พืชเศรษฐกิจในอีสานกับคำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทเริ่มต้นในชุดบทความที่พยายามทำให้เห็นสภาพความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของ ชาวนา/เกษตรกรอีสาน ใน"ปัจจุบัน"

มีความเชื่อในวงวิชาการและวงการพัฒนาในประเทศตะวันตกว่า การพัฒนาระบบทุนนิยม จะทำให้สังคมชาวนา ซึ่งเป็นสังคมและรูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมสูญหายไป (de-peasantisation) และไม่เพียงแต่สังคมชาวนาเท่านั้น สังคมเกษตรกรรมตามแบบฉบับดั้งเดิม ก็จะค่อยๆสูญหายไป (de-agrarianisation) ด้วย

แต่ในความเป็นจริง ชาวนา/เกษตรกรไม่ได้ถูกกวาดให้ตกหายไปจากเวทีประวัติศาสตร์อย่างง่ายดาย เพราะได้เกิดปรากฎการณ์ทั้งด้านที่สอดคล้องและสวนทางกับความเชื่อนั้น ในกรณีประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศซีกโลกเหนือ ในประเทศส่วนใหญ่ ชาวนาได้ถูกแทนที่ด้วย เกษตรกรนายทุน ทำการผลิตในระบบฟาร์มขนาดใหญ่ การเกษตรเป็นระบบอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในบางประเทศในเอเชียด้วย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ส่วนประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศซีกโลกใต้ส่วนใหญ่ แม้การเกษตรจะลดความสำคัญลงโดยเปรียบเทียบกับในอดีต แต่การผลิตของเกษตรกรรายย่อยก็ยังคงดำรงอยู่ และก็มีบทบาทสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

สำหรับประเทศไทย เป็นเวลานับทศวรรษที่ผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ[1] จนกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่บนฐานของภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างสมบูรณ์แล้ว  หากทว่าไม่ให้ความสำคัญกับมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เห็นว่าการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชนบท (ซึ่งปัจจุบันประชากรประมาณร้อยละ 65 อยู่ในภาคนี้) เป็นฐานการผลิตอาหาร และรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นตัวแปรสำคัญมากขึ้นของการเมืองไทย การมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม  

ในบางกรณี ความสำคัญของการเกษตรไม่เพียงแต่ไม่ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังในกรณีของภาคอีสาน ได้เกิดปรากฏการณ์การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ยางพารา จากที่ไม่เคยมีการปลูกยางพารามาก่อน ในปัจจุบันมีพื้นที่การผลิตคิดเป็นร้อยละ 18.4 ของพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศ[2] และติดอันดับพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของภาค พืชที่กำลังขยายตัวอย่างมากอีกชนิดหนึ่งได้แก่ พืชพลังงาน ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน  เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

การขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ชวนให้เราตั้งคำถามใหม่ๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ เพื่อเข้าใจว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคนี้ และกับสังคมไทยในอนาคตอันใกล้

 

คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม

คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม (Agrarian Question) เป็นประเด็นปัญหาทางวิชาการที่ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการตะวันตกคนสำคัญท่านหนึ่ง[3] ในบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมยุโรปตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แม้จะผ่านไปเกือบร้อยปี แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คำถามนี้กลับมีความสำคัญอีกครั้ง

คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรมในอดีต คือการตั้งโจทย์ต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในบริบทการขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม โดยมุ่งพิจารณาว่า ทุน (capital) ได้แทรกตัวและมีบทบาทอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวนา/เกษตรกร เพื่อผ่านพ้นจากการผลิตที่ล้าหลังและอัตคัด ไปสู่การผลิตที่ก้าวหน้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น , การสะสมทุนในภาคเกษตรกรรมเกิดขึ้นอย่างไร และภาคเกษตรกรรมมีบททางอย่างไร ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม[4]

จะเห็นได้ว่าคำถามดังกล่าว เป็นประเด็นมหภาคที่คลอบคลุมความสนใจหลายแง่มุม  ในแง่หนึ่ง ความสนใจมุ่งไปที่การสูญหาญไปของชาวนา และการเกิดชนชั้นใหม่ในชนบท ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนระบบทุนนิยม และประชาธิปไตย ดังนั้นคำถามนี้จึงแฝงด้วยมิติทางการเมือง และมิติทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน ในขณะที่นักวิชาการบางท่านเห็นว่า คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรมเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยและบริบทของสังคม ดังนั้น “คำตอบ” หรือเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกัน และยังเห็นว่า คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรมมีพลวัตในตัวเอง เพราะมันสนใจความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นกระบวนการและหลากหลายมิติ ตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี/ความรู้ในการผลิต ชนชั้นและความสัมพันธ์ทางสังคม การสะสมทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ ไปจนถึง การเมือง และบทบาทของรัฐ[5]    

การกลับมาของคำถามเดิมในปลายศตวรรษที่ 20 จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการตีโจทย์คำถามแบบใหม่ๆ และการ “ตอบคำถาม” ในหลากหลายแนวทาง ในยุคนี้คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม ไม่จำกัดเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในสังคมตะวันตกเท่านั้น แต่โลกาภิวัตน์ ได้ทำให้คำถามนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงกันทั้งโลก  ภายใต้กระแสนี้ แม้การศึกษาสังคมเกษตรกรรมจะมีหลากหลายแนวทาง แต่ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาได้แตกตัวไปสู่หัวข้อสำคัญๆ อย่างน้อย 3 ประการดังนี้ 

ประการแรก การสนใจว่าการเกษตรที่เปลี่ยนไปได้ทำให้เกิด การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมชนบท (rural restructuring) อย่างไร ดังการวิเคราะห์สังคมชนบทที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสังคมเกษตรกรรมอีกต่อไป หากแต่ชนบทเป็นพื้นที่ผสมผสานของหลากหลายอาชีพ ในชนบทมีทั้งไร่นา โรงงาน การค้าและบริการเกิดขึ้นมากมาย  ในชนบทมีทั้งชาวเมืองที่อพยพออกไปหาความเป็น “ธรรมชาติ”  และชาวชนบทที่ไปอยู่ในเมือง แต่ยังรักษาเครือข่ายทางสังคมกับชนบทไว้, การแตกตัวของชนชั้นทางเศรษฐกิจ และกลุ่มก้อนทางสังคมต่างๆ จำแนกตามอาชีพ เพศ ชาติพันธุ์ หรืออื่นๆ , การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและการบริโภค, การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชนบท, การจัดการและระบบกรรมสิทธ์ที่ดินและที่สาธารณะ, การเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติในท้องถิ่น[6]

ประการที่สอง การเชื่อมโยงระดับโลกของระบบการเกษตร ในเรื่องนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่ง ได้นำเสนอประเด็น ระบบอาหารโลก (global food regime) โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ได้เกิดปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ด้านอาหาร คือเกิดการแบ่งงานกันทำระดับโลกครั้งใหม่ จากการเกิดขึ้นของสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (high value foods - HVF) เช่น ข้าวอินทรีย์ ผัก-ผลไม้สด กุ้ง ทำให้เกิดประเทศผู้ผลิต ซึ่งนอกจากมีความเหมาะสมทางธรรมชาติ ยังมีแรงงานราคาถูก ส่วนใหญ่คือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ทำการผลิตเพื่อป้อนผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว การแบ่งงานกันทำระดับโลก จึงเกิดประเทศผู้ผลิตทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า และประเทศผู้บริโภคที่ยกระดับมาตรฐานการบริโภคสูงขึ้น ในระบบอาหารโลก ยังมีบทบาทอันแข็งขันของตัวละครระดับโลก ได้แก่บรรษัทข้ามชาติด้านอาหาร อุปกรณ์การเกษตร ตัวกลางระดับโลก ผู้นำเข้า และส่งออก ระบบอันน่าตื่นตานี้ ฉาบทับปัญหาที่เลวร้ายระดับโลกไว้ด้วย เช่น การขูดรีดยุคใหม่ การมีกินล้นเหลือของคนส่วนหนึ่ง แต่อดอยากของคนอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม[7]

ประการที่สาม การต่อต้านของชาวชนบท  ท่ามกลางผลกระทบด้านลบจากโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะต่อเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา การต่อต้านของชาวชาวนา/เกษตรกร/ชาวชนบท ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น แนวทางวิเคราะห์ผู้กระทำการ (actor-oriented approach) ถูกนำมาใช้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นการมองว่าชาวชนบทไม่ได้ปล่อยชีวิตไปตามชะตากรรม แต่มีการต่อต้านแข็งขืนอย่างไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะในบริบทโลกาภิวัตน์ ยิ่งทำให้มีโอกาสและเงื่อนไขใหม่ๆของการต่อต้านมากขึ้น นักวิชาการบางท่านศึกษา การเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งแสดงออกในหลายรูปแบบต่อผู้มีอำนาจ นับตั้งแต่ การยอมตาม การสนับสนุน การใช้เล่ห์กล  การต้อต้านแบบลับๆ ไปจนถึงการเผชิญหน้าโดยตรง ซึ่งล้วนแต่เป็นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของชาวชนบท[8] นอกจากนั้นการต่อต้านยังมีหลายระดับ เช่นการรวมตัวเป็นขบวนการปฏิวัติ  หรือการเคลื่อนไหวในรูปแบบขบวนการทางสังคมแบบใหม่ เป็นเครือข่ายระดับท้องถิ่น ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก เช่นเครือข่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์[9]   

นอกเหนือจากที่ได้อภิปรายมาแล้ว ประเด็นที่ควรจะกล่าวไว้ด้วย ก็คือ “การเสื่อมสลายของสังคมเกษตรกรรม” (de-agrarianisation)  การศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงชนบทในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆของโลก แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะร่วมๆกันคือ การสูญหายไปของสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงอาชีพและรายได้ของครัวเรือนชนบท จากเกษตรกรรมเป็นหลัก ไปสู่อาชีพและรายได้นอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก และการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจครัวเรือนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและเมือง การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมไปสู่การบริโภค การรับข่าวสาร และความใฝ่ฝันแบบชาวเมือง การเปลี่ยนแปลงในมิติทางการเมืองที่มีวัฒนธรรมแบบเสรีนิยม ต้องการความเท่าเทียม  และมีส่วนร่วมทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว และการเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[10]


ที่มาภาพ: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=549403

ปรากฏการณ์ยางพาราและพืชพลังงาน

ในภาคอีสานพื้นที่สวนยางพาราได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2521 กรมวิชาการเกษตรทดลองปลูกยางพาราครั้งแรกในอีสานที่จังหวัดหนองคาย ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) มีพื้นที่ปลูกยางพาราในอีสาน 18 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านไร่ [11]

การขยายตัวของยางพาราสัมพันธ์กับตลาดโลกโดยตรง  ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ[12] ในขณะที่ประเทศไทย อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ความต้องการใช้ยางพาราในประเทศสูงขึ้นมากด้วย  ราคาผลผลิตของเกษตรกรในช่วง 10 ปีย้อนหลัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในหลายปีระหว่างนั้นราคาสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นปี 2553 ชาวสวนยางพาราอีสานขายยางแผ่นดิบที่ไร่นาได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท การคำนวณผลตอบแทนพบว่าการปลูกยางพาราให้ผลตอบแทนสุทธิต่อพื้นที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิ 12.6 เท่า (ข้าวหอมมะลิ 1,281 บาท/ไร่ ยางพารา  16,184 บาท/ไร่) [13]

ปัจจัยของการขยายตัวอีกด้านหนึ่งมาจากการส่งเสริมของรัฐ เช่นโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในโครงการอีสานเขียว และต่อมาในโครงการ “ยางพารา 1 ล้านไร่” และการสนับสนุนอย่างแข็งขันของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ทั้งด้านสินเชื่อ และความรู้  

ความเห็นจากหน่วยงานต่อการขยายตัวของยางพาราในอีสานแตกต่างกันไป สำหรับภาครัฐ และธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้อง ย่อมเห็นว่า ยางพาราเป็นโอกาสดียิ่งของชาวอีสาน สำหรับนักพัฒนาทางเลือก กลับมองเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วง ดังตัวอย่างความเห็นที่ว่า ยางพาราจะทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่ต่างจากพืชพาณิชย์อื่นๆ เพราะต้นทุนสูง และเผชิญกับความเสี่ยงด้านราคาจากตลาดโลกที่ผันผวน ขณะที่ชาวสวนยางก็มีคู่แข่ง จากการขยายพื้นที่การผลิตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศลุ่มน้ำโขง ยางพารายังกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารด้วย เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้สูญเสียความหลากหลายของแหล่งอาหาร และพื้นที่เลี้ยงสัตว์[14]

แต่จากการวิจัยของผู้เขียนพบว่า[15] เราไม่อาจสรุปความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ง่ายๆ ผู้เขียนเลือกศึกษาหมู่บ้านชาวสวนยางพาราที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยกระดับฐานะได้ดีขึ้น แต่ในหมู่บ้านก็มีเกษตรกรหลายระดับ มีความสำเร็จต่างกัน และมีเงื่อนไขของความสำเร็จต่างกัน รวมทั้งมีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากสวนยางพาราด้วย (จะกล่าวละเอียดในตอนต่อไป)  


ที่มาภาพ: http://4.bp.blogspot.com

กรณีพืชพลังงาน (biofuel) ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในระดับสากลพืชพลังงานได้กลายเป็นวาระระดับโลก ที่ถูกมองว่าเป็นทางออกจากวิกฤตการณ์พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พืชพลังงานเป็นทางออกที่จะให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คือให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพืชพลังงานอย่างเอาการเอางาน[16] ส่วนกรณีของไทย กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก กำหนดให้ใช้พลังงานดังกล่าวในสัดส่วนร้อยละ 25 ของพลังงานทั้งหมดในอีกสิบปีข้างหน้า (พ.ศ. 2554-2564)

พืชพลังงานมีหลายชนิด แต่ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะมันสำปะหลัง ในภาคอีสานมีการก่อตั้งโรงงานผลิตไบโอเอทานอลขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา 2 แห่ง  และอุบลราชธานี 1 แห่ง ทั้งสองพื้นที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ[17] เฉพาะที่อุบลราชธานี โรงงานประกาศว่าเป็นผู้ผลิตไบโอเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รับซื้อมันสำปะหลังจำนวนวันละ 3,600 ตัน  ผลิตไบโอเอทานอล จำนวนวันละ 400,000 ลิตร โรงงานนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทพลังงานระดับชาติของไทย 2 แห่ง ร่วมกับทุนท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงแรกผลผลิตจะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นจะจำหน่ายในประเทศไทยด้วย

มันสำปะหลังเป็นพืชที่ชาวอีสานปลูกกันมานานแล้ว  แต่ในช่วงปี 2553 ได้เกิดปรากฏการณ์ราคาสูงขึ้นอย่างไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก (ราคาหัวมันสดเฉลี่ย 2.25 บาท/กิโลกรัม บางพื้นที่สูงถึง 3-4 บาท/กิโลกรัม)[18] และจากนั้นราคาก็ยังค่อนข้างสูงจนมาถึงปัจจุบัน ผลก็คือทำให้เกิดการตื่นตัวหันกลับมาปลูกมันสำปะหลังกันทั่วไป การสำรวจเบื้องต้นของผู้เขียนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าสามารถจำแนกระบบการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรได้หลายรูปแบบ

นับตั้งแต่ การผลิตอิสระของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย ซึ่งยังคงเป็นรูปแบบหลัก คือเกษตรกรจะผลิตในที่ดินของตัวเอง บางแห่งถากถางที่ดินเข้าไปในพื้นที่ป่า บางครัวเรือนเช่าที่ดินเพิ่ม บางครัวเรือนปลูกมันสำปะหลังในที่นา และบางครัวเรือนตัดสินใจเปลี่ยนที่นาเป็นไร่มันสำปะหลังโดยถาวร  การขยายพื้นที่ทำให้มีการปรับตัวในการจัดการแรงงานในครัวเรือน บางครัวเรือนจ้างแรงงาน บางครัวเรือนสมาชิกกลับจากต่างถิ่นมาทำงานที่บ้าน รูปแบบต่อมา เป็นการผลิตอิสระของเกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการส่งเสริมของรัฐ  การผลิตคล้ายกับรูปแบบแรก แต่เกษตรกรได้เข้าสู่โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เมื่อได้ผลผลิตต้องขายให้กับผู้รับซื้อที่กำหนดไว้  

รูปแบบต่อมาคือ การผลิตของเกษตรกรรายย่อยในรูปแบบการเกษตรแบบพันธะสัญญา (contract farming) โดยผู้รับซื้อจะมาสนับสนุนโดยให้กู้ยืมปัจจัยการผลิต ในรูปกิ่งพันธุ์พร้อมปัจจัยการผลิต หลังจากได้ผลผลิตให้จำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อ พร้อมหักคืนค่ากู้ยืมปัจจัยการผลิต และรูปแบบสุดท้าย เป็นการทำไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งเป็นการผลิตในพื้นที่เป็นพันไร่ หรือมากกว่านั้น มีการจัดการผลิตในระบบฟาร์มสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีการจ้างแรงงานชาวบ้านมาทำงานในแปลงการผลิต ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีระบบการผลิตแบบนี้ แต่ได้เริ่มปรากฏให้เห็นบางแล้ว

 

คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรมอีสาน

ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักมานุษยวิทยาต่างชาติที่ได้ศึกษาสังคมไทยมานาน[19] ได้เสนอข้อถกเถียงต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมชาวนา  ที่แตกต่างออกไปจากความเห็นของนักวิชาการสายวิพากษ์ซึ่งมักเห็นร่วมๆกันว่า การพัฒนาประเทศของไทยที่ผ่านมา เกิดขึ้นบนพื้นฐานการทอดทิ้งและขูดรีดชนบท ทำให้ภาคเกษตรกรรม/ชนบท ตกอยู่ในความเสื่อมโทรมและยากจนอย่างน่าเป็นห่วง แต่หนังสือเล่มดังกล่าวเสนอว่า แม้ภาคเกษตรกรรม/ชนบทไทยจะยากจนและล้าหลังกว่าภาคอุตสาหกรรมและเมือง แต่หากพิจารณาข้อมูลสถิติอย่างรอบด้าน โดยเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกันแล้ว กล่าวได้ว่าประชากรในชนบทไทยได้รับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างสำคัญ  

นั่นก็คือ มีสถิติที่ยืนยันว่า ประชากรในชนบทส่วนใหญ่ได้กลายเป็น “ชาวนารายได้ปานกลาง” (middle-income peasants)   ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ จากยุคของการขูดรีดชนบทผ่านการเก็บค่าพรีเมียมข้าว และมาตรการอื่นๆที่มีผลต่อการกดราคาพืชผลการเกษตร ครั้นล่วงเข้าทศวรรษ 2530 ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง และด้วยองค์ประกอบที่สำคัญคือการแสดงความคับข้องใจของชาวชนบทในรูปแบบต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน ในรูปขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ได้ทำให้รัฐปรับเปลี่ยนนโยบายมาให้การสนับสนุนชนบท มากขึ้นเป็นลำดับ   

การทุ่มเทให้แก่ชนบท จะเห็นได้จากโครงการลงทุนในด้านชลประทาน การพัฒนาวิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  การเพิ่มสินเชื่อในชนบท การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนและไฟฟ้า การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข การเพิ่มงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเพิ่มงบประมาณสู่ชนบทในรูปแบบต่างในในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ฯลฯ การทุ่มเทงบประมาณเหล่านี้ แม้ไม่ได้ยกระดับประสิทธิภาพการเกษตรมากนัก แต่ได้สร้างงานในภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ และบริการขึ้นอย่างมาก เป็นความจริงที่ว่า ค่าเฉลี่ยของผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรไทยตกต่ำอย่างมาก แต่การเกษตรก็ยังคงอยู่ ทั้งในฐานะแหล่งผลิตอาหาร และเพื่อการค้า ดังนั้นกล่าวได้ว่า สังคมเกษตรกรรมไม่ได้สูญหาย แต่มีการปรับตัวดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ โดยชาวนาแตกกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปสู่อาชีพอื่นๆนอกภาคเกษตร จะเห็นได้ว่าการดิ้นรนประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร ผสานกับการเกษตร คือวิถีการสะสมทุน และถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชาวนารายได้ปานกลาง ในแง่นี้ชาวนาไทย คือผู้เรียนรู้และกระทำการ ที่ได้กลายเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธ

ข้อเสนอข้างต้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันงานวิชาการไทยหลายชิ้นที่เผยแพร่ในช่วงไม่นานนี้ เช่นงานล่าสุดของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และคณะ[20] ที่พบว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับจนนำไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ นับจากการเข้ามาของโลกาภิวัตน์ในช่วงแรกๆ ในชนบทเกิดการก่อตัวของ “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่  โดยผ่านการสะสมทุนบนพื้นฐานการเติบโตและความหลากหลายของเศรษฐกิจการเกษตรและนอกการเกษตร  ท่ามกลางการขยายตัวของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการสู่ภูมิภาค การขยายตัวของโครงการประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณ และการกระจายงบประมาณสู่ชนบทผ่านโครงการพัฒนา และสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากประเด็นที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด คงช่วยให้เราตั้งโจทย์ต่อสังคมเกษตรกรรมอีสานในปัจจุบัน ได้รอบด้านและก้าวหน้ามากขึ้น เราได้เห็นแล้วว่าในระดับนานาชาติสังคมเกษตรกรรมยังคงมีบทบาทสำคัญ และเกิดการศึกษาสังคมเกษตรกรรม/ชนบทในหลายมิติ สังคมเกษตรกรรมปัจจุบันมีลักษณะโลกาภิวัตน์อย่างเด่นชัด นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านบวกและลบ ในขณะที่เกษตรกร/ชาวชนบทก็ปรับตัว/ต่อสู้อย่างไม่ลดละ ความรู้เหล่านี้น่าจะช่วยให้เราก้าวข้ามจากแนวคิดการพัฒนากระแสหลัก ที่คิดเพียงว่าการพัฒนาทุนนิยมในภาคเกษตร คือทุกคำตอบของการพัฒนา และก้าวข้ามแนวคิดการพัฒนาทางเลือก ที่เห็นแต่ปัญหาของทุนนิยม และกลับไปเน้นชุมชนนิยมจนไม่สนใจโลกที่เปลี่ยนแปลง ผู้เขียนเห็นว่า ทุนนิยมในภาคเกษตรกรรมสร้างปัญหาหลายๆด้านแก่เกษตรกร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น “โอกาส” อันดี ในขณะที่ชาวชนบทก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้หยุดนิ่งไม่ประสีประสา แต่สามารถใช้โอกาสอันน้อยนิด ถีบตัวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจการเมือง ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือ ในกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้เราจะช่วยให้ชาวชนบท “ใช้” โอกาส ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร  

กล่าวถึงที่สุดแล้ว การเข้าถึงโอกาสเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความเป็นธรรม” ทางสังคม ที่ผ่านมาชาวชนบทเป็นผู้ถูกพัฒนา หรือถูกกีดดันจากการเข้าถึงการกำหนดนโยบายและส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้ แต่ในขณะนี้พวกเขาก้าวเข้ามาใช้และทวงถามโอกาสที่ควรจะได้รับ ดังนั้นกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยชาวนา/เกษตรกรไม่เพียงไม่หายไปไหน แต่พวกเขาได้ก้าวขึ้นมายืนบนเวทีประวัติศาสตร์อย่างองอาจ เพียงแต่สังคมไทยพร้อมจะยอมรับพวกเขาแต่โดยดีหรือไม่.

               



[1]สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  http://demo.ideafunction.com/aeocmain/asset/uploads/file/gdpgrowth10percent.pdf      สืบค้น 1 เมษายน 2556

[2] พัชรี วชิรเตชะวงศ์. 2554.  “ยางพารา : พืชเศรษฐกิจมาแรงของอีสาน” https://docs.google.com/viewer?a=v&q=cache:ldxU6ebHC5cJ:www.bot.or.th     สืบค้น 1 เมษายน 2556

[3] Karl Kautsky ชาวเยอรมัน ในหนังสือ  Die Agrarfage (The Agrarian  Question) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1899

[4] Rigg, Jonathan. 2001. More Than the Soil : Rural Change in Southeast Asia . Great Britain : Person Education Limited. pp.10

[5]  Byres, T.J.  1995. “Political economy , the agrarian question, and the comparative method” Journal of Peasant Studies 22(4) : 561-81

[6] Marsden, Terry, Philip Lowe and Sarah Whatmore. 1990. Rural Restructuring : global process and their  response . London : David Fulton.

[7] Watt, Michael and David Goodman. 1997. “Agrarian Questions : Global appetite, local metabolism : nature, culture, and industry in fin-de-siecle agro-food systems”,  in  Goodman,  David and Michael J. Watts., Globalising Food : Agrarian Question and Global Restructuring , Routledge.   

[8]Kerkvliet, Benadic J. Tria. 2009. “Everyday politic in peasant societies (and ours)” . The Journal of Peasant Studies.  Vol. 36 No 1. January. : 227-243

[9] Turner, Sarah and Dominique Caouette. 2009. “Agrarian Angst : Rural Resistance in Southeast Asia”.

Geography Compass 3/3 : 950-975.

[10] Rigg, Jonathan. 2001. pp.6-7

[11] ชุติมา ไชยบุตร. 2554 . “ยางพาราดีอย่างนี้ เกษตรกรจะได้เป็นเศรษฐีจริงหรือ” http://www.loeichamber.com/image/Rubber_01_2011_2.pdf    สืบค้น 1 เมษายน 2556

[12] Fox, Jefferson and Jean Christophe Castella. 2010 “Expansion of rubber (Hevea brasiliensis) in Mainland Southeast Asis : What are the prospec for small holder ? . paper presented at the international conference on Revisiting Agrarian Transformation : Empirical , Theoretical and Applied Perspective. Chiang mai , Thailand. RCSD-ChaTSEA conference

[13] ชุติมา ไชยบุตร.2554 

[14] Ubon Yoowah, 2010. “Rubber Farming in Northeastern Thailand” . paper presented at the international conference on Revisiting Agrarian Transformation : Empirical , Theoretical and Applied Perspective. Chiang mai , Thailand. RCSD-ChaTSEA conference

[15]  พฤกษ์ เถาถวิล และนิตยา บุญมาก. (กำลังจัดพิมพ์) .  “การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางพาราของเกษตรกรในตะวันออกเฉียงเหนือ  : นโยบายรัฐ ตลาด และกลยุทธ์การผลิตของครัวเรือน” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สามารถดูบทความนี้ได้จาก

 https://sites.google.com/site/pruektt/home/bthkhwam-thang-wichakar-my-articles

[16] Barros Jr., Saturnino, Philip Mcmichael, and Ian Scoones ,, 2010 “ The politic of biofuels, land and agrarian change : editors introduction” , in Journal of Peasant Studies, 37 : 4, 575-592. 

[17] ในปัจจุบัน (พ.ศ.2554) ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล 19 แห่ง กำลังการผลิตรวม 30 ล้านลิตรต่อวัน โรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคเหนือ 1 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ในประเทศไทยเอทานอลผลิตจากวัตถุดิบที่สำคัญ 3 ชนิดคือ กากน้ำตาล อ้อย และมันสำปะหลัง  สัดส่วนการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบทั้งสามเมื่อเปรียบเทียบกัน เป็นการผลิตจากกากน้ำตาลร้อยละ 73.3 อ้อยร้อยละ 7 และมันสำปะหลังร้อยละ 19.7 (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2555) สามารถเข้าดูบทความนี้ได้ที่

http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/Northeast/Research/DocLib_Research/Ethanal_Study_2555.pdf

สืบค้น 1 เมษายน 2556.

[18] เบญจมาศ โคตรหนองบัว และ วิชิต พิมพ์สวัสดิ์ . 2554. “ปี 2554 ปีทองของมันสำปะหลังและอ้อยไทย”    

http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/Northeast/commodities/Pages/Commodity_Article.aspx

สืบค้น 1 เมษายน 2556

[19] Walker, Andrew. 2012. Thailand's Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy. The University of Wisconsin Press.  บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาจากบทที่ 2 .

[20] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, พอพันธุ์ อุยยานนท์, อรรถจักร สัตยานุรักษ์ และ พฤกษ์ เถาถวิล . 2555. รายงานการวิจัย โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม. เสนอต่อสำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) (เอกสารอัดสำเนา). เข้าดูรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จาก

https://sites.google.com/site/pruektt/home/bthkhwam-thang-wichakar-my-articles

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท