Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


บทความชิ้นที่สองของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

ทุ่งลาดชะโด และชาวนาใน ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่

ชาวนาที่นี่หวังว่าจะขายข้าวได้ราคาเกิน 10,000 บาท/ตัน มานานแล้ว   หลายรายต้องการเปลี่ยนพื้นที่นาปรังที่เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ราบเรียบนั้นให้กลายเป็นนาปรัง  ติดอยู่ที่ไม่มีคลองส่งน้ำเข้าไปในทุ่ง  หากลงทุนปรับนาเองก็ไม่แน่ใจว่ากำไรจากการขายข้าวนั้นจะเพียงพอกับการลงทุน   ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่ยื่นมือเข้ามาจัดการขุดลอกคูคลองในทุ่งเพราะกลัวข้อพิพาทกับเจ้าของที่นา  ซึ่งนอกจากจะเป็นคนในหมู่บ้านแล้วยังมีนายทุนใหญ่มากว้านซื้อที่ดินติดถนน4 เลน ไว้ตั้งแต่ก่อนมีการตัดถนนสุพรรณบุรี-ป่าโมกไว้กว่า 1,000 ไร่ปัญหาเรื้อรังอย่าง ภัยแล้ง และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุ่งลาดชะโด ซึ่งเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ และอยู่ส่วนสุดปลายโครงการชลประทาน 3 โครงการนั้น  เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นาปรังยังขยายตัวได้จำกัดแค่บริเวณรอบๆทุ่งลาดชะโดเท่านั้น  แม้ในทุ่งนี้จะมีเริ่มทำนาปรังกันครั้งแรกเมื่อมีคลองชลประทานเข้ามาในปี 2515 แต่ยังขยายตัวได้ช้าเพราะในตอนนั้นนาฟางลอยซึ่งเป็นข้าวที่ลอยตัว ข้าวที่เคยปลูกมาในอดีตซึ่งมีคุณลักษณะเหมาะกับพื้นที่ลุ่มน้ำลึกนี้ยังให้ผลผลิตดีและไม่ต้องลงทุนจัดการมาก   จนมีการสร้างถนนคันกั้นน้ำ ลาดชะโด-ดอนลาน  ซึ่งถนนนี้มีคลองขุดขึ้นกว้าง 6 เมตร ขนาบถนนแล้วพื้นที่นาปรังจึงขยายตัวมากขึ้น   ในปี 2554 พื้นที่นาปรังมีประมาณ  1 ใน 10 ของพื้นที่นาทั้งหมดในทุ่งเท่านั้น  สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวนาปรังมีสัดส่วนชาวนาเช่ามากกว่าชาวนาที่มีนาเป็นของตนเอง  อีกทั้งมักเป็นวัยกลางคน และอายุเฉลี่ยน้อยกว่าชาวนาฟางลอย

ความถดถอยของนาฟางลอยและการขยายตัวของนาปรังที่ ทุ่งลาดชะโด ม.9  

ผลผลิตจากการปลูกข้าวฟางลอยเคยได้ผลผลิตตกต่ำจากการแพร่ระบาดของหนูนา ในปี 2520  และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อปี 2525   และในปี 2549 คั้นกั้นน้ำ 3 แห่งเหนือ อ.ผักไห่ พัง จนก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีระดับสูง ทำให้ข้าวฟางลอยก็แทบไม่ได้ผลผลิต แถมยังนำเอาหอยเชอร์รี่เข้ามาแพร่ระบาดในนาฟางลอยนับตั้งแต่นั้น   และนับตั้งแต่ปี 2552 – ปัจจุบัน  เพลี้ยกระโดดได้เข้าทำลายนาฟางลอยติดต่อกันมา 4 ปี จนผลผลิตตกต่ำ  ชาวนาหลายคนเริ่มเสาะหาโอกาสครั้งใหม่จากการทำนาปรังแทน

ต้นปี 2553   นอกจากจะมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ะระบาดต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ชาวนาที่นี่ยังต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งซึ่งเกิดจากปรากฎการณ์เอลนิโญ่มาตั้งแต่ต้นปี  น้ำต้นทุนในแหล่งเก็บน้ำสำคัญอย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีไม่เพียงพอให้ชาวนาทำนาปรังครั้งที่ 2  สำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่ปฏิบัติตามแนวนโยบาย “การปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่”  เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลแจ้งให้ชาวนาประหยัดน้ำ   และชลประทานไม่ปล่อยน้ำมาให้ทำนา   เพราะต้องการให้ทำนาปรังเพียงครั้งเดียวและปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรังครั้งที่ 2   ปีนี้พื้นที่นาปรังครั้งที่ 2 ของ ม.9 ลดลงเหลือเพียง 38 ไร่เท่านั้น   นาฟางลอยปีนี้จึงขยายตัวรับภัยแล้ง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกถึง  1,521.75 ไร่  แม้ปีที่แล้วนาฟางลอยมีผลผลิตตกต่ำมาก[2] และหากไม่ได้ผลผลิตเลยก็ยังได้รับค่าชดเชยส่วนต่างจากโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อยู่ดี     

ชาวนาปรังบางคนทั้งในทุ่งลาดชะโด และทุ่งหน้าโคก พูดถึงโครงการปฏิรูประบบข้าวใหม่ว่า ถั่วเขียวที่จะให้ปลูกคั่นระหว่างนาตกหายที่ไหนไม่รู้    และว่านาแถบนี้ ถ้าจะให้ปรับระบบการทำนาได้ดีจริง  ก็ควรปล่อยให้ปลูกข้าวนาปรัง 2 ครั้งติดต่อกันได้ทั่วทุ่ง เมื่อเก็บเกี่ยวนาปรังครั้งที่2  แล้ว ก็ปล่อยให้น้ำท่วมไป  ถ้าไม่มีข้าวฟางลอยก็จะช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่กินข้าวอย่างเดียวเป็นอาหารอีกด้วย

ตั้งแต่ราวกลางเดือนกรกฎาคม 2553  มีฝนตกชุกมาก  และมีเหตุน้ำท่วม จ.นครราชสีมา ซึ่งไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน   ปลายสิงหาคมน้ำในแม่น้ำน้อยเออท่วมสูง   ประตูน้ำลาดชะโดจึงปล่อยน้ำเข้าทุ่งนี้ไวกว่าปกติ 10 กว่าวัน   นาปรังทั้ง 38 ไร่ในทุ่งกำลังเขียวและรอเกี่ยวตามกำหนดถูกน้ำท่วม  เช่นเดียวกับทุ่งนาในผักไห่อีกหลายทุ่งใน 16 ตำบล  มีพื้นที่นาเสียหาย 3,054.50 ไร่ คิดเป็น 82 % ของพื้นที่เสียหายทั้งหมด รวมชาวนา 468 ราย [3]    นอกจากนี้ยังมีนาฟางลอย 14,675 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วมด้วย [4]  ในขณะที่ ปี 2554 ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 จำนวน 256 ไร่นั้นต่างพากันเกี่ยวข้าวหนีน้ำได้ทัน   มีบางรายจะเกี่ยวข้าวเขียวบ้าง  แต่ราคาที่ขายข้าวเขียวได้ก็สูงกว่าค่าชดเชยน้ำท่วมรวมกับค่าชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ

โดยปกติข้าวนาฟางลอย ซึ่งเริ่มหว่านกันช่วงปลายพฤษภาคมกำลังแตกกอเตรียมยืดตัวรับน้ำที่ท่วมนองตามปกติในช่วงต้นกันยายน     แม้ข้าวฟางลอยจะยืดตัวลอยน้ำได้   แต่ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 ซม./วัน ก็ทำให้ต้นข้าวฟางลอยที่หว่านช้ากว่าปกติบางส่วนเน่า  ส่วนที่รอดก็เติบโตยืดตัวตามน้ำ แต่รวงข้าวไม่สมบูรณ์  พอใกล้เกี่ยวข้าวก็ถูกทำลายโดยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนู     

ประทีป มีสม  วัย 62 ปี  ซึ่งทำนาฟางลอย 10 ไร่ และปล่อยให้คนอื่นเช่าแปลงนั้นทำนาปรังครั้งที่1 ต่อ  เล่าว่า  นาข้าวฟางลอยลงทุนทำและหลังจากหว่านข้าวปลูกแล้วก็แทบไม่ต้องทำอะไรอีกนั้นเคยมีผลผลิต  ไร่ละ 40 – 50 ถัง   แต่ตั้งแต่ ปี 2552 มาแล้วที่ผลผลิตตกต่ำอย่างยิ่ง    ปี 2553/54 นี้ ก็ได้ผลผลิตต่ำมาก แต่เขาต้องการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ปลูกปีหน้า จึงต่อรองจ่ายค่าเกี่ยวข้าว ซึ่งปกติจ่ายไร่ละ 500 บาท เหลือเพียงไร่ละ 250 บาท ได้ข้าวแค่ 20 ถัง หรือผลผลิต/ไร่เพียง  2.5 ถัง เท่านั้น   

 

นโยบายจำนำข้าวมีผลบวกต่อชาวนามาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ปี54

 

ช่วงฤดูหาเสียงเลือกตั้งปี 2554  มีการจัดประชุมเตรียมการรับมือเป็นพื้นที่น้ำนอง ใน  4 อำเภอฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ผักไห่-ป่าโมก-บางบาล-เสนา)  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2554   โดยการประสานงานกับสมาชิกสภาเทศบาลลาดชะโด ผู้ใหญ่บ้าน ทนายความอิสระ และมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาเขตที่ 5 เข้าร่วมประชุมกับผู้ร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนจาก 16 ตำบล ใน อ.ผักไห่   แกนนำการจัดประชุมยังกล่าวไว้ในเวทีว่าก่อนหน้านี้มีการจัดประชุมรูปแบบนี้มาแล้ว 3 ครั้ง ในอำเภอผักไห่  แต่หลังจากนั้นความริเริ่มในเวทีดังกล่าวก็ไม่ได้รับการสานต่อใดๆ อีก 

การขับเคลื่อนเพื่อเข้าชิงตำแหน่ง ส.ส. เขต 5  (ผักไห่-บางบาล-บางซ้าย-เสนา) ระหว่างพรรคเพื่อไทย  ชาติไทยพัฒนา และประชาธิปัตย์ เป็นไปอย่างเข้มข้น  และประชาชนส่วนใหญ่ในเขต  5 ก็เลือก องอาจ วชิรพงศ์ พรรคเพื่อไทย มาเป็น ส.ส.   โดยผู้ชนะมีคะแนนนำมากกว่า นพพร วชิวรพง์ พรรคชาติไทยพัฒนา  16,206 คะแนน  [5]  ในขณะที่หน่วยเลือกตั้งของ ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 78% จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 763 คน ซึ่งมีชาวนา 56 ครัวเรือน จากทั้งหมด 119 ครัวเรือน  เมื่อมีการนับคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งนี้  พบว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะเฉือนผู้สมัครจากชาติไทยพัฒนา โดยมีคะแนนนำอยู่ 35 เสียง

ก่อนเลือกตั้ง มีชาวนาได้ประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย ดังในกรณีของ    เสน่ห์ คชสุวรรณ  (58 ปี)  อดีตช่างสำรวจ กองรักษาที่หลวง กรมธนารักษ์ ซึ่งลาออกจากราชการไปเป็นโรบินฮู๊ดออสเตรเลียอยู่หลายปีแล้วจึงกลับมาเมื่อปี 2543  เขามีอยู่เดิมกว่า 100 ไร่   นาที่มีส่วนใหญ่เป็นนาปี ฤดูนาปีเขาทำนาฟางลอยเอง และทำนาปรังขนาด 8 ไร่ 1 แปลง อยู่ข้างหลังบ้าน 

