กำเนิดและพัฒนาการของแนวคิด “เชื้อชาติมลายู” ในบริติชมลายา (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ: ประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติมลายู

“ความเป็นมลายู” หรือ  อัตลักษณ์ในการเป็นคนมลายูเป็นเรื่องราวที่มีการศึกษาค้นคว้าเป็นระยะเวลานานพอสมควร บ่อยครั้งในแวดวงวิชาการมลายูศึกษา จะค้นคว้าและตั้งคำถามเพื่อที่จะค้นหาอัตลักษณ์มลายู ความเป็นมลายูมีความลื่นไหลเป็นอย่างมา จึงทำให้มีการนิยามความเป็นมลายูที่มีความหลากหลายทั้งนักวิชาการตะวันตกที่เข้ามาศึกษาเรื่องราวของชาวมลายู และรวมไปถึงวิชาการและนักการเมืองที่เป็นชาวมลายู ในบทความนี้จะนำเสนอมุมมองบางประการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด เชื้อชาติมลายู ในบริติชมลายา[1]ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และใครเป็นบุคคลสำคัญต่อแนวคิดดังกล่าวนี้

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ความเป็นมลายูได้ถูกกล่าวอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้จากการสถาปนารัฐมะละกา เป็นบริเวณที่สามารถกุมความเป็นมลายูได้อย่างเด่นชัด  แต่ภายหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรมะลากาความเป็นมลายูถูกเคลื่อนย้ายไปสู่รัฐยะโฮร์ที่มีการอ้างว่าได้อ้างการสืบทอดอำนาจจากรัฐมะละกา 

อย่างไรก็ตามความชัดเจนในเรื่องของเชื้อชาติเริ่มเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นภายหลังการเดินทางเข้ามาของชาวตะวันตก  พร้อมด้วยแนวคิดเรื่องชาติ  และวิทยาการสมัยใหม่ที่จะสามารถแบ่งกลุ่มคนได้โดยอาศัยจากปัจจัยหลายอย่าง  ความคิดของชาวตะวันตกได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางคิดของชาวพื้นเมืองที่แต่เดิมมีความคิดเรื่องชาติเพียงแค่หลวมๆเท่านั้น และแนวคิดเรื่องชาติได้ส่งอิทธิพลกระทั่งมาถึงปัจจุบัน “ความเป็นมลายู” จึงได้กลายเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจ  รวมไปถึงการถ่ายทอดแนวคิดเรื่องเชื้อชาติจากชาวตะวันตกสู่ชาวพื้นเมือง

แนวคิด “ความเป็นมลายู” นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสภาพทางสังคมของรัฐที่อยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู และได้มีการนิยาม “ความเป็นมลายู” ที่มีความหลากหลายและมีพัฒนาการอยู่ตลอดระยะเวลา  นับตั้งแต่การก่อตั้งมะละกาในช่วงศตวรรษที่  15  ทำให้ความเป็นมลายูถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว  ตามที่ปรากฏในเซอจาเราะห์ มลายู  (Sejarah Melayu) ซึ่งเป็นผลผลิตจากชาวตะวันตกที่ถ่ายทอดออกมาอย่างแพร่หลาย กับวิธีการจำแนกผู้คน  งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ในยุคจารีตของชาวมลายู เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการนิยามความหมายของเชื้อชาติมลายู มะละกากลายเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่หลังจากที่มะละกาล่มสลายลงในปี ค.ศ.1511 จากการพ่ายแพ้สงครามต่อโปรตุเกส  ส่งผลต่อการถูกยึดครองและทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นภายในดินแดนแห่งนี้  โดยในการต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวตะวันตกได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่งคือ  การจำแนกผู้คนแยกจากกันเป็นกลุ่ม  ตามที่อัตลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นรวมเป็นคนกลุ่มเดียวกัน  และหลังจากนั้นมีการประดิษฐ์สร้างจิตสำนึกภายในกลุ่มนั้นๆ แนวคิดใน “ความเป็นมลายู  ที่เกิดขึ้นหลังจากการจำแนกโดยชาวตะวันตก  ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติของตนในเวลาต่อมา  เมื่อมีการสืบย้อนไปในอดีตเกี่ยวกับที่มาของแนวคิด “ความเป็นมลายู”  ตามที่ปรากฏอยู่ในอยู่ในเซอจาเราะห์มลายู

อาณานิคมและแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ

สังคมมลายูภายหลังการเข้ามาของชาวตะวันตก ได้กลายเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ การตอกย้ำถึงอัตลักษณ์เชื้อชาติมลายูในช่วงที่ลัทธิอาณานิคมตั้งมั่นในพื้นที่ของชาวมลายู  การหลั่งไหลเข้าสู่ บริติชมลายาของชาวจีนและอินเดียมีจำนวนมากขึ้น แนวคิดเรื่องเชื้อชาติที่เป็นความ รู้แบบตะวันตกได้เข้ามาโดยนักวิชาการชาวตะวันตกที่เข้ามาศึกษาชาวมลายูคนที่มีความสำคัญนั่นก็คือ John Grawfurd  มีการศึกษาว่าอัตลักษณ์ที่แท้จริงของชาวมลายูนั้นเป็นอย่างไร  และอีกท่านคือ สแตมฟอร์ด แรฟเฟลล์ (Stamford Raffles)ได้กล่าวเอาไว้ว่า 

