เก็บตกเสวนา 15 ปีองค์กรอิสระ ‘สุนี ไชยรส’ ถอดบทเรียนจาก รธน.40-50

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรม พลาซ่าแอทธินี ประชาไทร่วมกับโครงการสะพานจัดสัมมนา 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย  โดยหัวข้อหนึ่งของการสัมมนาคือ ‘องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน 2 พลังสร้างธรรมาภิบาล’ ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายหลายคน รวมทั้ง สุนี ไชยรส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และในอดีตเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระชุดที่มาจากรัฐธรรมนูญ 40 ดังนั้น เธอจึงมีประสบการณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระได้เป็นอย่างดี

และในวันนี้ (15 มี.ค.) จะมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่ง ในหัวข้อ ‘ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบาย สาธารณะ’ มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในส่วนการอภิปรายของสุนี ประชาไทเก็บความนำเสนอดังนี้

 

มันเป็นสัจธรรมที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบได้ทันทีในทุกเรื่องแบบในทางทฤษฎี

ก่อนปี 40 สังคมไทยเราอยู่กับเผด็จการมามาก เราเจอคือการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างหนักและนี่คือประเด็นใหญ่ที่สุดของสถานการณ์ในช่วงยุคเผด็จการ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 40 หรือองค์กรอิสระก็เริ่มเกิดขึ้นมาจากกระแสที่ต้องการถ่วงดุลทั้งเผด็จการหรือแม้แต่ประชาธิปไตยเองก็ตาม เราบอกว่าอำนาจ 3 ฝ่ายยิ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนเป็นโครงสร้างสำคัญที่สุด แล้วทำไมจึงยังต้องมีองค์กรอิสระ ในยุคของรัฐธรรมนูญ 40 ความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราย้อนไปดูมาตรา 3 ซึ่งเถียงกันมากในรัฐธรรมนูญ 40 บอกว่า ไม่ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเป็นยังไงก็ตามอำนาจการตรวจสอบ อำนาจการดูแลสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบทุกอำนาจได้  หลักการอยู่ตรงนี้แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สิ่งหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ก็โยงกับเรื่องสื่อ หัวใจของสื่อและองค์กรอิสระที่ถูกออกแบบกันมา คือ ข้อมูล ต้องทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงได้ สื่อทำหน้าที่นี้อย่างทรงพลังในอดีตแล้วก็โดนคุกคามมา องค์กรอิสระก็เหมือนกันที่สร้างมาเพื่อสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องของข้อมูลด้วย

เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้ สสร.40 เถียงกันมาก เวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ บางคนบอกว่าสื่อทรงพลังมากเกินไป แล้วก็มาคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลเยอะแยะ คนลุกมาโต้แย้งว่าการให้เสรีภาพสื่อมากก็จะไปคุกคามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล  ข้อนี้ถูกนำมาออกแบบซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดที่เยอะเกินไปหน่อย เช่น เรื่องความมั่นคง และอะไรต่างๆ ก็ยังจำกัดสื่อได้เยอะ ในรัฐธรรมนูญเขียนหลักการไว้ดีหมด ห้ามปิดโรงพิมพ์ ปิดสถานีโทรทัศน์ซึ่งสมัยก่อนปิดกันเยอะ แต่แย่หน่อยที่ไปยกเว้นเรื่องความมั่นคงและกรณีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขายังคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในเรื่องข้อมูลส่วนตัว เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ คำว่า “เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ” นำมาซึ่งการที่สื่อต้องสามารถแสดงพลังของการหาข้อมูล ของการเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะ ถ้ามันเป็นประโยชน์สาธารณะก็สามารถแหวกข้อจำกัดหลายๆ เรื่องออกไปได้เพราะสังคมถือว่า สามอำนาจที่เราถือว่าเป็นโครงสร้างหลักนั้นไม่เพียงพอ ต่อให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากมากแค่ไหนก็ตามก็ยังต้องถูกตรวจสอบได้

อันนี้เป็นแนวคิดขององค์กรอิสระด้วยที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าบางคนจะบอกว่านี่เป็นการสร้าง “อำนาจที่ 4”  ประชาธิปไตยมี 3 อำนาจพอแล้ว ในส่วนของรัฐบาลกับรัฐสภาก็ยังมาจากการเลือกของประชาชนด้วย แต่แนวคิดเบื้องหลังของการมีองค์กรอิสระก็คือ รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบถอดถอนได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังต้องการออกแบบให้มีการถ่วงดุล องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่องค์กรอิสระที่มามิติเดียว องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระที่ตรวจสอบในเชิงของคำสั่งทางปกครอง องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการทุจริต จิ๊กซอว์เป็นอย่างนี้

มีคนตั้งคำถามกันว่า เมื่อมีองค์กรอิสระเยอะๆ แล้วทำไมไม่ทำอะไรไปพร้อมๆ กันไปเลย นี่เปลืองมาก ทุกคนพากันตรวจสอบ แต่นี่คือโจทย์ ดิฉันบังเอิญไปอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ จึงขอโยงมานิดหนึ่งว่า เราจะต้องฟันธงบอกว่า องค์กรอิสระต้องไม่ฮั้วกัน เพราะมันถูกออกแบบให้ตรวจสอบกันเองด้วย องค์กรอิสระไม่ใช่เฉพาะจะมาตรวจสอบแต่รัฐบาล แต่จะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย และถูกตรวจสอบจากประชาชน ไม่ใช่อิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง  คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจถ่วงดุลในรัฐธรรมนูญ คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นแกนหลักของอำนาจพื้นฐาน

ดังนั้น องค์กรอิสระจึงเกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถจะสร้างทฤษฎีที่รัฐบาลจะสมบูรณ์แบบ ทำอะไรก็ได้ ดี เรียบหมดเลย ไม่ใช่ สภาเองก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ

เมื่อโยงไปถึงสื่อ อำนาจของข้อมูลข่าวสารกับการเปิดเผย ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญเราต้องไปดูเฉพาะหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระและเสรีภาพสื่อ  รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโยงไปทั้งมิติของกระบวนการยุติธรรม โยงไปเรื่องสิ่งแวดล้อม โยงไปทุกเรื่องเพื่อจะบอกว่า ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเรื่องทั้งหลาย หนทางสำคัญคือต้องเปิดเผยอข้อมูลข่าวสาร ทำให้ทุกเรื่องเปิดเผยต่อสาธารณะ และนี่เป็นการมีส่วนร่วมที่ประชาชนไม่ต้องรอเฉพาะการถอดถอนนักการเมืองอย่างเดียว แต่สามารถเคลื่อนขบวนของการตรวจสอบนี้เป็นระยะๆ อำนาจยังอยู่กับประชาชน  ไม่ได้อยู่ที่อำนาจสามฝ่าย ไม่ได้อยู่ที่องค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ที่สื่ออย่างเดียว  แต่สามารถออกแบบให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ มีส่วนร่วมเอาไว้ในทุกขั้นตอน

นี่คือการออกแบบที่ดูเหมือนจะวาดหวังบรรเจิด แต่ในความเป็นจริงก็เกิดปัญหา ซึ่งเข้าใจได้ เพราะบังเอิญตัวเองไปอยู่ทั้งกรรมการสิทธิฯ ตอนนี้ก็อยู่กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าเป็นองค์กรอิสระไหม แต่เขาเขียนว่าเหมือนเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ50 โดยเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ใน 2 ปีนี้

ทีนี้ลองมาพูดถึงข้อโต้แย้งที่เราเปิดประเด็นเอาไว้ เรื่องเสรีภาพสื่อ เบื้องต้นพยายามอธิบายแล้วว่า โดยหลักการเราต้องให้เสรีภาพสื่อสูงสุดสำหรับสังคมประชาธิปไตย  แต่แน่นอน ถ้าคุณละเมิดดิฉัน ดิฉันก็ฟ้องคุณ  ถ่วงดุลด้วยการที่สามารถฟ้องต่อศาลได้ ฟ้องต่อองค์กรอิสระได้เพื่อให้ตรวจสอบสื่อได้ ในเชิงบวกของมันก็คือ สื่อกับองค์กรอิสระซึ่งมีหลายมิติ ถ้าสามารถร่วมมือกันได้น่าจะสามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ได้มาก เช่น ดูเหมือนหลายองค์กรไม่ได้ใช้บทบาทของสื่อ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ตอนอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ เราก็ได้ทำงานร่วมกับสื่ออย่างมาก สื่อลงพื้นที่กับเรา สื่อไปพิสูจน์เรื่องราวกับเรา แล้วสื่อกลับมารายงานแสดงพลังของความเป็นสื่อ หรือแม้แต่การแถลงข่าวตามปกติ นอกจากนี้ยังมีการประสานข้อมูลกันมาก เพราะเงื่อนไขของกรรมการสิทธิฯ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ พลังของเขาอยู่ที่อำนาจแห่งการเรียกข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อมูลช่วยประชาชน บางข้อมูลก็ส่งให้สื่อ สื่อได้ข้อมูลก็ส่งให้องค์กรอิสระ แล้วก็ส่งผ่านไปที่ประชาชน นี่คือแกนกลางของความร่วมมือ นี่คือแนวคิดอันสมบูรณ์ในเรื่องความร่วมมือ แต่จะไม่ฮั้วกันและตรวจสอบกันในทุกมิติขององค์กรอิสระและสื่อด้วย

นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสิ่งที่คาดหวังในรัฐธรรมนูญ40 นั้น รัฐธรรมนูญ50 ก็นำบางส่วนมาใช้อยู่ แล้วใครจะตรวจสอบที่ลึกลงไปกว่านั้น เช่น วุฒิสภาถอดถอนองค์กรอิสระ เพียงแต่มีจุดเปลี่ยนบางอย่าง เมื่อให้เสรีภาพสื่อแล้วต้องควบคุมดูแลกันเองด้วยการสร้างมาตรฐานจริยธรรม สร้างองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ เพื่อมาถ่วงดุล องค์กรอิสระก็เหมือนกัน ต้องถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา อันนี้จะออกแบบกันอย่างไร ต้องยอมรับว่าองค์กรอิสระก็เป็นกลุ่มที่ถูกว่ากันไปทุกองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการฯ ถูกสื่อถูกภาคประชาชนวิจารณ์มาก แต่ที่ไม่อาจจะวิจารณ์ได้ชัดเจนก็คือ องค์กรอิสระที่เราเรียกว่า ศาล

เรายังรู้สึกไปไม่ถึงศาลนัก จะวิจารณ์ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน  คือวิจารณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เท่าองค์กรอิสระอื่นๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยังทิ้งไว้

ต่อมา เรื่องที่มาและองค์ประกอบจึงเป็นเรื่องสำคัญขององค์กรอิสระ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ40 ก็ไม่ใช่ว่าดีหมดแต่มันถูกออกแบบโดยการเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น คณะกรรมการสรรหาของเกือบทุกองค์กรอิสระ แม้ว่าจะมีศาล มีนักการเมือง มีอธิการบดี  ภาคราชการ แล้วก็ถูกออกแบบต่างกันเล็กน้อยในแต่ละองค์กร แต่มันยังขาดความเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น บางองค์กร อย่าง กสม.นั้นชัด ที่มานั้นมาจากอธิการบดี ตัวแทนสื่อ ตัวแทนภาคประชาสังคม หลายฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา ก็จะยึดโยงกับประชาชน อย่างที่สองคือ ยึดโยงกับวุฒิสภา วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงเป็นเสมือนตัวแทนของประชาชนแล้วมาเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งมาจากกรรมการสรรหาที่หลากหลาย ยึดโยงภาคประชาสังคม แต่ก็ถ่วงดุลด้วยการให้วุฒิสภามีสิทธิเลือกด้วย  ถ้ายังจำได้ กรรมการสรรหาจะเลือกไว้เป็นสองเท่า แล้วให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือครึ่งหนึ่ง 

แต่พอมาเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐธรรมนูญ50 ก็ต้องขอวิจารณ์ต่อไว้ว่า รัฐธรรมนูญ50 ได้ทำให้ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระเพี้ยน  เพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิม คือ เรื่องที่มาเราคงพอรับรู้กันอยู่ว่า ถึงแม้มันจะมีความต่างกันบ้างในแต่ละองค์กร แต่ก็มีจุดร่วมที่คล้ายกัน พูดง่ายๆ ในภาพรวมก็คือ มาจาก 7 คนเป็นหลัก  7 คนนั้นก็มาจากศาลเสีย 3 วงเล็บมาจากศาลเลือกอีก 2 รวมเป็น 5 ที่เหลือมาจากประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้าน รวมเป็น 7 คน แล้วก็เลือกองค์กรอิสระเกือบทั้งหมดเลย องค์ประกอบจะคล้ายกัน ต่างกันบางองค์กร 

ประการที่สอง วุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและมาจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง และการสรรหาของวุฒิสภาก็มาจากการสรรหาโดยศาล  มันถูกออกแบบจนกระทั่งการยึดโยงกับประชาชนในที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระมันสับสน แล้วก็แล้วก็ทำให้ยิ่งแย่ ดิฉันเองก็ยังสะเทือนใจในฐานะคนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 40 เวลาเขาวิจารณ์เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-กรรมการสิทธิ) ไม่ดี แต่นี่เรากำลังผู้ถึงโครงสร้างที่มันถูกออกแบบจนไม่ยึดโยงกับภาคประชาชน และถูกออกแบบให้สับสน วงกลมนี้มันทำให้กระบวนการ ที่มาของการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งนั้นเปลี่ยนไป

กรรมการสรรหาเสนอเท่าเดียว คือวุฒิสภาไม่มีสิทธิเลือกด้วย  ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยอย่างดีก็โยนกลับให้กรรมการสรรหา แล้วถ้ากรรมการสรรหายืนยันมติ วุฒิสภาก็ต้องรับ ดังนั้น ความเป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ มันจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบด้วยและไม่ใช่เพียงตัวตนแค่ง่ายๆ มันต้องออกแบบทั้งขบวน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญ40 สมบูรณ์ เพียงแต่อธิบายให้เห็นภาพว่า ถ้าคุณตัดขาดจากกระบวนการเหล่านี้ ที่มาและองค์ประกอบมันจะยิ่งสับสนขึ้น เพราะว่าพูดตรงไปตรงมา ศาลไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ประจักษ์ตามที่รัฐธรรมนูญเขียน

สำหรับสื่อเอง วันนี้ดูสถานการณ์ก็ต้องยอมรับกันตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญ50 ไปเขียนเพิ่มเอาไว้ในเรื่องสื่อที่น่าสนใจในหลายมาตรา บอกว่า ห้ามนักการเมืองเข้าไปถือหุ้น หน่วยงานของรัฐห้ามไปสนับสนุนสื่อของภาคเอกชนเพื่อไม่ให้มีการครอบงำสื่อ มันต้องถ่วงดุลกันอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเสรีภาพสื่อมันจะแสดงออกไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้พนักงานของสื่อทั้งภาครัฐและเอกชนมีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เช่น คัดค้านบก.ได้ อันนี้ก็เป็นทฤษฎีอยู่เหมือนกันว่าจะกล้าค้านบก.แค่ไหน เพราะสื่อถูกคาดหวังสูงว่าจะต้องถ่วงดุลการตรวจสอบทั้งขบวนทั้งนักการเมืองและองค์กรอิสระ

รัฐธรรมนูญ50 ออกแบบในเรื่องนี้มาฟังดูดีพอสมควร แต่ถามว่าในความเป็นจริงวันนี้ก็จะเห็นว่าสื่อกระแสหลักต่างๆ ก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากการครอบงำของทุน ถ้าวิจารณ์กันลึกลงไป ตอนนี้มันออกแบบให้กลุ่มทุนหรือนักการเมืองซับซ้อนขึ้น เช่น นักการเมืองดูเหมือนไม่ได้ถือหุ้น แต่ว่าอาจจะเป็นบริษัทลูกหลานอะไรที่ซับซ้อนขึ้น  และไม่ใช่เพียงหน่วยงานของรัฐไปถือหุ้นในสื่อเอกชน แต่กลายเป็นบริษัทที่ถูกออกแบบให้จากเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็แปลงทุน แปรรูปก็มี  ไม่แปรรูปก็มี กลายเป็นตั้งบริษัทลูกต่อๆ ไปซึ่งก็มีอิทธิพลต่อสื่ออยู่ดีในแง่ของงบโฆษณาทั้งหลาย ไม่ใช่แค่บริษัทเอกชนธรรมดา จนกระทั่งสื่อเองควรจะมีหน้าที่ไปวิเคราะห์ความซับซ้อนเหล่านี้ เพื่อเปิดให้เห็นว่าสื่อนั้นต้องการเสรีภาพที่จะแสดงพลังของตนเองได้ ที่พูดนี้ก็ด้วยความเห็นใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราพูดกันในเชิงหลักการ

เพราะฉะนั้นสองพลังขององค์กรอิสระและสื่อจึงสำคัญอย่างมากและต้องประสานกัน ถึงอย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังยืนยันว่าการมีองค์กรอิสระที่มีการสร้างองค์ประกอบและที่มาที่ไปให้สมบูรณ์ยังเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น เสรีภาพสื่อยังต้องพิทักษ์เต็มที่ เพราะว่าสองอย่างนี้สามารถช่วยเหลือภาคประชาชนในการแสดงพลังของการตรวจสอบ บนฐานที่ไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเท่านั้น วันนี้สังคมไทยและสังคมโลกมีความซับซ้อนที่มากกว่านั้น แล้วนำไปสู่การมีนโยบายที่ทำให้ภาคประชาชนเดือดร้อนมากมาย เป็นการทุจริตที่ไม่เหมือนกับการโกงเงิน แต่เป็นการทุจริตที่ทำให้เกิดคดีสิ่งแวดล้อม เกิดคดีแรงงาน พันไปจนถึงเรื่องนโยบาย ไปจนถึงระดับอาเซียนที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระทุกมิติ และสื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะต้องให้สังคมเข้ามาตรวจสอบเราคือตรวจสอบองค์กรอิสระ และตรวจสอบสื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่สำคัญในเรื่องอิทธิพลอันทรงพลังของข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้กำลังถูกออกแบบจากกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยกฤษฎีกาได้แก้ร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วไปล็อกความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลระหว่างองค์กรอิสระกับสื่อและภาคประชาชน ด้วยการไปแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งดิฉันเป็นคนร่วมร่างตอนอยู่กรรมการสิทธิฯ ก่อนจะหมดวาระ เพราะต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเพิ่มประโยคสำคัญที่แย่มาก และวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ในร่างของกรรมการสิทธิฯ ที่กำลังเข้าสภา คือ บอกว่าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการตรวจสอบ นี่คือการตัดมือตัดตีนกรรมการสิทธิฯ เพราะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจเหมือนศาล แต่กรรมการสิทธิสามารถเข้าถึงข้อมูล มีอำนาจตรวจสอบ เอาข้อมูลมาให้ภาคประชาชน เอาข้อมูลมาให้สาธารณะ เอาข้อมูลมาให้สื่อ ถ้าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดว่ามีสิทธิเปิดเผยข้อมูลใน 2 กรณีเท่านั้น คือเข้าไปอยู่ในชั้นศาล กับ รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องโจ๊กไหม รายงานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจจะหนา 20 หน้า 30 หน้า แต่ข้อมูลนั้นอาจจะกองท่วมหัว แล้วหลายข้อมูลจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้เร็ว จึงจะสามารถนำไปสู่การตรวจสอบ ต่อยอดออกไปได้

ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งไม่ได้เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ แต่อยากบอกว่าถ้าจะแก้ไขก็มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ 

เราพูดถึงเป้าหมายหรือทิศทางที่เราคาดหวังไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือเสรีภาพสื่อ เพราะมันเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง มีถอดถอน แต่ในนั้นต้องวงเล็บไว้ด้วยว่า เราไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยที่มีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มันต้องควบคู่กับการที่ต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าสิทธิเสรีภาพจะได้มานั้นจำเป็นต้องได้มาจากการตระหนักของคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าพูดแบบสำนวนส่วนตัวก็คงจะบอกว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องได้มาด้วยการต่อสู้ของแต่ละท่าน  แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องด้วย มันถึงจะเป็นหลักประกัน ต้องมีส่วนที่ประชาชนลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิหรือเรื่องราวของตัวเอง ไม่ให้มีใครมาทุจริต หรือไม่ให้มีใครมาใช้อำนาจเกินขอบเขต และอีกส่วนหนึ่ง ต้องบอกด้วยว่าตราบใดที่สังคมไม่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงมีสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกันหมด

เหตุที่ต้องโยงตรงนี้ เพราะอยากจะตอบคำถามบางประการ ขอยกตัวอย่างเร็วๆ ของกรรมการสิทธิฯ เพราะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก  กรรมการสิทธิฯ สู้กันในรัฐธรรมนูญหนักหน่วงมากเพราะถือเป็นองค์กรฝ่ายซ้าย เอียงกระเท่เร่ เขากังวลว่ามันจะเข้าข้างประชาชนมากไป เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายของกฎหมายกรรมการสิทธิฯ เถียงกันหนักมาก สู้กันหลายรอบ ผลสุดท้ายก็บังคับให้กรรมการสิทธิฯ มีสำนักงานเป็นส่วนราชการ แพ้ตั้งแต่ยกแรกของการมีสำนักงาน ส่วนราชการคืออะไร  เลขาธิการต้องมาจากระดับ 10 และระดับ 11 เท่านั้น แล้วจะหามาจากไหน เพราะต้องการประสบการณ์ที่แหวกกรอบ เข้าใจเรื่องสิทธิ ออกนอกกรอบให้ได้ ดังนั้นก็อิหลักอิเหลื่อกันมา พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 50 เขาก็บอกว่าให้เป็นหน่วยงานของรัฐ คือ คุณออกจากส่วนราชการได้ ดิฉันเป็นคนร่างกฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตอนนั้นก็บอกให้ออกจากราชการ ทำแบบระบบคู่ เพื่อทำให้เขาค่อยๆ ปรับตัวได้ เพราะข้าราชการเข้ามาอยู่กันเยอะแล้วไปตัดสิทธิเขาไม่ได้ ผลปรากฏว่า พอเข้ากฤษฎีกา ข้าราชการยกขบวนไปบอกว่า กรรมการสิทธิฯ กำลังละเมิดข้าราชการ กฤษฎีกาก็แก้กลับไปเป็นส่วนราชการเหมือนเดิม วันนี้ร่างที่อยู่ในสภาและรอคิวอยู่ ก็ระบุให้กลับไปเป็นส่วนราชการ เป็นเรื่องของสภาแล้วว่าจะแหวกกรอบตรงนี้ออกมาได้ยังไง แต่แนวโน้มยากที่จะแหวกออกมาได้

อันที่สองคือ ทัศนคติของคนที่มององค์กรอิสระทุกระบบ พยายามทำให้องค์กรอิสระอยู่ในกรอบ เวลาเขียนก็จะไปหมกเม็ดในรายละเอียดของกฎหมาย  องค์กรอิสระเลยอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางความคิดระหว่างการเป็นอิสระอย่างแท้จริง กับการที่ถูกดึงเอาไว้ไม่ให้อิสระจริงโดยเฉพาะแนวคิด ทัศนคติที่ครอบงำ แม้จะออกมาจากหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่ถ้าคนยังมาจากข้าราชการ หรือมีทัศนคติแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่เราจะแหวกกรอบออกมาได้

อีกจุดหนึ่งที่สู้แล้วยังไม่ไปไหนคือ องค์กรภายใน ทุกองค์กรจะต้องพิทักษ์สิทธิตัวเอง พนักงานทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองได้ เช่น การมีสหภาพ การรวมกลุ่ม กล้าต่อรองกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบของสำนักงานนั้นๆ ตอนนี้กฎหมายเราก็ยังวุ่นวาย อิหลักอิเหลื่ออยู่ ยังไปไม่ถึง เช่น จะมีสหภาพข้าราชการ สหภาพในหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้จะต้องอาศัยความกล้าหาญของเราด้วย เพราะเรื่องการต่อรองภายในนั้น คุณต้องกล้าที่จะลุกขึ้นสู้ด้วย

ประการต่อมา รัฐธรรมนูญ 40 มีองค์กรอิสระที่เขียนเอาไว้กว้างๆ ว่ามีองค์กรอะไรบ้าง ยังมีบางองค์กรที่ควรออกมาเป็นอิสระ แต่ยังไม่มีเป็นหมวดเฉพาะเช่น องค์กรผู้บริโภค กสทช. คือ เป็นหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระรับรู้ด้วยกัน แต่จู่ๆ รัฐธรรมนูญ50 ก็อคติแบ่งองค์กรอิสระแยกเกรด องค์กรอิสระเกรดเอ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ ถูกย้ายไปอยู่เกรดบี เป็นต้น ก่อให้เกิดความสับสนไปหมดว่า ตกลงมันเป็นองค์กรอะไรกันแน่  นำมาซึ่งการตีความ การจัดการที่ไม่เข้าท่านัก และยังมีเรื่องการมีส่วนร่วม ที่พูดไปแล้วว่า การมีส่วนร่วมมีตั้งแต่องค์กรภายในด้วยกันเอง การมีส่วนร่วมจากภายนอก เพราะวิถีชีวิต วัฒนธรรมคนเราต่างกัน เมื่อไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังก็จะสร้างปัญหา และดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของกฎหมาย

ตอนนี้มาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะขอพูดเรื่องนี้สักหน่อย  การปฏิรูปกฎหมายก็คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่าง การติดตาม การบังคับใช้ การตรวจสอบ เมื่อกฎหมายไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มันจึงนำมาซึ่งกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาซ้อนแล้วซ้อนอีก

อีกนิดหนึ่ง ตอนนี้คนไปใช้คำว่า กฎหมายองค์กรอิสระต้องเป็นกลาง และมีความพยายามจะแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ท่านคงจำได้ว่ากรรมการสิทธิฯ ถูกถอดถอนคนหนึ่งด้วยข้อหาว่าไม่เป็นกลาง แท้ที่จริงแล้วต้องถกเถียงกันนานเลยว่า คำว่าเป็นกลางขององค์กรอิสระคืออะไร มันจะต้องไม่มีความเป็นกลาง แต่มันจะต้องมีความเที่ยงธรรม เราแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตัดคำว่าเป็นกลางออก แล้วเปลี่ยนเป็น เที่ยงธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็แก้กลับมาใหม่เหมือนเดิม กฎหมาย คปก. ก็เหมือนกัน ถูกล็อคกับคำว่าเป็นกลาง เพราะฉะนั้น โจทย์ตรงนี้มันสะท้อนทัศนคติหลากหลายมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท