุบันได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน ผ่านวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาของท่านที่จะพัฒนาการคมนาคมขนส่งกับการพัฒนาผังเมือง เพื่อสร้างแรงจูงในให้ประชาชนชาวเมืองลอนดอนหันมาใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง

สำหรับแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนที่กำหนดขึ้นผ่านการนำไปสู่การปฏิบัติในโครงการต่างๆ อันประกอบสาระสำคัญโดยย่อ 5 ประการ ได้แก่

[2.1] ทางจักรยานในลอนดอนที่ปลอดภัย

มหานครลอนดอนได้กำหนดโครงการจัดทางจักรยานสาธารณะหรือเลนจักรยานประเภทต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง สำหรับทางจักรยานสาธารณะหรือเลนจักรยานที่มหานครลอนดอนได้จัดทำขึ้นแล้วหรือกำลังจะจัดทำในอนาคตภายใต้แนวทางการปฏิวัติการใช้งานจักรยาน ต้องมุ่งเน้นให้มีพื้นที่สำหรับการใช้งานจักรยานที่มากขึ้นและมีความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ขับขี่จักรยานและผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะอื่นๆอีกด้วย ทางจักรยานสาธารณะภายใต้การปฏิวัติการใช้งานจักรยาน ที่มหานครลอนดอนมีหน้าที่จัดสร้างหรือบำรุงรักษามีหลายประเภท เช่น ทางด่วนพิเศษเฉพาะสำหรับจักรยาน (Cycle superhighways) ทางจักรยานในบริเวณสวนสาธารณะเพื่อการนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ (Greenways) และทางจักรยานที่ปันส่วนจากช่องทางเดินรถประจำทาง (Share bikeway with bus lanes) เป็นต้น


ภาพที่ 2 การใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในมหานครลอนดอน

[2.2] จุดให้บริการเช่าจักรยาน

มหานครลอนดอนได้จัดโครงการให้เช่าจักรยานในบริเวณมหานครลอนดอน (London Cycle Hire Scheme) โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่าโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์(Barclays Cycle Hire) เหตุที่มีชื่อนี้ก็เพราะธนาคารบาร์เคลย์อันเป็นสถาบันทางการเงินที่มีชื่อเสียงของประเทศอังกฤษได้เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งมหานครลอนดอนได้จัดจุดให้เช่าจักรยาน (Docking station) อันมีเครื่องบริการให้เช่าจักรยานอัตโนมัติประจำอยู่ในแต่ละจุด ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ประสงค์จะใช้จักรยานในเวลาเร่งด่วนที่มีการจราจรคับคั่งหรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้งานจักรยานเพื่อเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในมหานครลอนดอน ซึ่งผู้ต้องการใช้จักรยานสามารถจ่ายเงินค่าเช่าจักรยานด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตผ่านเครื่องบริการให้เช่าอัตโนมัติตามจุดให้เช่าจักรยานต่างๆ ในมหานครลอนดอน


ภาพที่ 3 จุดให้เช่าจักรยาน (Docking station) ตามโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์


ภาพที่ 4 เครื่องบริการให้เช่าจักรยานอัตโนมัติ ตามโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์


ภาพที่ 5 ภาพช่องทางเดินรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอน (Bus lanes) ที่ไม่ได้มีไว้แค่เดินรถประจำทางเท่านั้น หากแต่รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ก็สามารถใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับรถประจำทางได้

[2.3] เส้นทางและแผนที่จักรยาน

มหานครลอนดอนได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจักรยานหรือเลนจักรยานประเภทต่างๆ จุดจอดจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือจุดจอดจักรยานใกล้ๆ กับสถานีขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ แผนที่ทางจักรยานในบริเวณชุมชนเมือง (มักระบุแผนที่ทางจักรยานควบคู่ลงไปในแผนที่กำหนดสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่น) รวมไปถึงไฟจราจรจักรยานหรือป้ายจราจรต่างๆ ที่กำหนดวินัยการใช้งานจักรยานบนท้องถนน

นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น มหานครลอนดอนยังได้กำหนดการใช้จักรยานให้สอดคล้องกับความหนาแน่นของจำนวนประชาการ การใช้ที่ดินในชุมชนเมือง และการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละเขตการปกครองในมหานครลอนดอน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ชุมชนเมืองใจกลางมหานครลอนดอน (Central London) อันเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ย่อมเหมาะสมกับการพัฒนาการเดินทางด้วยจักรยาน เพื่อลดปริมาณการใช้งานยานพาหนะอื่นๆ ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองประกอบกับการเดินทางด้วยจักรยานสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองนอกเหนือจากการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ เป็นต้น


ภาพที่ 6 แผนที่ทางจักรยานในบริเวณชุมชนเมืองของมหานครลอนดอน

[2.4] การเชื่อมการใช้งานจักรยานกับเส้นทางขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ

มหานครลอนดอนพยายามเชื่อมโยงทางจักรยานเข้ากับเส้นทางขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ช่องทางเดินรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอน (Bus lanes) ไม่ได้มีไว้แค่เดินรถประจำทางเท่านั้น หากแต่รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ก็สามารถใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับรถประจำทางได้ โดยช่องทางเดินรถประจำทางที่รถจักรยานใช้ร่วมอยู่ด้วยแยกออกมาจากช่องทางเดินรถยนต์ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ประชาชนที่ใช้งานจักรยานในมหานครลอนดอน หากต้องการนำจักรยานขึ้นไปบนรถสาธารณะประเภทอื่นๆ ประชาชนก็สามารถนำจักรยานขึ้นไปยังบริการสาธารณะด้านขนส่งประเภทอื่นๆ ได้ เช่น ประชาชนอาจนำเอาจักรยานขึ้นไปบนรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอนหรือประชาชนอาจนำเอาจักรยานขึ้นรถไฟไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ดี การนำจักรยานขึ้นไปยังบริการสาธารณะด้านขนส่งประเภทอื่นๆ อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ประจำบริการสาธารณะด้านขนส่งนั้นๆ เป็นกรณีไป


ภาพที่ 7 จุดจอดจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองของมหานครลอนดอน

[2.5] การรณรงค์อื่นๆที่สนับสนุนทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน

มหานครลอนดอนได้จัดทำการรณรงค์และแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิวัติการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ผ่านความร่วมมือระหว่างสำนักขนส่งมหานครลอนดอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานและองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานในชุมชนเมืองอื่นๆ เช่น แผนปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานจักรยาน (Cycle Safety Action Plan) และแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการโจรกรรมจักรยานในบริเวณชุมชนเมือง (Cycle Security Plan) เป็นต้น

 

[3] บทสรุป

การสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน ย่อมสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอันทำให้ประชาชนผู้ที่ต้องการเดินทางระยะสั้นในพื้นที่ชุมชนเมืองมีทางเลือกในการเดินทางได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการใช้รถโดยสารสาธารณะหรือยานพาหนะส่วนบุคคล อนึ่ง การปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นมหานครลอนดอน สำนักขนส่งมหานครลอนดอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานและองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานในชุมชนเมือง รวมไปถึงความเข้าใจและวิสัยทัศน์ที่ดีของนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน ที่ไม่เพียงแต่มีวิสัยทัศน์ในด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานภายใต้ข้อจำกัดต่างของมหานครลอนดอนแล้ว นายยกเทศมนตรีของมหานครลอนดอนยังได้นำแนวความคิดของตนเองมาสู่กรอบหรือแนวทางปฏิบัติที่แท้จริงเมื่อได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหานครชั้นนำของโลกอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง จักรยานจึงได้กลายมาเป็นยานพาหนะทางเลือกประเภทหนึ่งสำหรับชาวมหานครลอนดอนและผู้มาเยือนมหานครลอนดอนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและยุทธศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของนายกเทศมนตรีกับองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานอื่นๆ

 

อ้างอิงจาก

  1. Greater London Authority. (2013). THE MAYOR’S VISION FOR CYCLING IN LONDON – An Olympic Legacy for all Londoners. London: Greater London Authority, pp 1-30.
  2. Transport for London. (2010). Analysis of Cycling Potential Policy Analysis Research Report. London: Transport for London, pp 1-49.
  3. Transport for London. (2010). Cycling for business. London: Transport for London, pp 1-32.
  4. Transport for London. (2010). Cycling Revolution London. London: Transport for London, pp 1-78.
  5. Transport for London. (2012). Barclays Cycle Superhighways FAQs (Last updated: 19 December 2012). London: Transport for London, pp 1-14.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net