คนบ้านหัวทุ่ง จัดงานความรู้คู่ภูมิปัญญา ย้ำชุมชนพึ่งพาตนเองได้

 

“จะสังเกตว่าในช่วงหน้าแล้ง หมู่บ้านอื่นเจอกับปัญหาภัยแล้ง แต่หมู่บ้านของเราไม่เจอปัญหาภัยแล้งเลย เพราะเราดูแลป่าต้นน้ำ มีน้ำซับไหลออกมาจากดอยหลวงเชียงดาว แล้วยังไหลไปหล่อเลี้ยงชาวบ้านข้างล่างอีก 4-5 หมู่บ้าน นอกจากนั้น เรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่าเราแก้ไขได้ เราก็ช่วยกันทำแนวกันไฟ ไฟไหม้พื้นที่ไหนเราก็พากันไปช่วยกันดับ ทุกวันนี้ เราจึงบอกได้เลยว่า เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้”

นายสุขเกษม สิงห์คำ
ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหัวทุ่ง
อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ จะได้ร่วมกันจัดงาน"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน” ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

โดยงานดังกล่าวมีกิจกรรมหลากหลาย  อาทิเช่น โดยภายในงาน มีการสาธิต ถ่ายทอด เพื่อสื่อสารภายใต้แนวคิด ชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารสู่การพึ่งตนเองโดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ (1) ดิน น้ำป่า (2) คน วัฒนธรรม สุขภาพ (3) เกษตรพึ่งตนเอง (4) การท่องเที่ยว (5) อาหารท้องถิ่น และ (6) ข้อมูลชุมชนพึ่งตนเอง(รวมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ) รวมทั้งการขายสินค้าพื้นบ้านภายใต้แนวคิดการจัดงาน ได้เน้นผักพื้นบ้านและสมุนไพร เป็นหลัก

โดยงานดังกล่าว มีวงเสวนา“ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยได้มีการหยิบยกผลงานวิจัย "โครงการวิจัยการปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนบ้านหัวทุ่ง" ที่ชาวบ้านบ้านหัวทุ่งได้เป็นผู้วิจัย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ภาคเหนือ เป็นฝ่ายหนุนเสริม ซึ่งแน่นอนทำให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน โดยคนในชุมชนอย่างแท้จริง

นางหล้า ศรีบุญยัง ปราชญ์ชาวบ้านบ้านหัวทุ่ง ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ทำไมคนบ้านหัวทุ่งถึงลุกขึ้นมาดูแลผืนดินผืนป่าและสายน้ำ ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ก็เพราะว่าป่านั้นเป็นปัจจัยสี่ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนบ้านหัวทุ่งมาโดยตลอด

“เมื่อก่อนนั้น บ้านหัวทุ่งของเรานั้นต้องเจอกับปัญหามาตั้งแต่ยุคแรกๆ คือยุคสัมปทานป่า โดยรัฐได้ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสัมปทานป่า ตัดไม้สักออกไปจนหมด เหลือไว้เพียงไม้กระยาเลย ไม้แงะ ไม้เหียง ไม้ตึง ต่อมา หลังจากนั้น รัฐก็ยังให้ทาง อ.อ.ป.(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)เข้ามาสัมปทานป่าต่ออีก ทำให้ผืนป่านี้ลดหายลงไปอย่างมาก ประกอบกับชาวบ้านสมัยนั้นก็ได้บุกเบิกที่ดินทำกิน ถางป่าเพื่อทำใช้ทำไร่ ทำให้ป่าหาย และเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำแห้ง ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นปัญหาและได้ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ จนเกิดป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งขึ้นมาในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งพื้นที่ป่าชุมชนนี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว แต่ทางชาวบ้านได้ตัดสินใจร่วมกันว่าขอจัดทำเป็นป่าจึงได้ประสานงานเพื่อขอใช้พื้นที่ตรงนี้มาเป็นป่าชุมชน ให้ชาวบ้านช่วยกันจัดการดูแลกันเอง”

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ปลาสุวรรณ ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ป่าไม้เป็นของเราทุกคนที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ และที่พื้นที่ป่าบริเวณนี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็เพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ไม่ให้มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ส่วนกรณีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำเป็นป่าชุมชนนั้น ในทางกฎหมายในขณะนี้ ก็ยังถือว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ชุมชนสามารถเข้ามาช่วยกันดูแลได้ ก็เนื่องจากว่า โดยลำพังจะให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปดูแลพื้นที่ป่าทั้งหมด กำลังเจ้าหน้าที่เราก็ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าหากชาวบ้าน ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าก็ยิ่งเป็นส่วนดี โดยเฉพาะในเรื่องของการฟื้นฟู ปลูกป่าเสริม เป็นต้น

ในขณะที่ นายสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหัวทุ่ง ก็ได้บอกเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนว่า ในช่วงที่ตนเองได้เข้ามาเป็นผู้นำชุมชน ถือว่าเป็นยุคสืบสานพัฒนา เป็นการสานต่องานมาจากผู้นำรุ่นก่อนๆ ตั้งแต่สมัยพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้มีป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง จนมาถึงยุคของพ่อหลวงประจักษ์ บุญเรือง แล้วก็มาถึงรุ่นของตนในตอนนี้

ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่งคนปัจจุบัน บอกเล่าให้ฟังว่า ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปในช่วงยุคแรกๆ นั้น ชุมชนชาวบ้านหัวทุ่งได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของป่าชุมชนกันมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มาถึงตอนนี้ หมู่บ้านของเรามีความพร้อมในเรื่องฐานทรัพยากรในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิน น้ำ ป่า เราช่วยกันจัดการดูแลกันอย่างจริงจัง

“จะสังเกตว่าในช่วงหน้าแล้ง หมู่บ้านอื่นเจอกับปัญหาภัยแล้ง แต่หมู่บ้านหัวทุ่งของเราไม่เจอปัญหาภัยแล้ง เพราะเราดูแลป่าต้นน้ำ มีน้ำซับไหลออกมาจากดอยหลวงเชียงดาว แล้วยังไหลไปหล่อเลี้ยงชาวบ้านข้างล่างอีก 4-5 หมู่บ้าน นอกจากนั้น เรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่าเราแก้ไขได้ เราก็ช่วยกันทำแนวกันไฟ ไฟไหม้พื้นที่ไหนเราก็พากันไปช่วยกันดับ ทุกวันนี้ เราจึงบอกได้เลยว่า เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะเราทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้” ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟัง

ด้านนางสาวจิราวรรณ คำซาว ซึ่งถือว่าเป็นแกนนำเยาวชนของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ก็ได้บอกเล่าทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาของชุมชนบ้านหัวทุ่งในอนาคตว่า ตนเองเป็นเยาวชนรุ่นแรกๆ ตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้านหัวทุ่ง อายุ 14-15 ปี ก็ได้รับการปลูกฝัง ปลุกจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจากผู้ใหญ่มาโดยตลอด มีการเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกป่า พิธีกรรม ความเชื่อ การเลี้ยงผีขุนห้วย การบวชป่า เป็นต้น

“จนกระทั่งได้มีโอกาสออกจากหมู่บ้าน เข้าไปเรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษาในเมืองเชียงใหม่ เมื่อเลือกเรียนสาขาชีววิทยา ในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทุ่งของเราก็มีหลายเรื่องให้เรียนรู้ศึกษา และเห็นว่ายังมีปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ได้มาปรึกษากับทางพ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ และแม่หล้า ศรีบุญยัง ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งสองก็ให้โอกาสเราได้แสดงศักยภาพในการทำงานในชุมชนอย่างเต็มที่ จึงได้มีส่วนในการช่วยเขียนโครงการขอทุนกับทาง สกว.ภาคเหนือ แล้วได้ดึงน้องๆ เยาวชนเข้ามา ชวนนักศึกษาเข้ามาเป็นเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรมนับตั้งแต่นั้นมา”

จากการขับเคลื่อนกิจกรรมภายในหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังของชาวบ้านหัวทุ่ง จากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายหลายรางวัล โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา ปี 2555 จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ หรือรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา “ชุมชนสีเขียว” ระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมาอีกด้วย

และแน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว หมู่บ้านหัวทุ่งได้ตกลงใจกันว่าจะขับเคลื่อนชุมชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ จะร่วมกันอนุรักษ์ฐานทรัพยากรในชุมชนของตนเองให้มีทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเน้นให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ

“เราตั้งใจอยากจะให้ชุมชนบ้านหัวทุ่งนั้นได้มี 6 ดี 6 ด้านด้วยกัน นั่นคือ ป่าดี น้ำดี ดินดี อากาศดี อาหารดี และคนดี ซึ่ง ณ เวลานี้เรามีครบทุกอย่างแล้ว” ตัวแทนเยาวชนบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ นางสาวเบญจวรรณ วงศ์คำ ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น พื้นที่บ้านหัวทุ่งนั้นเคยมีการทำวิจัยกันเยอะมาก แต่คนนอกเป็นคนทำวิจัย ชาวบ้านเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น แต่งานวิจัยครั้งนี้ เราได้ให้ชาวบ้านบ้านหัวทุ่งได้ใช้ศักยภาพของตนเอง เป็นผู้ลงมือทำวิจัยชุมชนด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นนี้จึงเหมือนกลับไปสำรวจตรวจสอบ ค้นหารากเหง้า ภูมิปัญญาของตนเองอีกครั้ง

“จะเห็นได้ว่า พอชาวบ้านได้ลงมือทำงานวิจัยกันเอง ทำให้รู้ว่ามีภูมิปัญญา ความรู้ของชาวบ้านมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจหลงลืมกันไปบ้าง บางข้อมูลก็จะพบว่าปัญหาเก่าเปลี่ยน ปัญหาใหม่เข้ามา ฉะนั้น งานวิจัยของชาวบ้านครั้งนี้ก็จะทำให้ชาวบ้านรู้ทิศทางในการจัดการกับปัญหา ค้นหาสาเหตุ และมีการบันทึกเอาไว้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้ทำงานซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ใช้ความรู้สึก แต่ได้นำงานวิจัยมาปรับใช้ในการทำงาน เป็นเครื่องมือในการทำงานให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี”

ตัวแทน สกว.ภาคเหนือ บอกในตอนท้ายอีกว่า งานวิจัยจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้นั้น ชุมชน ชาวบ้านจะต้องมีความพร้อมและมองเห็นปัญหาในชุมชนของตนก่อน ในขณะทาง สกว.นั้นเป็นเพียงตัวหนุนเสริม ลงมาสนับสนุนให้เกิดกระบวนการงานวิจัย แล้วให้ชาวบ้าน คนในชุมชนได้ร่วมกันทำจนสำเร็จลงได้ นอกจากนั้น ภาคีองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำงานวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อยอด สานต่อก็จะทำให้งานวิจัยนั้นมีคุณค่ามากยิ่งๆ ขึ้น

ด้านนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ปลัดอำเภอเชียงดาว  กล่าวว่า เชื่อว่างานวิจัยของชาวบ้านบ้านหัวทุ่งชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ในหมู่บ้านหัวทุ่งเท่านั้น แต่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ได้ว่า ทำอย่างไรชาวบ้านในชุมชนจึงจะอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง บนฐานทรัพยากรในชุมชน ลดการพึ่งพาคนอื่นและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร อาชีพ และสุขภาพอนามัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน หมู่บ้านอื่นๆ ได้

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท