‘แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล’ กลางแรงบีบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน

ท่ามกลางแรงบีบของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน บังคับให้คนสงขลา-สตูลลุกขึ้นอีกครั้ง ระดมเครือข่ายภาคประชาชนใต้ลุกฮือใหญ่ ‘คุ้ม-ไม่คุ้ม’ อะไรคือความจริงของท่าเรือน้ำลึกปากบารา

ระดมเครือข่ายภาคประชาชนใต้ลุกฮือใหญ่

 
“วันที่ 27 มีนาคม 2556 ที่จังหวัดสงขลา เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ จะประชุมหารือกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกรณีที่เมกะโปรเจกต์ในภาคใต้ถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... จำนวน 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล วันเดียวกันนั้นจะมีการเคลื่อนไหวในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลก่อนมีการนำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มีนาคม 2556”
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล แถลงการณ์ผ่านเครื่องโทรโข่งในตอนเที่ยงของวันที่ 21 มีนาคม 2556 บนโต๊ะที่ถูกจัดอย่างฉาบลวก ใต้เต็นท์ผ้าใบหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ต่อหน้าผู้สื่อข่าวนานาสำนัก
 
ฉากข้างและฉากหลังคือภาพชาวบ้าน เด็กจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 15 คน บ้างคาดหัว บ้างห้อยคอด้วยผ้าเขียวสกีน ‘ปกป้องสตูล’ ชูธงเขียว ‘STOP ท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา’ 3 ธง ยกป้ายกระดาษ ‘ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่ใช่คำตอบของการพัฒนา’ และ ‘พ.ร.บ.เงินกู้! ใครได้! ใครเสีย’ ขณะที่หน้าตาของแต่ละคนค่อนเครียดและกังวล
 
“ประมาณปลายเดือนเมษายน 2556 นี้จะมีการระดมพลเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดสตูล และภาคใต้ เพื่อชุมนุมใหญ่คัดค้านแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล กันที่จังหวัดสตูล จากนั้นจะมีการจัดเวทีสมัชชาคนสตูล ร่วมกับภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล และส่วนราชการจังหวัดสตูลเพื่อระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพจังหวัดสตูล”
 
นายวิโชคศักดิ์ สรุปแนวทางของเครือข่ายฯ ที่จะดำเนินการด้วยหวังจะหยุดโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....  จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท
 
 

ค้านแลนด์บริดสงขลา- สตูล ในร่างพ.ร.บ.เงินกู้

 
ก่อนหน้านี้ในเวลา 10.00 น. ชาวบ้านประมาณ 50 คน ยืนชักแถวในศาลากลางจังหวัดสตูล ถือป้ายผ้า ‘หยุด พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อสร้างท่าเรือ คนตูลไม่เอา’ และ ‘หยุดแลนด์บริดจ์ หยุด พ.ร.บ.เงินกู้’ รวมถึงภาพการ์ตูนล้อเลียนโดยเปรียบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... เป็นปีศาจ ที่มือซ้ายถือประเทศไทย ขณะเท้าขวากำลังเหยียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
 
 
 
 
“เราได้ข้อมูลของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ที่มีรายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล แต่ไม่มีร่างพ.ร.บ.เงินกู้2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเลย วันนี้เราขอร่างพ.ร.บ.เงินกู้จากจังหวัดสตูลด้วยเพื่อนำไปศึกษาข้อมูล”
 
“นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ บอกว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง”
 
นายวิโชคศักดิ์ อ้างตามความเห็นของนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดเสวนาหัวข้อ "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจ ได้ หรือ เสีย" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 54 ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
 
 

กังวลร่าง พ.ร.บ.เงินกู้บีบให้ผ่าน EHIA บังคับเพิกถอนอุทยานฯ เภตรา

 
“ร่างพ.ร.บ.เงินกู้เป็นการบีบบังคับให้กระบวนการศึกษา การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบราย การศึกษา ความเป็นไปได้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) ว่าต้องผ่าน ศึกษาและออกแบบโครงการ การเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ว่าต้องเพิกถอนให้ได้ บีบให้เวนคืนที่ดินสร้างทางรถไฟให้ได้”
 
นายวิโชคศักดิ์ พูดผ่านโทรโข่งด้วยน้ำเสียงกร้าวลั่นศาลากลางจังหวัดสตูล โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล และนายธานี หะยีมะสาและ ป้องกันจังหวัดสตูลช่วยกันเจรจากับชาวบ้านเพื่อที่ให้นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล รับแทนนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่กำลังติดประชุม ทว่าชาวบ้านไม่เชื่อ ชาวบ้านยืนกรานที่จะยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้ได้
 
 
 
11.10 น. ขบวนชาวบ้านจึงขึ้นไปยังห้องผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ปรากฏว่านายเหนือชาย กำลังประชุมอยู่ในห้องประชุมวัฒนโกเมร ชาวบ้านจึงนั่งปักหลักที่หน้าห้องประชุม
 
 
กระทั่งเวลา 11.30 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลจึงออกมารับหนังสือ
โดยที่นางเจะนะ รัตนพันธุ์ชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จากตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นผู้อ่านเนื้อหาในหนังสือโดยมีสาระสำคัญว่า
 
0000
 
ในนามของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายคนรักสงขลา-สตูล มีความเห็นว่า โครงการเงินกู้ของรัฐบาลจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทนี้ เป็นเงินจำนวนมหาศาล ที่รัฐบาลจะต้องขบคิด พิจารณาอย่างรอบคอบมิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ  และตกเป็นภาระกับคนไทยทั้งประเทศในระยะยาว  ส่วนกรณีที่มีการบรรจุงบประมาณในโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ถือเป็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1.     หนี้สินสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระในระยะยาว 50 ปี
 
2.     โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ต้องศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และยังไม่ยุติว่าต้องก่อสร้างหรือไม่
 
3.     โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (สวนกง) ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีผลสรุปการศึกษาที่ชัดเจนทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึงจุดที่ตั้งที่เหมาะสม และยังไม่มีข้อยุติว่าควรสร้าง หรือไม่ควรสร้าง
 
4.     โครงการรถไฟรางคู่ ระหว่างสงขลา – สตูล ผลการศึกษายังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นโครงการที่ประชาชนทั้งสองจังหวัดตั้งข้อสงสัย และมีข้อสังเกตว่าจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และแหล่งทำกินของประชาชนทั้งสองจังหวัดเป็นอย่างมาก ยังไม่มีข้อยุติว่าควรสร้าง หรือไม่ควรสร้าง
 
5.     ความไม่คุ้มทุนของโครงการแลนบริดจ์สงขลา – สตูล ซึ่งมีเสียงทักท้วงจากนักธุรกิจเดินเรือเคยเสนอไว้ว่า การสร้างท่าเรือฝั่งอันดามันแทบไม่มีความจำเป็น เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากกว่าเดิม ไม่ใช่ลดค่าใช้จ่าย กอรปกับการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น ภายใต้วาทะกรรม “อาเซียนไร้พรมแดน หรือ อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว” จึงควรยกเลิกความคิดการพัฒนาแบบปัจเจก แต่ควรมองการพัฒนาแบบองค์รวมร่วมกันของอาเซียนทั้งหมด
 
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายคนรักสงขลา – สตูล จึงมีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลดังนี้
 
1.     รัฐบาลต้องยกเลิกการกู้เงินจำนวนมหาศาล ที่จะสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชน และควรคำนึงถึงการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ
 
2.     รัฐบาลไม่ควรบรรจุแผนงบประมาณในชุดโครงการแลนบริดจ์ทั้งหมด คือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (สวนกง),โครงการรถไฟรางคู่สงขลา-สตูล หรือโครงการอื่นๆ เพราะยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวคิด และยังไม่มีการตัดสินใจตามขั้นตอนกฎหมายปกติ รวมทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 66 และ 67
 
3.     รัฐบาลต้องทบทวนแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมด ตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และควรคำนึงถึงความสูญเสียทางด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาหาร และวิถีวัฒนธรรมของภาคใต้
 
4.     รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสตูล บนฐานต้นทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคใต้อย่างแท้จริง ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนการเกษตรกรรมสมดุล และการประมงอย่างรับผิดชอบ
 
0000
 
จากนั้นนางเจะนะได้มอบหนังสือคัดค้านโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...  ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
 
 
“ไม่ต้องกังวลครับ คณะรัฐมนตรีแค่อนุมัติรับหลักการร่างพ.ร.บ.เงินกู้เท่านั้น ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ถึงจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าร่างพ.ร.บ.เงินกู้ผ่าน หรือไม่ผ่าน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือถ้าร่างพ.ร.บ.เงินกู้ ไม่ผ่าน คณะรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะ”
 
นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พูดกับชาวบ้านเพื่อให้คลายความกังวล และรับปากหนังสือดังกล่าวให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยส่งโทรสาร (Fax) ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี
 
ขณะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลบังเอิญได้ยินว่าปลายเดือนเมษายน 2556 เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสตูลจะจัดเวที ‘สมัชชาคนสตูล’ เพื่อระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพจังหวัดสตูล
 
“ถ้าอย่างนั้นสำนักงานจังหวัดสตูลขอร่วมจัดเวทีสมัชชาคนสตูลด้วย เรามานั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผลถึงแนวทางการพัฒนาของจังหวัดสตูลเพื่อเสนอรัฐ”
 
นายเหนือชาย เสนอ พร้อมๆ กับเครือข่ายภาคประชาสังคมรับข้อเสนอในการร่วมกันจัดเวที ‘สมัชชาคนสตูล’
                           
 

‘คุ้ม-ไม่คุ้ม’ อะไรคือความจริงของท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
 
บรรยาย: ภาพจำลองท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
 
โดยมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล 1.2 หมื่นล้านบาท  ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 1 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (จะนะ) 4.6 หมื่นล้านบาท
 
บรรยาย: ภาพจำลองท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
 
พาดหัวข่าว ‘คมนาคมเร่งเดินหน้าท่าเรือปากบาราเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านภายใน 4 ปี’ ของสำนักข่าวไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลขนส่งทางน้ำ ให้สัมภาษณ์โดยมีใจความว่า โครงการที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างคือท่าเรือน้ำลึกปากบารา  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล 1.2 หมื่นล้านบาทท่าเรือปากบารามีศักยภาพรองรับการส่งออกสินค้าในพื้นที่ภาคใต้  โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยแต่ละปีมีมูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท  คาดว่าจะใช้ระยะเวลา  3-4  ปี  ส่วนท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 1หมื่นล้านบาท 
 
“โครงการลงทุนเหล่านี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในอนาคต ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป้าหมายจะต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันไทยอยู่ที่ร้อยละ 15.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยจะลดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ภายใน 7 ปีข้างหน้า” นายประเสริฐ ระบุ
 
บรรยาย: รถไฟแลนด์บริดจ์ – แนวเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 –ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
ขณะที่ทรรศนะของผู้ประกอบการเดินเรือว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดเสวนาหัวข้อ "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจ 'ได้' หรือ 'เสีย'" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 54 ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ .ในพาดหัว ‘เสวนา: ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจ ได้หรือเสีย’ ของสำนักข่าวประชาไท
 
นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ เห็นต่างจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดึตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด นายนาวี พรหมทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานหอการค้า จังหวัดสตูล ฯลฯ ในด้านความคุ้มค่าทางธุรกิจ
 
นายสุวัฒน์ มองบนฐานของผู้ประกอบการเดินเรือว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง เนื่องจากทางภาคใต้สินค้าส่งออกมีปริมาณจำกัด ส่วนใหญ่เป็นยางพารา และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยจะมีสินค้าส่งออกประมาณแสนห้าหมื่นทีอียู (20ตู้คอนเทนเนอร์) ออกที่สงขลาประมาณ6-7หมื่นตู้ และออกที่ปีนัง 6-7หมื่นตู้
 
“เราคาดหวังกับท่าเรือน้ำลึกปากบารามากเกินไป สินค้าไทยในภาคใต้มีประมาณ 3 แสนตู้ต่อปี สินค้าหลักคือ ยางพารา ผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีนกับญี่ปุ่นส่งออกที่ท่าเรือสงขลา จึงต้องออกทางฝั่งตะวันออก ยางพาราควรออกที่สงขลาเพราะจะได้ค่าระวางถูกกว่า เพราะฉะนั้นสินค้าภาคใต้เอง ที่จะมาออกทางปากบาราจึงเหลือน้อย”
 
“แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เนื้อหาฟังดูดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่าเป็นการขนส่งเป็นแบบซ้ำซ้อน เส้นทางรถไฟมีความยาวร้อยกว่ากิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อตู้สูงแพงเกินไป ในแง่ของผู้ประกอบการคงไม่ใช้ ฉะนั้นค่าถ่ายลำที่มาเลเซียจะถูกกว่า ถ้ามองในแง่ระยะเวลาอาจจะลดลงจริง แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก” 
 
เป็นความเห็นของนายสุวัฒน์ มองต่างจากคนอื่นๆ ที่สนับสนุนให้สร้าง
 
แต่นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข. ) พูดในงานสัมมนา "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ประเทศชาติและประชาชน (ภาคใต้) ได้อะไร?" ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556 ในเชิงจะสร้างรายได้และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้กับภาคใต้ ในพาดหัวข่าวของข่าวสด ‘ทุ่มงบ10%ลงภาคใต้-ปัดฝุ่นท่าเรือปากบาราสตูล "ปู"เรียกหารือด่วนร่างพ.ร.บ 2 ล้านล้าน’
 
นายจุฬา เห็นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของภาคใต้นั้น จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ได้ โดยในส่วนของภาคใต้ได้เน้นการพัฒนาระบบราง ท่าเรือ และถนนเป็นหลัก โดยจะใช้งบประมาณเบื้องต้นประมาณ 10% ของ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการจะพัฒนาระบบถนนที่จะขยายเป็น 4 เลน และซ่อมแซมบางเส้นทาง อาทิ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-หาดใหญ่ และเส้นทางระนอง-ชุมพร ขณะที่ระบบรางและท่าเรือจะเริ่มดำเนินการในปี 2557-2558 
 
“ส่วนการพัฒนาท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลนั้น ทางกระทรวงคมนาคมยืนยันเดินหน้าก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ ในด้านการกระจายสินค้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้ครั้งนี้ จะสร้างรายได้และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้กับภาคใต้ได้อย่างแน่นอน” นายจุฬา เชื่อ
 
ทว่าผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ในพาดหัวข่าว ‘ยันผุดท่าเรือปากบาราไม่คุ้ม-ใช้ทวายแทน ชี้สู้ท่าเรือใหญ่ในแถบเอเชียไม่ได้ 
 
ผศ.ดร.พงษ์ชัย มองว่า ปัจจุบันเจ้าของบริษัทเดินเรือระดับท็อป 25 ของโลก คือผู้กำหนดเส้นทางเดินเรือ เช่น เอเวอร์กรีนของไต้หวัน ฮุนไดของเกาหลีใต้ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้เป็นคนกำหนดเอง ว่าจะหยุดที่ไหน แล้วในแง่ของขนาดท่าเรือ แหลมฉบังถือเป็นท่าเรือขนาดกลาง มีความจุปีหนึ่งประมาณ 10.2 ล้านทิวบ์ ทิวบ์ก็คือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ส่วนท่าเรือกรุงเทพเต็มที่ปัจจุบันประมาณล้านกว่าทิวบ์
 
ที่ปากบาราแค่ 3 แสนทิวบ์ จะเห็นว่ามันไม่ใหญ่ เราจะไปเปรียบเทียบกับท่าเรือสิงคโปร์ไม่ได้ ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือติดอันดับโลก ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังที่จุได้ 10 กว่าล้าน แต่มีสินค้าจริงๆ แค่ 5 ล้านกว่าตู้ แม้แต่แหลมฉบังเองเรายังไม่มีของไปวางให้เต็ม ดังนั้น ในทางปฏิบัติเรือก็จะไปชุมทางอยู่ที่สิงคโปร์
 
“ผมพูดมาสี่ห้าปีแล้วว่า ผมไม่เห็นด้วยกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะการสร้างท่าเรือมันมีปัจจัยแห่งความสำเร็จเยอะ หนึ่ง-ขึ้นอยู่กับภาคเอกชน หมดยุคแล้วที่ภาครัฐจะสร้างท่าเรือ โดยไม่ดูมิติอื่นๆ”
 
ทรรศนะของผศ.ดร.พงษ์ชัย สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับกระทรวงคมนาคมยังคงยืนยันต้องสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท