Skip to main content
sharethis

หลังจากการผลักดันมาอย่างยาวนานรัฐสภาบราซิลก็ได้มีมติแก้ไขกฎหมายให้คนทำงานในบ้าน อาทิ แม่บ้าน, พี่เลี้ยงเด็ก, คนดูแลผู้สูงอายุ และคนขับรถ มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ทั้งนี้วัฒนธรรมการใช้ "คนรับใช้" ในบ้าน ยังคงเข้มแข็งในประเทศซึ่งเลิกทาสเป็นลำดับสุดท้ายของทวีป

 
 
 
ที่มาภาพ: dunyanews.tv
 
11 เม.ย. 56 - หลังจากการผลักดันมาอย่างยาวนานรัฐสภาบราซิลก็ได้มีมติแก้ไขกฎหมายให้คนทำงานในบ้าน อาทิ แม่บ้าน, พี่เลี้ยงเด็ก, คนดูแลผู้สูงอายุ และคนขับรถ มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานในระบบโดยทั่วไป โดยการแก้ไขกฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าคนทำงานในบ้านสามารถทำงานได้มากที่สุด 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องได้รับค่าทำงานล่วงเวลา และค่าจ้างพิเศษในการทำงานกะกลางคืน
 
ตัวเลขทางการของบราซิลระบุว่า กฎหมายนี้จะมีผลครอบคลุมต่อคนทำงานในบ้านกว่า 6,500,000 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงถึง 6,100,000 แต่ตัวแทนอุตสาหกรรมจัดหางานระบุว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,700,000 คน โดยภาคอุตสาหกรรมแรงงานรับใช้ภายในบ้าน มีคนงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้สูงที่สุดเป็นอันดับสามของบราซิล
 
ทั้งนี้กว่าครึ่งของประชากร 194 ล้านคน ของบราซิล มีเชื้อสายชาวแอฟริกัน บราซิลเป็นประเทศสุดท้ายในทวีปอเมริกาที่ล้มเลิกระบบทาสเมื่อปี ค.ศ.1888 และนักวิชาการถึงกับกล่าวว่าการใช้คนทำงานบ้านของครอบครัวชาวบราซิลนั้นฝังรากอยู่ในประวัติศาสตร์การใช้ทาสของประเทศ
 
ก่อนหน้านี้ คนทำงานในบ้านไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับพนักงานซึ่งเป็นแรงงานในระบบทั่วไป ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแจ้งชื่อคนงาน เพื่อจะได้ใช้สิทธิประกันสุขภาพและผลประโยชน์หลังเกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนงานกว่า 2 ใน 3 ไม่ได้ถูกแจ้งชื่อจากนายจ้าง
 
Creuza Oliveira ประธานสมาพันธ์คนทำงานในบ้านแห่งบราซิล (National Federation of Domestic Workers) ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิความเท่าเทียม แต่ยังเป็นการยกระดับทางสังคม และการชดเชยให้กับคนงานที่ทำงานในบ้านเกือบ 8 ล้านคน
 
โดยประเด็นนี้ยังได้รับการถกเถียงอย่างมากในสื่อของบราซิล เพราะอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางในบราซิลต้องเลิกจ้างคนทำงานในบ้าน
 
 
ที่มา: 
 
Brazilian maids get same rights as salaried workers (globalpost.com, 3-4-2013)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net