ชี้ ‘โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน’ ส่อทุจริต ลุยยื่น ปปช.เอาผิด ครม.-กบอ.ยกชุด

เครือข่ายภาคประชาชน แถลงค้านแผนบริหารจัดการน้ำเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ชี้สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ-ขาดการมีส่วนร่วม เตรียมยื่นเรื่อง ปปช.เอาผิด ครม-กบอ.ยกชุด ทั้งร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว

 
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.56 เวลา 13.30 น.เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย Thaiflood.com และเครือข่ายธุรกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านแผนบริหารจัดการน้ำเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุ แผนงานดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างร้ายแรง ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 50
 
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แถลงต่อสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานว่า ตามที่ กบอ.ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 ล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาออกแบบและจัดการน้ำของคนไทยทั้งประเทศ พิจารณาแผนงานดังกล่าวแล้วพบว่าจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างร้ายแรง
 
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของรัฐบาลและ กบอ.ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวอย่างเป็นวงกว้าง ทว่ารัฐบาลและ กบอ.ก็ยังเพิกเฉยต่อคำทักท้วง คำคัดค้านจากนักวิชาการ ผู้ชำนาญการ โดยเฉพาะการไม่พิจารณาทางเลือก อาทิ แผนการจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ที่สามารถประหยัดงบประมาณไปได้กว่าร้อยละ 70
 
นายศศิน กล่าวต่อมาว่า เมื่อเราได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ของแผนการจัดการน้ำของ กบอ. พบว่าเงื่อนไขหลายประการยังคงมีความคลุมเครือและยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะการไม่ระบุพื้นที่ดำเนินโครงการและพื้นที่เวนคืนที่ดินไว้อย่างชัดเจน อันอาจจะนำไปสู่การทุจริตทั้งจากนักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทผู้รับเหมาอย่างมโหฬาร
 
ทั้งนี้ ข้อสังเกตที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับแผนบริหารจัดการน้ำของ กบอ. มี 6 ข้อดังนี้
 
1.แผนการดำเนินงานของ กบอ.ดำเนินการผิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2550 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าแผนงานไม่ได้ทำตามกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (HEIA) โดยละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น
 
นอกจากนั้นยังพบอีกว่าทีโออาร์ฉบับดังกล่าวระบุไว้ว่า บริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกสามารถเบิกเงินล่วงหน้าได้ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่เงินจำนวนดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เป็นอามิสสินจ้างในการบิดเบือนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพ
 
2.การดำเนินการทั้ง 9 โมดูล (แผนงาน) ตามรายละเอียดในทีโออาร์ ไม่มีขอบเขตของงาน นอกจากนั้นยังขาดรายละเอียดเชิงพื้นที่ รายละเอียดของโครงการ กรอบเวลา และไม่มีกลไกหรือกระบวนการที่จะสร้างความเชื่อมโยงโครงการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน
 
3.การแบ่งความรับผิดชอบขาดความชัดเจนโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรเอกชนผู้รับจ้างจะเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน
 
4.เนื่องจากผ่านพ้นช่วงวิกฤติเร่งด่วนจากภัยน้ำท่วมขนาดใหญ่ ทำให้การดำเนินงานบางโมดูลไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบโดยเฉพาะโครงการช่องทางน้ำ หรือ Flood Way ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสูงที่สุดกว่าหนึ่งแสนล้าน ทั้งยังขาดการศึกษาด้านความคุ้มทุนของโครงการต่างๆ ตลอดจนความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในหลายหน่วยงานซึ่งดำเนินงานด้านการจัดการน้ำอยู่แล้ว
 
5.มีการโยกย้ายงบประมาณบางส่วนจากแผนเดิมที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ในช่วงหลังอุทกภัยใหญ่ พ.ศ.2554 โดยเฉพาะงบชดเชยพื้นที่รับน้ำนองไปดำเนินงานในส่วนอื่นซึ่งอาจนำไปสู่ช่องทางในการทุจริตงบประมาณ เนื่องจากไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนว่านำงบดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมใด
 
6.ในทีโออาร์ระบุไว้ว่าขอบเขตของงานทั้ง 9 โมดูล รัฐบาลให้บริษัทได้รับสัมปทานที่อำนาจในการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกแบบและก่อสร้าง ตลอดจนการเวนคืนที่ดิน การหาพื้นที่อพยพซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและวิถีอย่างรุนแรง
 
นายศศิน กล่าวว่า จากเหตุข้างต้นจึงขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดการน้ำของ กบอ.ต่อนายกรัฐมนตรี และยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้รัฐบาลได้ปรับขั้นตอนการดำเนินงานให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
 
ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า การนำเสนอรูปแบบบริหารจัดการน้ำของ กบอ.รัฐบาลได้นำเสนอให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการกำหนดราคากลาง ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ รวมไปถึงประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้การทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตามโครงการตามแผนแม่บทการบริหารการจัดการน้ำต้องมีการศึกษาก่อนทำโครงการ แต่รัฐบาลกลับมีการอนุมัติโครงการไปพร้อมกับการศึกษา ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักกฎหมาย
 
นายนิติธร กล่าวถึงการทำกิจกรรมต่อเนื่องว่า ในวันที่ 30 เม.ย.56 เครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และเครือข่ายนักวิชาการจะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดการน้ำของ กบอ.ต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
 
จากนั้น ในวันที่ 1พ.ค.เวลา 10.00 น.จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีการตรวจสอบการทุจริต โดยเอาผิดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะรัฐมนตรีที่ออกคำสั่งแต่งตั้ง กบอ.รวมถึง คณะกรรมการ กบอ.ทั้งคณะ ที่ถือว่าดำเนินการขัดหลักกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินการให้การประมูลงานของรัฐนำไปสู่การทุจริต
 
นายนิติธร กล่าวอีกว่า หลังจากยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี และ ปปช.แล้วจะเป็นการดูท่าทีของรัฐบาล หากยังไม่มีท่าทีตอบรับในข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะเดินหน้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ก่อนวันที่ 3 พ.ค.56
 
ส่วน นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ภาควิชาการ แสดงความเห็นฟันธงว่าโครงการเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน เปรียบเทียบกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีปัญหามากว่า 26 ปี ก็ยังไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งจากผลการศึกษาของ JICA แผนสิ่งก่อสร้างที่รัฐบาลไทยสามารถประหยัดงบประมาณไปได้กว่าร้อยละ 70 ซึ่งนั่นหมายความว่ามีการใช้งบประมาณเกินความจริง และไม่ได้ศึกษามาก่อน จึงต้องมีการต่อต้าน ต่อสู้อย่างเข้มข้นบนวิถีทางที่ถูกกฎหมาย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท