Skip to main content
sharethis

เวที Bicara Patani ของฝากจากนักกฎหมายมุสลิมต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จี้รัฐต้องทบทวนหลายประการ ทั้งกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้โอกาสประชาชน สร้างดุลอำนาจในพื้นที่ ชี้ประชาชนต้องปรับตัว กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อเดินไปข้างหน้า

 
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC] กล่าวปาฐกถาในเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani หัวข้อ “28 ก.พ.: สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” หรือ “28 Feb : Petanda Baik atau Buruk Proses Damai Patani” เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มอ.ปัตตานี จัดโดยโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] ร่วมกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ โดยสรุปความได้ดังต่อไปนี้
 
 
 
นายอนุกูล อาแวปูเตะ (ภาพจากเฟสบุ๊กของ Bicara Patani @PSU Pattani)
 
 
ถ้าใครติดตามสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเห็นในมุมของความรุนแรงทางสื่อ แต่อีกมุมหนึ่งสังคมต้องการความช่วยเหลือ อีกมุมหนึ่งสังคมถูกกระทำหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจ สิ่งเหล่านี้คือเราะห์มัต(ความโปรดปรานของพระเจ้า) ที่ให้คนในพื้นที่มีโอกาสในการแสดงจิตใจสาธารณที่อยากจะช่วยเหลือโดยอาศัยพลังขององค์ความรู้
 
ทุกๆ ความรู้ที่จะดำรงความยุติธรรมย่อมมีประโยชน์ และทุกความรู้มีความเท่าเทียมกัน ถ้ามีความบริสุทธิ์ใจ อินชาอัลลอฮ อัลลอฮตอบแทนในความพยายาม
 
ผมอยากให้พวกเราทบทวนเหตุการณ์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผมอยากให้ทิ้งภาพที่เลวร้ายเหล่านั้น แล้วนำมาสู่ภาพที่ดีกว่า แต่ผมไม่อาจให้คำตอบได้ว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นผลบวกหรือลบ และผมเชื่อว่าไม่มีใครตอบได้
 
แต่สัญญาณบางอย่างแสดงให้เห็นพลังของคนในพื้นที่ การเติบโตทางความคิด การตระหนักในเรื่องสิทธิมันเกิดขึ้นเป็นประจักษ์ เพราะผมเห็นตั้งแต่ชาวบ้านที่ไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่วันนี้มีความกล้า เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าพูด คำว่า "BRN" เป็นคำแสวงใจ แต่วันนี้มีการพูดทางสื่อเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าสังคมเปิดขึ้น
 
การพูดคุยคงไม่ใช่เป็นเรื่องของคน 2 คน แต่การเจรจาสันติภาพ การเจรจาเรื่องพื้นที่ความขัดแย้งนั้น เบื้องหลังของแต่ละคนมันคือชะตากรรมของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วันนี้เรายังมีคนที่ไม่กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง เรามีคนที่ถูกกดดันจากการใช้อำนาจของรัฐ สิ่งเหล่านี้คือปัญหาและอุปสรรค วันนี้เราต้องปลดล็อคตรงนั้นให้ได้ เวทีนี้ถือว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างกระแสหรือสร้างพื้นที่ทางการเมืองของคนในพื้นที่
 
ผมคิดว่าการพูดคุยจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้หยุดเหตุการณ์ในพื้นให้ได้ สำหรับคนในพื้นที่นอกจากจะต้องหยุดสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะต้องคิดที่จะสร้างสังคมที่ยั่งยืนในพื้นที่ เพราะเราต้องอยู่ที่นี่ เราไม่ได้อยู่ในมาเลเซีย เราจะปล่อยให้คนอื่นคิดไม่ได้ เราต้องคิดเพื่อตัวของเราเอง
 
สิ่งที่ผมอยากจะฝากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ในฐานะที่ผมทำงานภาคประชาชน ได้เจอกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน คิดว่าการส่งเสียงของผมมันคือความรู้สึกเดียวกันกับคนในพื้นที่
 
ประการแรก กระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมจริงๆ ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายถ้าทำผิดจะต้องได้รับโทษเหมือนกันทุกคน ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะอยู่ลอยนวลเหนือกฎหมาย
 
อีกประการ คือกฎหมายพิเศษ เห็นจากสื่อว่าฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษเหมือนกัน ผมจะบอกว่า ผมก็เคยเรียกร้องให้ยกเลิกมาแล้ว เคยเรียกร้องให้รู้ว่ากฎหมายพิเศษมีปัญหาอย่างไร มีคนถูกซ้อมทรมานจากการใช้กฎหมายพิเศษเท่าไหร่ ผมมีสถิติ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ วันนี้ผมคิดว่าควรจะทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
 
ประการต่อมา ระบอบประชาธิปไตยที่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน อาจจะบอกว่ามีการเลือกตั้งแล้วทั้งระดับชาติและท้องถิ่น แต่มันไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาแนวทางใหม่ รูปแบบใหม่ขึ้นมา
 
เรื่องการศึกษา สถาบันการศึกษาต้องสร้างคน ต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดี ในพื้นที่เยาวชนมีจำนวนมาก แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาเยาวชนติดยาเสพติด ถูกมอมเมาด้วยวัตถุนิยม มันเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนัก
 
เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกเยอะคงพูดไม่หมด ผมคิดว่าการจัดเวทีครั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชน ต่อไปต้องขยายไปจัดแต่ละจังหวัด เปิดเวทีในชุมชน หมู่บ้าน และรัฐต้องมีเจตนาที่ดีในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีโอกาสเรียกร้องสิทธิของตนเอง มองเห็นความคิดที่แตกต่าง แล้วก็ยอมรับและเคารพในความคดที่แตกต่างเหล่านั้น
 
ถ้าเป็นอย่างนี้ มันจะสร้างดุลอำนาจขึ้นในพื้นที่ได้ เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ เมื่อไหร่ที่รัฐเปิดพื้นที่ขึ้น แม้อำนาจของรัฐจะต้องถูกลดทอนลงไปบ้าง แต่ก็สร้างสมดุลให้ในพื้นที่มีการถ่วงดุลมากขึ้น
 
ผมอยากให้ภาคประชาชนปรับตัว ผู้นำศาสนาต้องปรับตัว ผู้นำศาสนาต้องทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ต้องสร้างศักยภาพให้กับตนเอง
 
ส่วนทางราชการต้องเข้าใจว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไร ผมเห็นการเติบโตของภาคประชาชน แต่ผมว่าต้องมีจุดที่จะเดินทางไปด้วยกัน วันนี้ต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นแนวเดียวกันที่จะเดินไปข้างหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net