Skip to main content
sharethis

เสวนา ศาลกับ “ความยุติธรรม” ในคดีมาตรา 112 โดย วาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ผู้สังเกตการณ์การสืบคดี 112
เริ่มต้นโดยกล่าวถึงที่มาของผู้พิพากษาว่า ต้องสอบเนติบัณฑิต ซึ่งเป็นการเรียนซ้ำอีกรอบ เรียน 1 ปี ท่องจำฎีกาเป็นหลัก ว่าเคยมีคำพิพากษาเรื่องไหนว่าอย่างไร แม้จะตอบถูกแต่ตอบเหตุผลผิดก็ไม่ได้คะแนน หนึ่งปีในการอ่านเพื่อสอบ คนกว่าจะผ่านเนติบัณฑิตได้ ต้องอุทิศชีวิตในการท่องคำพิพากษาฎีกาจำนวนมาก จนลืมตั้งคำถามว่า คำพิพากษายุติธรรมต่อแต่ละคดีหรือไม่ มันเยอะมาก เยอะเกินกว่ามนุษย์จะจำได้หมด เขาจะต้องตัดต่อมของความคิดในส่วนตั้งคำถามไปก่อนเพื่อจำให้ได้

นอกจากนี้ยังเป็นทนายความสองปีแล้ว ต้องว่าความครบ 20 คดี โดยอายุเกิน 25 ปีจึงจะสอบได้ เมื่อต้องเตรียมสอบด้วย วิธีที่ง่ายกว่าคือ เอาชื่อฝากสำนักงานทนายความ แล้วให้รับรองให้หน่อย ขอไปนั่งในศาลเป็นเพื่อนเขา แล้วก็ยื่นเอกสารให้เซ็น เขาไม่ผิดที่ทำอย่างนี้ เพราะข้อสอบยาก ต้องการการอ่านหนังสือ ถ้าอ่านไปทำงานไป แทบจะเป็นไม่ได้ที่จะสอบผ่าน

โดยสรุป หลังเรียนจบปริญญาตรี สอบเนติบัณฑิตให้ได้ ไม่ต้องทำงานจริงเอาชื่อฝาก อ่านหนังสือตลอดสองปี อายุครบพอดี ก็สอบเป็นผู้พิพากษา จึงไม่แปลกที่จะได้ผู้พิพากษาที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิตอะไรเลยนอกจากการเรียน

เราอาจได้คนเก่งที่จำหนังสือได้เยอะกว่าคนอื่น แต่คนที่จะมาชี้ว่าใครต้องผิด ถูก อาจต้องมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่านั้นหรือเปล่า

ร้ายกว่านั้น แข่งกันเป็นหมื่น เอาไม่กี่สิบ ก็มี “สนามเล็ก” คนที่สอบได้ต้องจบโท และมี “สนามจิ๋ว” คนที่จะสอบได้คือต้องจบโทเมืองนอก 2 ปี  สนามเล็ก สอบพันได้ร้อย ส่วนสนามจิ๋ว สอบกี่คนได้เกือบทั้งหมด หมายความว่า ผู้พิพากษาส่วนหนึ่งไปเรียนเมืองนอกกลับมาก็สอบได้โดยไม่ยากเย็นโดยไม่ต้องผ่านประสบการณ์อะไรเลย

คนที่ไม่มีฐานะมากพอที่จะต่อโทด้วยเงินตัวเอง ก็เป็นผู้พิพากษาแทบไม่ได้ ผมไม่ถึงกับขอให้ตุลาการต้องชุมนุมเสื้อแดงก่อน หรือต้องผ่านการทำคดี แต่น่าจะมีประสบการณ์ อาจจะได้รับการยอมรับมากกว่านี้

ประสบการณ์ที่สังเกตการณ์ในศาล มีเพื่อนทีมงานช่วยทำหลายคน เลือกมาพูดถึง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 
1. ปัจจุบันกฎหมายบอกว่าใครรับสารภาพจะลดโทษให้ครึ่งหนึ่งทันที มีปัญหาว่า บางทีจูงใจให้คนที่ไม่ได้ทำความผิดรับสารภาพดีกว่า ถ้าตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีทนายเก่งๆ คนกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ไม่ได้ทำจริงๆ แต่ไม่รู้จะสู้อย่างไร อีกกลุ่ม เขาทำแต่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้เป็นความผิด กลุ่มนี้ควรได้รับสิทธิจะต่อสู้ แต่บางทีเขาไม่รู้จะสู้อย่างไรถูกจำกัด เป็นเหตุจูงใจให้เขารับสารภาพ อีกเรื่องคือ ถ้าคนที่อยากจะขอพระราชทานอภัยโทษ ว่ากันว่า “ต้องรับสารภาพก่อน” จึงจะได้รับอภัยโทษ

เช่น อากง ยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้ทำ เขาอยากได้ศักดิ์ศรี แต่ถ้าเราอยากให้อากงออกจากคุก เราต้องบีบให้อากงรับสารภาพก่อน อีกกรณีคือ โจ กอร์ดอน เขาไม่ได้อยากรับสารภาพ เขาพูดว่า “ผมไม่ขอต่อสู้คดี” เนื่องจากเป็นมาตรา 112 ใครๆ ก็บอกไม่มีทางชนะ เพราะมันมาจากทัศนคติด้วย แต่ศาลไม่ยอมให้ใช้คำนั้น สุดท้ายโจต้องพูดว่ารับสารภาพ

2.ศาลไม่ค่อยให้จำเลยนำสืบเนื้อหา ในยุคหนึ่ง หลายคดี ถ้าสู้กันจริงๆ ในเนื้อหาอาจจะไม่ผิดก็ได้ แต่ช่วงหนึ่งศาลอาจมีความรู้สึกว่า เรื่องพวกนี้อย่าขุดขึ้นมาเลย ไม่ให้อธิบาย จะให้นักวิชาการมาช่วยกันตีความ ศาลก็ไม่อนุญาตโดยเห็นว่า การตีความอะไรหมิ่น ไม่หมิ่น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเป็นดุลยพินิจของศาล สุดท้ายศาลต้องวินิจฉัยเองอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุด ควรต้องอนุญาตให้จำเลยนำสืบก่อน ต่อสู้อย่างเต็มที่ก่อน

3.มีแนวโน้มเรื่องการพิจารณาคดีลับ คดีดา ตอร์ปิโด หรือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นคดีแรก ไม่ให้ใครเข้าเลย เรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบอกว่าชอบแล้ว เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง หลังจากนั้น มีคดีทหารอากาศ และล่าสุด ปลายเดือนที่แล้ว ที่ปัตตานี ศาลสั่งพิจารณาคดีลับอีกครั้ง การที่ศาลยิ่งทำอะไรปิดลับ มันก็ยากที่คนธรรมดาจะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เราอาจเห็นด้วยกับการลงโทษใครบางคนก็ได้ แต่เราควรจะรู้ก่อนว่าข้อความที่เขาพูดคืออะไร นอกจากนี้ การพิจารณาคดีลับ ยังยากต่อการตรวจสอบ คดีมาตรา 112 ไม่มีความจำเป็นต้องปิดลับ เราเดินทางกันมาไกลแล้ว เราให้สาธารณชนร่วมกันตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหลังมานี้ ศาลเองก็เริ่มปรับตัวบ้าง มีการทำคำพิพากษาฉบับย่อแจกนักข่าว มีการตอบคำตอบนักข่าว ขอให้พวกเราจับตากระบวนการทำงานของกระบวนการยุติธรรมต่อไป  ขอเชิญชวนให้ไปร่วมสังเกตการณ์คดี เราจะพูดกันในเรื่องข้อเท็จจริงและด้วยความเคารพและสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้พิพากษาท่านทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ และจะร่วมวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเห็นข้อบกพร่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net