Skip to main content
sharethis

 

The Reading Room จัดเสวนา “การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ : รัฐธรรมนูญ เจตจำนง ความชอบธรรม” โดยวิทยากรหลักคือ  รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ดำเนินรายการโดย จิตติพร ฉายแสงมงคล  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา

งานนี้ได้รับความสนใจจนล้นห้องสมุดในซอยสีลม 19 โดยเฉพาะจากบรรดาคนรุ่นใหม่ ‘ประชาไท’ เก็บความการบรรยายเกือบ 3 ชั่วโมงโดยสรุป โดยขอแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วนหลัก

1.เกริ่นนำภาพรวมพื้นฐานของสาธารัฐไวมาร์ / time line ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มตัวของฮิตเลอร์ (จิตติพร)

2.อธิบายรายละเอียดการเมืองเยอรมันตาม time line ดังกล่าว เพื่อให้เห็นการก่อกำเนิดของสาธารณรัฐไวมาร์ ดุลยภาพและโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะบทบาทของศาล  รวมถึง ‘โชคชะตา’ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ได้เก็บเกี่ยวดอกผลกลายเป็นที่นิยม (วรเจตน์)

3. ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของก้าวย่างของฮิตเลอร์ เป็นปัญหาซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อความนิยมในแนวคิดขวาจัด รวมทั้งการแตกกันเองของพรรคฝ่ายซ้าย (โสรัจจ์)

4.ปรากฏการณ์สำคัญหลังการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ (วรเจตน์)

5.การเปรียบเทียบเส้นทางฮิตเลอร์สู่การตั้งศาลรัฐธรรมนูญคุมอำนาจนักการเมืองในเยอรมัน ไม่สามารถเปรียบเทียบกับไทยได้ดังที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นไว้ (วรเจตน์)

 

1.

Time Line การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ดราม่าการเมืองของช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ

โดย จิตติพร ฉายแสงมงคล


 

หัวข้อเสวนาในวันนี้ตรงกับครบรอบ 80 ปีของการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ในปี ค.ศ. 1933 ที่มาของการเสวนาในครั้งนี้ก็คือ วาทกรรมได้รับการกล่าวอ้างและเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาว่า "ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง" และ "ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจโดยเจตจำนงประชาชนผ่านการลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย" เราอยากจะมาคุยกันว่าชุดความคิดดังกล่าวมีความถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการตีความบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงบริบททางประวัติศาสตร์คร่าวๆ
 


คลิ๊กดูภาพใหญ่


หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918-1919 เยอรมนีเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐที่เรียกกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimarer Republik) สังคมช่วงนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายจัด ที่อยากให้เยอรมันเป็นแบบโซเวียตรัสเซียกับฝ่ายขวาจัดที่อยากกลับไปปกครองแบบเดิม ไหนจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร  และเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอีก ถึงกระนั้นรัฐบาลผสมนำโดยฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยก็ประคับประคองตัวมาได้

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์จะถือเริ่มเมื่อใด ในที่นี้ขอกำหนดจุดเริ่มต้นที่วิกฤตเศรษฐกิจโลก (Great Depression) เมื่อปลายปี 1929 ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ในสาธารณรัฐไวมาร์เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลผสมตอนนั้นนำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (SPD) มีเสียงข้างมากในสภาเจอวิกฤตจนต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคนาซีของฮิตเลอร์มีคะแนนเสียงในสภานี้แค่ 2.6% เท่านั้น หลังจากการเลือกตั้งสภาเยอรมันเดือนกันยายน 1930 พรรคนาซีได้คะแนนมากขึ้น เป็น 18.3% แต่ SPD ตั้งสามารถรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้
 


กราฟแสดงสัดส่วนเสียงของพรรคต่างๆในเยอรมัน 1920 - 1933
(ที่มา http://www.educationforum.co.uk/weimarrebellions.htm)


2 ปีต่อมาฮิตเลอร์ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนเมษายน 1932 ได้คะแนนมามากพอสมควรแต่ยังแพ้ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ผู้สมัครอิสระ ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้กองกำลัง SA (Sturmabteilung) และ SS (Schutzstaffel) ของฮิตเลอร์ไปก่อกวนการเลือกตั้งไว้มากจึงถูกสั่งห้ามหลังจากการเลือกตั้ง สิ้นสุดลงดูเหมือนครานี้สาธารณรัฐไวมาร์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือฮิตเลอร์ไปได้ แต่ไม่วายเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะเกิดวิกฤติรัฐบาลอีก 2 เดือนต่อมาประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กได้ตั้งนายกคนใหม่ที่ยอมให้ SS และ SA กลับมาปฏิบัติการอีกครั้งพร้อมทั้งให้ยุบสภาและสั่งเลือกตั้งใหม่ ในเดือนมิถุนาปีเดียวกัน ที่นี้พรรคนาซีได้คะแนนเพิ่มเป็น 37.3% แต่หลังการเลือกตั้งดูเหมือนว่าพรรคทั้งหลายจะตกลงกันไม่ได้ว่าจะตั้งรัฐบาลอย่างไร เพราะไม่มีใครกล้าจะไปยุ่งทั้งกับพรรคนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ มีการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน คราวนี้คะแนนของพรรคนาซีลดลงเล็กน้อยแทนที่จะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างที่หวังกันไว้ ทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบากเหมือนเดิม

Franz von Papen นายกในตอนนั้นเสนอให้เลือกตั้งใหม่อีกเป็นรอบที่สามโดยให้เขาบริหารประเทศ โดยไม่มีสภาไปพลางๆ ก่อน Kurt von Schleicher รมต.กลาโหมในขณะนั้นเกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองจึงได้เสนอประธานาธิบดีฮิ นเดนบวร์ก ว่า เขาจะรับเป็นคนช่วยจัดตั้งรัฐบาลเองซึ่งฮินเดนบวร์กก็เห็นด้วยกับแผนของ Schleicher คือการทำให้พรรคนาซีแตกแยกกันโดย Schleicher จะไปคุยกับ Strasser คู่แข่งคนสำคัญของฮิตเลอร์ในพรรคนาซี แต่ Strasser โดนริบอำนาจเสียก่อน แผนทั้งหมดของ Schleicher จึงต้องเป็นอันพับไป ซ้ำร้าย Papen ก็แอบไปคุยกับฮิตเลอร์ลับหลัง Schleicher เสียอีก ฮิตเลอร์ที่ตอนแรกอยากได้อำนาจทั้งหมดถ้าให้พรรคนาซีเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มกลัวว่าถ้าเล่นตัวมากไปคงไม่ได้ขึ้นมามีอำนาจสักทีก็เริ่มโอนอ่อนมากขึ้น ฮิตเลอร์ยอมรับข้อเสนอของ Papen ที่ตนเองเคยปฏิเสธไปโดยมีเงื่อนไขว่าฮิตเลอร์จะต้องได้เป็นนายก รัฐบาล Hitler-Papen จึงได้เกิดขึ้นโดยประธานาธิบดีฮินเดนบวร์ก แต่งตั้งให้ ฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนานกรัฐมนตรี (Kanzler) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1933 โดยมี Papen เป็นรองนายก พรรคนาซีได้ที่นั่งรัฐมนตรีไปเพียงสามที่นั่ง

เมื่อฮิตเลอร์ได้เป็นนายกแล้วเกิดอะไรขึ้น? มีเลือกตั้งใหม่! ฮินเดนบวร์กสั่งยุบสภาวันที่ 1 กุมภาพันธ์และมีการเลือกตั้งใหม่ต้นเดือนมีนาคม ชะรอยโชคชะตาจะเข้าข้างฮิตเลอร์และพรรคนาซีเพราะในวันที่ 27กุมภาพันธ์เกิดเหตุเพลิงไหม้รัฐสภาเยอรมันเสียราบคาบฮิตเลอร์ฉวยโอกาสกล่าวโทษฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้วางเพลิง และได้ประกาศใช้กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรช์สทักในวันถัดมา เป็นกฎที่มีเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองเยอรมันอย่างมากและใช้กำลังนั้นปราบปรามจับกุมผู้นำและนักการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โดยมีผลบังคับใช้มาตลอดถึงปี 1945 หลังจากเลือกตั้งในวันที่ 5 มีนาคม 1933 พรรคนาซีได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ก็ยังเกินครึ่ง จึงต้องตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคฝ่ายขวาเล็กๆ จนได้คะแนนเสียงเกินครึ่งมาหน่อยหนึ่ง ที่เด็ดก็คือ รัฐบาลผสมนำโดยพรรคนาซีประกาศถอนสิทธิ์สส.จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี จำนวน 81 คนออกจากสภาไรช์สทักในวันถัดมา

ต่อมาในวัน ที่ 23 มีนาคม 1933 รัฐสภาเยอรมนีก็ลงมติสองในสามผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจเต็มแก่ฮิตเลอร์พร้อม ทั้งอนุญาตให้คณะรัฐมนตรีสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาเป็นเวลา 4 ปี (Ermächtigungsgesetz) โดยพรรคฝ่ายค้านสายกลางๆ ร่วมลงมติเห็นชอบด้วยจะมีก็แต่สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนีและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีที่ยังไม่ถูกอุ้มไปเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงคัดค้าน ผลงานของพรรคนาซีหลังจากนั้นก็มีมากมายทั้งการคว่ำบาตรนักธุรกิจชาวยิวงาน เผาหนังสือ การสั่งห้ามพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงออกกฎหมายห้ามตั้งพรรคใหม่นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายน 1933 โดยมีพรรคนาซีเพียงพรรคเดียวอยู่บนบัตรเลือกตั้งแน่นอนพวกเขาชนะด้วยคะแนน เสียงล้นหลามและมีการลงประชามติว่าจะรับรองหรือไม่รับรองการตัดสินใจของ รัฐบาลเยอรมันในการถอนตัวออกจากความผูกพันตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่จำกัด กำลังทหารของเยอรมันโดยได้รับคะแนนรับรองหรือเห็นชอบด้วยคะแนนสูงถึงร้อยละ 95

หลังจากที่ ฮิตเลอร์ได้คิดบัญชีกับศัตรูเก่าๆหลายคนในเดือนมิถุนายน 1934 ด้วยเหตุการณ์กบฏ Röhm แล้ว โอกาสของเขาก็ได้เข้ามาอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กเสียชีวิตลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1934 รัฐบาลของฮิตเลอร์เสนอให้มีการลงประชามติเห็นชอบกับการเข้าสู่อำนาจของฮิตเลอร์อันมีผลรับรองให้เขามีฐานะเป็นผู้นำสูงสุดตามกฎหมายในทุกฐานะตั้งแต่ฐานะนายกรัฐมนตรีและฐานะประธานาธิบดีพร้อมกันไป ในวันที่ 19 สิงหาคม 1934 โดยมีผู้มาออกเสียงทั้งหมดร้อยละ 95 และมีผู้รับรองข้อเสนอดังกล่าวร่วมร้อยละ 89 นับจากนี้ถือว่าฮิตเลอร์เป็น Führer และได้ขึ้นมามีอำนาจอย่างเสร็จสรรพสมบูรณ์


2.

เจาะลึกสาธาณรัฐไวมาร์ และบันไดแต่ละขั้นของฮิตเลอร์

โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
 

 

ความเชื่อในบ้านเราว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งแล้วนำเยอรมันไปสู่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในด้านหนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นการพยายามจะบอกว่าเสียงข้างมากอาจจะหลงผิดจนนำไปสู่หายนะของประเทศ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยอาจไม่ดีเสมอไป แต่คำถามก็คือ หากประชาธิปไตยใช้ไม่ได้จริง เหตุใดเยอรมันยังคงใช้ระบอบประชาธิปไตย หลังจากแพ้สงคราม ดังนั้นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีจึงจะพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้

ค.ศ.1918 เป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบ ซึ่งมีปัญหาแต่แรกเพราะจักรพรรดิไม่เต็มใจสละราชสมบัติ ทหารก็ยังคงเชื่อในระบอบกษัตริย์ แต่มีการช่วงชิงการประกาศความเป็นสาธารณรัฐ หลังจากนั้นมีการทำรัฐธรรมนูญขึ้นในเมืองไวมาร์ คือ รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ค.ศ.1919 เหตุที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองไวมาร์เพราะขณะนั้นในเบอร์ลินเกิดความไม่สงบ มีการเดินขบวนต่อต้าน

รัฐธรรมนูญไวมาร์เป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยฉบับแรกของประวัติศาสตร์เยอรมัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผสมกันระหว่างระบอบรัฐสภากับประธานาธิบดีและมีความก้าวหน้ามาก จัดโครงสร้างการปกครองเยอรมันเป็นสหพันธรัฐ มีรัฐเล็กๆ หลายรัฐรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือจักรวรรดิเยอรมัน ในบรรดามลรัฐเหล่านี้ มลรัฐปรัสเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรมากถึง 30 กว่าล้านคน มีอาณาเขตราว 2 ใน 3 ของเยอรมันทั้งหมด จึงมีการแบ่งอำนาจระหว่างมลรัฐใหญ่กับสหพันธ์ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและมีอำนาจสูง คือ สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ นอกจากนี้ยังสามารถออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกรัฐกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประธานาธิบดีไม่ได้บริหารประเทศโดยตรง หากแต่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีเอง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องบริหารประเทศโดยได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามที่มีพรรคการเมืองให้ประชาชนเลือกได้โดยตรง

การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของประธานาธิบดีนั้น โดยปกติจะเลือกคนที่มีเสียงข้างมากในสภา เพื่อไม่ให้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนรัฐบาลล้มในภายหลัง จึงสามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่ได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในการออกกฎหมายก็เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรกับสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธ์

หากรัฐธรรมนูญไวมาร์จะมีปัญหาก็อยู่ที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบเดียว คือ แบ่งประเทศเยอรมันออกเป็น 35 เขต ผู้สมัครเลือกตั้งต้องลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ หากพรรคไหนได้คะแนนมากก็ได้เก้าอี้ในสภามาก ระบบนี้ทำให้เยอรมันมีพรรคการเมืองจำนวนมาก บางคราวมากถึง 16 พรรค ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ไม่เคยมีรัฐบาลเดียวที่ได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด การผสมจึงต้องรวมพรรคการเมืองที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกัน แม้ว่าตั้งแต่กำเนิดสาธารณรัฐจะมีความขัดแย้งสูงมาก เช่น ความขัดแย้งเรื่องธงชาติ ระหว่าง ดำ-แดง-ทอง กับ ดำ-แดง-ขาว และยังมีแดงล้วน  สีดำแดงทองไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มนิยมกษัตริย์ แต่อยากได้แบบเดิมคือสีดำแดงขาว ในขณะที่กลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ต้องการสีแดงล้วน จนถึงกับมีการฟ้องร้องห้ามติดธงในบางหน่วยงาน

นั่นจึงหมายความว่าความรู้สึกต่อการปกครองของคนเยอรมันในขณะนั้นค่อนข้างแตกแยก มีคนศรัทธาระบอบใหม่ คือ รีพับบลิกไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น จำนวนหนึ่งอยากเป็นแบบรัสเซีย อีกฝ่ายหนึ่งก็ยืนยันจะตั้งสาธารณรัฐแบบมีสภา สภาพการณ์ของไวมาร์จึงมีปัญหามาแต่ต้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว ฮิตเลอร์เป็นคนหนึ่งที่มีความพยายามทำรัฐประหาร ในปีค.ศ.1923 เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ แต่ไม่สำเร็จ ฮิตเลอร์ถูกจับและลงโทษสถานเบา ต่อมาใน ค.ศ.1924 จนถึง ค.ศ.1929 สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย ไวมาร์ในเวลานั้นมีผลงานศิลปะชั้นยอดออกมามากจนเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษทองของเยอรมัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เศรษฐกิจล้ม ส่งผลกระทบต่อเยอรมันอย่างรุนแรง ไวมาร์ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ทั้งที่ก่อหน้านั้นคนเยอรมันถูกทำให้เชื่อว่าไม่ได้แพ้สงครามโดยแท้จริง พวกนักการเมืองผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เยอรมันแพ้สงคราม คนกลุ่มที่มีความเชื่อดังนี้จึงกลายเป็นฝ่ายขวาจัดที่เห็นชอบกับรีพับบลิค

ปี ค.ศ.1928 ฮิตเลอร์ได้ออกมาฟื้นฟูพรรคนาซี ช่วงแรกยังมีคนสนับสนุนน้อยมาก ได้เสียงสนับสนุนเพียง 2-3 % และเพิ่มขึ้นเป็น 17 % ในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุด 44 % ในบรรยากาศที่การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ พวก SS (Schutzstaffel หรือหน่วยพายุ) และ SA (Sturmabteilung ) เป็นกองกำลังของนาซีทั้งคู่ได้ก่อความวุ่นวาย ข่มขู่ศัตรูทางการเมือง จนพรรค SPD ไม่สามารถหาเสียงได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่กล่าวได้ว่าตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้ง ไม่เคยมีครั้งใดที่พรรคนาซีจะได้คะแนนเสียงข้างมากเกิน 50% เลย การที่พรรคนาซีได้รับคะแนนประชามติถึง 90% ให้เป็นผู้นำนั้น ก็ไม่สามารถนำมานับรวมได้เพราะเป็นการเลือกตั้งหลังยึดอำนาจแล้ว

การที่ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจได้เพราะในปีค.ศ.1930 เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดการเศรษฐกิจ นายยกรัฐมนตรีจากพรรค SPD ต้องออกจากอำนาจไป  หลังจากนั้นประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กก็เริ่มตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไม่สนใจสภา หากสภาไม่พอใจก็ออกรัฐกำหนดหรือยุบสภา ทำให้มีเวลาอย่างน้อย 3 เดือนที่มีนายกซึ่งไม่ผูกพันกับสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งในปีค.ศ.1933 ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้จากการชนะเลือกตั้งกว่าร้อยละ30 แม้ว่าจะไมใช่เสียงข้างมากโดยแท้จริงแท้ แต่ก็มีบทบาทสำคัญให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสนับสนุนของชนชั้นนำที่ล้อมรอบตัวประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจได้ โดยเฉพาะลูกชายของเขา กลุ่มเจ้าผู้ถือครองที่ดิน คนเหล่านี้เห็นว่ารัฐธรรมมนูญไวมาร์ไม่เหมาะกับเยอรมัน จึงพยายามหาวิธีทำลายรีพับบลิก ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ไม่ชอบฮิตเลอร์ แต่ต้องการใช้ฮิตเลอร์เป็นเครื่องมือ คนเหล่านี้โน้มน้าวจนฮินเดนบวร์กเห็นด้วยที่จะให้ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าฮินเดนบวร์กเองก็คิดฝันถึงระบอบกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เขาจึงเป็นประธานาธิบดีที่ไม่รักระบอบที่ตัวเองเป็นใหญ่อยู่เลย เมื่อเห็นฮิตเลอร์ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีพียง 2 ตำแหน่ง พวกเขาก็คิดว่าฮิตเลอร์ย่อมไม่ใช่ปัญหาในภายหลัง แต่ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ไฟไหม้รัฐสภากลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนกลัวคอมมิวนิสต์ รัฐสภาออกกฎหมายให้กดข่มคอมมิวนิสต์ให้ได้ ฮิตเลอร์จึงเพิ่มอำนาจให้ตัวเองมากขึ้นในที่สุด ดังนั้นการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์จึงเป็นผลมาจากการสนับสนุนของชนชั้นนำ ฮิตเลอร์จึงอาศัยช่องทางการเสียดุลอำนาจเพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้ตัวเอง และเมื่อหลังขึ้นครองอำนาจแล้วฝ่ายศาลเองมีส่วนสำคัญเพราะได้ตีความกฎหมายเพื่อสนับสนุนความคิดแบบนาซีด้วย

ความผิดพลาดของ ‘ตุลาการ’ ตั้งแต่ก่อนฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ

เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ เราอาจคิดว่าถ้าเกิดแบบนั้นขึ้น แบบนี้จะไม่เกิด ถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ฮิตเลอร์ก็อาจขึ้นสู่อำนาจไม่ได้

มีสองสามเรื่องอยากจะแลกเปลี่ยนและเล่าให้ฟัง อันแรกคือ กรณีการทำรัฐประหารที่เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ของฮิตเลอร์ ในปลายปี 1923 ฮิตเลอร์ตอนนั้นมีบทบาทในพรรคนาซีแล้ว มีความพยายามยึดอำนาจโดยเดินระยะไกลจากบาวาเรียถึงไปถึงเบอร์ลินเลียนแบบมุสโสลินี แต่ความพยายามนั้นไม่สำเร็จเพราะทหารไม่เอาด้วยและแพ้ไปในที่สุด

ว่ากันว่าวันที่ฮิตเลอร์หลบหนีไปนั้นมีการยิงต่อสู้กัน และกระสุนพลาดฮิตเลอร์ไปไม่กี่องศา ถ้ากระสุนนัดนั้นตรงไปที่เขา ก็คงสิ้นชื่อฮิตเลอร์ไปตั้งแต่ปี 1923 แล้ว การที่กระสุนนัดนั้นไม่ถูกฮิตเลอร์ก็นับเป็นกระสุนเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เหมือนกับบ้านเรา กระสุนนัดหนึ่งก็เปลี่ยนประวัติศาสตร์เหมือนกันในปีพ.ศ.2489  

เวลาต่อมาฮิตเลอร์ก็ถูกจับ คดีกบฏฮิตเลอร์นี้ เป็นคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของนักกฎหมาย ผู้พิพากษา มีส่วนสำคัญในการกำหนดโชคชะตาของรัฐ ตอนทำกบฏฮิตเลอร์ยังเป็นคนออสเตรีย ตามกฎหมายเวลานั้นเขาอาจถูกเนรเทศได้ แต่ผู้พิพากษาในคดีนี้ค่อนข้างขวา เขาปล่อยให้การพิจารณาคดีในศาลกลายเป็นที่โชว์ ideology ของฮิตเลอร์ และสุดท้ายตัดสินว่า แม้จะผิดตามกฎหมายและฮิตเลอร์ไม่ใช่คนเยอรมันแต่ก็มีจิตใจแบบคนเยอรมัน เคยร่วมรบในสงคราม และทำไปด้วยอุดมการณ์รักชาติรักแผ่นดิน จึงควรลงโทษสถานเบา จำคุกเพียง 5 ปีและกำหนดเงื่อนไขว่าหากประพฤติตัวดีก็ปล่อยได้ก่อน ฮิตเลอร์ถูกขังในปราสาทแห่งหนึ่ง บางคนพูดว่านี่เป็นเพียง ‘การเปลี่ยนที่นอน’ ของฮิตเลอร์ ราวกับไปนอนในโรงแรม เวลาต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ครองอำนาจ ผู้พิพากษาคนนี้ได้รับการโปรโมตให้เป็นประธานศาลสูงในบาวาเรีย

การที่ฮิตเลอร์พ่ายแพ้หรือล้มเหลวในการทำรัฐประหาร ทำให้เขาเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาซึ่งสื่อแสดงในหลายวาระ นั่นก็คือ เขาเห็นว่าการได้มาซึ่งอำนาจรัฐไม่สามารถใช้วิธีเข้ายึดอำนาจได้ แต่ต้องใช้วิธีการให้เป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด พยายามสร้างความชอบธรรมให้มากที่สุดในการยึดอำนาจ

 

3.

Great Depression และความแตกแยกของฝ่ายซ้าย

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

 


ค่าปฏิกรรมสงครามกับการก่อตัวของพรรคนาซี

ในการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1  ของกองทัพเยอรมันนั้น ทั้งฮินเดนบวร์กซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุด และลูเดนดอร์ฟที่เป็นเสนาธิการ รู้อยู่แล้วว่าเยอรมันไม่มีทางที่จะสู้ต่อไปได้ เลยมีแผนการเกิดขึ้นว่าจะหาทางเปิดการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่รู้อยู่ว่าหากเยอรมันเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยจะทำให้โอกาสที่จะได้เปรียบในการเจรจามีมากขึ้นกว่าการยังเป็นระบอบจักรพรรดิ ก็เลยหลิ่วตาให้พวกนักการเมืองที่เรียกร้องอยากจะเป็นสาธารณะรัฐอยู่แล้วทำในสิ่งที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของการเจรจาสงบศึก โดยการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ของเยอรมัน ต่างจากครั้งที่ 2 มาก เนื่องจากในครั้งที่ 1 เป็นการแพ้ของกองทัพ ขณะที่ผู้คนในเยอรมันยังใช้ชีวิตปกติ

สำหรับการเกิดตำนานการลอบแทงข้างหลังนั้น จากการที่ผู้นำสูงสุดของกองทัพรู้อยู่แล้วว่ากองทัพเยอรมันไม่มีทางที่จะสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จึงปล่อยให้นักการเมืองเจรจากัน แต่เมื่อโดนฝ่ายสัมพันธมิตรยื่นเงื่อนไขมามาก เช่น การลดจำนวนกองทัพ เป็นต้น ทำให้เป็นเรื่องที่ช็อคคนเยอรมันมากๆ จึงเป็นช่องทางให้ฝ่ายขวายกมาเป็นประเด็นว่านักการเมืองพวกพรรค SPD  ไปลอบเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยที่ฝ่ายเยอรมันเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก

หากดูสิ่งที่เยอรมันต้องเสียไปในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ซึ่งเซ็นหลังจากที่มีการสงบศึกครึ่งปีนั้น เยอรมันต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หลายล้านมาร์ก เท่าที่คำนวณในเวลานั้นกว่าจะใช้หนี้หมดต้องใช้เวลาถึง 60-70 ปี และต้องเสียดินแดนแคว้นอาลซัส(Alsace)และลอเรน(Larraine)ในฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมันยึดมาจากฝรั่งเศสก่อนหน้า และต้องอนุญาตให้ทหารสัมพันธมิตรไปประจำอยู่ดินแดนตะวันตกของแม่น้ำไรน์

สิ่งที่หนักที่สุดคือ ค่าปฏิกรรมสงคราม และการถูกบังคับให้ต้องจ่ายมากๆ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการก่อตัวของพรรคนาซี และการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์

เหตุการณ์เงินเฟ้ออย่างหนัก (Hyperinflation)

ราวต้นทศวรรษ 1920 รัฐบาลประสบปัญหาทางการเงิน จากเงื่อนไขสนธิสัญญาแวร์ซาย ที่ผู้ว่าการธนาคารชาติมีความคิดแปลกๆ ว่า อำนาจในการพิมพ์ธนบัตรเป็นอำนาจของธนาคารชาติ จึงมีการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาเพื่อใช้จ่ายค่าต่างๆ และใช้หนี้สัมพันธมิตรโดยพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินมาร์กเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐถูกลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ปี 1929 ตั้งแต่ตอนที่สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือเยอรมันตอนประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง เศรษฐกิจเยอรมันพึ่งพาธนาคารของสหรัฐอย่างมากมาโดยตลอด รวมทั้งการกู้เงินโรงงานธุรกิจต่างๆ ส่วนมากเป็นการกู้ระยะสั้น ทำให้ดอกเบี้ยแพง จึงต้องกังวลต่อการใช้หนี้ ไม่สามารถลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นที่ผลตอบแทนระยะยาวได้ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ บวกกับธนาคารในสหรัฐที่ปล่อยกู้นั้นเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมากทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้ธนาคารเหล่านั้นเกิดความตื่นกลัวและไปเรียกคืนเงินจากลูกหนี้ธนาคารในต่างประเทศ และลูกหนี้ใหญ่ของสหรัฐก็คือเยอรมัน ส่งผลให้ธนาคารเยอรมันประสบปัญหาซ้ำไม่สามารถหาเงินพอเพื่อใช้หนี้ได้ และนโยบายเศรษฐกิจของบรือนิง (Heinrich Brüning) นายกรัฐมนตรีขณะนั้นพยายามรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดปัญหาการใช้จ่ายของรัฐบาลก็จะทำการตัดการใช้จ่าย โดยการตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลด้านสวัสดิการ ทำให้คนเดือกร้อนกันทั้งประเทศ คนตกงานกันเป็นล้านๆ คน นำไปสู่ความคับข้องใจของคนเยอรมันจำนวนมาก จึงเป็นบ่อเกิดที่ทำให้พรรคหัวรุนแรงไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือนาซีโตขึ้นมา นี่จึงเป็นเบื้องหลังที่ทำให้พรรคคอมิวนิสต์และนาซีรวมกันแล้วเกิดครึ่งในสภา

บรือนิงเขียนใว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่าธนาคารในสหรัฐรวมทั้งรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรให้เวลารัฐบาลเยอรมันน้อยเกินไปในการฟื้นตัว ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจเพราะว่าถ้าให้เวลามากขึ้นบรือนิงเชื่อว่าจะจัดการเศรษฐกิจเยอรมันได้

ความแตกแยกของฝ่ายซ้ายปฏิรูป กับ ซ้ายจัดคอมมิวนิสต์

ปัจจัยสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในสายตานักวิเคราะห์หลายคน คือ วิกฤตเศรษฐกิจ การเกิด Great Depression ในปี 1929 ดังที่กล่าวกันไปบ้างแล้ว

อีกเรื่องคือ การต่อสู้ระหว่าง พรรคนาซีกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งรุนแรงมาก เนื่องจากทั้งสองพรรคนั้นมีหน่วยทางทหารของตัวเอง พรรคนาซีการ์ดของตนคือ SS หรือหน่วยพายุ มีเครื่องแบบ มีห่วงโซ่การบังคับบัญชา มีการเดินพาเหรดแบบทหาร จนทำให้กองทัพเยอรมันกลัว และบอกฮิตเลอร์ให้ช่วยจัดการ ไม่อย่างนั้นพรรคนาซีจะไม่มีวันได้รับความร่วมมือจากกองทัพ

บทบาทของกองทัพก็เป็นอะไรที่นักประวัติศาสตร์สนใจมาก เป็นไปได้อย่างไรที่กองทัพจะไม่มีบทบาทเลย ถึงแม้สนธิสัญญาแวร์ซายจะบอกว่ามีกำลังทหารได้ไม่เกินแสนคน แต่ก็ยังเป็นอำนาจที่สำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเหตุที่กองทัพไม่มีบทบาทมากนักเป็นเพราะกองทัพได้สิ่งที่ต้องการไปแล้ว จากการที่ผู้บัญชาการกองทัพฮินเดนบวร์กได้มาเป็นประธานาธิบดี แล้วกองทัพเองก็มีบทบาททางการเมืองพอสมควรผ่านพวกชนชั้นนำต่างๆ ที่แวดล้อมฮินเดนบวร์ก แต่ไม่หนักหนาขนาดลุกมาทำปฏิวัติรัฐประหารเหมือนบางประเทศ กองทัพโดยส่วนใหญ่จึงเป็นกลาง แต่การเกิดของ SS คุกคามสถานะของกองทัพอย่างรุนแรง เพราะหน่วยทหารของ SS แข็งแกร่งมาก ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันก็มีหน่วยทางการทหารแบบเดียวกันกับ SA มีการจัดตั้ง “แนวร่วมแดง” ทำแบบเดียวกันทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์แพ้พรรคนาซี เพราะสู้การจัดตั้งและการโฆษณาชวนเชื่อของนาซีไม่ได้ เหตุที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกชนชั้นนำผู้กุมเศรษฐกิจที่แท้จริงของเยอรมันนั้นกลัวพรรคคอมมิวนิสต์มากๆ จึงให้การสนับสนุนพรรคนาซี

ที่สำคัญ SPD ซึ่งเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์เป็นพรรคเอียงซ้าย มีอุดมการณ์แบบมาร์กซิสม์โดยตรง ตรงกันในภาพรวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สองพรรคนี้เข้ากันไม่ได้ ไม่เคยทำงานร่วมกันเลยและตีกันด้วย มีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับ SPD อีกต่อไป คือ เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐใหม่ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทางตะวันตกของเยอรมัน เป็นการนัดหยุดงานของคนงาน พรรค SPD เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นได้ขอกำลังจากอดีตทหารเก่าสมัยสงครามโลกซึ่งเป็นพวกเอียงขวามาตีพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกซ้ายหัวรุนแรงประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรค SPD

ผลก็คือ ทำให้พลังของฝ่ายซ้ายในเยอรมันไม่เป็นเอกภาพ ไม่เหมือนฝ่ายขวา ซึ่งฮิตเลอร์กลืนได้หมด ฉะนั้นการแตกแยกกันเองของฝ่ายซ้ายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จได้

(วรเจตน์ กล่าวเติมเพิ่มเรื่องความแตกแยกของฝ่ายซ้ายเยอรมัน)

พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยทำงานร่วมพรรค SPD เลย สองพรรคนี้มีความหลังกินใจกันอยู่ เดิมทีทั้งคู่เป็นพวกเดียวกัน เป็น SPD เหมือนกัน เราอาจเคยได้ยินชื่อ Rosa Luxemburg อยู่ แต่อาจไม่ค่อยได้ยินชื่อคู่หูอย่าง Karl Liebknecht SPD ก่อนก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน นั้นทั้งสองได้แยกตัวออกมาเป็น USPD หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยอิสระ เพราะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบอบจักรพรรดิเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา แต่ควรเป็นแบบโซเวียต ตอนแรกช่วงเปลี่ยนระบอบ อำนาจอยู่ในมือฝ่ายซ้าย มีผู้นำคือ เอแบร์ท ตอนนั้น USPD ก็เข้ามาร่วมเป็น ครม.ชั่วคราวในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ทหารยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้เอแบร์ทให้สัญญาว่าจะไม่ผลักให้เยอรมันเป็นคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต จึงเกิดการแตกกันอย่างรุนแรง เพราะกลุ่มอิสระเห็นว่าเอแบร์ททรยศต่ออุดมการณ์ปฏิวัติ พวกซ้ายมองว่าเอแบร์ทคือคนทรยศต่อการปฏิวัติประชาชน เพราะไม่ทำให้เยอรมันเป็นคอมมิวนิสต์เต็มรูป

ช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติก่อนทำรัฐธรรมนูญนั้นมีการประท้วงกันอย่างมาก กลุ่ม USPD พยายามยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จจึงถูกปราบ นำมาซึ่งการฆ่าผู้นำอย่าง Rosa และ Karl โดยพวกทหารที่เป็นพวกขวา นี่จึงทำให้รอยร้าวยิ่งมากขึ้นระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายซ้ายจัด

หากฝ่ายซ้ายไม่แตกกันแบบนี้อาจต้านกับนาซีหรือฝ่ายขวาได้มากกว่านี้ แต่แตกกันมาตั้งแต่ตอนตั้งระบอบแล้ว


4.

โชคชะตา กับ “ฮิตเลอร์” นักเก็บเกี่ยวดอกผล

วรเจตน์

เรื่องสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาสู่อำนาจนั้น จะว่าเป็นเรื่องโชคชะตาก็ว่าได้ เรื่องหนึ่งคือการถึงแก่กรรมของประธานาธิบดีคนแรก ฟรีดริค เอแบร์ท  (Friedrich Ebert) และการถึงแก่กรรมของรัฐบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมายาวนาน คือ กุสตาฟ สเตรเซอมันน์ (Gustav Stresemann) สองคนนี้เป็นนักการเมืองที่โดดเด่นมากในสาธารณรัฐไวมาร์

เอแบร์ทเป็นหัวหน้าพรรค SPD รับมอบอำนาจต่อจากนายกฯ คนเดิม เป็นผู้นำตอนเปลี่ยนระบอบและเป็นประธานาธิบดีคนแรก มีจิตใจทางประชาธิปไตย ตอนแรกเขาไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเยอรมันจะเป็น รีพับลิก แต่ต้องการให้คนเยอรมันตัดสินใจว่าจะเอากษัตริย์ไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อนของเอแบร์คือ ฟิลิปป์ ไชเดมันนท์ (Philipp Scheidemann)ได้ออกไปประกาศตรงรัฐสภาในเบอร์ลินว่า ระบอบกษัตริย์ล้มแล้ว กษัตริย์ลี้ภัยหนีไปแล้ว สาธารณรัฐจงเจริญ เป็นการบีบให้ระบบกษัตริย์เป็นอันไม่มี และไม่ต้องถกเถียงกันอีกตอนร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีกษัตริย์หรือไม่ เอแบร์ทเป็นประธานาธิบดีคนแรก มีชีวิตอยู่ถึงปี 1925 การจากไปของเขาส่งผลอย่างมากต่อระบบการเมืองเยอรมัน เพราะหลังจากนั้นคนที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคือ ฮินเดนบวร์ก เป็นทหาร อนุรักษ์นิยมสูงและเป็น monarchist ไม่เชื่อในระบอบรีพับลิกแต่ปฏิญาณตนว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงแรกเขาก็ทำเช่นนั้น แต่เมื่อถึงสถานการณ์คับขันสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ก็จะโชว์ออกมา เขาจึงออกรัฐกำหนดต่างๆ และเป็นจุดพลิกผันให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจ ส่วนสเตรเซอมันน์เสียชีวิตปี 1929 ก่อนตลาดหุ้นในนิวยอร์กล้มไม่นาน เขาเป็นคนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศยาวนานหลายปี เจรจากับประเทศต่างๆ จนเศรษฐกิจเยอรมันฟื้น และได้รับการยอมรับสูง

ว่ากันว่าฮิตเลอร์เก็บเกี่ยวดอกผลที่สเตเซอมันน์ทำไว้ เพราะการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การว่างงาน ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจก็เป็นช่วงที่ระบบเริ่มปรับดีขึ้นแล้วโดยผลอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ทำไว้

อีกกรณีหนึ่ง หลายคนมักมองข้ามว่าไม่เกี่ยวกับฮิตเลอร์เพราะเกิดขึ้นก่อน แต่ในสายตานักกฎหมายเห็นว่าสำคัญมาก ถ้าไม่เกิดกรณีนี้ฮิตเลอร์อาจไม่ได้อำนาจเบ็ดเสร็จ นั่นคือกรณีปรัสเซีย ซึ่งเป็นมลรัฐใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิเยอรมัน เมืองหลวงคือเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหพันธรัฐด้วย หลังมีการก่อตั้งสหพันธรัฐแล้ว การเลือกตั้งมีทั้งระดับสหพันธรัฐ และมลรัฐ ในปรัสเซียนั้นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันหรือ SPD เป็นพรรครัฐบาล ผสมกับพรรคอื่น ครองอำนาจยาวนาน อาจกล่าวได้ว่าจนกระทั่งถึงช่วงก่อนฮิตเลอร์จะเถลิงอำนาจปี 1933 ปรัสเซียน่าจะเป็นแหล่งสุดท้ายที่ประชาธิปไตยยังเป็นหลักอยู่

ความน่าเกรงขามของปรัสเซียคือ ขณะที่สหพันรัฐมีกองกำลังทหารเพียง 1 แสนคนเพราะถูกบีบจากสัมพันธมิตรให้ปรับลดกำลังลง แต่ปรัสเซียมีตำรวจถึง 7 หมื่น จึงเป็นหนามยอกใจของชนชั้นนำในเยอรมัน รวมถึงประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กด้วย ในเบอร์ลินนั้นมีทำเนียบนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 แห่ง อันหนึ่งคือทำเนียบนายกรัฐมนตรีของปรัสเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อีกอันคือทำเนียบนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นพวกขวา เหล่าชนชั้นนำต้องการหวนกลับไปสู่ระบอบเบ็ดเสร็จ จึงอยากกำจัด SPD ในปรัสเซีย แต่ไม่มีวิธี ถ้าแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 และปรัสเซียเป็นรัฐใหญ่มีเสียงมากก็คงไม่ยอม ในที่สุด นายก Papen ก็ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมประธานาธิบดีให้ออกรัฐกำหนดฉุกเฉิน โดยใช้เหตุบังเอิญที่มีการตีกันระหว่างคอมมิวนิสต์กับนาซีในเมืองหนึ่งของปรัสเซียและมีคนล้มตาย จนมีการออกรัฐกำหนดตั้งตำแหน่งใหม่ “ผู้บังคับการปรัสเซีย” ให้อำนาจนายกฯ ปรัสเซียมาอยู่ที่ผู้บังคับการแทน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะขัดต่อความเป็นอิสระของมลรัฐ พรรค SPD พยายามต่อต้านเพราะมองว่านี่คือการทำรัฐประหาร จึงตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลขจัดความขัดแย้งระหว่างมลรัฐกับสหพันธรัฐ โดยฟ้องว่าสหพันกระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญขอให้เพิกถอนและคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ใช้รัฐบัญญัตินั้น แต่ศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว และตัดสินโดยบิดเบือนกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่า นายกฯ ปรัสเซียก็ดำรงตำแหน่งต่อไปและผู้บังคับการก็มีอำนาจด้วย พูดง่ายๆ ว่านายกฯ ก็ดำรงตำแหน่งไปเฉยๆ นี่คือการยึดอำนาจในมลรัฐปรัสเซีย เป็นการบิดเบือนกฎหมายครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เยอรมัน

ผลสะเทือนอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีใครคาดคิดคือ รัฐบัญญัติมอบอำนาจให้ฮิตเลอร์ที่เกิดขึ้นในอีกปีเศษๆ ต่อมา หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ในปรัสเซีย ปรัสเซียก็จะมีผู้แทนมลรัฐอยู่ในสภาสหพันธรัฐ กรณีนั้นหากฮิตเลอร์จะแก้กฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจเด็ดขาด แม้เขาจะคุมสภาล่างได้ แต่จะติดที่สภาสูงของสหพันธรัฐ เพราะปรัสเซียจะไม่ยอมแน่ แต่การณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดกรณีนี้  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้โทษฮิตเลอร์ไม่ได้ เพราะเป็นผลจากพวกชนชั้นนำในเยอรมันก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นสู่อำนาจ แต่ฮิตเลอร์เป็นผู้เก็บเกี่ยวดอกผลจากเรื่องนี้ 

เมื่อฮิตเตอร์ได้อำนาจในสหพันก็เท่ากับได้อำนาจในปรัสเซียด้วยในตัว เมื่อสามารถผ่านกฎหมายจากสภาล่างได้ ก็ผ่านสภาสูงได้ง่ายดาย นี่คือผลสะเทือนจากการที่ผู้พิพากษาไม่ตัดสินไปตามหลักการที่ถูกต้อง โดยพวกเขาก็รู้ว่าผิดหลัก แต่ให้เหตุผลว่า ถ้าเขาเพิกถอนรัฐกำหนดจะทำให้ประธานาธิบดีฮินเดนบวก เสียหน้า เสีย authority ในการยึดโยงคนเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน เป็นการตัดสินใจโดยเอาการคาดหมายทางการเมืองแทนที่หลักการทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลสะเทือนที่คาดไม่ถึงในอีกเกือบ 2 ปีต่อมาเพราะมันทำลายดุลยภาพระหว่างมลรัฐกับสหพันธรัฐ

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์จึงมีปัจจัยช่วยหลายอย่าง ไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ลำพังเพียงการเลือกตั้ง ไม่สามารถทำให้ฮิตเลอร์เป็น dictator ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะกลไกรัฐธรรมนูญวางถ่วงดุลไว้ค่อนข้างดี แต่เพราะคนชั้นนำไม่เอารัฐธรรมนูญไวมาร์และทำลายกลไกต่างๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

 

5.

ปัญหาเรื่องความชอบธรรม และการเปรียบเทียบแบบไทยๆ

วรเจตน์


ถามว่าการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม?  วันที่ 30 ม.ค.1933 วันที่ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าพูดในทางกฎหมาย เขาขึ้นครองอำนาจแบบถูกต้องตามกฎหมายเพราะมีพรรคที่สนับสนุนเขาในสภา รวมแล้วมีคะแนนเสียง 52%  สิ่งหนึ่งที่เขาเรียกร้องคือขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันที เพราะมั่นใจว่าภายใต้บรรยากาศเวลานั้นซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอีกแล้วเพราะเกิดเพลิงไหม้สภา เขาจะได้คะแนนเสียงมากขึ้นเกินกึ่งหนึ่ง แต่เมื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เขาก็ยังไม่ได้คะแนนเสียงอย่างที่ตัวเองต้องการ โดยได้เพียง 44% ทั้งที่ในขณะนั้นมีการ propaganda เต็มรูป สิทธิของฝ่ายค้านหายหมด

ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะเลือกตั้งแบบเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นต้องชนะด้วยเสียงข้างมากไปแล้ว การได้รับการลงประชามติ เกิดขึ้นภายหลังซึ่งนับไม่ได้แล้ว มันไม่เป็นการลงประชามติในทางประชาธิปไตยที่เราจะพึงยึดถือว่ามันมีคุณค่า หรือนับว่าการตัดสินใจของคนตัดสินใจอย่างเสรีบนฐานของประชาธิปไตยแล้ว นี่รวมถึงการเลือกตั้งครั้งหลังๆ ด้วยที่ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียงมาก จริงๆ ตอนที่เขาได้ 44% ก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่ได้โอกาสในการหาเสียงอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม เวลานั้นฮิตเลอร์ยังไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ทำให้เขามีอำนาจเด็ดขาดคือ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ และมันเป็นปัญหาความชอบธรรมของฮิตเลอร์

ระเบียบประชุมอันเดียว + การตัดสินใจพลาดของพรรคเล็ก

การออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจคือการยอมให้นายกรัฐมนตรีออกกฎหมายได้เอง ทั้งที่ควรเป็นอำนาจของสภาผู้แทนและสภาผู้แทนมลรัฐ การทำอย่างนี้ขัดรัฐธรรมนูญแน่ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไวมาร์ไม่ได้พูดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นการแก้ไขตัวบทในรัฐธรรมนูญ แปลว่าในทางกฎหมายถ้าเกิดสภาออกกฎหมาย โดยใช้คะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญกำหนดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีแม้จะไม่แตะในตัวบทรัฐธรรมนูญ

การออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ แต่โดยผลคือการแก้รัฐธรรมนูญไวมาร์ เพราะทำให้กลไกในรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้ การทำอย่างนี้ต้องใช้คะแนนเสียง 2 สเต็ป 1.ต้องมีสมาชิกผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเข้าประชุม และสมาชิกที่ประชุมนั้นต้องผ่านคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ที่มาประชุม โดยพรรคฮิตเลอร์รวมกับอีกพรรคคะแนนเสียงก็ยังไม่พอ แต่ฮิตเลอร์ tricky (เจ้าเล่ห์) กว่านั้น

เวลานั้น สภามี ส.ส.647 คน เป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ 81 คน เป็นของพรรค SPD อีกร้อยกว่าคน พวกนี้จำนวนหนึ่งถูกตามล่าจากนาซี หนีออกไปนอกประเทศมาประชุมไม่ได้ ในบรรดาฝ่ายซ้ายถ้ารวมกันแล้วบวกกับ ส.ส.จากพรรคอื่นอีก 15 คนร่วมกันบอยคอตไม่มาประชุม เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีทางผ่านกฎหมายได้ ดังนั้น ก่อนวันประชุมฮิตเลอร์เสนอให้แก้ระเบียบการประชุมสภาผู้แทนฯ ว่า ใครก็ตามที่ไม่มาประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่ามาประชุม และให้นับว่าคนนั้นเป็นองค์ประชุมร่วม เท่ากับบีบให้พวก SPD ต้องมา แต่พวกพรรคคอมมิวนิสต์มาไม่ได้มาเพราะโดนจับไปหมด คำนวณแล้วพรรค SPD พรรคเดียวไม่เพียงพอที่จะต้านการออกกฎหมายนี้ได้ และผลก็คือ มีคนออกเสียงเห็นด้วย 444 คน ไม่เห็นด้วย 94 คนซึ่งล้วนเป็นคนของพรรค SPD ทั้งหมด

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมพรรคการเมืองอื่นจึงให้การสนับสนุนฮิตเลอร์ เพราะถ้าอีก 3-4 พรรคเล็กไม่สนับสนุน ลำพังเพียงเสียงของพรรคนาซีก็ไม่พอจะผ่านกฎหมาย คำตอบก็คือ พรรคอย่าง Zentum หรือพรรคกลางเขามองว่าถ้าไม่สนับสนุนฮิตเลอร์ เขาก็จะหาวิธีอื่นผ่านกฎหมายอยู่ดี การสนับสนุนเสียเลยจึงเป็นความชั่วร้ายที่น้อยกว่าและอย่างน้อยยังได้เข้าไปร่วมส่วนใช้อำนาจได้ สุดท้ายเวลาต่อมาพรรคเหล่านี้ถูกเชือดหมดโดยฮิตเลอร์อาศัยอำนาจที่ได้กดดันให้ยุบพรรค หรือกลืนเข้าพรรคนาซี ต่อมามีการออกรัฐบัญญัติอีกฉบับ ห้ามมีพรรคการเมืองอื่นใดนอกจากพรรคนาซี

บทบาทศาลหลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ  

เมื่อควบรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารได้ ก็เหลือเพียงอำนาจตุลาการ คำถามคือ บทบาทการใช้อำนาจของศาลเป็นอย่างไรในสมัยนาซี

ช่วงฮิตเลอร์เป็นนายกฯ ได้ไม่กี่วัน เกิดการเผาสภา Reichstag ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เพราะมีการออกรัฐบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐบาลในการกดขี่ข่มเหงปรปักษ์ทางการเมือง มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งชาวฮอลแลนด์  หลังเกิดการเผาสภา 1 วัน มีการออกรัฐบัญญัติที่เรียกสั้นๆ ว่า รัฐบัญญัติเพลิงไหม้ กำหนดโทษว่าคนที่วางเพลิงเป็นโทษประหารชีวิต แต่เดิมโทษไม่ถึงประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยรายนี้ ซึ่งเท่ากับศาลใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลในทางอาญา ซึ่งผิดหลักกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญไวมาร์ การตัดสินคดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรตุลาการไม่สามารถทานพลังฮิตเลอร์เอาไว้ เพราะไม่รักษาหลักการรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีที่สะท้อนปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ไม่พอใจผลคำพิพากษาคดีนี้ ตั้งศาลใหม่ขึ้นมาด้วยเอาไว้ตัดสินคดีทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า ศาลสูงสุดของประชาชน หรือเราอาจเรียกได้ว่าศาลฮิตเลอร์

ท้ายที่สุด อยากกล่าวถึงกรณีในบ้านเรา บ้านเราเวลาพูดถึงฮิตเลอร์ มีบางท่านพยายามเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองในยุคไม่กี่ปีนี้กับสถานการณ์การเมืองในเยอรมันยุคฮิตเลอร์ เพื่อจะลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยลง ซึ่งผมบอกว่า มันเปรียบเทียบกันไม่ได้ สภาวะแบบไวมาร์นั้น unique

บางท่านพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ว่า ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งและหลังจากเยอรมันแพ้สงคราม เยอรมันก็ตั้งองค์กรกำกับขึ้นมาควบคุมอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากในการควบคุมนักการเมือง ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีอำนาจมากเพราะเคยเกิดเรื่องแบบฮิตเลอร์ขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาและเป็นความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของเยอรมันและไม่ได้ศึกษาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันให้ดี 

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่เหมือนกับของไทย ที่มาของเขาเชื่อมโยงกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธรัฐ

เราจะเห็นว่าคนเยอรมันไม่รู้สึกว่าประชาธิปไตยมันใช้ไม่ได้ หลังสงคราม เขาทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตรงไหนของรัฐธรรมนูญไวมาร์ที่เขาเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนเขาก็ปรับแก้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดถือไว้เสมอคือ องค์กรที่ใช้อำนาจของรัฐคุณต้องมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเยอะได้ คุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เป็นเพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และมีที่มาที่เชื่อมโยงไปหาประชาชนได้ผ่านนักการเมือง คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธ์

เยอรมันแม้จะประสบกับฮิตเลอร์ คนเยอรมันเรียนรู้จากฮิตเลอร์และทำให้ตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่เป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่อ้างอิง เป็นแบบแผนให้กับคนอื่นได้ แต่บ้านเราเวลาอ้าง ส่วนหนึ่งกลับอ้างถึงมันเพื่อมาทำลายตัวระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากๆ

แล้วก็พูดกันแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันอำนาจเยอะ โดยไม่เคยไปดูเลยว่าเขามาจากไหน และไม่เคยรู้ว่าที่ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ เพราะชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขึ้นครองอำนาจไหม ไม่เคยศึกษาวิธีการที่ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจใช้เทคนิตอย่างไร tricky อย่างไร ไม่เคยศึกษาว่ากลไกในรัฐธรรมนูญไวมาร์มันล้มเหลวอย่างไร แล้วก็สรุปง่ายๆ ว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้ง ฉะนั้นประชาธิปไตยใช้ไม่ได้ เสียงข้างมากหลงผิด

เป็นไปได้ในบางเวลาที่จะเห็นไม่ตรงกัน แต่โดยระบอบมันมีการคานกัน แต่คนที่จะมาคานดุลอำนาจนั้นต้องมีความชอบธรรมด้วย ดังนั้นปัญหาที่เราจบตรงความชอบธรรมนั้นสำคัญ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะองค์กรบริหาร นิติบัญญัติ แต่รวมถึงองค์กรตุลาการในทุกระบบศาล

ในปัจจุบันเยอรมันก็เป็นแบบนี้หมด ศาลเชื่อมโยงกลับมาถึงประชาชนได้หมด แล้วก็มีหลักการสำคัญอันหนึ่งด้วยที่เกิดขึ้นในเยอรมันคือ หลักการที่ไม่ให้ผู้พิพากษาคัดเลือกผู้พิพากษาด้วยกันเอง องค์กรที่จะคัดเลือกผู้พิพากษาต้องเป็นองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรบริหารร่วมกัน เพราะถือว่าจะเป็นองค์กรที่ไปตัดสินคดีซึ่งต้องการความชอบธรรมในระดับสูงในระบอบประชาธิปไตย

เราอาจกล่าวได้ว่า บทเรียนจากสาธารณรัฐไวมาร์ ทำให้เยอรมันเป็นประชาธิปไตยเต็มรูป

 

หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดบางจุด (22 เม.ย.56)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net