Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่กรีนพีซมีข้อพิพาทกับกรมวิชาการเกษตรฯ ที่อนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์)จำกัด นำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบแบบแปลงเปิดในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 2538 ซึ่งตลอดเวลากรีนพีซพยายามยับยั้งการการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่แปลงเปิดเนื่องจากเห็นว่าพืชจีเอ็มโอดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบด้านการปนเปื้อน โดยครั้งแรกที่พบการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอ (บีที) จังหวัดเลย ในปี 2542 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเอง ยอมรับว่าเกิดการปนเปื้อนจริง

หลังจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับจีเอ็มโอก็หายไปนาน จนกระทั่งเป็นข่าวอีกครั้งในกรณีของ มะละกอจีเอ็มโอ เมื่อราวปี 2547 ตัวละครหลักคือ กรีนพีซ ซึ่งบุกแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรจนเป็นข่าวดังเพื่อบอกว่ามะละกอจีเอ็มโอในแปลงนี้ได้หลุดรอดออกไปภายนอกและอาจผสมกับมะละกอทั่วไปกระทบต่อพันธุกรรมดั้งเดิม และด้วยความห่วงกังวลว่าเรายังไม่รู้ผลระยะยาวของอาหารที่ตัดต่อพันธุกรรม

กรณีนี้สู้กันยาวทั้งในทางการรณรงค์และคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครอง โดยกรีนพีซฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ สายพันธุ์แขกดำท่าพระ จนปล่อยให้หลุดออกสู่นอกแปลงทดลองแบบเปิด

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง

จากนั้นกรีนพีซได้ยื่นอุทธณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 31 กรกฎาคม 2551 อีกครั้ง จนกระทั่ง 5 ปีกต่อมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ตุลาการผู้แถลงคดีได้ออกมาแถลงแนวทางคดีให้ยกฟ้อง ก่อนจะมีคำพิพากษาอีกครั้งในเร็ววันนี้

นายวรศักดิ อารีเปี่ยม ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นในคดีดังกล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เห็นว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งมีหลักฐานทางหนังสือและการแถลงทางวาจาที่ระบุว่าหลังจากพบการปนเปื้อนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ มหาสารคาม ยโสธร ก็มีการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช และใช้วิธีการทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดตามที่กลุ่มกรีนพีซร้องไว้ แต่ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547-2550 ในหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ นครนายก ชุมพร ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ระยอง เป็นต้น ส่วนกรณีที่กลุ่มกีรนพีซอ้างว่าพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอที่ จ.กาญจนบุรีในปี 2552 นั้นพบว่าเป็นมะละกอพันธุ์ฮาวาย ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับมะละกอที่กรมวิชาการเกษตรทดลองในแปลงเปิด จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ จึงเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้อง

ด้านนางสาวณัฐวิภา อิ้งสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์เกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซไม่มีช่องทางในการดำเนินคดีเพิ่มเพราะว่าผลการตัดสินถึงศาลปกครองสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรีนพีซจะทำต่อไปคือ นำไปเป็นบทเรียนให้กับสังคมและกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าการทดลองจีเอ็มโอ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนได้ ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ในเชิงสังคม เพราะพืชจีเอ็มโอมีสิทธิบัตรและผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์

ในทางนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอ ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นอนุญาตให้ทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอเท่านั้น ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศบังคับใช้กฎติดฉลากจีเอ็มโอเมื่อ 11 พ.ค.2546  อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่มีกฎติดฉลากอาหารจีเอ็มโอที่อ่อนแอ ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นล้วนแต่ปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ

กฎติดฉลากที่บังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอใน 3 ส่วนประกอบหลักร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้นต้องติดฉลาก (หากมีถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโออยู่ในส่วนประกอบที่ 4, 5, 6 เกินร้อยละ 5 ไม่ต้องติดฉลาก) ส่วนพืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องติดฉลาก

ในส่วนของสถานการณ์การทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอนนั้น กรีนพีซระบุว่า ตลอดเวลาที่กรีนพีซพยายามยับยั้งไม่ให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอ บริษัทมอนซานโต้ก็ยังคงเดินหน้าทำการทดลองพืชจีเอ็มโอแบบแปลงเปิดตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมมือกับบริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อดำเนินโครงการวิจัย “ทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลองเปิด” อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตทดลองโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้มีการจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรวบรัดตัดตอนและขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

กรีนพีซจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร และส่งสำเนาถึงบริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติความพยายามผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยจีเอ็มโอดังกล่าวโดยทันทีด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาการปนเปื้อนสู่ธรรมชาติอีก

 

 

ข้อดีของ พืช GMO คือ
 

ประโยชน์ต่อเกษตรกร
1. ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทนต่อศัตรูพืช หรือมีความสามารถในการ ป้องกันตนเองจากศัตรูพืช หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช หรือในบางกรณีอาจเป็นพืชที่ทนแล้ง
2. ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเก็บรักษาเป็นเวลานาน ทำให้สามารถอยู่ได้นานวัน และขนส่งได้เป็นระยะทางไกลโดยไม่เน่าเสีย
 

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3. ทำให้เกิดธัญพืช ผัก หรือผลไม้ที่มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นในทางโภชนาการ เช่น ส้มหรือมะนาวที่มีวิตามินซีเพิ่ม มากขึ้น หรือผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ให้ผลมากกว่าเดิม ลักษณะเหล่านี้เป็นการเพิ่มคุณค่าเชิงคุณภาพ
4. ทำให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น ดอกไม้หรือพืชจำพวกไม้ประดับสายพันธุ์ใหม่ที่มี รูปร่างแปลกกว่าเดิม ขนาดใหญ่กว่าเดิม สีสันแปลกไปจากเดิม หรือมีความคงทนกว่าเดิม
 

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อพืชมีคุณสมบัติสามารถป้องกันศัตรูพืชได้เอง อัตราการใช้สารเคมีเพื่อ ปราบศัตรูพืชก็จะลดน้อยลงจนถึงไม่ต้องใช้เลย ทำให้มีลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จากการใช้สารเคมี ปราบศัตรูพืช และลดอันตรายต่อเกษตรกรเองที่เกิดขึ้นจากพิษของการฉีดสารเหล่านั้นในปริมาณมาก

ข้อเสียของพืช GMO คือ
 

ความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
1.ความกังวลต่อการเกิดสารภูมิแพ้ (allergen) ซึ่งอาจได้มาจากแหล่งเดิมของยีนที่นำมาใช้ทำ GMOs นั้น ตัวอย่าง ที่เคยมีเช่น การใช้ยีนจากถั่ว Brazil nut มาทำ GMOs เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารสัตว์ จากการศึกษาที่มีขึ้นก่อนที่จะมีการผลิตออกจำหน่าย พบว่าถั่วเหลืองชนิดนี้อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้ เนื่องจากได้รับโปรตีนที่เป็นสารภูมิแพ้จากถั่ว Brazil nut
 

2.สารอาหารจาก GMOs อาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าอาหารปกติในธรรมชาติ เช่น รายงานที่ว่าถั่วเหลืองที่ ตัดแต่งพันธุกรรมมี isoflavone มากกว่าถั่วเหลืองธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นกลุ่มของสารที่เป็น phytoestrogen (ฮอร์โมนพืช) ทำให้มีความกังวลว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน estrogen อาจทำให้เป็นอันตรายต่อ ผู้บริโภคหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กทารก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของการเพิ่มปริมาณของสาร isoflavine ต่อกลุ่มผู้บริโภคด้วย
 

ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม
3. มีความกังวลว่า สารพิษบางชนิดที่ใช้ปราบแมลงศัตรูพืช เช่น Bt toxin ที่มีอยู่ใน GMOs บางชนิดอาจมีผล กระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ชนิดอื่นๆ เช่น ผลการทดลองของ Losey แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ที่กล่าวถึงการ ศึกษาผลกระทบของสารฆ่าแมลงของเชื้อ Bacillus thuringiensis (บีที) ในข้าวโพดตบแต่งพันธุกรรมที่มีต่อผีเสื้อ Monarch ซึ่งการทดลองเหล่านี้ทำในห้องทดลองภายใต้สภาพเงื่อนไขที่บีบเค้น และได้ให้ผลในขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดลองภาคสนามเพื่อให้ทราบผลที่มีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการสรุปผลและนำไปขยายความ

 

 

อ้างอิงจาก http://digital.lib.kmutt.ac.th/magazine/issue4/articles/article2.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net