ปลายเดือนสิงหาคม 2554  เขาต้องเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ที่ยังเขียวหนีน้ำแล้วขาย  นาปรัง 8 ไร่ ได้ข้าวแค่ 4.5 ถัง  และขายได้ราคาสูงถึง 6,400 บาทในขณะที่ชาวนารายอื่นๆ ในทุ่งนี้ที่ปลูกก่อนหน้าเขาเล็กน้อยสามารถเกี่ยวข้าวเหลืองขายช่วงเดียวกันได้ราคา 9,300 – 9,600 บาท   [6]  นั่นเพราะผู้ค้าข้าวต้องการสต๊อกข้าวไว้เนื่องจากมีแนวโน้มว่าราคาข้าวปีนี้จะสูงขึ้น  [7] และมีแนวโน้มว่าราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นด้วย [8] ซึ่ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวนาเพราะอยู่นระหว่างรอยต่อโครงการประกันรายได้และรับจำนำข้าว ไร่ละ 1,437 บาท    ผิดกับปีที่แล้วที่ทั้งชาวนาปรังได้รับค่าชดเชยผู้ประสบภัยน้ำท่วม  2,098 บาท/ไร่  และเงินส่วนต่างจากอัตราชดเชยราคาข้าวจากโครงการประกันกันรายได้แค่ 1,000 กว่าบาท/ไร่   และชาวนาฟางลอยซึ่งทำนาแล้วแทบไม่ได้ผลผลิตซึ่งไม่ได้ค่าชดเชยน้ำแต่ได้รับค่าส่วนต่าง กับเงินชดเชยจากอัตราชดเชยราคาข้าวจากโครงการประกันกันรายได้เพียงอย่างเดียว

เสน่ห์ ยังเป็นชาวนาอีกคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนนาปีข้าวฟางลอยมาเป็นนาปรัง  เขาเล่าถึงความล้มเหลวของข้าวฟางลอยและกลิ่นอายความสำเร็จจากการขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวสมัยนายกรัฐมนตรีสมัคร และนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ไว้ว่า

“นาปี 52 (ฤดูนาปี 2552/53)  นั้นเจ๊ง  นา 101 ไร่  ได้ข้าวกลับเข้าบ้านแค่ 2 เกวียน ก็ไม่ได้ขาย เก็บเอาไว้ทำพันธุ์  แต่ปีก่อนโน้น  (2551/52) รวย เฮง ข้าวราคาตั้ง 14,000 – 15,000 บาท  ไม่เฮงได้ไง   ปี 52 เจอเพลี้ย ปี 53 น้ำท่วม  มันไม่ได้ข้าวเลย  ปี 54  ก็เจอน้ำท่วมอีก ได้ผลผลิตต่ำมาก  ดีที่ว่า ราคาข้าวปีนี้ดีขายได้ตันละ 14,000 บาท[9]  ก็เลือกเกี่ยวเฉพาะตรงที่ข้าวหนาๆ ” 

พอถึงช่วงฤดูเกี่ยวข้าวฟางลอย ปี 2555/56 นี้    นาฟางลอยกว่า 80 ไร่ ของเสน่ห์ ให้ผลผลิตต่ำเพราะเพลี้ยรบกวน นา 10 ไร่ได้ข้าวแค่ 1 ตันหรือแค่ 10 ถัง/ไร่ เท่านั้น  

แม้การปลูกข้าวฟางลอยจะลงทุนต่ำและไม่ต้องจัดการมากเท่านาปรัง   แต่ผลผลิตที่ได้ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี  เขาจึงเลิกทำนาฟางลอย    แล้วลงทุนปรับที่นาเหล่านั้นเป็นนาปรังเพื่อให้ชาวนารายอื่นเช่าทำ โดยคิดราคาเช่า ไร่ละ 1,000 บาท  และตกลงทำสัญญาเช่า ปีต่อปี   ส่วนตัวเขา  ปีนี้ยังคงทำนาปรัง ขนาด  8 ไร่ ในแปลงที่ติดหลังบ้าน ซึ่งใกล้คลองชลประทานสายหลักที่กว้างกว่า 6 เมตร ทอดขนานกับ ถนนคันกั้นน้ำ ดอนลาน-นาคู  และเช่านาทำเลดีเพิ่ม ที่ ม.8 หนองน้ำใหญ่อีก 10 ไร่

“ปรับนาปีเป็นนาปรังแล้ว  มีคนอยากทำหลายคน  ไปเอารถดันนามาจากสามโก้ พวกกันเลยถูกกว่า    รถดันรับจ้างแถวบ้านเราแพง  ต้นทุนค่าปรับนาปรับเฉลี่ย 10 ไร่ ตก 30,000 – 40,000 บาท”

 

พ่อค้าเร่กลับมาขุดทองในนา

ด้านวินัย ไกรบุตร  (60 ปี)  เขามีอาชีพค้าขายหอม กระเทียม ในตลาดนัด    แต่เมื่อมีโครงการจำนำข้าว  เขาหยุดพักการขายชั่วคราว  แล้วหันมาบุกเบิกเปลี่ยนนาปีเป็นนาปรังเมื่อฤดูปลูกข้าวนาปรังปี 2555  เขามีนาแค่ 8 ไร่  จึงเช่านาเพิ่ม รวมเป็น 108 ไร่  แบ่ง 3 ส่วน สำหรับตนเอง น้องเมีย และลูกสะใภ้   แต่เขาดูแลเองเป็นส่วนใหญ่     เขามีสัญญาเช่านาที่ทำกับเจ้าของนาระบุว่ายกเว้นค่าเช่านา 1 ปี   ค่าปรับที่ลงทุนไปทั้งหมด 700,000 บาท      เขาจ่ายค่าปุ๋ย ค่าสารกำจัดแมลงและวัชพืช รวม 200,000 บาท  นาปรังเที่ยวแรกเมื่อ ปี2555 และขายเข้าในโครงการจำนำข้าวได้เงินมา 800,000 กว่าบาท  เขาคำนวณว่า ... 

“คุ้มไหม?  ปีที่แล้วมันยังไม่คุ้ม  ถามว่าไร่เท่าไหร่จริงๆ ไม่ได้คิดเลยเพราะว่าเงินขายของได้มาเรามีก็ลงไป   ไม่ได้คิดอะไรมาก  แต่มันก็ยังไม่คุ้ม   เพราะหนักค่าปรับที่นา  ปีที่แล้วเราไม่เสียค่าเช่าที่ แต่ปีนี้เราต้องเสีย   แต่ถ้าราคาข้าวแบบจำนำนี่ เที่ยวนี้ (นาปรังครั้งที่ 2 ปี 2555)  ก็คืนได้แล้ว   2 หน ก็คืนได้เลย  ถ้าเราทำได้ดี ราคาอย่างปีที่แล้วมันก็พอได้”  

 

กระจายความเสี่ยง กระจายรายได้

หากย้อนกลับไปดูเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555   ชาวนาฟางลอยยังรอเกี่ยวข้าวซึ่งเลยกำหนดมาเกือบเดือนแล้ว   ส่วนชาวนาปรังก็รอน้ำลดเพื่อหว่านข้าวปลูกทำนาปรังครั้ง 1 อย่างจดจ่อ  

ในช่วงนี้เองที่ชาวนาในทุ่งแห่งนี้มีความสับสนกับข่าวที่ว่าจะใช้ทุ่งนาทั้งหมดรอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งรับน้ำ โดยรัฐยอมจ่ายค่าเช่านา  ค่าชดเชยความเสียหาย และค่าเสียโอกาส  [10]

เจ้าของนาบางรายต้องการเรียกนาเช่ากลับมาทำนาเองเพื่อขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำครั้งที่ 2 ที่จะเปิดโครงการในระหว่าง 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2555     แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชาวนาก็ได้ยินข่าวเตือนภัยแล้งด้วยเช่นกัน แรงจูงใจจากราคาขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำ จึงได้การกระจายที่นาจากผู้ถือครองที่ดินมายังผู้ทำนาเช่า  เจ้าของนาเปิดโอกาสให้ผู้เช่าได้รับผลกำไรจากการขายข้าว   หรืออาจจะกลายเป็นการรองรับความเปราะบางที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ใน ปี 2555 นี้ มีการเช่านาทำนาปรังทั้ง 2 ครั้ง  โดยมีสัดส่วนผู้เช่านาเพิ่มขึ้นจากปี 2554     ส่วน นาฟางลอยใน ปี 2555/56   นี้แม้จะมีพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2554/55 แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2553/54   ในขณะที่สัดส่วนผู้เช่านาก็เพิ่มขึ้นจากปี 2554  และ 2553      (ดูตารางข้างล่าง)

ความเสี่ยง และโอกาส จากความเปราะบางของการลงทุนครั้งใหม่

ยิ่งดูการปรับตัวรับมือกับน้ำท่วมและภัยแล้ง และการตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่นาปีเป็นนาปรังของสนิท  สภาพโชติ  ชาวนาวัย 62 ปี ซึ่งทำนามาตั้งแต่จบชั้นประถม  โดยทำนาทั้งใน ทุ่งลาดชะโด ม. 9 และ ต.ลาดชิด  และดูแลนาทั้งหมดของครอบครัว  ก็ยิ่งน่าสนใจ  

ตั้งแต่หลังน้ำลดลงจากวิกฤตมหาอุกภัย และต้องเผชิญภัยแล้งมาเมื่อเดือนมีนาคม 2555 เป็นต้นมา  สนิทก็ตัดสินใจยกคันนาสูงเพื่อกั้นน้ำเข้า –ออก ปรับพื้นนาให้เรียบ และขุดลำรางเล็กๆเข้าไปในแปลง     พื้นที่นาปรังครั้งที่ 1 ของเขาเพิ่มขึ้นอีก 9 ไร่ 2 งาน 

ลูกชายคนโตของสนิท ,  สิทธิ  สภาพโชติ  ผู้ใหญ่บ้าน วัย  36 ปี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่  ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่  หลังลงสมัครเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552  ก่อนหน้านั้นเขาเดินหันหลังจากตำแหน่งนายช่างโรงงาน 6 แห่ง  หลังจากเรียนจบสถาบันราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เพราะใจไม่รัก  แล้วกลับมาทำนาเป็นอาชีพรอง   ปี 2555 นี้ ผู้ใหญ่สิทธิ ขึ้นทะเบียนนาปรังครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็น  51 ไร่ 3 งาน และแม้จะมีสภาพอากาศค่อนข้างแล้ง  แต่ครอบครัวสภาพโชติก็ได้ผลผลิตจากนาปรังปีนี้ดี  ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ได้ ไร่ละ 1 ตัน  ยกเว้นเพียงแปลงเดียวซึ่งมีขนาด 4 ไร่ ได้ข้าวแค่ 3.09 ตัน หรือ 77.25 ถัง/ไร่  ในขณะที่โครงการรับจำนำข้าวที่นี่รับรองข้าวชาวนาในโครงการไร่ละ 74.1 ถัง ไม่เกินครอบครัวละ 500,000 บาท  [11]  (ดูตารางข้างล่างนี้)

สาเหตุที่ครอบครัวสภาพโชติตัดสินใจเปลี่ยนมาทำนาปรังเพิ่มขึ้นคือ ความแปรปรวนของน้ำที่ขึ้นลงไม่แน่นอนมีมากขึ้น   ต้นปี 2555 น้ำลงช้ากว่าปกติ 10 กว่าวัน   ทำให้ต้องเลื่อนทำนาปรังช้าไป   ต้องรอน้ำแห้งก่อนจึงเกี่ยวข้าวนาฟางลอยแล้วจึงเริ่มทำนาปรัง      ส่วนปี 2556  นี้  น้ำลงไวกว่าปกติเกือบเดือน  จากแต่ก่อนนาปรังครั้งที่ 1 จะเริ่มปลูกได้ช่วง วันที่ 15 – 16 มกราคม ก็เลื่อนมาปลูกกันวันที่ 18 ธันวาคม    

“น้ำลงไวจัดทำให้ผลผลิต(ข้าวฟางลอย)ไม่ได้เท่าที่ควร  ข้าวยังไม่ทันออกรวงดีก็ขาดน้ำ  นาปี 100 ไร่ ได้ 20 ตัน  บางที 10 ไร่ ได้เกวียนกว่าๆ  ได้ใกล้เคียงกับปีน้ำท่วมใหญ่  ปี 54  นาปีผลผลิตขั้นต่ำมันควรอยู่ที่ไร่ละ 30 ถัง  แต่ทางเกษตรตีประเมินให้(ผลผลิต)ไร่ละ 74 ถัง เท่ากับนาปรัง”     

เขาเล่าถึงความขัดแย้งเรื่องความต้องการน้ำ ระหว่างคนที่ทำนาปีกับนาปรังไว้ด้วยว่า  ทุกปี นาปีกับนาปรังมีความขัดแย้งเรื่องน้ำกัน 2 ครั้ง   ครั้งที่1 คือช่วงที่นาปรังครั้งที่ 2 เก็บเกี่ยว (ปลายสิงหาคม-ต้นกันยายน) นั้น นาปรังต้องการไม่ให้น้ำเข้านา  แต่ชาวนาฟางลอยที่ปลูกข้าวอยู่ด้านในต้องการน้ำ  เพราะต้นข้าวกำลังจะแตกกอและพร้อมจะยืดตัวไปกับระดับน้ำที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นที่ละ 1 - 2 ซม.    และครั้งที่ 2 คือช่วงที่ข้าวฟางลอยจะเก็บเกี่ยวข้าวขายปลายฤดู (ต้น – กลาง เดือน มกราคม)  ชาวนาฟางลอยก็จะขอให้ทางชลประทาน เลื่อนชะลอปิดประตูระบายน้ำออกจากทุ่งให้ช้าลง แต่ชาวนาปรังต้องการให้น้ำลงไว เพื่อที่จะได้รีบทำนาปรังครั้งที่ 1 ให้ได้เกี่ยวข้าวก่อนฤดูแล้งที่จะมาถึง คือกลางเมษายน และหากมีน้ำเพียงพอก็จะเริ่มทำนาปรังครั้งที่ 2 ได้อีกในช่วงปลายเมษายน-ต้นพฤษภาคม เพื่อให้ได้เกี่ยวทันก่อนี่น้ำจะมาในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม – ต้นกันยายน  

ผู้ใหญ่สิทธิ คาดการณ์ว่า  นาปีในทุ่งนาที่เขามีหน้าที่รับขึ้นทะเบียนนี้จะลดลง แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นนาปรัง และอาจจะเหลือเพียงแค่ราว 500 ไร่ และค่อยๆ หายไป

หากยังข้องใจว่า โอกาสและความเปราะบางจากการทำนาปรังในทุ่งแห่งนี้มันคุ้มค่าพอจะเสี่ยงหรือไม่  เราลองดูตารางเปรียบเทียบต้นทุนและกำไรจากการขายข้าวนาปรังครั้งที่ 1 ปี 2554 ในโครงการประกันราคา กับ ปี 2555 ในโครงการจำนำข้าวครั้งที่ 2 ของผู้ใหญ่สิทธิ ซึ่งมีนาเป็นของตนเองดูสักน่อย  โดยการคำนวณนี้ได้จำลองรูปแบบการผลิตของการประเมินความเสี่ยงช่วงที่มีแมลงแพร่ระบาดแพร่ระบาดสูง ปี 2552-53 (มีการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงถึง 6 ครั้ง) แต่ใช้ราคาต้นทุนการผลิต ณ ปีการผลิตนั้น  ก็ทำให้เราเห็นว่า  ต้นทุนการผลิตข้าว/ตัน  และ ต้นทุน/ไร่  เพิ่มขึ้น 4.5 และ 5 %  ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มมาจากค่าพันธุ์ข้าวและค่าปุ๋ยเคมี และค่าแรง  ส่วนกำไร/ไร่ และกำไร/ตัน  นั้นเพิ่มขึ้นสูงขึ้นถึง 60 %   (ดูตารางข้างล่าง) 

จึงไม่น่าแปลกใจว่าผืนนาข้าวนาฟางลอยที่หมดอนาคตไปแล้วนั้นทำไมจึงค่อยๆ กลับฟื้นคืนชีพอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบของการทำนาปรัง   ในขณะที่ 39 – 40 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดนั้นยังกระจายไปยังกลุ่มผู้รับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวแห่งนี้ด้วย    (โปรดติดตามตอนหน้า)

 


[1] บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  “โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว”  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2]  ปกติในทุ่งนี้จะเริ่มปลูกข้าวหลังน้ำลด หรือ  “ปลูกไล่น้ำ”   ในช่วง มกราคม – เมษายน นับเป็นปรังครั้งที 1  และหากมีน้ำเพียงพอ ก็จะเริ่มทำนาปรังครั้งที่ 2 ในช่วงปลายเมษายน – พฤษภาคม เพื่อจะเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนที่น้ำจะท่วมหลากเข้าทุ่งในช่วงปลายสิงหาคม-ต้นกันยายน  หรือ “ปลูกหนีน้ำ”   ส่วนนาฟางลอยนั้น ในอดีต จะปลูกเมษายน แล้วเกี่ยวต้นมกราคม แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำกับชาวนาปรังที่ทำนาอยู่ริมขอบทุ่งลาดชะโด จึงทำให้ต้องเลื่อนการหว่านสำรวยพันธุ์ข้าวฟางลอยมาเป็นเดือนพฤษภาคมแทน

[3] รายงาน ก.ช.ภ.อ.ผักไห่ ครั้งที่6/2553  เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553  ,  สำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่

[4] รายงานสรุปจำนวนแปลง วันที่เก็บเกี่ยวข้าวปี 2553/54 ตัดยอดข้อมูลวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553  ,  สำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่

[5] ผลการเลือกตั้ง http://news.thaibizcenter.com/hotnews.asp?newsid=10336

[6] ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญที่ขายได้ที่ไร่นา กรกฎาคม 2554  , ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร , กรกฎาคม 2554   ดูที่ http://http.www.oae.go.th/download/pricepdf/priceJuly%2054.xis.pdf

[7] ต่างชาติชี้นโยบายจำนำข้าวทำราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น   Voice TV 15-08-56   http://news.voicetv.co.th/business/16372.html

[8] น้ำท่วมในไทย ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นทั่วโลก  17-11-54  http://news.voicetv.co.th/business/23571.html

[9] เสน่ห์ได้ขายข้าวที่เกี่ยวเมื่อต้นกุมภาพันธ์ในโครงการรับจำนำครั้งที่ 1 ปี 2554/55 ซึ่งเริ่มระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2554 – 29 กุมภาพันธ์ 2555

[10]  ก.เกษตรฯคลอดแผนชดเชยพื้นที่รับน้ำนอง  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน 30-03-55 

[11] มีระเบียบการขึ้นทะเบียนว่า  หากเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เช่น พ่อ , ลูก , ญาติ  จะต้องมีทะเบียนบ้านคนละทะเบียน และผู้ขึ้นทะเบียนต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net