ข้อสังเกตกรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทนำ

คดีปราสาทพระวิหารเปรียบเสมือน “ภูเขาไฟที่สงบแล้ว” (Dormant Volcano) หลังจากที่ศาลโลกได้มีคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 กว่า 50 ปีที่ภูเขาลูกนี้นอนสงบนิ่งจนเมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมาภูเขาไฟลูกนี้ได้กลับมาประทุอยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนบทความเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารออกเป็นตอนๆ โดยอีกสองตอนจะเป็นเรื่อง สถานะทางกฎหมายของแผนที่กับหลักกฎหมายปิดปากในคดีปราสาทพระวิหาร สำหรับตอนที่หนึ่งเป็นข้อสังเกตทั่วๆไปเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตีความพิพากษา อนึ่ง ผู้เขียนตั้งใจที่จะไม่แปลข้อความที่ปรากฎในคำพิพากษาเพื่อคงรักษาความหมายของต้นฉบับแต่อาจมีบางคำที่ผู้เขียนแปลเองซึ่งผู้อ่านควรตรวจทางกับต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน ข้อสังเกตมีดังต่อไปนี้

1.คำร้องขอให้ตีความของกัมพูชาคล้ายกับคำขอให้ตีความในประเด็นที่ศาลโลกไม่ได้ตัดสินในปี ค.ศ. 1962

หากอ่านคำร้องขอให้ตีความของกัมพูชาให้ละเอียดแล้วจะพบว่า กัมพูชาได้อ้างแนวคำพิพากษาของศาลโลกหลายคดีเพื่อสนับสนุนคำร้องของตน แต่กัมพูชาไม่ได้อ้างข้อความตอนหนึ่งของคำพิพากษาขอให้ตีความในคดี Asylum ที่ศาลโลกกำหนดเงื่อนไขการตีความไว้อย่างเคร่งครัด โดยข้อความตอนหนึ่งศาลโลกได้กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของคำขอคือการได้รับการตีความคำพิพากษา ซึ่งบ่งชี้ว่าวัตถุประสงค์ของคำขอนั้นเพื่อต้องการได้รับความกระจ่างของความหมายและขอบเขตในสิ่งที่ศาลได้ตัดสินที่มีผลผูกพันและต้องไม่ตอบคำถามในปัญหาที่ศาลมิได้ตัดสิน” และกล่าวอีกด้วยว่า “เป็นหน้าที่ของศาลที่ไม่เพียงแต่จะตอบปัญหาที่ได้กล่าวไว้ในคำแถงสรุปสุดท้ายของคู่ความ แต่ศาลจะต้องละเว้นที่จะตัดสินประเด็นที่ไม่รวมเข้าไว้ในคำแถลงสรุป” (…..it is the duty of the Court not only to reply to the questions as stated in the final submissions of the parties, but also to abstain from deciding points not included in those submissions”)[1] ในประเด็นนี้ศาสตราจารย์ Shabtai Rosenne ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องศาลโลกที่สุดคนหนึ่ง กล่าวว่า “ขอบเขตของคำพิพากษาได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยคู่ความในคำแถลงสรุปสุดท้าย” (Final submission)[2]

ในคดีปราสาทพระวิหารศาลโลกได้ปฎิเสธคำแถลงสรุปสุดท้าย (Final Submission) สองเรื่องคือประการแรกกัมพูชาขอให้ศาลโลกตัดสินสถานะทางกฎหมายของแผนที่ว่าเป็นสนธิสัญญาและประการที่สองให้ศาลโลกตัดสินว่า เส้นเขตแดนระหว่างประเทศระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในเขตพิพาทกันในบริเวณรอบๆปราสาทพระวิหารคือเส้นที่แผนที่ลากไว้บนแผนที่ภาคผนวก 1 หากดูในคำพิพากษาปีค.ศ. 1962 ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “ the frontier line between Cambodia and Thailand, in the disputed region in the neighborhood of the Temple of Preah Vihere is that which is marked on the map …”[3] แต่คำขอสองประการที่เพิ่มเข้ามาภายหลังนั้น ศาลโลกได้ปฎิเสธแล้ว ไม่ปรากฎในบทปฎิบัติการ  ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ ถ้อยคำคำว่า “in the neighborhood of” นั้นมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “vicinity” มาก ทั้งสองคำมีความหมายว่า “บริเวณใกล้เคียง บริเวณรอบๆ” และเมื่อไปดูตอนท้ายของคำร้องให้ตีความคำพิพากษา นายฮอร์ นำ ฮงใช้คำว่า “that territory having been delimited in the area of the Temple and its vicinity by the line on the Annex I map…”[4] สาระสำคัญของสองประโยคนี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกัน

ประเด็นนี้มีว่า การให้ศาลโลกตีความบริเวณรอบๆปราสาทนั้นถือว่าอยู่นอกขอบเขตของคำพิพากษาปี 1962 หรือไม่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของศาลโลกที่ตัดสินในคดี Asylum ประกอบกับความเห็นของศาสตราจารย์ Shabtai Rosenne เนื่องจากในคำแถลงสรุปสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1962 ศาลโลกไม่ได้ตัดสินประเด็นนี้ในบทปฎิบัติการ

2. การถอนทหารไทยบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาทพระวิหาร

ประเด็นเรื่องการถอนทหารไทยบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นหลักในการตีความครั้งนี้ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกต 2 ประการ ประการแรก ในคำแถลงสรุปสุดท้ายในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1962 ข้อที่ 4 กัมพูชาขอให้ศาลประกาศว่าให้ไทยมีพันธกรณีถอนทหาร ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร (in the ruins of the Temple of Preah Vihere) จากคำขอนี้เข้าใจได้ว่า กัมพูชาขอให้ศาลโลกตัดสินให้ถอนทหารในบริเวณซากปรักหักผังของปราสาทพระวิหารเท่านั้น และก็ได้ถูกย้ำอีกครั้งหนึ่งในคำขอตีความในหน้าแรกเลย ฉะนั้น จึงไม่มีทางเข้าใจว่าให้ถอนทหารบริเวณอื่นๆที่ไม่ใช่บริเวณซากปรักหักพังด้วย คำถามมีว่า บริเวณพื้นที่ 4.6 คือพื้นที่มีสิ่งปรักหักพังของบริเวณใกล้เคียงรอบๆปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่ สำหรับผู้เขียนเห็นว่า พื้นที่ 4.6 ไม่ใช่พื้นที่ที่มีสิ่งปรักหักพังของปราสาทพระวิหาร  ดังนั้นไทยจะมีพันธกรณีถอนทหารออกจากบริเวณพื้นที่ 4.6 ได้อย่างไร ประการที่สอง ในบทปฏิบัติการข้อที่สองที่ศาลโลกตัดสินว่าไทยมีพันธะกรณีถอนทหารออกที่เข้าไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงๆรอบปราสาท คำถามมีว่าทำไมศาลโลกไม่ใช่คำว่า “และ” ดูประหนึ่งว่าศาลโลกก็ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับ ณ บริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาท (vicinity)

นอกจากนี้ สมควรอธิบายต่อด้วยว่า ประเภทของคำพิพากษาศาลโลกมีอยู่ 2 ประเภท ศาสตรา Shabtai Rosenne ได้แบ่งประเภทคำพิพากษาของศาลโลกอออกเป็น 2 ประเภทคือ Declaratory Judgment เเละ Executory Judgment[5] Declaratory Judgment หมายถึง คำพิพากษาที่ประกาศสถานการณ์ทางกฎหมาย (Declaratory of a legal situation)[6] หรือ คำพิพากษาที่ศาลโลกประกาศ (declare) หรือยืนยัน (uphold) สิทธิตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ประกาศว่าการกระทำของรัฐคู่กรณีชอบด้วยกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ตัวอย่างของคำพิพากษาเเบบ Declaratory Judgment ที่ตัดสินโดยศาลโลกใหม่ เช่น การประกาศว่าการกระทำของอังกฤษ (โดยปฏิบัติการของเรือกวาดทุ่นระเบิดในน่านน้ำของอัลบาเนีย) เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศอัลเบเนีย ในคดี Corfu Channel case[7] หรือการประกาศกฎเกณฑ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการกำหนดเขตเเดนทางทะเลอย่างคดี the North Sea of Continental Shelf Case หรือการตัดสินว่าการกระทำของรัฐมิได้ละเมิดสนธิสัญญาใน คดี ELSI[8] เเละคดี La Grand[9] หรือการประกาศว่ากระทำของรัฐละเมิดกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับความคุ้มกันทางอาญาเเละหลักความละเมิดมิได้ในตัวบุคคลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคดี Arrest Warrant[10] เป็นต้นส่วน Executory Judgment หมายถึง คำพิพากษาที่ศาลโลกตัดสินให้รัฐคู่พิพาทจะต้องมีการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้คำพิพากษามีผลบังคับอย่างเป็นรูปธรรม[11] เช่น ศาลโลกตัดสินให้ชดใช้ค่าสินไหมทดเเทน เช่นคดี Wimbledon Case [12] และ Corfu Channel Case หรือให้รัฐคู่พิพาทกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่นคดี Hostage case  หรือคดี La Grand คำพิพากษาเเบบนี้ รัฐคู่พิพาทต้องมีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้คำพิพากษามีผลบังคับเป็นรูปธรรม ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Post- Adjudicative Phase ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของศาลโลก

ในกรณีของปราสาทพระวิหารนั้นคำตัดสินของศาลที่เรียกว่าบทปฏิบัติการ (Operative part) นั้นมีทั้งส่วนที่เป็น Declaratory Judgment และ Executory Judgment โดยข้อแรกที่ศาลโลกตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชานั้น เป็นการประกาศสิทธิของประเทศกัมพูชาที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็น Declaratory Judgment ส่วนข้อที่สองและสามที่ศาลโลกตัดสินว่าประเทศมีพันธกรณีต้องถอนทหารและคืนวัตถุโบราณ ตามลำดับนั้นจัดว่า Executory Judgment ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลไทยต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหรืองดเว้น ซึ่งกรณีนี้ไทยก็ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยถอนกำลังทหารเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากกัมพูชาเห็นว่าไทยยังมิได้ถอนทหารบริเวณพื้นที่รอบๆปราสาทก็ชอบที่ให้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงนำเนินการตามาตรา 94 (2) ของกฎบัตรสหประชาชาติตั้งนานแล้วมิใช่มาใช้สิทธิขอตีความตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลโลก

3. คำร้องมิได้ระบุเหตุการณ์การเสด็จเยือนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในคำร้องขอให้ตีความบรรยายว่าแผนที่ผนวก 1 หรือแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เป็นเหตุผลที่ศาลโลกใช้ตัดสินคดีปราสาทพระวิหารและเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่ไม่อาจแยกออกจากบทปฎิบัติการได้ อย่างไรก็ดีหากอ่านคำร้องดังกล่าวกว่า 16 หน้ามิได้ระบุเหตุการณ์การเสด็จเยือนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพเลยทั้งๆที่ศาลโลกให้ความสำคัญกับการเสด็จเยือนครั้งนี้มาก ศาลโลกถึงกับกล่าวว่า “ much the most significant episode consisted of the visit paid of the Temple in 1930 by Prince Damrong…”[13] อีกทั้งศาลโลกยังได้ตีความการเสด็จเยือนว่าเท่ากับเป็นการรับรองอำนาจอธิปไตยโดยปริยายเหนือปราสาทพระวิหาร ( a tacit recognition by Siam of the sovereignty of Cambodia over Preah Vihere).[14] ประกอบกับเมื่อมาดูตอนท้ายของคำพิพากษาก่อนที่ศาลจะตัดสิน ศาลโลกใช้คำว่า “For these reasons” ซึ่งแปลว่า “ด้วยเหตุผลดังกล่าว” (ที่สาธยายมาข้างต้น) สังเกตว่า คำว่า “เหตุผล” นั้นศาลโลกใช้พหูพจน์ ไม่ใช่เอกพจน์ แสดงว่าเหตุผลที่ศาลโลกใช้ตัดสินคดีนั้นมีมากกว่าหนึ่งเหตุผล ประเด็นมีว่า การที่ศาลโลกตัดสินในบทปฎิบัติการนั้น อะไรคือเหตุผลที่แยกออกจากบทปฎิบัติการไม่ได้ระหว่าง แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง หรือการเสด็จเยือนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพหรือทั้งสองเหตุการณ์ ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าคำร้องของกัมพูชาเข้าเงื่อนไขมาตรา 60 ประกอบกับเหตุผลที่ศาลได้วางไว้ในคำพิพากษาในคดีไนจีเรียกับแคเมอรูนในปี 1999 หรือไม่  

ถ้าจะว่าไปแล้ว ที่กัมพูชานำเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาก็อาศัยเหตุผลของคดีนี้เป็นมูลฐานหลัก ก่อนหน้าคดีไนจีเรียกับแคเมอรูน ศาลโลกได้กำหนดเงื่อนไขการตีความคำพิพากษาเพียง 2 ข้อคือต้องมีข้อพิพาทและให้ศาลตีความได้เฉพาะบทปฎิบัติการเท่านั้น แต่ศาลโลกในคดีไนจีเรียกับแคเมอรูนได้เพิ่มเงื่อนไขอีก 1 ข้อคือ ศาลโลกสามารถตีความเหตุผลในคำพิพากษาได้หากว่าเหตุผลนั้นไม่สามารถแยกออกจากบทปฎิบัติการได้ กัมพูชาเห็นคำพิพากษานี้ก็สบช่องเสนอให้ศาลโลกตีความ หากไม่มีเงื่อนไขข้อนี้แล้ว ประตูสำหรับให้ยื่นเรื่องให้ตีความย่อมปิดตายเพราะเรื่องแผนที่ศาลไม่ได้ตัดสินในบทปฎิบัติการ

4.ประเด็นเขตอำนาจศาลในการตีความ

ศาลโลกในคดีการขอให้มีการตีความในกรณีของไหล่ทวีประหว่างประเทศตูนิเซียและลิเบีย ปีค.ศ. 1985 ได้อธิบายว่าเขตอำนาจในการตีความคำพิพากษานี้เป็นเขตอำนาจพิเศษ (special jurisdiction) ที่มาจากมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยตรง และศาลโลกในคดี การขอให้ตีความคำพิพากษาระหว่างประเทศ Cameroon and Nigeria ข้อความตอนหนึ่งศาลได้กล่าวว่า By virtue of the second sentence of Article 60, the Court has jurisdiction to entertain requests for interpretation of any judgment rendered by it.”[15] และศาลโลกก็ได้อ้างข้อความตอนหนึ่งในคดีการขอให้ตีความคำพิพากษาในคดี Chorzow Factory case เพื่อสนับสนุนอำนาจในการตีความคำพิพากษาของตน โดยศาลโลกเก่าในคดี Chorzow Factory กล่าวว่า “the second sentence of Article 60 was inserted in order, if necessary, to enable the Court to make quite clear the points which had been settled with binding force in a judgment,…”[16]

ประเด็นต่อไปมีว่า หากความยินยอมของรัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกในการพิจารณาคดีเดิมได้หมดอายุลง (Lapse) ศาลโลกจะยังมีเขตอำนาจตีความคำพิพากษาอยู่อีกหรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลโลกได้เคยวินิจฉัยในคดี Avena ที่เม็กซิโกร้องขอให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยข้อความตอนหนึ่งศาลโลกกล่าวว่า “….even if the basis of jurisdiction in the original case lapses, the Court, nevertheless, by virtue of Article 60 of the Statute, may entertain a request for interpretation.” ในคดี Avena หลังจากสหรัฐอเมริกาแม้คดี Avena ในปี ค.ศ. 2004 อเมริกาได้ถอนตัวจากOptional Protocol …เมื่อวันที่ 7 มีนาคม  คศ 2005 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกในกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล แต่ศาลโลกก็กล่าวว่าแม้ว่าการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกในคดีดั้งเดิมจะสิ้นสุดลงไปก็ไม่มีผลต่ออำนาจตีความคำพิพากษาของศาล และข้อความเดียวกันนี้เองที่ผู้พิพากษาหญิงชาวอเมริกันคือ Donoghue ได้รับรองอีกครั้งหนึ่งในความเห็นส่วนตนในคำสั่งที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยท่าน Donoghue กล่าวว่ารัฐไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอมแยกต่างหากในการตีความคำพิพากษาตามมาตรา 60  การให้ความยินยอมต่อเขตอำนาจศาลเหนือคดีที่มีข้อพิพาทได้รวมความยินยอมในการตีความคำพิพากษาในอนาคตด้วยแล้ว[17] และผู้พิพากษา Donoghue ยังกล่าวชัดเจนว่า “The Court’s jurisdiction to interpret the Court’s 1962 Judgment survives the expiration of the declaration that  Thailand  made in 1950 pursuant to Article 36 paragraph 2, of the Statute of the Court.”[18]

กล่าวโดยสรุปก็คือ เขตอำนาจศาลในการตีความคำพิพากษาเป็นเขตอำนาจของศาลเองที่เรียกว่า incidental jurisdiction ไม่ใช่เขตอำนาจพิจารคดีแบบข้อพิพาทที่เรียกว่า contentious case ซึ่งต้องอาศัยความยินยอมของรัฐเป็นหลัก กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขตอำนาจตีความคำพิพากษามาจากมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ในขณะที่เขตอำนาจการพิจารณาคดีแบบมีข้อพิพาทมาจากความยินยอมของรัฐ (Consent of state)

อย่างไรก็ตาม คำร้องของรัฐให้ตีความคำพิพากษาจะรับฟังหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ศาลโลกจะรับคำขอให้ตีความหรือไม่นั้น ศาลโลกจะพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุมว่า คำขอดังกล่าวเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 หรือไม่และสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาลที่ได้วางหลักในเรื่องนี้หรือไม่ด้วย หากขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดไป (ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำหนักพยานหลักฐานและน้ำหนักเหตุผลทางกฎหมายของคู่ความทั้งสองฝ่ายและศาลจะเป็นผู้ประเมินเอง) ศาลโลกก็จะพิจารณาไม่รับคำขอตีความนั้น หรือกล่าวอีกนับหนึ่ง คำขอให้ตีความนั้นไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ที่เรียกว่า inadmissible

ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลการตีความคำพิพากษา ทางการควรแปลความเห็นแย้งของผู้พิพากษา Donoghue ที่ท่านให้ไว้ในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีปราสาทพระวิหารเป็นภาษาไทย เพราะว่าท่านอธิบายหลักการของมาตรา 60 ไว้อย่างชัดเจนและได้ตอบปัญหาประเด็นเกี่ยวกับคำประกาศฝ่ายเดียวของไทยที่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกที่หมดอายุลงว่าจะกระทบต่ออำนาจตีความคำพิพากษาของศาลหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ หากอ่านความเห็นของท่านอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะเห็นว่า โดยส่วนตัวของท่าน Donoghue ศาลไม่มีเขตอำนาจในการปักปันเขตแดนหรือตัดสินประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตย (It has no jurisdiction to delimit a boundary, to decide on sovereignty) โดยท่านย้ำประเด็นนี้ถึง 2 ครั้งในวรรคที่ 19 และ 27

5.ประเด็นเรื่องการรับฟังคำขอหรือคำร้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของคู่ความ (Admissibility of the Claim)

หลังจากที่ศาลได้อธิบายถึงเขตอำนาจศาลในการตีความเรียบร้อยแล้ว ประเด็นต่อไปที่ศาลโลกจะวิเคราะห์ก็คือประเด็นเรื่องการรับฟังคำขอหรือคำร้องของคู่ความว่าสามารถรับฟังได้หรือไม่ ประเด็นนี้เรียกว่า Admissibility โดยในคดี Cameroon and Nigeria หลังจากที่ศาลได้กล่าวถึงเขตอำนาจในการตีความคำพิพากษาตามาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลโลกแล้ว ศาลโลกก็มุ่งไปประเด็นเรื่อง Admissibility of the Claim[19] ทันที ประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นด่านแรกที่ศาลโลกจะต้องพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบที่สุดว่าคำร้องของให้ตีความคำพิพากษานั้นเข้าองค์ประกอบหรือเงื่อนไขของการตีความตามาตรา 60 และแนวบรรทัดฐานของศาลโลกที่ได้วางไว้มาอย่างยาวนานมาตั้งแต่คดี Chorzow Factory case ที่ตัดสินมาตั้งแต่ศาลโลกเก่ารวมตลอดถึงคำพิพากษาในยุคปัจจุบัน โดยเงื่อนไขของการตีความคำพิพากษานั้นค่อนข้างเข้มงวดเพราะศาลโลกต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความเป็นที่สุดของบทปฎิบัติการหรือสิ่งที่ศาลโลกได้มีคำวินิจฉัยไว้

6. ตัวอย่างคดีก่อนๆเกี่ยวกับการตีความ

ตั้งแต่ก่อตั้งศาลโลกเก่าและศาลโลกใหม่มามีการยื่นคำขอให้ศาลโลกตีความหลายคดี โดยแบ่งออกเป็นช่วงของศาลโลกเก่า 2 คดี ได้แก่ คดี Factory at Chorzów และ คดี Interpretation of Paragraph of the Annex Following Article 179 of the Treaty of Neuilly โดยศาลโลกรับคำร้องไว้สำหรับคดีแรกและปฎิเสธคำร้องสำหรับคดีหลัง สำหรับศาลโลกใหม่นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 คดี ได้แก่คดีการลี้ภัย (Asylum) ระหว่างโคลัมเบียกับเปรู (ค.ศ. 1950) คดีไหล่ทวีป ระหว่างตูนิเซีย กับลิเบีย (ค.ศ. 1985) คดีแคเมอรูนกับไนจีเรีย (ค.ศ. 1999) คดี Avena ระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.2009) โดยศาลโลกรับคำขอให้ตีความคำพิพากษาไว้เพียงคดีเดียวคือคดีคดีไหล่ทวีป ระหว่างตูนิเซียกับลิเบีย นอกนั้นศาลโลกไม่รับคำขอให้ตีความ จากสถิติข้างต้นแสดงว่า เงื่อนไขในการรับการตีความคำพิพากษานั้นเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง หากไม่เข้าองค์ประกอบของการตีความ ศาลจะปฎิเสธคำขอดังกล่าวเพราะการตีความคำพิพากษาอาจกระทบต่อคำตัดสินที่ศาลเคยตัดสินไว้ และคำพิพากษาของศาลย่อมเป็นที่สุด (res judicata) ไม่อาจอุทธรณ์ได้ หากยอมให้มีการตีความได้ง่าย คู่ความที่ไม่พอใจในคำตัดสินก็อาจใช้วิธีการตีความเป็นช่องทางในการอุทธรณ์หรือให้ศาลตัดสินในประเด็นที่ศาลเคยปฎิเสธแล้วหรือมิได้อยู่ในคำฟ้องมาตั้งแต่ต้น

7. การออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกับการตีความคำพิพากษาเป็นคนละเรื่องกัน

ทั้งสองเรื่องนี้โดยสภาพมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เงื่อนไขในการพิจารณาของสองเรื่องก็เป็นคนละเงื่อนไข ที่ผ่านมาในอดีต ศาลโลกก็เคยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแต่ต่อมาภายหลังศาลโลกก็ไม่รับคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา เช่น คดีข้อพิพาทเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศแคเมอรูนกับไนจีเรีย โดยแคเมอรูนยื่นฟ้องเมื่อปี ค.ศ. 1994 และแคเมอรูนร้องขอให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1996 และศาลโลกได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอีกราว 2 เดือนให้หลัง ต่อมาภายหลังศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการคัดค้านเบื้องต้นของเขตอำนาจศาล (Preliminary Objection) เมื่อปีค.ศ. 1998 โดยไนจีเรียเป็นฝ่ายคัดค้านเขตอำนาจศาลแต่ศาลโลกตัดสินว่าตนเองมีเขตอำนาจศาล ต่อมาไนจีเรียได้ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเกี่ยวกับการคัดค้านเขตอำนาจศาลปรากฎว่าศาลโลกไม่รับคำขอตีความของไนจีเรีย

อีกคดีหนึ่งคือคดี Avena เม็กซิโกยื่นคำร้องทั้งให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและขอตีความคำพิพากษาไปพร้อมกัน ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองให้ตามคำขอของเม็กซิโก แต่ศาลโลกปฎิเสธที่จะรับคำขอตีความคำพิพากษา เช่นเดียวกับกรณีปราสาทพระวิหาร กัมพูชายื่นคำร้องทั้งสองกรณีคือให้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและตีความคำพิพากษาปี 1962 แต่การที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มรองชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มิได้หมายความว่าศาลโลกจะต้องรับคำร้องขอการตีความคำพิพากษาเสมอไป คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาจะรับฟังได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเข้าองค์ประกอบตามาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบกับข้อที่ 98 ของ Rules of Court และแนวคำพิพากษาของศาลโลกที่ได้วางบรรทัดฐานในเรื่องการตีความหรือไม่เป็นสำคัญ

 

บททิ้งท้าย

ข้อเขียนนี้ได้นำเสนอหลักกฎหมายและประเด็นข้อกฎหมายบางประเด็นเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา ส่วนผลของคดีนั้นพ้นวิสัยที่จะคาดเดาผู้เขียนขอจบลงด้วยกลอนจากเวนิสวานิชว่า “อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากศาลโลกสุราลัยสู่ไทยแลนด์

                 

 



[1] (Request for Interpretation of the Judgment of 20 November 1950 in the Asylum Case (Colombia/Peru), Judgment, I.C.J. Reports 1950, p. 402;

[2] Shabtai Rosenne, The Law and Practice of the International Court 1920-1996 Vol. III, (The Netherlands: Martinus Nijhoff Publishers,1997), หน้า 1680

[3] คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร หน้า 11

[4] APPLICATION INSTITUTING PROCEEDINGS REQUEST FOR INTERPRETATION OF THE JUDGMENT OF 15 JUNE 1962 IN THE CASE CONCERNING THE TEMPLE OF PREAH VIHEAR (CAMBODIA V. THAILAND), หน้า 16

[5] Shabtai Rosenne, The Law and Practice of the International Court: Volume Two (The Netherlands: A.W. Sijthoff-Leyden,1965) ,pp. 620-621

[6] See Bruno Simma et al (ed.), The Charter of the United Nations: A Commentary Vol. II,(Great Britain: Oxford University Press,2002),p.1175

[7] Corfu Channel case, Judgment of April 9th, 1949,p.36 ในบทปฏิบัติการ (dispositif) ข้อ4

[8] ใน Dispositif ข้อที่สองศาลโลกตัดสินว่าอิตาลีมิได้ละเมิดสนธิสัญญาทวิภาคีว่าด้วยไมตรี การค้าและการเดินเรือที่ทำกับสหรัฐอเมริกา โดยศาลโลกตัดสินว่า  “Finds that the Italian Republic has not committed any of the breaches, alleged in the said Application, of the Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between the Parties signed at Rome on 2 February 1948,or of the Agreement Supplementing that Treaty signed by the Parties at Washington on 26 September 1951.” โปรดดู Elettronica Sicula S.P.A. (ELSI), Judgment, I.C.J. Reports 1989, para. 137

[9] La Grand (German v. United States of America), Judgment, I.C.J. Reports,2001,para.128 ข้อ (3)

[10] Case Concerning the Arrest Warrant, I.C.J. Reports,2002,para.78 ข้อ (2)

[11] Shabtai Rosenne, The Law and Practice of the International Court: Vol. II, (the Netherlands :AW.Sijthoff-Leyden,1965),pp. 620-621

[12] P.C.I.J. , Series A (1923)

[13] หน้า 30

[14] หน้า 31

[15] ¤Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria (Cameroon v. Nigeria), Preliminary Objections (Nigeria v. Cameroon), Judgment of 25 March 1999, I.C.J. Reports 1999,Para 10

[16] Interprrtution of Judgrnc~ilts Nos. 7 und 8 (Factory at Chorzott,), Jur/gnlerrt No. //, 1927, P.C./.J ., S~lriei.l~. No. 13, p. 11).

[17]โปรดดู Dissenting opinion of Judge Donoghue ในคดี Request for interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v. Thailand) Provisional Measures, Order of 18 JULY 2011, วรรค 7

[18] โปรดดูความเห็นแย้งของ Donoghue ในคดี Request for interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v. Thailand) Provisional Measures, Order of 18 JULY 2011,วรรค 6

[19] Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria (Cameroon v. Nigeria), Preliminary Objections (Nigeria v. Cameroon), Judgment of 25 March 1999, I.C.J. Reports 1999,Para 12

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท