Skip to main content
sharethis

คำหล้า ชมชื่น  ผู้ต้องขังคดี “ปล้นปืน” ทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.53  คำว่าปล้นปืนอาจให้ภาพที่ใหญ่เกินความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้วมันคือการรุมล้อมรถทหารที่เข้ามาบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงใกล้ซอยหมอเหล็ง มีการแย่งปืนของทหารคนหนึ่งที่ยืนอยู่หลังกะบะรถ รวมทั้งนำตัวทหารลงมาจากรถและเคลื่อนย้ายรถไปที่อื่น แน่นอน ว่าเราจะเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปทำร้ายทหารและบางส่วนที่พยายามห้ามปราม อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นความโกรธแค้นต่อเนื่องจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่บริเวณใกล้เคียงกันมีการยิงชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งรถพยาบาล (ดูคลิปประกอบ)


คลิปจาก thaiopion1  นาทีที่ 0:40 มีผู้บาดเจ็บถูกยิง 1:45 จะเห็นรถทหารเข้ามาในพื้นที่และถูกผู้ชุมนุมล้อม


คลิปจาก TheChomfa แสดงให้เห็นการล้อมรถทหารของผู้ชุมนุม
มีการขึ้นไปชกทหารบนรถ และพยายามแย่งปืนจากมือทหาร

 

คำหล้า ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 10 ปี (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาในลิงก์ด้านล่าง) และถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ ซึ่งเป็นที่รวมของผู้ต้องขังในคดีการเมือง

00000

 

คําหล้า ชมชื่น เกิดปี 2517 เป็นชาว อ.หนองแซง จ.สระบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เขาจบการศึกษา ป.6 ที่โรงเรียนวัดหนองกะธาตุ จ.สระบุรี ด้วยความยากจนเขาจึงไม่ต้องการศึกษาต่อ และทำงานรับจ้างทั่วไป/ และรับจ้างทำนาแถวบ้านของเขา

3 ปีต่อมาเขาเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อทำงานในโรงงานทำถุงพลาสติกสำหรับใส่ผ้าห่มนวมแห่งหนึ่ง แต่ทำงานได้เพียง 2 ปี ทางบ้านของเขาก็เรียกให้เขากลับมาทำงานรับจ้างแถวบ้านอีกครั้ง

เมื่อ อายุ 21 ปีเขาสมัครใจเป็นทหาร โดยไม่จับใบดำใบแดง เขาได้รับการฝึกเป็นทหารสังกัด พล.รอ.4 รักษาพระองค์ ม.พัน 27 โดยได้รับเงินเดือนๆ ละ 1,150 บาท

2 ปีต่อมาเขาพ้นจากการเป็นทหาร และทำงานในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ยกเฟอร์นิเจอร์เข้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยได้ค่าแรงวันละ 150 บาท

ปลายปี 2542 พี่ชายคนหนึ่งของเขาเสียชีวิต เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน และสมัครเข้ามาทำงานที่สำนักการระบายน้ำ สังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานคลองบางซื่อ ซึ่งพี่ชายอีกคนของเขาทำงานอยู่ โดยเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานชั่วคราว ได้รับเงินเดือนๆ ละ 4,100 บาท ทำหน้าที่จัดเรียงกระสอบทราย/ลอกท่อระบายน้ำ

ปี 2547 เขาได้รับการบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ โดยได้รับเงินเดือนๆละ 10,600 บาท ทำหน้าที่เฝ้าเครื่องสูบน้ำ ซึ่งการทำงานของที่นี่แตกต่างจากระบบราชการที่อื่นคือ เขาต้องเข้ากะเพื่อเฝ้าเครื่องสูบน้ำครั้งละ 24 ชั่วโมง วันเว้นวันสลับกับเพื่อนเจ้าหน้าที่อีก 1 คน

ปี 2549 หลังการรัฐประหาร เขารู้สึกน้อยใจที่นายกรัฐมนตรีที่เขาชื่นชอบถูกปล้นอำนาจ แต่เขาก็ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุม หรือการเรียกร้องใดๆ

ปี 2552 กรุงเทพมหานครมีหนังสือสั่งการมาทุกหน่วยงาน รวมทั้งสำนักการระบายน้ำ ห้ามเจ้าหน้าที่ทุกคนยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมการเมืองใดๆ เขาปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด

27 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 13.30 น. ขณะที่เขากำลังทานอาหารที่ร้านอาหารประจำ (ด้านหลังกรมการขนส่งทางบก ถ.พหลโยธิน) มีกลุ่มผู้ชาย 4-5 คนขี่มอเตอร์ไซด์มาจอดใกล้กับโต๊ะที่เขากำลังนั่งทานอาหารอยู่ เขาสังเกตเห็นบางคนในกลุ่มกำลังคุยโทรศัพท์มือถืออยู่
พวกเขาลงจากรถมอเตอร์ไซด์และเดินมาหาเขา โดยบางคนถือซองสีน้ำตาล หนึ่งในนั้นถามว่าเขาใช่คำหล้าหรือไม่ แล้วบอกว่าเป็นตำรวจมาพร้อมหมายจับ

กลุ่มผู้ชายดังกล่าวดึงตัวเขาขึ้นมาจากเก้าอี้, จับมือของเขาไพล่หลัง และใส่กุญแจมือ ท่ามกลางสายตาของลูกค้าในร้านอาหาร เขาถูกนำตัวขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ และถูกพาตัวไปฝั่งตรงข้ามวัดไผ่ตันซึ่งอยู่ติดกับที่ทำงานของเขาเพื่อเปลี่ยนขึ้นรถยนต์ที่จอดรออยู่ โดยไม่เปิดโอกาสให้ติดต่อพี่ชายของเขา

รถยนต์พาเขาไปอาคาร บช.น. หลังเก่า (อยู่ฝั่งตรงข้าม รพ.สงฆ์ ถ.ศรีอยุธยา) เขาถูกนำตัวขึ้นพาไปชั้น 3 ของอาคาร เพื่อไปพบผู้บังคับบัญชาของพวกเขา เขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ เขาร้องขอให้ตำรวจช่วยติดต่อญาติให้เขา แต่ตำรวจปฏิเสธ
ผู้บังคับบัญชาของตามด้วยความเมตตาว่าระหว่างจับกุมทำอะไรอยู่ เมื่อเขาบอกว่ากำลังกินข้าวแต่ยังกินไม่เสร็จ ผู้บังคับบัญชาก็ต่อว่าลูกน้องว่า  "ไอ้พวกนี้ใจร้ายจริง น่าจะให้กินเสร็จก่อน" จากนั้นเรียกให้เขาไปตักข้าวแกงซึ่งวางอยู่บนโต๊ะมาทาน เขาทำตาม แต่ทานได้เพียง 2-3 คำก็กินไม่ลงจึงเดินกลับมานั่งที่โต๊ะ เขาสังเกตเห็นตำรวจกำลังพิมพ์สำนวนอยู่ ทั้งที่เขายังไม่ได้ให้การใดๆ เลย

2-3 นาทีต่อมาตำรวจเอาสำนวนที่เพิ่งพิมพ์เสร็จกว่า 70 หน้ามาให้เขาลงลายมือชื่อ เขาพยายามจะเปิดอ่าน แต่ตำรวจเอามือปิดอย่างรวดเร็ว

"เอ๊า มึงรีบเซ็น ถ้ามึงไม่เซ็นกูจะส่งตัวมึงให้ทหาร เกิดอะไรขึ้นกับมึงกูไม่รับรู้นะ"

ด้วยความกลัวเขาจึงยอมลงลายมือชื่อในเอกสารประมาณ 5-6 หน้า หลังจากนั้นตำรวจพาตัวเขาลงไปชั้นล่างเพื่อขึ้นรถตู้ และพาเขาไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ถ.ศรีอยุธยา)

เมื่อเข้าไปในห้องแถลงข่าว เขาสังเกตเห็นสื่อมวลชนนั่งรออยู่ในห้องแถลงข่าวจำนวนมาก บนโต๊ะตัวใหญ่มีอาวุธ M79 และวัตถุระเบิดจำนวนมากวางอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นของคดีอื่นที่เพิ่งแถลงข่าวเสร็จก่อนหน้านี้

เขาถูกจับนั่งลงเก้าอี้ สื่อมวลชนเริ่มถามตำรวจที่ร่วมแถลงข่าว
   "มีของกลางไหม"
   "มี M16 1 กระบอก"
   "ได้มาจากไหน"
   "ได้มาจากวัดปทุม"

ตำรวจหยิบปืน M16 จำนวน 1 กระบอกขึ้นมาวางบนโต๊ะให้สื่อมวลชนดู สื่อมวลชนเริ่มถามเขา
   "ไปปล้นทำไม"

เขาปิดปากเงียบสนิท ไม่ได้ตอบคำถาม นักข่าวจากไทยโพสท์มอบภาพถ่ายคนสวมชุดดำใส่หมวกแก๊ปปิดบังใบหน้าให้กับตำรวจ เขาเห็นคนในภาพถ่ายแว็บๆ ภาพนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวเขาในเวลาต่อมา

หลังแถลงข่าวเสร็จตำรวจพาเขาขึ้นรถตู้คันเดิมกลับ สน.ดินแดง ระหว่างทางเขาได้ยินตำรวจคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังของเขาพูดคุยกัน ได้ยินเสียงว่า “วัด วัด” เขามั่นใจว่า คนที่ชี้เป้าให้ตำรวจที่ขี่มอเตอร์ไซต์มาจับกุมเขาคือ ตำรวจที่ชื่อ "วัฒน์" ซึ่งเป็นตำรวจที่รู้จักกับเขา เนื่องจากอยู่บ้านใกล้กับบ้านของเขา

เมื่อกลับมาถึง สน.ดินแดง เขาถูกนำตัวเข้าห้องขัง ตำรวจคืนโทรศัพท์ของเขาให้กับตำรวจ สน.ดินแดง ด้วยเหตุนี้เขาจึงร้องขอให้ตำรวจ สน.ดินแดง ใช้โทรศัพท์ของเขาติดต่อภรรยาของเขา ตำรวจ สน.ดินแดง ติดต่อภรรยาของเขา และแจ้งให้เธอทราบว่า เขาอยู่ สน.ดินแดง ภรรยาของเขาเดินทางมาเยี่ยมเขาในเวลาเย็น และรับของส่วนตัวของเขากลับบ้าน
 

เวลา 19.00 น. ตำรวจพาเขาออกจากห้องขังเพื่อทำการสอบสวน
   "โดนซ้อมไหม"
   "ไม่โดนครับ"
ตำรวจเปิดเสื้อของเขาขึ้นมาดู และไม่พบบาดแผลบนร่างกายของเขาแต่อย่างใด
   "อ้าว ทำไมไม่โดนซ้อม"
   "ไม่รู้ครับ"
   "มีเพื่อนฮาร์ดคอร์ไหม
   "ไม่มี"
หลังจากสอบสวนเสร็จเขาถูกนำตัวกลับเข้าห้องขังอีกครั้ง แต่ผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมงเขาก็ถูกนำตัวออกจากห้องขังมาสอบสวนอีกครั้ง

ครั้งนี้เขาถูกพาตัวเข้าห้องสอบสวน เขาเห็นชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องร่วมกับตำรวจ ตำรวจพูดต่อหน้าเขาและชายคนนั้นว่า เขาลงลายมือชื่อรับสารภาพไปแล้ว เขาเพิ่งรู้ในเวลานั้นว่า เขาถูกหลอกให้ลงลายชื่อรับสารภาพ
ชายคนนั้นแนะนำตัวต่อเขาว่า เป็นทนายความจากสภาทนายความฯ "ไหนๆ เซ็นแล้วก็เซ็นเอกสารนี่อีก"

เขายอมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่รู้ว่าเอกสารเหล่านั้นคืออะไร หลังจากนั้นเขาถูกนำตัวกลับเข้าห้องขัง และถูกนำตัวไปสอบสวนอีกครั้งเวลา 0.00 น.

วันรุ่งขึ้นเวลา 8.00 น. ภรรยาของเขาและพี่ชายของเขาที่ทำงานในสำนักการระบายน้ำซื้ออาหารมาเยี่ยมเขาถึงห้องขัง ตำรวจ สน.ดินแดง แนะนำภรรยาของเขาและพี่ชายของเขาให้ติดต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยแจ้งว่า เขาถูกจับกุมจากข้อหาทางการเมือง

ภรรยาของเขาและพี่ชายของเขารีบเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากพรรค พวกเขากลับมาหาเขาอีกครั้งในช่วงบ่าย และแจ้งข่าวดีว่าทางพรรคกำลังจัดหาหาทนายความมาช่วยเหลือ คืนนั้นเขาต้องนอนค้างในห้องขังอีก 1 คืน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์เขาถูกส่งไปฝากขังที่ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) ภรรยาของเขามารอเขาที่ สน.ดินแดง และขึ้นรถแท็กซี่ตามเขาไปที่ศาลอาญาด้วย เมื่อมาถึงศาลอาญาเขาถูกนำตัวเข้า ห้องขังใต้ถุนศาล ภรรยาของเขานั่งรออยู่ด้านนอก ซักพัก วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เดินมาพูดคุยกับภรรยาของเขา และถามหาเขา ภรรยาของเขาจึงชี้นิ้วมาที่เขาซึ่งกำลังยืนเกาะลูกกรงห้องขังอยู่ ทั้งสองทักทายกันตามอัธยาศัย

เวลา 12.00 น. เขาถูกส่งเข้าเรือนจำกรุงเทพ ต่อมาเขาถูกย้ายไปแดน 8 ซึ่งวันแรกที่ย้ายแดน เขาถูกผู้ต้องขังที่อยู่ในแดน 8 ทำร้ายร่างกาย แต่โชคดีที่ผู้ต้องขังคนอื่นช่วยห้ามไว้

เขาถูกขังเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 28 ธ.ค. 54 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนของทหาร 15 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี (อ่านรายละเอียดที่ จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53)

อีกเกือบสองปีต่อมา วันที่ 22 ม.ค. 56 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 10 ปี  (อ่านรายละเอียดที่  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 10 ปี ‘คำหล้า’ คดีแย่งปืนทหาร 2 กระบอก)

เขาบอกว่า เขาอยากให้มีการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทางการเมืองโดยเร็วที่สุด และอยากวิงวอนทุกฝ่ายอย่าเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคนล้วนมีภาระดูแลครอบครัว หากตนเองได้ออกจากเรือนจำก็จะขอกลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net