Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนคิดว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นบ้าไปแล้ว

แต่ผมคิดว่า หากเขาเป็นบ้าไปจริง ทุกอย่างก็ดูจะปลอดโปร่งขึ้น เพราะเผด็จการบุคคลที่เป็นบ้านั้นอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวก็มีคนจัดการให้พ้นไป แม้แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้ายังอยู่ไม่ได้เลย ถ้าฝ่ายกล่าวหามีพรรคพวกมากกว่า

คิม จอง อึน ไม่ใช่คนที่ถูกหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสืบจากบิดามาแต่แรก เขาคงใช้ชีวิตที่สุขสบายไปอย่างเงียบๆ หากพี่ชายขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพี่ชาย ทำให้หมดโอกาสจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำ ในที่สุดก็มาลงที่นายจอง อึน ส่วนหนึ่งก็เพราะนายคิม จอง อิล ได้ยกเขาขึ้นเป็นทายาทมาตั้งแต่เริ่มป่วยหนัก กลุ่มที่จงรักภักดีต่อตระกูลคิมในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือจึงยืนยันที่จะต้องเป็นเขา ด้วยเหตุดังนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของคิม จอง อึน - แม้เป็นการชั่วคราว - ก็ช่วยรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคณาธิปไตยไว้ได้

เปรียบเทียบกับนายคิม จอง อิล บิดาของเขา นายคิม จอง อิล มีโอกาสอยู่นานที่จะค่อยๆ สร้าง "บารมี" ในกลุ่มคณาธิปไตย ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำต่อจากนายคิม อิล ซุง ผู้บิดา แต่นายคิม จอง อึน ต้องอาศัยความภักดีของกลุ่มที่จงรักต่อตระกูลคิมในคณาธิปไตย โดยยังไม่มี "บารมี" หนุนหลังเพียงพอ เขาอาจเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ไร้บารมีส่วนตัวถึงเพียงนี้ การต้องอาศัยการสนับสนุนของคนอื่นอย่างมาก เป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้นำและต่อตัวระบอบ

คิม จอง อึน ขึ้นดำรงตำแหน่งในระยะแรกด้วยการส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่นการนำภรรยาไปร่วมงานสาธารณะอย่างเปิดเผย อันเป็นสิ่งที่ผู้นำเกาหลีเหนือไม่ทำมาก่อน สถานที่และกิจกรรมที่เขาไปเยี่ยมให้เป็นข่าว ก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน คล้ายกับจะส่งสัญญาณว่าเกาหลีเหนือกำลังจะให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้นกว่าด้านความมั่นคงอย่างเดียว

แต่เขาไม่ได้มี "บารมี" มากพอจะเป็นเติ้ง เสี่ยว ผิง ของเกาหลีเหนือได้ เข้าใจว่านโยบายผ่อนคลายเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มต่างๆ ในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือ ประเด็นความมั่นคงเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของเผด็จการคณาธิปไตยทุกแห่งในโลก จะลดความสำคัญของประเด็นความมั่นคงลงได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขความสำเร็จสองอย่าง คือหนึ่งต้องมีความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และสองต้องมีความสำเร็จที่จะรักษาความแข็งแกร่งของกองกำลัง เพื่อบดขยี้ศัตรูทั้งภายในและภายนอก หากไม่แน่ใจในความสำเร็จทั้งสองเงื่อนไขนี้ สู้อยู่ไปอย่างเดิมดีกว่าจะมาโคลงเรือเล่น

และด้วยเหตุดังนั้น คิม จอง อึน จึงหันมาแสดงบทบาทผู้นำด้านความมั่นคง อย่างแข็งกร้าวและอย่างก้าวร้าว ซึ่งทำความตระหนกแก่คนทั้งโลก ผมอยากเดาว่าทำความตระหนกแก่บางกลุ่มในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือเองด้วย ก็ไหนๆ จะเล่นเกมส์นี้กันแล้ว กูก็ต้องเล่นให้เหนือมึง เป็นธรรมดา

แนววิเคราะห์อย่างนี้ดูเหมือนทำให้ความวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามเกาหลีรอบใหม่ลดลง เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการเมืองภายในของเกาหลีเหนือเอง แต่เกมส์นี้มีปัญหาในตัวเองที่น่าวิตกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นคือเมื่อยกระดับความแข็งกร้าวและก้าวร้าวแข่งกัน ทุกฝ่ายจะมองไม่เห็นขีดจำกัดได้ชัดว่าอยู่ตรงไหน จึงง่ายที่จะยกระดับจนเลยขีดนั้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีใครคาดคิดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการละเมิดขีดจำกัดนั้น

โดยส่วนตัวผมเอง ผมวิตกตรงนี้มากกว่า อันที่จริง สงครามขนาดใหญ่หลายครั้ง ก็เกิดขึ้นโดยผู้นำไม่ได้ตั้งใจ แต่เก็งปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้ามผิด คิดว่าเส้นที่เป็นขีดจำกัดนั้นอยู่เลยไปจากที่มันอยู่จริง

คนเกาหลีใต้ในเมืองไทยที่ผมมีโอกาสสอบถาม บอกว่าเขาเองไม่วิตกอะไร และในเกาหลีใต้ทุกวันนี้ ทุกอย่างก็ดำเนินไปเป็นปกติ เพราะเกาหลีเหนือแสดงอาการคุกคามอย่างนี้เสมอมา แต่ผมอดนึกแย้งในใจไม่ได้ว่า การคุกคามครั้งอื่นที่ผ่านมา ผู้นำเกาหลีเหนือมองเห็นขีดจำกัดชัดเจนว่า อยู่ตรงไหน และจะข้ามเส้นนั้นไปไม่ได้ แต่ครั้งนี้ผิดจากครั้งอื่นตรงที่ ผู้นำเกาหลีเหนืออาจมองไม่ค่อยเห็นเส้นที่เป็นขีดจำกัดนั้นชัดนัก

สหรัฐเพิ่งสารภาพไม่นานมานี้ว่า คาดเดาเกาหลีเหนือได้ยากขึ้น ในขณะที่แต่เดิมมาข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือนั้นมีพอที่จะทำให้สหรัฐพอจะคาดเดาได้ออกว่า เกาหลีเหนือกำลังคิดจะทำอะไรอยู่ แต่ครั้งนี้ค่อนข้างมืดแปดด้าน

แม้ว่าสหรัฐและมหาอำนาจตะวันตกพอจะประเมินศักยภาพด้านเทคโนโลยีจรวดและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ เช่นแม้มีจรวดที่พอจะส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปถึงฮาวายและอลาสกาได้ แต่ก็เป็นจรวดที่อาจถูกตรวจจับและสกัดกั้นได้ไม่ยาก ซ้ำยังมีปัญหาด้านความแม่นยำอีกด้วย ยิงจรวดได้ไกลนั้นเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ยิงให้ตกเป้าอย่างแม่นยำ เป็นเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกาหลีเหนือครอบครองไว้ได้แค่ไหนยังน่าสงสัยอยู่

ความสามารถป้องกันตัวของสหรัฐนั้นไม่มีอะไรน่าวิตก แต่สหรัฐจะป้องกันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เท่ากับป้องกันตนเองหรือไม่ นี่เป็นปัญหากว่า สหรัฐคงมีกำลังพอจะหยุดการถล่มเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วยนิวเคลียร์ได้เด็ดขาดในเร็ววัน แต่นั่นหมายถึงนิวเคลียร์บางส่วนของเกาหลีเหนือได้เล็ดลอดระบบป้องกัน ตกลงที่กรุงโซลและกรุงใหญ่อื่นๆ ของญี่ปุ่นไปแล้ว แค่ลูกเดียวก็มีผลมโหฬารต่อยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐอย่างมากแล้ว (ทั้งในทางทหารและเศรษฐกิจ)

ฉะนั้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลดังกล่าว จึงเท่ากับตัดการโจมตีก่อนเพื่อป้องกัน (preemptive strike) ของฝ่ายสหรัฐไปได้เลย

จีนคงไม่อยากให้เกิดสงครามแน่นอน แม้ไม่คิดจะปกป้องตระกูลคิม แต่เป็นไปไม่ได้ที่จีนจะไม่คิดปกป้องเกาหลีเหนือให้พ้นจากอิทธิพลของสหรัฐ แค่มีเพื่อนบ้านเป็นรัสเซียอย่างเดียวก็นอนหลับไม่สบายแล้ว จะมีสหรัฐเป็นเพื่อนบ้านอีกข้างหนึ่ง ก็เป็นอันไม่ต้องนอนกันแน่ ฉะนั้นถ้าจะเกิดสงครามเกาหลีรอบใหม่ สหรัฐต้องทำสงครามชนิดที่จีนไม่รู้สึกว่าตัวถูกคุกคามไปด้วย

ดังนั้น ถ้าจะเกิดสงครามขึ้น สงครามนั้นจะไม่เกิดผลอะไรนอกจากแพ้ชนะกันในสนามรบ เป็นเกมส์ฆ่าคนเล่นๆ ไม่มีประโยชน์อันใด

ทั้งสงครามนั้นก็ไม่อาจทำในนามของสหประชาชาติได้อีกแล้ว เพราะจีนนั่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง แม้นำเรื่องเข้าสู่การตัดสินใจของสมัชชาใหญ่ (อย่างที่เคยทำในสงครามเกาหลีครั้งแรก) ก็ไม่แน่ว่าสหรัฐจะชนะ เพราะหลายประเทศ (เช่นไทย) คงเลือกการงดออกเสียง

ในทางตรงข้าม ถ้าให้จีนเป็นฝ่ายดึงเกาหลีเหนือไว้ไม่ให้ล้ำเส้น จะเป็นไปได้แค่ไหน ผมออกจะสงสัยว่า แม้จีนอยากทำอย่างยิ่ง และจีนก็ได้แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนแล้ว ในแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่จีนยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกหรือไม่ ที่ผมสงสัยก็คือถึงมีจีนก็ไม่อยากใช้ เพราะถ้าบีบเกาหลีเหนือจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีเหนือ (เช่นบางกลุ่มในคณาธิปไตยก่อการกบฏ) ก็เท่ากับเปิดเกาหลีเหนือให้แก่การแทรกแซงจากมหาอำนาจอื่นๆ ไปพร้อมกัน จีนก็แทรกได้ และแทรกได้ถนัดกว่าคนอื่นด้วย แต่ต้องไปปะทะกับการแทรกแซงของคนอื่น ก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์และกระทบต่อการเซ็งลี้ของจีนแน่นอน

จากความพยายามจะรักษาอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการเมืองภายในโดยแท้ ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มหาอำนาจจัดการอะไรไม่ค่อยได้ ต้องปล่อยให้ความเสี่ยงดำรงอยู่ต่อไปอย่างสิ้นท่าเช่นนี้ ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็คงต้องคิดว่าตัวต้องมีศักยภาพในการป้องกันตนเองดีกว่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้กองกำลังรักษาตนเองสามารถปฏิบัติการในประเทศอื่นได้ และอาจมีใครกำลังคิดอย่างลับๆ ว่าต้องพัฒนาอาวุธที่สามารถทำลายล้างได้สูงๆ ด้วย เช่นเดียวกับเกาหลีใต้

ทั้งสองประเทศล้วนมีสมรรถนะจะทำได้ทั้งคู่ สนธิสัญญาห้ามการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์จะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่

และหากสองประเทศนี้มีสมรรถนะทางทหารของตนเองที่แข็งแกร่งขึ้น สองประเทศนี้จะดำเนินนโยบายต่างประเทศสอดคล้องกับสหรัฐมากน้อยเพียงไร และจะมีความสัมพันธ์กับจีนเปลี่ยนไปอย่างไร

คิม จอง อึน ไม่ได้บ้า แต่เราทุกคนนั่นแหละต่างต้องมีชีวิตอยู่ในโลกบ้าๆ ใบนี้ด้วยกัน

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net