Skip to main content
sharethis

ชาวคะฉิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติสงครามในรัฐคะฉิ่น ที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถ.สาธร เมื่อ 11 มกราคม 2556 ล่าสุด กองทัพคะฉิ่น KIA ยอมถอนกำลังออกมาจากป้อมบนยอดเขาใกล้เมืองไลซา ที่มั่นใหญ่ หลังพม่าโจมตีหนักมาหลายสัปดาห์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ทหารกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น KIA ที่แนวหน้า (ที่มา: Lachid-Kachin/แฟ้มภาพ)

ชาวคะฉิ่นในงานเต้นมะเนา (Manau) ที่บ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2555 (ที่มา: องอาจ เดชา)

 

ทำไมคนคะฉิ่นถึงรักและหวงแหน ยอมเสียสละชีวิตเพื่อดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของตน

ทำไมในอดีตชาวคะฉิ่นต้องขัดแย้งกับจีน และต้องลุกขึ้นสู้กับอาณานิคมอังกฤษ

และเหตุใดชนชาติคะฉิ่น ถึงไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า

จนทำให้สงครามยึดเยื้อเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด

ในหนังสือ กะฉิ่น: เมื่อวานและวันนี้ การเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี ของ มนตรี กาทู จัดพิมพ์โดย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกะฉิ่น หรือที่คนไทยเรียกกันว่า คะฉิ่น เอาไว้อย่างน่าสนใจและทำให้เรารู้ลึกมากขึ้น

คนคะฉิ่น จัดอยู่ในกลุ่มชน “ซย่งหนู” (Xiongnu หรือ Hsinungnu) มีการบันทึกเอาไว้ว่าเป็นชนป่าเถื่อนดุร้าย ซึ่งกลุ่มชนนี้ประกอบด้วยหลากหลายชนเผ่าได้แก่ชาวตาร์ตาร์ และเติร์กจากแถบมองโกเลีย รวมไปถึงชาวคะฉิ่นโบราณ (Proto Kachin)และ คัง (Hkang) ว่ากันว่า บรรพบุรุษของคะฉิ่นนั้นเดินทางมาจากดินแดนมะจ่อย ซิ่งหร่า (Majoi Shing-ra) ซึ่งเป็นดินแดนกำเนิดมนุษย์โลก

ซิมสัน เจมส์ นักโบราณคดีชาวสก็อตแลนด์ที่กำลังศึกษาประวัติศาสตร์กลุ่มชนต่างๆ ชี้ว่า ชาวคะฉิ่นนั้นได้อพยพมายังถ้ำเสียงหลัง (Hsing Lung) เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งถ้ำแห่งนี้ปรากฏอยู่ในแผนที่โบราณของจีนด้วย

เช่นเดียวกับ ดร.โอลา แฮนสัน หมอสอนศาสนา ผู้ซึ่งได้มอบพระคัมภีร์ภาษาคะฉิ่นให้แก่ชาวคะฉิ่นเป็นคนแรก ก็ได้เขียนบทความเอาไว้ใน Burma Research Society Journal ฉบับธันวาคม พ.ศ.2455 และได้เขียนถึงที่มาของชาวคะฉิ่นเอาไว้ว่า “...แน่นอนว่า เราจะต้องมองไกลขึ้นไปทางเหนือเพื่อค้นหาที่มาของบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า น่าจะเป็นแถบเทือกเขามองโกเลีย และพรมแดนระหว่างทิเบตตะวันออกกับเสฉวนตะวันตก นี่คือเปลที่ทารกแห่งเผ่าพันธุ์เติบโตขึ้น”

ในขณะที่ เอ็ดมันท์ ลีช นักมานุษวิทยาชาวอังกฤษ ก็ได้ยืนยันคำกล่าวของ ดร.แฮนสัน ว่า ชาวคะฉิ่นเป็นชนชาติที่ดำรงชีพในทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่อย่างยากลำบาก ชนเผ่านี้ยังชีพด้วยการเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ และสู้รบบนหลังม้ากับศัตรูเผ่าอื่น จนเรียกได้ว่าเป็นชนที่ดุร้าย มีความเชี่ยวชาญในการสู้รบบนหลังม้าและยิงธนูแม่นเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดยิงเป้าห่างในระยะ 900 ฟุตได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับเรื่องเล่าของผู้เฒ่าชาวคะฉิ่น ที่บอกว่า บรรพบุรุษนั้นเป็นชนเผ่าดุร้าย ที่ออกปล้นสะดมชาวเมืองปีละ 1-2 ครั้ง จนทำให้คนจีนโบราณต้องสร้างกำแพงล้อมรั้วบ้านไว้อย่างแน่นหนา ในหน้าประวัติศาสตร์จีน ชนกลุ่มซย่งหนู มีบทบาทต่อการเมืองจีนด้วยการเป็นคู่ศึกรบรากับอาณาจักรของกษัตริย์และจักรพรรดิต่างๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่ทหารรับจ้างจากตะวันออกกลางและกระจายตัวไปในที่สุด

มีบันทึกไว้ว่า เมื่อ 770 ปีก่อนคริสตกาล ชาวซย่งหนู ได้ขับไล่ราชวงศ์โจว ออกไป และมีบทบาทสนับสนุนราชวงศ์ฉู่ ให้ปกครองแผ่นดิน ความแข็งแกร่งและสามัคคีของชาวซย่งหนูเป็นที่หวาดหวั่นของอาณาจักรอื่นในประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น ที่มีการบันทึกไว้ว่า การที่มีการสร้างกำแพงเมืองจีนยาว 3,000 กิโลเมตร ของจักรพรรดิจิ๋นซี เมื่อ 220 ปีก่อนคริสตกาลนั้น เพื่อป้องกันการรุกรานของคนกลุ่มดังกล่าว

นอกจากนี้ จักรพรรดิจิ๋นซี ยังได้พยายามรวบรวมกำลังทหารถึง 300,000 นาย จาก 6 แคว้น เพื่อไปปราบปรามชาวซย่งหนู แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งมาถึงยุคจักรพรรดิหวูตี่ (Wu Ti) ของราชวงศ์ฮั่น ซึ่งไดมีการสร้างความสัมพันธ์กับชนเผ่าจากเอเชียกลางและตะวันออกกลาง จึงมีการว่าจ้างนักรบชนเผ่าจากตะวันออกกลางมาปราบปรามชาวซย่งหนู ว่ากันว่า นักรบจากตะวันออกกลางนั้นเชี่ยวชาญในการรบ และม้ามองโกเลียของชาวซย่งหนูนั้นตัวเล็กกว่าม้ารัสเซียของชนตะวันออกกลางมาก ชาวซย่งหนูจึงถูกขับไล่กลับขึ้นไปยังทะเลทรายตอนเหนือ โดยอีกส่วนหนึ่งยังคงตกค้างอยู่บริเวณตอนใต้ของอาณาจักรฮั่น

เมื่อแผ่นดินซย่งหนู ถูกแบ่งออกเป็นตอนเหนือและใต้ กลุ่มคนทางใต้ซึ่งรวมถึงชนชาวคะฉิ่นและเผ่าต่างๆ ก็ได้ลงหลักปักฐานทำการเกษตรแทนการเร่ร่อน และใช้ชีวิตผสมกลมกลืนกับชาวจีนเผ่าพันธุ์อื่นในแถบมณฑลยูนนานเรื่อยลงมาถึงดินแดนตอนเหนือของประเทศพม่าในปัจจุบัน

เมื่อศึกษาดูประวัติศาสตร์คะฉิ่นในยุคอาณานิคม ก็ยิ่งเห็นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองคะฉิ่น ว่ามีความรักและหวงแหนแผ่นดินของตน และพร้อมที่จะเผชิญกับสงครามการแย่งชิงดินแดนจากนักล่าอาณานิคมจากแดนไกลอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ

ว่ากันว่า ในยุคก่อนอาณานิคม ดินแดนคะฉิ่นในพื้นที่ซึ่งเป็นประเทศพม่าปัจจุบันนั้น แต่เดิมนั้นไม่มีชาวพม่าอาศัยอยู่เลย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ล้วนปกครองตนเองตามจารีต เป็นกลุ่มๆ ในวงศ์เครือญาติและทำการค้าหยกกับชาวจีนหลายชาติพันธุ์ในมลฑลยูนนาน เรื่องราวของชาวคะฉิ่นได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและตะวันตกก็เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองอาณาจักรพม่า เป็นอาณานิคมได้ในปี พ.ศ.2428 และต้องการเข้ายึดครองแผ่นดินชนเผ่า ซึ่งรวมถึงแผ่นดินคะฉิ่นที่มั่งคั่งด้วยเหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

แม้อังกฤษจะสามารถครอบครองพื้นที่ประเทศพม่าทั้งหมดได้ การรุกรานของเจ้าอาณานิคมในขณะนั้นก็เผชิญกับการต่อต้านอย่างดุเดือดของชนพื้นเมืองในดินแดนคะฉิ่นจนต้องประสบความสูญเสียใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน กองทัพอังกฤษเคยเชื่อว่าการต่อสู้กับชาวคะฉิ่น ผู้ไม่มีอาวุธทันสมัย และยังมีจำนวนน้อยนิดน่าจะเป็นเรื่องง่ายดาย ตรงกันข้าม พวกเขากลับได้พบชนพื้นเมืองผู้หวงแหนดินแดนของตน พร้อมจะลุกฮือขึ้นต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่กลัวตาย ซ้ำยังมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศป่าเขา และมีความเชี่ยวชาญในการรบแบบกองโจร รวมถึงแบบซุ่มโจมตีแบบล่าสัตว์

ความสูญเสียมากมายของทหารอังกฤษ นำมาซึ่งความคับแค้นใจของเหล่าทหารอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง จนมีเรื่องเล่าว่า ทหารอังกฤษได้ปราบปรามชาวคะฉิ่นอย่างเหี้ยมโหด ไม่เว้นกระทั่งเด็ก ผู้หญิงและคนชรา อีกทั้งยังเผาหมู่บ้าน ข้าวสารและสัตว์เลี้ยงไปอีกมากมาย

มีการบันทึกการสู้รบระหว่างคะฉิ่นกับอังกฤษ ในประวัติศาสตร์ตามเหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังนี้

 

การต่อสู้ที่เมืองมานมอ (Manmaw)

การต่อต้านของชาวคะฉิ่นที่ไม่ยอมจำนนนั้นเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเมือง ผู้นำการต่อต้านชาวคะฉิ่น คือ ผู้นำปงกัน (Hpunggan Duwa) คำ เล็ง (Hkam Leng) และ ซอ ยัน นาย (Saw Yan Naing) ได้รวบรวมผู้คนจากป่าเขามาต่อสู้เพื่อยึดเมืองคืน การปะทะกับกองทหารอังกฤษ 50 นาย ที่ตำบลสียู่ ห่างจากตัวเมืองมานมอไป 20 ไมล็ เมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2432 ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียกำลังพลไป 2 นาย บาดเจ็บอีก 2 นาย

แม้เมื่อทหารอังกฤษมีการเสริมกำลังพลขึ้นมาอีก 210 นาย จนกระทั่งยึดตำบลสียูได้ กองกำลังคะฉิ่นซึ่งนำโดย ลอยเส็ง (Loiseng)และ ตุงฮง (Tunghung) ก็เข้าโจมตีพยายามยึดเมืองคืน ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน จนกระทั่งอังกฤษต้องสูญเสียกำลังพลไปอีก 20 นาย

ในที่สุด นายพลการ์เน็ท วูลซลีย์ ได้นำกองทัพที่ประกอบไปด้วยทหารอังกฤษ 250 นายทหารกุรข่า 100 นาย และทหารอื่นๆ อีก 250 นาย มาปิดล้อมฐานที่มั่นของผู้นำปงกัน เมื่อไม่พบก็เผาทำลายบ้าน 179 หลังคาเรือน และเผาข้าวสาร 50 กระสอบทิ้งเสีย แล้วเข้าปกครองเมืองมานมอได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ผู้นำปงกันกับพรรคพวกได้หลบหนีไปได้ และกลายเป็นบุคคลที่กองทัพอังกฤษต้องการตัวมากที่สุด

 

การต่อสู้ที่เมืองโมก่อง (Mogaung)

เดือนมกราคม พ.ศ.2431 กองทัพอังกฤษพร้อมกำลังพล 176 นาย พร้อมปืนใหญ่อีก 2 กระบอก เดินทัพเข้ายึดพื้นที่บ่อหยก เมืองโมก่อง ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้นยังได้วางแผนจะแต่งตั้ง อู กะลา (U-kala) ซึ่งสยบยอมต่ออำนาจของอังกฤษให้เป็นเจ้าเมือง แต่ว่าชาวคะฉิ่นผู้ต่อต้านได้ชิงจับตัว อู กะลาไปสังหารเสีย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ลูกชายของ อู กะลา ที่ชื่อ โพซอ ก็นำชาวคะฉิ่น และชาวไทใหญ่ร่วม 400 คน ต่อสู้ยึดเมืองโมก่อง คืนกลับมาได้สำเร็จ

เหตุการณ์นี้ ทำให้กองทัพอังกฤษหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง ในเดือนมกราคม ปีพ.ศ.2432 กัปตันโอ ดอนเนลล์ จึงได้นำทหารรวม 371 นาย พร้อมด้วยปืนใหญ่ 2 กระบอก เข้าปราบปรามชาวคะฉิ่นผู้ต่อต้านและเข้ายึดเมืองกามาย (Kamaiing) ได้เจ้าเมืองกะฉิ่น กุม เสงลี (Duwa Gum Seng Li) เป็นผู้นำการยืนหยัดต่อสู้กับอังกฤษอย่างกล้าหาญ แม้ท้ายสุดจะพ่ายแพ้ พวกเขาก็ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 21 นาย

 

การต่อสู้ที่เขาซาดอน (Sadon)

หลังจากยึดเมืองมานมอและสยบการต่อต้านในพื้นที่นั้นได้ อังกฤษก็นำกำลังเข้ายึดมยิตจินา เมืองหลวงของอาณาจักรคะฉิ่น ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2434 เมื่อกองทัพอังกฤษที่กำลังเดินทางไปทราบข่าวว่ามีกองกำลังคะฉิ่นซุ่มรอโจมตีอยู่ที่เขาซาดอน จึงบุกไปที่เขาแห่งนั้นเสียก่อน ตลอดเส้นทาง พวกเขาต้องเผชิญกับการต่อต้านเป็นระยะๆ เมื่อมาถึง ผู้นำคะฉิ่น คือ ซาว ออง (Duwa Zau Awng) ก็ได้เตรียมกำลังคนกว่า 500 คน จากหลายหมู่บ้านรายรอบเข้าปิดล้อมเขาเซดอนไว้แล้ว การสู้รบระหว่างชาวคะฉิ่นกับอังกฤษดำเนินไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อ ถึงสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2435 จนกระทั่ง อังกฤษได้กำลังพลจากเมืองมยิตจินาเข้ามาเสริม กองกำลังคะฉิ่นจึงยอมล่าถอย

อย่างไรก็ตาม กองทัพอังกฤษก็ได้สูญเสียทั้งกำลังทหาร รวมทั้งนายพันแฮริสัน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองพัน ต่อมา พื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามโดยรัฐบาลอาณานิคม เพื่อระลึกถึงการสู้รบครั้งนี้ว่า “ป้อมปราการแฮริสัน”

 

การต่อสู้ที่เขาซาม่า (Sama)

หลังจากอังกฤษยึดเขาซาดอนได้ ก็ยกทัพต่อมาที่เขาซาม่า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขาซาดอน ชาวคะฉิ่นก็ได้รวบรวมกำลังคนไปต้านกองทัพของอังกฤษ โดยมีกัปตันบอยซ์ มอร์ตัน การสู้รบดำเนินอยู่ 9 วัน จนในที่สุด อังกฤษก็ยึดเขาซาม่าเอาไว้ได้ ในระหว่างการสู้รบนั้น ผู้นำซาม่า (Sama Duwa) ได้รวบรวมผู้คนบุกเข้าไปเผาบ้านและสังหารนายทหารอังกฤษในเมืองมยิตจินา เพื่อก่อความระส่ำระสาย จากนั้นชาวคะฉิ่นก็ได้เข้าโจมตีอังกฤษเพื่อจะยึดเขาซาม่ากลับคืน การสู้รบครั้งหลังนี้ ได้ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียกัปตันบอยซ์ มอร์ตัน และทหาร รวม 105 ชีวิต แม้ว่าในที่สุด อังกฤษจะเป็นผู้ชนะในการต่อสู้ หลัง จากได้กำลังเสริมจากมยิตจินา 1,200 นายก็ตาม

ต่อมา รัฐบาลอาณานิคมจึงเรียกพื้นที่เขาซาม่านั้นว่า “ป้อมปราการมอร์ตัน” เพื่อเป็นการระลึกถึงการสู้รบครั้งนั้น

นั่นเป็นบันทึกเหตุการณ์การสู้รบครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญระหว่างชาวคะฉิ่นกับอังกฤษ ซึ่งได้เข้ายึดครองพม่า และลงนามในสนธิสัญญาชายแดนระหว่างพม่ากับจีน ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีการทำแผนที่รวมดินแดนคะฉิ่น ให้เป็นรัฐในอาณานิคมและประเทศพม่า

แน่นอนว่า เมื่อพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ กองทัพพม่าจึงได้พยายามเข้าควบคุมคะฉิ่น เพื่อต้องการผนวกรัฐคะฉิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า จนนำไปสู่การก่อตั้งกองทัพเพื่ออิสรภาพชาวคะฉิ่น(Kachin Independence Army – KIA) ขึ้นในปี พ.ศ.2494 การต่อต้านโดยใช้อาวุธดำเนินมาถึงปี พ.ศ.2537 กองกำลัง KIA จึงได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า โดยขอตั้งเขตปกครองอิสระอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนพม่า-จีน

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 สงครามระหว่างกองกำลัง KIA ของคะฉิ่นกับรัฐบาลพม่าก็ได้ปะทุขึ้นมาอีก ซึ่งการต่อสู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาจนถึงเวลานี้ ก็ยังดูเหมือนว่าสงครามจะไม่มีวันสิ้นสุด

ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์สู้รบครั้งล่าสุด เมื่อช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังทหารพม่า ได้เข้าถล่มโจมตีป้อมคะยาบุม (Hka Ya Bum) จุดยุทธศาสตร์สำคัญของคะฉิ่น ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ก็จะดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่า ได้หันกลับมาทบทวนศึกษาและพยายามเลียนแบบวิธีการสู้รบของกองกำลังทหารอังกฤษในอดีต เนื่องจากพื้นที่ฐานที่มั่นของคะฉิ่นนั้น ตั้งอยู่ตามยอดเขา ดังนั้น วิธีเดียวที่จะสู้รบได้นั่นคือ การใช้ปืนใหญ่เข้าถล่มฐานที่มั่นของ KIA รวมไปถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ โดยใช้เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ อาวุธหนัก และทหารจำนวนมาก ในการโจมตีป้อมคะยาบุม

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำให้นานาชาติหันมามองว่ารัฐบาลพม่า ได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือไม่ เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด เพราะการสู้รบครั้งนี้ ส่งผลทำให้ประชาชนชาวคะฉิ่นได้รับความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย และจำต้องพากันหนีตายอพยพเข้าไปลี้ภัยในประเทศจีนนับแสนคน

 

 

ข้อมูลประกอบ

1.มนตรี กาทู และคณะ, หนังสือกะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้,ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์,พรสุข เกิดสว่าง บรรณาธิการ,กันยายน 2555

2.กองทัพคะฉิ่นเสียป้อมสำคัญ "ออง ซาน ซูจี" ออกวิทยุบีซีซีระบุชอบกองทัพพม่าเพราะพ่อตั้ง,ประชาไท,28 มกราคม 2556

3.องอาจ เดชา,ไปเต้นมะเนา กับสงครามซึ่งไม่มีที่สิ้นสุดของชาวคะฉิ่น,ประชาไท,13 มกราคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net