“ฉันไม่สามารถตัดสินคนมลายูหรือชาติมลายูเพียงคนเดียว จากการพูดหนึ่งภาษา  แม้ว่าจะกระจายกว้างขวางในช่วงเวลาหนึ่ง และคงสภาพไว้ซึ่งคุณลักษณะพิเศษและขนบธรรมเนียม ในรัฐใกล้ทะเลทั้งหมดระหว่างทะเลซูลูและมหาสมุทรตอนใต้ ”

ในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 สำนึกเรื่องเชื้อชาติดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวของชาวมลายู แต่มีชาวมลายูกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเกิดสำนึกในเรื่องเชื้อชาตินั่นคือ กลุ่มยาวี เปอรานากัน

ยาวี เปอรานากัน มุนชี อับดุลลอฮ์ และคำอธิบายเรื่องเชื้อชาติมลายู

 

กลุ่มยาวี เปอรานากัน เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่เป็นลูกผสมระหว่างพ่อชาวอินเดียและแม่ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยูในบริเวณคาบสมุทรมลายู ส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บริเวณสเตรท เซทเทิลเมนต์ [2]  กลุ่มยาวี เปอรานากันเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาทั้งภาษามลายู ภาษาอาหรับรวมไปถึงภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเข้ามามีบทบาทในด้านการพิมพ์สูง  แลพวกเขาเหล่านี้ยังมีการถ่ายทอดแนวคิดของเชื้อชาติมลายูให้แก่ชาวพื้นเมืองทั่วไปผ่านงานเขียนของพวกเขา

ชาวพื้นเมืองคนแรกๆ และเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มยาวี เปอรานากัน ที่ได้รับแนวคิดการสำนึกถึงเรื่องเชื้อชาติในอาณานิคมกลับไม่ใช่ชาวพื้นเมืองมลายูแท้แต่เป็นชาวมลายูลูกผสมนั่นคือ   อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลกอเดร์ เป็นชาวมลายูเชื้อสายอาหรับ อินเดีย  เกิดที่มะละกา และใช้ชีวิตการทำงานทั้งมะละกาและสิงคโปร์  อับดุลกอเดร์ บิดาของอับดุลลอฮฺเป็นชาวอาหรับเดินทางมาเป็นครูสอนศาสนาและภาษาในมะละกาและได้สมรสกับชาวพื้นเมืองที่นั่น มุนชี อับดุลลอฮ  ได้อาศัยอยู่ท่ามกลาง ความหลากหลายทางเชื้อชาติและสังคมที่เป็นไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตกความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องของเชื้อชาติได้ซึมลึกลงไปในความคิดเขา

อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลกอเดร์ มุนชี หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า  มุนชี[3] อับดุลลอฮฺ   เป็นชาวมลายูที่มีเชื้อสายอาหรับและอินเดีย มุนชี อับดุลลอฮฺเกิดเมื่อ 1797 ที่มะละกาและเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1854 ที่เมืองเจดดาห์, ซาอุดีอาระเบีย และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมลายูสมัยใหม่ เป็นปัญญาชนชาวพื้นเมืองคนแรกที่นำเสนอแนวคิด  “มลายูนิยม” โดยชูความยิ่งใหญ่ของชนชาติมลายู ตลอดเวลาเกือบทั้งชีวิต มุนชี อับดุลลอฮฺได้ใกล้ชิดกับชาวตะวันตก  จึงทำให้มุนชี อับดุลลอฮฺได้รับอิทธิพลทางด้านแนวคิดเรื่องเชื้อชาติจากทางตะวันตกอยู่สูงมากเลยทีเดียว  แต่ในขณะเดียวกันที่มุนชี  อับดุลลอฮฺได้ชูความยิ่งใหญ่ของชนชาติมลายู  จึงทำให้มุนชี อับดุลลอฮฺได้รับอิทธิพลทางด้านแนวคิดเรื่องเชื้อช และยังคงได้วิพากษ์ความเป็นอยู่แบบจารีตของสังคมมลายู  ที่มีความล้าหลังสังคมมลายูยังคงยึดติดกับจารีตแบบเดิม  และยังมีความกล้าหาญที่ได้กล่าววิพากษ์สุลต่านในระบอบเกอราจาอันที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความอ่อนแอจนต้องและกลายเป็นอาณานิคมตะวันตกในที่สุด

 

จากแนวคิดดังกล่าวของมุนชี อับดุลลอฮฺ  ได้สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนมลายูและยังเป็นที่ไม่ได้รับความนิยมจากชาวพื้นเมืองเท่าใดนัก  มุนชี อับดุลลอฮฺ  ได้สร้างวลีหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวกับสังคมมลายูที่เขาได้พบเห็นในช่วงเวลานั้นที่ว่า

“โลกเก่ากำลังถูกทำลายลง โลกใหม่ถูกสร้างขึ้น และรอบๆ ตัวเรามีความเปลี่ยนแปลง”

จากประโยคดังกล่าวข้างต้นได้มีความครอบคลุมสังคมมลายูใน ช่วงศตวรรษที่ 19 ได้เป็นอย่างดีในการเปลี่ยนแปลงของสังคมมลายู  ที่สังคมเก่าเริ่มที่จะเปลี่ยน แปลงไปตามอิทธิพลของตะวันตก

พหุสังคมและการเกิดขึ้นของเชื้อชาตินิยม

สำหรับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นำสังคมของ บริติช มลายาเข้าสู่ลักษณะที่เป็น  “พหุสังคม” นั่นเป็นผลจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของอังกฤษ ผลจากการที่อังกฤษได้สถาปนา สเตรท เซทเทิลเมนต์ โดยมีการรวมพื้นที่ของ  สิงคโปร์  มะละกา  ปีนัง โดยวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมผลประโยชน์ของกิจการเดินเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา  โดยในช่วงเวลาดังกล่าวอังกฤษยังไม่แสดงท่าทีที่จะมีอำนาจทางการเมืองเหนือบรรดารัฐมลายูต่างๆ  ในตอนนั้น แต่อังกฤษใช้การปกครอง สเตรท เซทเทิลเมนต์  โดยมีข้าราชการโดยตรงจากอังกฤษมีอำนาจในการปกครองและการบริหารกิจการต่าง ๆ  ของสเตรท เซทเทิลเมนต์

 

จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านของการค้าและรวมไปถึงกิจการเหมืองแร่ดีบุกที่มีการขุดเจาะเป็นจำนวนมาก ทางการของอังกฤษมีความต้องการในการหาแรงงานเพื่อมาตอบสนองต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นที่น่าสังเกตุที่ว่าชาวพื้นเมืองมลายูส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้าเป็นแรงงานของกิจการเหมืองแร่  ทางการของอังกฤษจึงมีความจำเป็นที่จะนำเข้าแรงงานจากที่อื่นๆ โดยแรงงานที่มีความสำคัญต่ออังกฤษนั้นก็คือ  ชาวจีน และชาวอินเดีย โดยผู้คนทั้งสองเชื้อชาตินั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมาตั้งถิ่นฐานโดยถาวรจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ  สเตรท เซทเทิลเมนต์

การเข้ามาของชนชาติอื่นในมลายาส่งผลต่อแนวคิดทางด้านเชื้อชาติของชาวมลายูในระดับหนึ่ง  นอกจากการนำประเด็นเรื่องเชื้อชาติเข้ามาโดยชาติอาณานิคมแล้ว  ด้วยสำนึกบางประการและจากนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษทำให้ปฏิสัมพันธ์ของชาวมลายูต่อชนชาติอื่นลดน้อยลงไปด้วย  ความแตกต่างของผู้คนแต่ล่ะกลุ่มจะมีความชัดเจนอยู่สูงมากความแตกต่างของคนในพื้นที่ สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนมากทั้งลักษณะทางด้านกายภาพ วัฒนธรรม  และการนับถือศาสนา ในการที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้คนซึ่งมีความแตกต่างไปจากตนเอง

 

บรรณานุกรม

กรุณา  กาญจนประภากูล.  วิวัฒนาการของความคิดเกี่ยวกับคำว่า “เมอลายู” ในประวัติศาสตร์มลายู. สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์, 2537.

ชุลีพร วุรุณหะ. ฮิกายัต อับดุลเลาะห์. ใน บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2540.

เทิร์นบุลล์, ซี. แมรี่.  ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน. ทองสุก เกตุโรจน์, ผู้แปล.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2540. 

ไพลดา  ชัยศร, ผลกระทบของระบบการปกครองของอังกฤษต่อความคิดทางการเมืองของชาวมาเลย์ในรัฐมลายูที่เป็นสหพันธ์ ค.ศ.1896-1941 (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

Hamzah Hamdani.  Hikayat Abdullah. Selangor: PTS Fotuna, 2007

Milner, Anthony. Invention of politics in colonial Malaya: contesting nationalism and the expansion of the public sphere. Cambridge ;New York: Cambridge University Press, 1995. 

................................................................................................

อธิบายภาพ

1. ภาพกริช อุปกรณ์สำคัญของชาวมลายู ภาพจาก http://talk.mthai.com/topic/127261

2. กลุ่มยาวี เปอรานากัน ภาพจาก http://mforum.cari.com.my/forum.php?mod=viewthread&tid=497813

3. มุนชี อับดุลลอฮ์ ภาพจาก http://thestar.com.my/metro/story.asp?file=/2007/9/15/central/18882527&sec=central

4.  สเตรท เซทเทลเมนต์ ภาพจาก http://th.wikipedia.org


[1] บริติชมลายา คือ อาณานิคมของอังกฤษบนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นประเทศมาเลเซียและสิงค์โปร์ในปัจจุบัน

[2] สเตรท เซทเทิลเมนต์ หรือ อาณานิคมช่องแคบ คืออาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเประ) รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน

[3] มุนชีเป็นชื่อที่ใช้เรียกครูสอนภาษา

 

 

ที่มา : PATANI FORUM

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท