Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. ภูมิปัญญาในการอนุรักษ์ป่าของชาวน่าน

ชาวน่านได้รับการยอมรับถึงพลังรักษ์ป่าและภูมิปัญญาที่สืบทอดจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อปั๋น อินหลี ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ ที่ได้รับการยอมรับเป็น “เฒ่าทระนง คนหวงป่า” พระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน พระอาจารย์ระดับเจ้าอาวาส พร้อมพระภิกษุ สามเณรหลายรูป  เครือข่ายชุมชนต่าง ๆ เช่น กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า กลุ่มอนุรักษ์ป่าศิลาแลง ชุมชนบ้านดงผาปูน ไปจนถึงกลุ่มเยาวชนบ้านโป่งคำ นักวิจัยท้องถิ่นรุ่นเยาว์ ฯลฯ  รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดน่าน”  พลังแห่งคนรักป่าเมืองน่านทำให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวหลายปีต่อเนื่องทั้งในนามบุคคลและกลุ่ม ที่สำคัญคือสามารถอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืน จึงได้รับรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปีแห่งความยั่งยืน” หลายพื้นที่ โดยสามารถรักษาป่าต้นน้ำและจัดการป่าในชุมชนเพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน คนปลายน้ำที่มิได้มีบทบาทในการรักษาป่าต้นน้ำและดูแลป้องกันไฟป่าที่อยู่บนภูเขาในฤดูแล้งย่อมเข้าไม่ถึงความเหนื่อยยากของคนรักษาป่า การ บูรณาการด้านวัฒนธรรมเข้ากับการจัดการป่าชุมชนทั้งการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การกันพื้นที่ป่าสองข้างลำน้ำ ข้อตกลงของชุมชน และการแบ่งพื้นที่ป่าใช้สอยเพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชนทำให้คนน่าน 456 หมู่บ้าน 98 ตำบล จาก 15 อำเภอ ร่วมกันดูแลรักษาป่าไว้ได้กว่า 600,000 ไร่  ทั้งป่าบนพื้นที่สูง ที่ราบ และป่าต๋าว (ลูกชิด) ครอบคลุมทั้งจังหวัดน่าน เป็นการรักษาผืนป่าไว้ให้คนเมืองน่านและคนไทยทุกคน

บัดนี้ป่าต้นน้ำสำคัญที่คนน่านหวงแหนกำลังถูกรุกรานจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญและสิทธิของคนดูแลรักษาป่าเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบที่กำลังจะถูกตัดทิ้งถึง 50 ไร่ เป็นระยะทาง 1.4 กิโลเมตรไว้ได้ การตัดไม้เปิดพื้นที่ป่าต้นน้ำย่อมยากต่อการควบคุมให้มีการตัดไม้เท่าที่จำเป็น จึงเสี่ยงต่อการลักลอบสวมรอยตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์และนำทรัพยากรออกจากป่า ดังนั้นการใช้สิทธิชุมชนเปลี่ยนแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้กระทบป่าต้นน้ำน้อยที่สุด และถ้าจำเป็นต้องแลกก็ต้องยอมกระทบป่าโซน C บ้าง เพราะป่านี้มติคณะรัฐมนตรีให้ออก ส.ป.ก. กับผู้ที่ครอบครองมาก่อนและใช้ประโยชน์สำหรับโครงการของรัฐได้ ับการยอมรับเป็น "

 

2. การสูญเสียป่าไม้ในป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B ประมาณ 50 ไร่

