งานวิจัยอังกฤษเผย ทหารผ่านสงครามอิรัก-อัฟกานิสถาน มีโอกาสก่อความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทหารอังกฤษ 14,000 นายที่เคยไปรบในสงครามอิรักและสงครามอัฟกานิสถานพบว่าทหารผ่านศึกโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 30 จำนวนร้อยละ 20 ก่ออาชญากรรมความรุนแรง เนื่องจากผลกระทบจากสงคราม โรค PTSD และการดื่มสุราจัด

15 มี.ค. 2013 - รายงานของวารสารการแพทย์แลนเซทซึ่งระบุว่าทหารอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ผ่านประสบการณ์การสู้รบมีโอกาสก่อเหตุรุนแรงมากกว่าประชากรอื่นๆ

โดยทีมวิจัยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษ 14,000 นาย ที่เคยไปรบในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน และเผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารทางการแพทย์แลนเซท 10 ปี หลังจากสงครามในอิรัก

งานวิจัยเปิดเผยว่าประชากรที่เป็นทหารจะมีอัตราการก่ออาชญากรรมโดยรวมต่ำกว่าประชากรทั่วไปในกลุ่มช่วงวัยเดียวกันเล็กน้อย โดยที่กลุ่มประชากรทหารผ่านศึกราวร้อยละ 94 ที่กลับมาจากพื้นที่สงครามจะไม่ก่ออาชญากรรม

แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่ากลุ่มทหารผ่านศึกก่ออาชญากรรมด้านความรุนแรงสูงกว่าประชากรอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชายอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมด้านความรุนแรงราวร้อยละ 20 หรือจำนวน 2,728 คนจากทั้งหมด เทียบกับกลุ่มประชากรคนหนุ่มที่ไม่ได้เป็นทหารมีเพียงร้อยละ 6.7 โดยอาชญากรรมด้านความรุนแรงส่วนใหญ่คือการทำร้ายร่างกาย

เนื้อความระบุว่าการเป็นทหารยศน้อยที่ถูกใช้ให้ไปรบและประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจเช่นการถูกยิง ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงกับแนวโน้มการใช้ความรุนแรงของทหารที่กลับมาจากสงคราม นอกจากนี้แล้วการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอลและโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder, PTSD) ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมใช้ความรุนแรงด้วย

ทีมนักวิจัยยังได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยเรื่องประวัติของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคนที่มีแนวโน้มชอบใช้ความรุนแรงมีมักจะได้เป็นคนออกไปสู้รบในสงครามมากกว่า

ศจ. ไซมอน เวสส์ลี จากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจของลอนดอนกล่าวว่า คนที่ได้รับบทบาทในการออกรบจะเป็นคนที่มีพื้นเพต่างจากคนอื่นเล็กน้อยอยู่แล้ว

"กองทัพไม่ได้คัดเลือกพวกเด็กพฤติกรรมดีที่ชอบเล่นหมากรุก พวกเขามักจะเลือกจากคนที่มีภูมิหลังขาดแคลนและมีความก้าวร้าว และพวกเขาก็มักจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ได้ออกไปสู้รบในสนามจริง" ไซมอนกล่าว

"ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือคนที่เคยกระทำความผิดโดยใช้ความรุนแรงมาก่อนที่พวกเขาจะไปเป็นทหาร แต่ก็ยังมีเรื่องผลกระทบจากการไปทำสงคราม รวมถึงผลกระทบบางส่วนจากการดื่มสุราหนักและโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่เป็นผลจากการไปรบในสงคราม"

ไซมอนกล่าวอีกว่า การที่กลุ่มคนหนุ่มเหล่านี้ไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังเผชิญปัญหาเป็นอุปสรรคใหญ่สำคัญในการรักษา

กรณีของลูอิส แมคเคย์ ที่เคยไปรบในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานกล่าวว่าบุคลิกของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็นคนผ่อนคลายกลายเป็นคนก้าวร้าวหลังจากเขากลับมาจากสงครามอัฟกานิสถาน

ลูอิส ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นยามที่อาการสำนักงานของ BBC เล่าประสบการณ์สิ่งที่เขาได้พบเห็นและประสบกับตัวเองในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่รุนแรงมากเกินว่าร่างกายและจิตใจคนเราจะทนทานได้ เขาบอกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเกือบทำร้ายภรรยาเขาแต่เขาก็หันไปชกกำแพงหรือหน้าต่าง บางครั้งเขาก็มีภาพประสบการณ์เก่าๆ ย้อนกลับมา จนถึงขั้นแค่การกระชากปิดกระตูรถก็ทำให้เขาล้มลงไปอยู่บนพื้นได้

จอห์น ชาร์ปเลย์ แพทย์ทหารผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชจากกระทรวงกลาโหมอังกฤษเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าการให้ทหารหนุ่มยอมรับความช่วยเหลือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเรื่องรอยแผลในจิตใจ (stigma) ก็เป็นปัญหาใหญ่

"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะฝึกฝนตัวเองให้เผชิญกับอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องร้ายแรงทางจิตใจ ซึ่งในเชิงนิยามคือการเผชิญสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของคนนั้นๆ" จอห์นกล่าว

ทางด้านโฆษกของกระทรวงกลาโหมอังกฤษกล่าวว่าพวกเขามีพันธกิจในการสนับสนุนสมาชิกกองทัพ และครอบครัวของพวกเขาหลังกลับจากสงครามแล้ว แต่ก็กล่าวถึงผลการวิจัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ดูปรับตัวได้ดีและมีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงหลังกลับจากสงครามเพิ่งขึ้นร้อยละ 2 เท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามการละเมิดกฏหมายด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทางกองทัพจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น

โจนาธาน บีล นักข่าวสายความมั่นคงของ BBC กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการลงพื้นที่สงครามยังคงเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ถึงผลกระทบจนทำให้ควรมีการคำนึงถึงเรื่องนี้ โดยในสหรัฐฯ พบว่าทหารที่เคยไปรบในสงครามอัฟกานิสถานและอิรักร้อยละ 15 เป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง และ มีการประเมินว่าทหารในกองทัพสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายในอัตราเฉลี่ย 1 คน ต่อวันในปี 2012

เรียบเรียงจาก

'Violence risk' after military tours, BBC, 15-03-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท