Skip to main content
sharethis

พนักงานบริการทางเพศจากประเทศในอาเซียน ร่วมกันผลิตงานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ยังขาดหาย และตั้งคำถามถึงประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงว่าสามารถพิทักษ์สิทธิของพวกเขาในฐานะคนทำงานคนหนึ่งได้หรือไม่ 

 
3 เม.ย. 56 - มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (empower) มูลนิธิเพื่อการส่งเสริมสิทธิและโอกาสของพนักงานบริการ ร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติด้านการพัฒนาและประชากร (UNDP) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการศิลปะ ผลงานของพนักงานบริการ ประชาคมอาเซียน หรือผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ (sex workers) จากโครงการ SWASEAN หรือ Sex Workers of ASEAN ใช้ชื่อว่า “Yet, still we dance” “...เราก้อยังเต้นรำ ได้อยู่” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สาธารณชนเข้าใจและยอมรับอาชีพการบริการทางเพศ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ
 
 
แม้ว่าผลงานที่จัดแสดงครั้งนี้ เป็นงานซึ่งมาจากกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภาษาทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน แต่ผลงานเหล่านี้ ก็ได้สะท้อนจุดร่วมปัญหาของพนักงานบริการ ในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเห็นได้ว่าเป็นปัญหาเดียวกันที่ต้องทำความเข้าใจ ยอมรับอาชีพนี้ และร่วมกันแก้ปัญหา  โดยผลงานศิลปะที่จัดแสดง เป็นการสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปินพนักงานบริการโครงการ SWASEAN จากทั้ง 10 ประเทศ โดยมีองค์กรที่เข้าร่วม ได้แก่ 
 
1. Aids Myanmar Alliance จากพม่า 
2. PAMT จากมาเลเซีย 
3. Women’ s Network for Unity จากกัมพูชา 
4.Project X Singapore จากสิงคโปร์ 
5.Philippines Sex Worker’s Collective จากฟิลิปปินส์  
6.Vietnamese Network of Sex Workers (VNSW) จากเวียดนาม  
7.Sao Loa จากลาว 
8. P3SY/OPSI จากอินโดนีเซีย 
9.Empower จากไทย 
10. $caret Timor Collective ($TK) จากติมอร์เลสเต 
 
ในการเปิดงานนิทรรศการ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนอาวุโส เจ้าของรางวัลแมกไซไซปีพ.ศ.2548 ได้ปาฐกถาถึงร่างสิทธิมนุษยชนของคนทำงานบริการทางเพศ ว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ และในฐานะที่เป็นผู้ทำงานบริการทางเพศ ควรจะมีสิทธิในชีวิตในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ สิทธิที่จะอยู่โดยปลอดจากความรุนแรงทุกชนิด สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ บังคับให้ถูกตรวจเลือดโดยไม่ยินยอม สิทธิที่จะเลือกอาชีพ สิทธิที่จะไม่ถูกกักขังไว้ที่สถานสงเคราะห์ใดๆ สิทธิที่จะเข้าถึงบริการการศึกษา บริการสุขภาพทางเพศ เพศศึกษา ถุงยาง และเจลหล่อลื่น สิทธิที่จะเลิกเพศภาวะหรือเปลี่ยนแปลงเพศภาวะโดยได้รับการยอมรับ สิทธิที่จะไม่ถูกรังเกียจ และเลือกปฏิบัติใดๆ สิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีชั่วโมงการทำงานแต่พอดี มีวันหยุดพักผ่อน สิทธิที่จะเข้าร่วมกลุ่มหรือจัดตั้งสหภาพแรงงาน สิทธิในประกันสังคม และสิทธิในการเลิกหรือเปลี่ยนอาชีพเมื่อต้องการ
 

จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวปาฐกถาในงาน
 
ทั้งนี้ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 โดยมีแนวคิดการทำงานอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน สร้างหนทางให้พนักงานบริการเข้าถึงเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การมีสุขภาพดี และการเข้าถึงป้องกันรักษาโรค โดยเอ็มพาวเวอร์ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของพนักงานบริการ ให้รวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง สามารถคัดค้านต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมภายใต้กฎหมายเดียวกัน
 
ที่มาของงานแสดงศิลปะครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการ SW-ASEAN ของเอ็มพาวเวอร์ ได้จัดประชุมผู้ให้บริการทางเพศจากทั่วอาเซียนที่กรุงพนมเปญ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คนจาก 10 ประเทศ ซึ่งเป็นการจัดประชุมของภาคประชาชนคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) โดยผู้จัดต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณะเรื่องความเข้าใจที่ดีต่อผู้ทำงานบริการทางเพศ ผ่านงานศิลปะ ซึ่งสามารถสื่อสารและเข้าถึงได้ง่าย
 
 
นางสาวจันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เห็นว่า การจัดนิทรรศการมีความสำคัญในฐานะที่จะทำให้คนในสังคมทั่วไปเข้าใจผู้ให้บริการทางเพศ มากยิ่งขึ้นว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ มีคุณภาพ มีสติปัญญาดี และทำให้สำนักงานสหประชาชาติด้านการพัฒนาและประชากรรู้จักคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เป็นพลังในการผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้รวมถึงในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในเวลานี้ กำลังจะมีการรวมเขตเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมียุทธศาสตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การค้า การท่องเที่ยว  การเดินทางของผู้ประกอบอาชีพทั้ง 8 อาชีพ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวม ผู้ให้บริการทางเพศ แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจการค้ามีเสรีมากขึ้น แต่คนกลุ่มนี้กลับยังถูกสังคมมองว่าเป็นคนไร้ค่า ถูกกีดกันออกจากสังคม กฎหมาย ยังไม่ได้รับการคุ้มครองหรือได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้การรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวยังทำเกิดความกล้าหาญในการที่จะทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันต่อไป
 
นิทรรศการศิลปะ โดยพนักงานบริการ ประชาคมอาเซียน เราก็ยังเต้นรำได้อยู่ ! พนักงานบริการแห่งอาเซียน จะยังจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2556 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net