จริงหรือไม่ ที่การประเมินคนอื่นจากเชื้อชาติเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทอม สแตฟฟอร์ด ผู้เขียนคอลัมน์นิวโรแฮ็กของเว็บไซต์ BBC กล่าวถึงการทดลองทางจิตวิทยาเรื่องการตัดสินคนอื่นจากเชื้อชาติ ที่ทำแสดงให้เห็นว่าการตัดสินคนจากเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนเรามักจะมองปัจจัยด้านเชื่อชาติก็ต่อเมื่อมันส่งผลต่อการโยงสังกัดบุคคลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2013 คอลัมน์นิวโรแฮ็กของเว็บไซต์ BBC กล่าวถึงการทดลองทางจิตวิทยาเรื่องการตัดสินคนอื่นจากเชื้อชาติ โดยอาศัยวิธีการ 'ล่อหลอก' ความทรงจำเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคล ทำให้พบว่า แม้คนเราจะด่วนประเมินผู้คนจากภาพลักษณ์ภายนอก แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่มนุษย์จะเริ่มประเมินคนอื่นโดยการตัดสินจากเชื้อชาติ

ทอม สแตฟฟอร์ด ผู้เขียนคอลัมน์ใน BBC กล่าวว่า หลายปีมาแล้วที่นักจิตวิทยาคิดว่าคนเราต่างแปะป้ายให้คนอื่นผ่านทางเรื่องเชื้อชาติ แต่ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เปิดเผยว่าเรื่องการตัดสินคนจากเรื่องเชื้อชาติไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไป ซึ่งเรื่องนี้อาจนำมาใช้พัฒนาต่อสู้กับแนวคิดเหยียดเชื้อชาติได้

ทอม กล่าวว่า คนเรามักจะแปะป้ายให้คนอื่นในลักษณะต่างๆ เช่น "ชายร่างสูง" หรือ "เด็กขี้เหร่" งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาสังคมจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการแบ่งแยกประเภทที่เกิดขึ้นในความคิดคนเรามีลำดับก่อนหลัง เช่นว่า เรามักจะมองเห็นเพศก่อนว่าคนๆ นั้นเป็นชายหรือหญิง อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องอายุ ทำให้บางครั้งคุณต้องระบุถึงเพศหรืออายุคนๆ หนึ่งก่อนที่จะเล่าเรื่องของคนนั้นๆ ให้ผู้อื่นฟัง

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานช่วงปี 1980s และ 1990s บ่งบอกว่าคนเรามักจะจัดระเภทคนจากเชื้อชาติ และระบุตัวคนอย่างง่ายๆ และฉาบฉวยจากเชื้อชาติที่กลุ่มหรือบุคคลนั้นๆ สังกัด ทอมบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่อง 'โชคร้าย' เพราะการรับรู้เช่นนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดแบบแบ่งแยกเชื้อชาติ และทำให้ความพยายามลดอคติหรือรณรงค์ให้ความรู้ให้คนเลิกแบ่งแยกเชื้อชาติยากขึ้น

นานราวสิบปีที่นักวิจัยไม่สามารถค้นพบสภาพการณ์ที่ทำให้คนเลิกแบ่งแยกคนอื่นโดยเชื้อชาติ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary psychologists) ทดลองค้นพบเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ทอมกล่าวว่า ปกติแล้วนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ มักจะเอียงไปในทางอนุรักษ์นิยมเมื่อถูกโยงในด้านแนวคิดการเมือง และถูกผู้มีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติเอาไปใช้ตัดต่ออ้างความเชื่อของตน จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและน่ายินดีเมื่อมีนักจิตวิทยาวิวัฒนาการส่วนหนึ่งสร้างข้อถกเถียงว่า พวกเขาได้ทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า การแปะป้ายผู้คนเรื่องเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและไม่ใช่สิ่งที่เกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทอมอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด กล่าวว่านักวิจัยได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า "การล่อหลอกความทรงจำ" โดยการให้ผู้เข้าร่วมจำชุดภาพของบุคคลต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันหลายแง่มุม เช่น ในด้านเพศหรือสีผม และเมื่อมีการทดสอบความจำของผู้เข้าร่วมพวกเขาจะเผยออกมาให้เห็นว่าพวกเขาตัดสินภาพของคนๆ หนึ่งอย่างไร มีอะไรที่ยึดติดอยู่ในความคิดเขามากที่สุดและน้อยที่สุด เช่น ถ้าหากคนๆ หนึ่งจำผู้ชายผมดำสลับกับผู้ชายผมบลอนด์ นั่นแสดงให้เห็นว่าสีผมมีความสำคัญในการจัดประเภทน้อยกว่าเรื่องเพศ เป็นต้น

นักวิจัยจากสแตนฟอร์ดได้ใช้วิธีการดังกล่าวมาใช้ตรวจวัดการแบ่งแยกคนโดยเชื้อชาติ พวกเขาค้นพบว่าผู้เข้าร่วมมักจะจดจำคนจากสีเสื้อที่เขาใส่และคำพูดบ่งบอกว่าเขาอยู่ในสังกัดทีมใดมากกว่า เว้นแต่หากไม่มีเสื้อแล้วผู้เข้าร่วมถึงจะจดจำคนนั้นๆ ผ่านทางเชื้อชาติ ทำให้เห็นว่าสังกัดของคนนั้นๆ สำคัญกว่าเรื่องเชื้อชาติ โดยที่การทดลองในครั้งนั้นไม่ได้บอกให้ผู้เข้าร่วมทราบว่าพวกเขาต้องการตรวจวัดเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ

"ดังนั้น ไม่ว่าการทดลองก่อนหน้านี้จะแสดงผลออกมาอย่างไรก็ตาม การทดลองที่กล่าวถึงนี้ทำให้เรื่องการแบ่งคนด้วยเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องรอง" ทอมกล่าว

นักวิจัยอธิบายว่าเรื่องเชื้อชาติจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมันใช้นำโยงกับข้อมูลเกี่ยวกับสังกัดของบุคคล เช่นว่าอยู่ทีมอะไร ถ้าหากเรื่องเชื้อชาติไม่มีความเกี่ยวข้องกับสังกัดมันก็ไม่มีความสำตัญ นักวิจัยกล่าวอีกว่าเรื่องนี้ฟังดูมีเหตุผลในแง่วิวัฒนาการ เนื่องจากบรรพบุรุษของมนุษย์มักจะใช้อายุและเพศเป็นเครื่องประเมินพฤติกรรมคนมากก่ว่า ขณะที่เชื้อชาติไม่มีผลมากนัก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ใหญ่มากพอจะเรียกว่า "เชื้อชาติ" ตามความหมายในทุกวันนี้

ทอมกล่าวว่า นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่มีการโต้ตอบใดๆ จากนักจิตวิทยาสังคม แต่ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนในประเด็นนี้

"เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าในเรื่องจิตวิทยามนุษย์ที่ว่ามนุษย์เรามักจะชอบด่วนแบ่งแยกคนเป็นกลุ่ม เพียงแค่มีหลักฐานเกี่ยวกับคนๆ นั้นเล็กน้อย และเมื่อเราระบุกลุ่มให้บุคคลนั้นๆ แล้วเราก็มักจะด่วนสรุปว่าคนนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าแม้ว่าการแบ่งแยกคนตามเชื้อชาติจะเป้นเรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" ทอมกล่าว

เรียบเรียงจาก

Is race perception automatic?, BBC, 23-04-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท