Skip to main content
sharethis

27 มี.ค. 56 -  ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความรู้ในวงงานนิติบัญญัติในคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา จัดเสวนาในหัวข้อ “มุมมองวุฒิสภา : ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” 

 
นางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดชัยภูมิ กล่าวถึงการจัดงานในวันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท (ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....) นั้นสมาชิกวุฒิสภาให้ความสนใจมาก เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินขนาดมหาศาลของประเทศ และอยากให้ตัว ส.ว.มีการนำข้อมูลไปประกอบการอภิปรายและติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในโครงการนี้ ซึ่งหากร่าง  พ.ร.บ. นี้ผ่าน ส.ว. ก็จะต้องติดตามผลและตรวจสอบว่ารัฐบาลได้นำเงินไปใช้บรรลุผลตามที่ได้แถลงไว้หรือไม่
 
นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภาสรรหา กล่าวว่าหัวใจหลักของร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ที่หมวด 2 ว่าด้วยการเสนอและการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งมองดูว่าเป็นการตัดตอนเรื่องขั้นตอนการครวจสอบและให้อำนาจฝ่ายบริหารเต็มที่ ซึ่งอาจจะขัดกับหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งโครงการนี้สังคมเองก็มีความกลัวว่าจะมีการคอรัปชั่นหรือไม่ จะมีการตรวจสอบได้อย่างไร และเกิดคำถามอาทิ ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ เช่น งบขาดดุล ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการตั้งงบประมาณแบบอื่น และหลังจากนี้ไปรัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะมีงบประมาณในการพัฒนาประเทศหรือไม่ รวมทั้งกลไกในการตรวจสอบโครงการนี้จะเป็นแบบวิธีใด
 
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าคประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย ทั้งนี้การปรับปรุงการคมนาคมและลอจิสติกส์ เป็นสิ่งสำคัญของประเทศ และเราก็ได้ใช้กลไกงบประมาณแบบปกติมาตลอด แต่ถ้าหากเราจะต้องการสิ่งที่เรียกว่าพลิกประเทศนั้นก็อาจจะต้องใช้กลไกแบบพิเศษในกรณีนี้
       
เมื่อถามว่าการกู้เงินให้อยู่ในงบประมาณประจำปีได้หรือไม่ ก็จะทำได้ในแต่ละปี ในลักษณะการตั้งงบประมาณขาดดุลและใส่เม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป แต่ก็จะทำให้เห็นภาพชัดใหญ่ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนของประเทศไม่ชัด ดังนั้น เพื่อให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าสภาผ่านกฎหมายนี้เมื่อไหร่จะเกิดภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นทันที และเมื่อต่างชาติเห็นภาพนี้แล้วการลงทุนจากต่างชาติจะเกิดขึ้นทันที และการเจริญเติบโตเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างยั่งยืน
       
นายอารีพงศ์ยังกล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 7 ปีจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศจะโตเฉลี่ย 4.5% ภายใต้วินัยการเงินการคลัง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คำนวณถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการกู้เงินไม่ได้ทำทันทีทั้งหมด แต่เป็นการทยอยกู้ตามความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น อย่างในการกู้เงินช่วงแรกยังจะไม่ถึง 1 แสนล้านบาทด้วยซ้ำ ทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เกิน 1.9% อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% โดยจะสามารถประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้กว่าแสนล้านบาท และช่วยให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ส่วนวิธีการใช้จ่ายเงินจะเป็นไปตามระบบจัดซื้อจัดจ้างปกติ จะไม่มีวิธีพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการจะนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ และขณะนี้ได้วางระบบเอาไว้แล้ว
       
ในด้านการคำนวณหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 50% มาจากการคำนวณตัวเลขทุกตัวจาก พ.ร.บ.งบประมาณและ พ.ร.ก.ทุกฉบับบนพื้นฐานที่เรามีความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงอย่างกรณีเศรษฐกิจไม่โตจากการดำเนินการ หรือเกิดภาวะช็อกขึ้นมา เราก็ยังมีศักยภาพในการกู้เงินได้อีก เพราะหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60% หรือไม่ก็ชะลอการกู้เงินไปเลยเพื่อบริหารสถานการณ์
 
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย, ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าในส่วนตนเห็นว่าโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านนี้สามารถพลิกประเทศไทยและเห็นด้วยว่าการต่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครคัดค้าน กอรปกับจังหวะการลงทุนในเวลานี้มีความเหมาะสมเพราะโลกเกิดปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศ และรัฐบาลแต่ละประเทศได้ทำมาตรการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน (Quantitative Easing - QE) จำนวนมาก ส่งผลให้จะมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะช่วยให้การนำเข้าเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีต้นทุนที่ต่ำไปในตัว 
 
ทั้งนี้มีข้อกังวลในรายละเอียด คือ สภาพบังคับทางกฎหมายของบัญชีของ พ.ร.บ. หมายความว่า ถ้าบัญชีแนบท้ายไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย หากในอนาคตรัฐบาลดำเนินการไม่ตรงกับบัญชีดังกล่าวจะถือเป็นเช็คเปล่า (Blank Check) หรือไม่ และฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจแค่ในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ที่เป็นเงินนอกงบประมาณเหมือนกับที่มีอำนาจในการตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้หรือไม่ เพราะถ้าบัญชีแนบท้ายไม่เป็นสภาพบังคับสภาก็ตรวจสอบอะไรไม่ได้ แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.จะกำหนดให้ต้องรายงานสภาฯ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีสภาพบังคับรัฐบาลให้ดำเนินการได้
       
รวมทั้งข้อสงสัยว่ากระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีการคำนวณตัวเลขหนี้สาธารณะอย่างไร โดยกระทรวงการคลังคำนวณได้ประมาณ 50% แต่ทีดีอาร์ไอคำนวณได้ผลว่าระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60% ดังนั้น การคำนวณเรื่องนี้ควรคำนวณในแง่ร้ายที่สุดเพื่อประเมินความเสี่ยงของประเทศ ทั้งนี้ถ้าหากได้รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะใช้คำนวณ ทางทีดีอาร์ไอก็ยินทีที่จะประเมินตัวเลขนี้ใหม่
       
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ในฐานะกรรมาธิการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ระบุว่า โครงการนี้ตัวเลขที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยจากการชี้แจงของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีจำนวนทั้งสิ้น 4.24 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.บ.จำนวน 2 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนในงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงานในอีก 7 ปี จำนวน 2.24 ล้านบาท 
 
ทั้งนี้ตนไม่ใช่คนขวางโลก แต่ที่ต้องออกมาคัดค้านเพราะต้องการให้ประชาชนเห็นว่าการกู้เงินยังมีปัญหาอีกด้านอยู่ การพลิกโฉมประเทศไทยที่แท้จริงจะต้องให้เกิดการถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย หากการใช้เงินกู้แบบนี้เท่ากับว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและวิธีการงบประมาณที่มีเจตนารมณ์ให้การใช้เงินงบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงยืนยันได้เลยว่าจะขอเสียง ส.ว.ให้ครบ 65 คนเพื่อยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยให้เกิดบรรทัดฐานอย่างแน่นอน
       
ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายงบประมาณประจำปีมีเอกสารเป็นลัง ถ้าใครเป็นกรรมาธิการติดต่อกัน 3 ปีแทบจะต้องสร้างบ้านใหม่เพื่อเก็บเอกสาร แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่มีเม็ดเงินเท่าๆ กับงบประมาณประจำปี กลับมีเพียง 7 หน้า ต่อให้รัฐบาลจะชี้แจงมีเอกสาร 286 หน้า หรือบอกว่ามี 2,000 หน้าก็ไม่ได้มีผล เพราะเอกสารที่รัฐบาลอ้างนั้นไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย แต่บัญชีแนบท้ายที่เขียนไว้อย่างกว้างๆ เพียงไม่กี่หน้าต่างหากที่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย
       
นายคำนูณกล่าวว่า ยุทธศาสตร์จะทำให้ในอนาคตรัฐบาลตลอด 7 ปีข้างหน้าจะมีอำนาจบริหารงบประมาณลงทุนในแต่ละปีประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 7 ปี จากงบลงทุนตามเงินกู้ 3 แสนล้านบาท และงบลงทุนในงบประมาณประจำปีอีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องทำให้ตัวเองเป็นรัฐบาลต่อไป
 
 
 
 
ที่มา: 
กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ภาพ/ข่าว/เรียบเรียง
ที่มาข่าวบางส่วนจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net