กลุ่มฮักเมืองน่านกำลังรวมพลังเพื่อหาหนทางรักษาป่าต้นน้ำไว้ให้ได้ หลังจากทราบแนวสายส่งไฟฟ้าจะผ่านป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B และตัดต้นไม้ใหญ่ 50 ไร่ เพื่อส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ (เควี) เชื่อมต่อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ โดยภาคเอกชนไทยได้ร่วมลงทุนกับสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย จึงต้องวางระบบสายส่งไฟฟ้าผ่านชายแดนจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่เพื่อไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 จังหวัดลำปาง รวมระยะทาง 245 กิโลเมตร โครงการระบบสายส่งนี้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ หรือ EIA) แต่ประชาชนพบว่าการจัดทำรายงานอีไอเอนี้ ผู้ได้รับผลกระทบไม่ทราบข้อมูลแนวสายส่งมาก่อนและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาทางเลือกของแนวสายส่งไฟฟ้าฯ  จึงเป็นข่าวต่อสาธารณะถึงการทำรายงานอีไอเอที่ไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ประชาชนยังเผยแพร่ข้อมูลว่าผู้จัดทำรายงานอีไอเอของโครงการฯ ได้จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เห็นชอบรายงานอีไอเอของโครงการฯ แล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552  ดังนั้นการรับฟังความเห็นของชุมชนจึงเป็นการจัดตามขั้นตอนว่าได้ทำแล้ว มากกว่าการรวบรวมข้อห่วงกังวลของชุมชนเพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบอย่างแท้จริง กรณีนี้ถ้าข้อมูลของประชาชนเป็นจริง ย่อมแสดงให้เห็นความไม่ปกติของการจัดทำรายงานอีไอเอฯ ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ทำเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการและเสนอแนวทางป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าว โดยให้ครอบคลุมมิติด้านผลกระทบทางสังคมและสุขภาพของชุมชนด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานอีไอเอของโครงการนี้จัดทำโดยสถาบันอุดมศึกษาที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านการเกษตร และเปิดสอนคณะวนศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ชาวน่านจำนวนมากจึงตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอนี้เป็นการดำเนินการบนหลักวิชาการหรือไม่ เพราะผู้รับผิดชอบเน้นการให้นักศึกษามาเก็บข้อมูลที่ต้องการโดยใช้แบบสอบถาม มากกว่าการศึกษาผลกระทบของโครงการ และเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ชาวน่านจึงต้องการให้อเอะไม่มีการศึกษาทางเลือกของการกำหนดแนวสายส่งร่วมกับชุมชน จึงเป็นข่าวต่อสาธารณะถึงกามหาวิทยาลัยฯ ตรวจสอบและยืนยันต่อสาธารณะชนว่ากระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอของผู้รับผิดชอบโครงการในนามของมหาวิทยาลัยฯ ยึดมั่นในความถูกต้องของหลักวิชาและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะด้านสิทธิชุมชนหรือไม่ และมหาวิทยาลัยฯได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับชุมชนหรือไม่ (รูปที่ 1)

 

รูปที่ 1 การประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอสองแคว (ที่มา “ความเสี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงหงสา ถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนแรก)” โดย รจนา อันน์ศิริ)     

 

3. รายงานอีไอเอขาดการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกในการกำหนดแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ

รายงานอีไอเอฯ โดยหลักการทั่วไปจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกของโครงการในปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญ ดังนั้นรายงานต้องแสดงข้อมูลวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 2-3 ทางเลือก มิใช่เป็นการกำหนดแนวปักสายส่งฯ ตามอำเภอใจ จากการศึกษารายงานอีไอเอไม่พบว่ามีการศึกษาทางเลือก พบเพียงข้อมูลสั้นๆ ว่า ที่ต้องปักเสาสายส่งผ่านป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B นั้น เพราะพยายามหลีกเลี่ยง ป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 A อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากภาพแผนที่ในรายงานอีไอเอ (รูปที่ 2) แล้วจะเห็นภาพชัดว่า กฟผ. ต้องศึกษาทางเลือกของแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ใหม่ โดยหลีกเลี่ยงป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และถ้าจำเป็นให้ผ่านป่าโซน C แทน

รูปที่ 2 แนวสายส่งไฟฟ้าโครงการระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 B) ต. ชายแดน อ. สองแคว จ. น่าน 

ชาวน่านย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ กฟผ. ปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ในป่าโซน C ซึ่งจะทำให้สูญเสียป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B ลดลง และเมื่อยึดแนวป่าโซน C แล้วจะช่วยให้ กฟผ. ย่นระยะทางในการปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ไปถึงลำปางสั้นลง รวมทั้งลดผลกระทบต่อชุมชนลงด้วย  ด้วยเหตุผลดังกล่าว กฟผ. จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เปลี่ยนแนวปักเสาสายส่งใหม่ เพราะการหลีกเลี่ยงการทำลายป่าลุ่มน้ำชั้น 1 B เป็นระยะทาง 1.4 กิโลเมตร จะช่วยคงสภาพป่าและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไว้ ช่วยลดผลกระทบของโครงการต่อการทำลายป่าซึ่งเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยและวงชีวิตของสัตว์ป่า การตัดป่าต้นน้ำเพื่อปักสายส่งไฟฟ้าฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ไม่อาจปรับปรุงให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทั้งยังเปิดหน้าดิน จึงทำให้เกิดการพังทลายของดินและคุณภาพน้ำผิวดิน นอกจากนี้การเลือกแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ที่หลีกเลี่ยงชุมชนยังช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต วิถีและขนบธรรมเนียมของชุมชนด้วย

 

4. ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

รายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แนวเสาไฟฟ้าฟ้าแรงสูง รัฐบาลอังกฤษวิตกกังวลในปัญหานี้ จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหา "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" ที่แผ่ออกมาจากสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งพบว่าเพิ่มความเสี่ยงของคนอยู่ใกล้สายส่งในการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง โรคระบบประสาท และทำให้หญิงมีครรภ์แท้งง่ายขึ้น รวมทั้งคณะกรรมการได้เสนอให้ประชาชนอยู่ห่างจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 60 เมตร องค์การอนามัยโลกอธิบายถึงผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่ามีผลรบกวนการทำงานของระบบประสาท การทำงานของกล้ามเนื้อและกระบวนการทางชีววิทยาในร่างกาย (รูปที่ 3) สถิติของการไฟฟ้านครหลวงรายงานว่ามีคนเสียชีวิต บาดเจ็บทุพพลภาพจากไฟฟ้าแรงสูงปีละ 100 คน

รูปที่ 3  ภายในร่างกายคนมีกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เมื่อได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีผลรบกวนการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระบวนการทางชีววิทยา (ภาพจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก)

นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพด้านการเจ็บป่วยแล้ว ประชาชนที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดินบริเวณนั้นถูกรอนสิทธิ ทำให้ต้องรื้อถอนบ้านเรือน ไม่สามารถใช้ที่ดินทำกินได้ตามปกติและไม่สามารถปลูกอาคารบ้านเรือนและต้นไม้ใหญ่ได้ตลอดไป ยกเว้นพืชล้มลุกที่ได้รับอนุญาต แม้ว่าที่ดินนี้จะตกเป็นมรดกสู่รุ่นลูกหลาน  การรอนสิทธินี้ยังคงอยู่ตลอดไป เพราะการไฟฟ้ามีสิทธิที่จะปักเสาไฟฟ้า ตัดต้นไม้ ในที่ดินของประชาชนภายหลังจากที่แจ้งให้ประชาชนทราบ โดย กฟผ. มิได้ซื้อที่ดินจากประชาชน แต่จะจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่งเป็นค่าทดแทน โดยทั่วไปต่ำกว่าราคาประเมิน และพื้นที่ทำนาได้รับค่าทดแทนต่ำ โดยอาศัยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ที่ให้ กฟผ. ดำเนินการได้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม สำหรับประชาชนที่ไม่พึงพอใจกับเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. อาจส่งมอบให้เจ้าของที่ดินโดยตรง หรือฝากธนาคารออมสินไว้ให้เจ้าของที่ดินก็ถือว่า กฟผ. ได้จ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้เจ้าของที่ดินจะไม่ยินดีรับเงินก็ตาม แต่ประชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเมื่อไม่พึงพอใจกับเงินค่าทดแทน ฟ้องได้ทั้งประชาชนกลุ่มที่จะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. ส่งมอบ เพราะเป็นกรณีที่จ่ายค่าทดแทนต่ำ แต่ต้องฟ้องศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ กฟผ. ได้ส่งมอบเงิน  และหลังจากถูกรอนสิทธิแล้ว ถึงแม้โฉนดที่ดินจะยังคงเป็นของเจ้าของที่ดินอยู่ แต่ กฟผ. ห้ามมิให้ปลูกโรงเรือนและต้นไม้ยืนต้นในเขตเดินสายไฟฟ้านั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะถูกรอนสิทธิอ่านมาตราที่ 28-35 ของ พรบ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 รวมทั้งคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจสิทธิตามกฎหมาย

 

5. มลพิษข้ามพรมแดน

การเดินทางไปเมืองหงสาในเดือนเมษายน 2556 พบว่าโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างไปได้เร็วกว่าแผน ประชาชนซึ่งอาศัยในพื้นที่ใช้ทำเหมืองลิกไนต์ได้ถูกย้ายถิ่น โดยย้ายไปอยู่ยังหมู่บ้านใหม่ที่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้ามากนัก และประชาชนรอบโรงไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่จะต้องถูกย้ายออกในลำดับต่อไป แต่ปัญหาสำคัญคือในหมู่บ้านที่จัดให้อยู่มีแต่บ้านพักไม่มีที่ทำกิน มีการจัดที่ดินให้เพาะปลูกแต่อยู่ห่างไกลจากที่พักอาศัยมาก จึงไม่สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อมีอาหารยังชีพตามปกติ ทำให้มีชีวิตที่ยากลำบากและมีปัญหาสังคมคล้ายกับมาบตาพุด ส่วนตลาดสดหงสาซึ่งมีอาหารธรรมชาติวางขายคล้ายตลาดในชนบทของไทยนั้น อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนทางโรงไฟฟ้าจึงสร้างปล่องระบายมลพิษในระดับที่สูงกว่าปกติ ส่วนฝั่งไทยด้านชายแดนจังหวัดน่านนั้นอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ดังนั้นชาวน่านจึงมีโอกาสได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าหงสาทั่วทั้งจังหวัดขึ้นกับฤดูกาล เพราะที่ตั้งของโรงไฟฟ้าหงสาอยู่สูงกว่าฝั่งไทยรวมทั้งมีปล่องระบายมลพิษสูง ลมจึงพัดพามลพิษไปได้ไกล ป่าไม้สามารถเป็นกำแพงกรองมลพิษได้อย่างดี แต่แนวชายแดนไทย-ลาวที่นั่งรถผ่านตลอดเส้นทาง พบแต่ภูเขาหัวโล้นและมีร่องรอยการเผาหญ้าบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าวโพดในต้นฤดูฝน การตกเขียวข้าวโพดอาหารสัตว์ของบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของประเทศนับเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการทำลายป่าและการเผาป่า ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าบริษัท จะคิดใหม่ว่าทำอย่างไรจะลดการทำลายป่าและยังมีผลผลิตข้าวโพดป้อนโรงงานอย่างยั่งยืน เพราะถ้าปล่อยให้บุกรุกป่าและเผาหญ้าทำลายดินก็จะทำให้ดินเสื่อมโทรม ให้ผลผลิตข้าวโพดต่ำ และทำลายระบบนิเวศในภาพรวม

ในช่วงที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขณะนี้ มีการขนส่งวัสดุก่อสร้างผ่านจังหวัดน่านไปยังฝั่งลาว ซึ่งสร้างปัญหาให้กับชุมชน เพราะมีการรีบเร่งขนวัสดุและเครื่องจักรในเวลากลางคืน รบกวนการพักผ่อนของชุมชน มีรถวิ่งผ่านชุมชนมากทำให้รถติด ถนนพังและมีฝุ่นมาก รถบางคันมีล้อจำนวน 200 ล้อ ทำให้รถติดเป็นเวลานานและพบอุบัติเหตุจากรถบรรทุก ชาวน่านจึงเริ่มรู้สึกว่าถูกรอนสิทธิเพราะธุรกิจนี้ตามข่าวระบุว่าผู้ลงทุนจะได้กำไรปีละ 700-800 ล้านบาท และจะคืนทุนใน 15 ปี ส่วนผลกระทบนั้นชุมชนได้รับเต็มที่และยาวนาน นอกจากนี้ชุมชนยังตั้งคำถามถึงรัฐบาลไทยที่ใช้เงินปรับปรุงถนนฝั่งไทยด้วยเงินภาษีราษฎร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนสินค้าผ่านด่านห้วยโกร๋น จ. น่าน ไปลาว จากถนนเดิมซึ่งแคบและสูงชันถูกปรับเป็นถนนอย่างดีและเปิดพื้นที่บนเขาเพื่อลดความชันของถนนไว้รองรับการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการของชุมชนซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำในฤดูแล้งไม่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้งขาดแผนป้องกันและลดผลกระทบของประชาชนโดยเฉพาะชาวน่านที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของโรงไฟฟ้าหงสา  

ถ่านหินลิกไนต์เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ มีราคาถูกและมีมลพิษมาก จึงไม่คุ้มค่ากับการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เอกชนไทยจึงไปสร้างโรงไฟฟ้าที่หงสาและได้สัมปทานไฟฟ้าขายให้ กฟผ. 95%  มลพิษจากการเผาถ่านหินลิกไนต์ที่ปล่อยออกมาในอากาศเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลลิกไนต์ของ กฟผ. พบว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1200 ไนโตรเจนออกไซด์ 5.80 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5.27 และฝุ่นละออง 0.62 กรัม/กิโลวัตต์/ชั่วโมง จึงเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษสูงกว่าชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังปนเปื้อนสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักที่ทำลายสมองทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ รวมทั้งปนเปื้อนโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็งด้วย เช่น โครเมียม นิกเกิล สารหนู และแคดเมียม ส่วนสารที่พบมากและก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายระบบประสาท คือ แมงกานีส และคลอรีน การเผาลิกไนต์ทำให้มีขี้เถ้าเกิดขึ้นคิดเป็นร้อยละ 25 ของถ่านหินที่ใช้ ถ้าขาดการจัดการที่ดี ขี้เถ้าถ่านหินจะเป็นกากของเสียที่สร้างปัญหาสำคัญให้ สปป.ลาว เพราะนักวิจัยไทยได้ทดลองนำขี้เถ้าไปผสมดินปลูกลิ้นจี่ พบว่าดินในสวนลิ้นจี่มีโลหะหนักเพิ่มขึ้นหลายชนิดโดยเฉพาะชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง แสดงให้เห็นว่าขี้เถ้าถ่านหินมีโลหะหนักปนเปื้อน จึงหวังว่า สปป. ลาว จะมีการควบคุมการกำจัดกากขี้เถ้าที่ดี ไม่ปล่อยให้เกิดการลักลอบนำไปทิ้งไว้ตามที่ดินของชาวบ้านเหมือนในประเทศไทย  เกษตรกรที่ปลูกส้มใน อ. ทุ่งช้าง จ. น่าน  ได้เล่าถึงผลกระทบที่เริ่มก่อเค้าให้เห็นบ้างแล้ว คือ ส้มร่วงจากต้นก่อนเก็บเกี่ยว ปัญหานี้น่าจะสอดคล้องกับผลกระทบของพี่น้องลาวจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพราะมีการเปิดบ่อถ่านหินลิกไนต์แล้ว ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้คนไทยเรียนรู้ผ่านกรณีไฟไหม้ป่าในประเทศอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงพี่น้องภาคใต้หลายจังหวัด   

ด้านผลกระทบจากการทำเหมืองลิกไนต์นั้นถึงแม้เหมืองลิกไนต์จะตั้งอยู่ในฝั่งลาว ซึ่งห่างจากชายแดนจังหวัดน่านเพียง 50 กิโลเมตร มลพิษข้ามพรมแดนย่อมเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับมลพิษที่ชาวแม่เมาะและพื้นที่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้า เพราะลมได้พัดพามลพิษที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์จำนวนมากไปรวมกับออกซิเจน และละลายในน้ำฝนเกิดเป็นฝนกรด ทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้น้ำฝนได้ตามปกติ จึงเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ฝนกรดทำให้ใบพืชเกิดจุดแผลจึงให้ผลผลิตลดลง และฝนกรดยังทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินตาย พืชขาดธาตุอาหารเพราะธาตุอาหารบางชนิดเคลื่อนลึกลงใต้ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อมีภาวะเป็นกรดมาก สัตว์น้ำที่หายใจด้วยเหงือก เช่น ปลา ลูกอ๊อดและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กตายลง จึงทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ  ทำให้สัตว์น้ำธรรมชาติที่เคยเป็นแหล่งอาหารของชุมชนลดน้อยลง ฝนกรดมิได้ทำลายแต่บ้านเรือนแต่จะทำลายวัดที่สวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่าน จึงกังวลกับช้างรอบองค์พระธาตุในวัดพระธาตุช้างค้ำ จังหวัดน่าน ว่าจะถูกฝนกรดกัดกร่อนคล้ายรูปปั้นในกรุงเอเธน (รูปที่ 4) นั้นจะใช้เวลานานกี่ปี

รูปที่ 4 ฝนกรดทำลายวัดที่สวยงาม อาคารและอนุสาวรีย์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่ก่อสร้างด้วยหินปูน หินอ่อน และวัสดุที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบ (ภาพจาก http://claremontgeography12.blogspot.com/2011/04/monument-ruined-by-acid-rain.html)

ส่วนปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนรอบเหมืองถ่านหินนั้น ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นในฝั่งลาวมากกว่า ยกเว้นเจ้าของสัมปทานขนถ่านหินข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เพราะประชาชนตั้งข้อสังเกตว่ารถบรรทุกวัสดุก่อสร้างไปส่งฝั่งลาว ขากลับมาฝั่งไทยขนอะไรกลับมาบ้างทำไมรถจึงดูหนัก ล้อรถไม่ลอยเหมือนรถเปล่า ถ้ามีการขนถ่านหินข้ามมาฝั่งไทย ฝุ่นผงถ่านหินเล็ก ๆ ที่เข้าสู่ปอดจะก่อให้เกิดโรคปอดดำ (black lung disease)  จากรายงานของ ดร. เฮนดริกซ์ (Michael Hendryx) ในอเมริกาในปี 2551 พบว่ามีโรคไตเพิ่มขึ้นถึง 70% ในคนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และในปี 2552 แพทย์พบว่าสารพิษที่ปนเปื้อนรอบเหมืองและฝุ่นผงจากถ่านหินลิกไนต์สัมพันธ์กับโรคโรคหัวใจ มะเร็ง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว โรคในระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคปอดดำที่พบในคนที่อาศัยรอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์  

 

6. ถึงเวลาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศหรือยัง

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโดยขาดการวางผังเมืองและการจัดการที่ดี นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ได้สะท้อนภผลลัพธ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักจึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 40% ของจีดีพีในช่วง ปี 2523-2551  และสัดส่วนของภาคเกษตรหดตัวลงจาก 19% เหลือเพียง 9% ของจีดีพีในช่วง ปี 2523-2551  ในขณะที่รัฐพึงพอใจกับผลการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและเฝ้ามองจีดีพีที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีปัญหาการความเจ็บป่วยของประชาชนจากมลพิษอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีพื้นที่ของประเทศไทยถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพิ่มขึ้น และมีข่าวการลักลอบทิ้งสารพิษและขยะพิษจากอุตสาหกรรมรายวันจนดีเอสไอ (DSI) ต้องเพิ่มแผนกพิเศษขึ้นรองรับ จึงบ่งชี้ว่าการพัฒนาของประเทศที่ผ่านมาขาดความยั่งยืนและทำให้ประชาชนไม่มีความสุขเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของกลไกรัฐ ทั้งด้านความสามารถทางเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของประชาชนทั้งด้านองค์ความรู้และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ความตระหนักรู้ถึงคุณค่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรต่อความยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย

ประเทศไทยในอดีตเคยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งในประเทศและส่งออกอาหารที่สำคัญ แต่ในปี 2555 เมเปิ้ลครอฟต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงในอังกฤษ จัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยขาดแคลนอาหารระดับปานกลาง ยกเว้นภาคตะวันออก เฉียงเหนือนั้นถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ในขณะที่อัฟกานิสถานและพื้นที่ส่วนใหญ่ของ แอฟริกาถูกจัดอยู่ในช่วงความเสี่ยงสูงที่สุด  ประชาชนชาวไทยในหลายจังหวัดได้ประกาศจุดยืนถึงการเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนระดับประเทศและระดับโลก  เพราะตระหนักถึงความสำคัญของอาหารวันละ 3 มื้อ ที่ทุกคนรับประทาน ว่ามาจากผลผลิตการเกษตรและการประมง จึงไม่ต้องการมลพิษจากอุตสาหกรรมมาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งความต้องการนี้สอดคล้องกับนิยามของคำว่าความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งการประชุมสุดยอดอาหารโลกได้กำหนดไว้ในการประชุม ปี 1996 ว่า “เป็นภาวะที่ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง โดยปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการและรักษาสุขภาพและชีวิตที่ดีได้ไม่ว่าเวลาใด”

ถึงเวลาที่รัฐจะทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงหรือยัง

 

 

7. แหล่งข้อมูล

 

กรวิภา วีระพันธ์เทพา. ความมั่นคงทางอาหาร โลกร้อน พลังงาน แหล่งน้ำ : ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน. ข่าวสิ่งแวดล้อม : เรื่องต่างประเทศ. มูลนิธิโลกสีเขียว. http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/829
 
รางวัลลูกโลกสีเขียว http://pttinternet.pttplc.com/greenglobe/index.html
 
มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบไฟฟ้า500 เควี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์ (การปรับปรุงข้อมูลสภาพแวดล้อมปัจจุบันและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม) รายงานฉบับสมบูรณ์ (2552) เสนอการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
รจนา อันน์ศิริ. ความเสี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงหงสา ถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนแรก)  http://localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=h1_30/04/2011_01
 
ศุภวุฒิ สายเชื้อ เศรษฐกิจต้องรู้.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4193 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q1/2010march18p4.htm
 
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีม. (2553) ฝนกรด http://siweb.dss.go.th/repack/fulltext/IR16.pdf
 
Cuff, D. and Goudie, A. Acid rain and its ecological consequences. The Oxford
 
Companion to Global Change (2012 ). Oxford University Press, New York. http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/9780195324884.001.0001/acref-9780195324884-e-1?rskey=iTvCYr&result=1&q=
 
Environmental Health & Engineering. Emissions of hazardous air pollutants from coal-fired power plants.(2011) EH & E Report 17505. Needham, USA.
 
Inthasan, J.; Hirunburana, N.; Herrmann, L. and Stahr, K. (2006) Effect of Lignite Fly Ash Application on the Amount of Certain Heavy Metals in Lychee Orchard's Soils of Northern Thailand.  In The 18th World Congress of Soil Science. http://www.ldd.go.th/18wcss/techprogram/P15766.HTM
 
Lignite Combustion - US Environmental Protection Agency. www.epa.gov/ttnchie1/ap42/ch01/final/c01s07.pdf
 
Lignite mining proposal. http://www.forestandbird.org.nz/node/79202
 
Monument Ruined by Acid Rain. http://claremontgeography12.blogspot.com/2011/04/monument-ruined-by-acid-rain.html
 
Singh, A.  and Agrawal, M. (2008) Acid rain and its ecological consequences. Journal of Environmental Biology, 29(1), 15-24.
 
Singh, G.. Environmental assessment of coal combustion residues from some thermal
 
power stations for reclamation of mined out areas. http://flyashbricksinfo.com/construction/environmental-assessment-of-coal-combustion-residues-from-some-thermal-power-stations-for-reclamation-of-mined-out-areas.html
 
Sooksamiti, P. and Totirakul, V. Hydro-chemical Characteristics and Environmental
 
Impacts of Water Sample Around Mae Lai Lignite Mine, Hot District, Chiang Mai Province. The Office of Primary Industries and Mines Region 3 , Amphur Maung,Chiang Mai, 50202, Thailand. http://www.aseanenvironment.info/Abstract/43005004.pdf
 
WHO. What happens when you are exposed to electromagnetic fields? http://www.who.int/peh-emf/about/WhatisEMF/en/index1.html


      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net