Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ออง ซาน ซูจี ปราศรัยเมื่อ 17 พ.ย. 2554 (ที่มา: วิกีพีเดีย/แฟ้มภาพ)

 

การหายตัวไปของสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพม่าเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นข่าวที่น่าสลดใจอย่างยิ่งในรอบหลายปี

เป็นเรื่องที่ทำใจลำบากอยู่แล้วเมื่อนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายด้านสิทธิมนุษยชน หายตัวไปที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2004 ในระหว่างกำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาการทำทารุณกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ข่าวน่าสะเทือนใจที่คล้ายคลึงกันคือการลักพาตัวนายโจนาส เบอร์โกส ทนายที่ต่อสู้เพื่อชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกิน จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตเกซอนซิตี้ของกรุงมะนิลา

หลังจากนั้นอีก 4 เดือน สมบัด สมพอน นักการศึกษาและนักรณรงค์สิทธิชาวลาว ถูกหยุดตรวจโดยตำรวจในเวียงจันทน์และต่อมาก็ถูกควบคุมตัวเข้าไปในรถกระบะ

ไม่มีใครเห็นคนเหล่านี้อีกเลย

มาในตอนนี้ก็เกิดการหายตัวไปอย่างลึกลับของด่อออง ซาน ซุจี* เพื่อนและเพื่อนร่วมงานของนางสงสัยว่าการหายตัวในครั้งนี้จะเป็นฝีมือของผู้นำในกองทัพและผู้ใกล้ชิดระดับมหาเศรษฐี

หากเป็นเรื่องจริง คนกลุ่มนี้ได้เล่นกลลวงและได้นำคนหน้าเหมือนมาสวมรอยแทนเธอ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับบุคคลสำคัญทางการเมืองมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวินสตัน เชอร์ชิล เฮนรี่ คิสซินเจอร์ และซัดดัม ฮุสเซน

เรามาทบทวนกันดีกว่าว่าการกระทำที่แสนจะขี้ขลาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในปี 1988 เมื่อด่ออองซานซุจีกลับมาจากพม่า (จากอังกฤษ – ผู้แปล) ด่ออองซานซุจีกลายเป็นตัวแทนผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้มีระบบหลายพรรคที่เป็นของประชาชนและปลอดจากการคอรัปชั่นที่รัฐเห็นชอบ เธอยังต่อสู้กับการค้ายาเสพย์ติด และการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

เธอประณามเผด็จการทหารที่บริหารทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ในประเทศของเธอผิดพลาด และทำให้ประชาชนต้องจมอยู่กับความยากจน และในระหว่างนี้เองเธอก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในช่วงที่เธอถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก

จากนั้น ในปี 2010 เธอก็ได้รับการปล่อยตัวจากการจองจำและได้รับเสรีภาพให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางส่วนซึ่งไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

เธอออกหาเสียงไปทั่วประเทศ ได้รับชัยชนะจำนวนหนึ่งที่นั่งในรัฐสภา และ ยังเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับรางวัลโนเบล และยังได้รับเกียรติให้เข้าพบผู้นำระดับโลกทั้งที่วอชิงตัน ลอนดอน และปารีส

จากนั้น จู่ ๆ เธอก็หายตัวไป หรืออย่างน้อย ๆ ด่ออองซานซุจีตัวจริงที่เราทุกคนรู้จักได้หายตัวไป มีผู้หญิงอีกคนหนึ่งปรากฏกายในที่ของเธอ มีชื่อเดียวกันและมีบุคลิกลักษณะใกล้เคียงกันด้วย

สิ่งมีชีวิตใหม่สิ่งนี้กระโดดลงไปบนเตียงกับเหล่านายพลและคนสนิทฐานะมั่งคั่งของพวกเขา เป็นตัวละครอย่างเฟาสต์** เช่นเดียวกับลีกวนยูและฮุนเซน ที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสต๊าฟไว้อีกต่อไป

“เป็นเรื่องจริง ดิฉันชอบกองทัพ” เธอกล่าวออกรายการ Desert Island Discs ของบีบีซี พร้อม ๆ กับเลือกเพลง Here Comes the Sun ของเดอะบีเทิลส์ และ Green Green Glass of Home ของทอม โจนส์ เป็นสองเพลงในจำนวนเพลงที่เธอเลือก

นี่เป็นด่ออองซานซุจีตัวจริงแน่หรือ ที่ชื่นชมนายทหารในกองทัพ ซึ่งหากเราจำกันได้ ก็คือพวกที่เกณฑ์ทหารเด็ก ปล้นและข่มขืนชนกลุ่มน้อย และสังหารผู้ชุมนุมประท้วงหลายร้อยคนในปี 1988 และ 2007

ไม่นะ นี่ต้องเป็นตัวปลอมสิ เพราะผู้หญิงคนนี้ทำแม้กระทั่งสรรเสริญคนพวกนั้น และยังยินดีรับเงินบริจาคในงานระดมทุนของพรรคจากคนอย่างอูเธสะและอูจอวิน ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาด้วยช่องทางที่ไม่บริสุทธิ์ พร้อมทั้งรถเฟอรารี่และโรลสรอยซ์ของพวกเขานั้นล้วนมาจากสัญญากับทหารและกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนั้น “นกต่อ”ในรูปของอองซานซุจีตัวปลอมนี้ยังเห็นดีเห็นงามกับเหมืองทองแดงเลทปะด่อง (Letpadaung) ที่มีกลุ่มทหารจีนเป็นเจ้าของด้วยส่วนหนึ่ง และ Union of Myanmar Economic Holdings ที่มีกองทัพเป็นเจ้าของอีกด้วย

โครงการที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมานานนี้ได้ขับไล่ชาวนาหลายร้อยคนออกไปจากพื้นที่และเปลี่ยนพื้นที่ชนบทบ้าน ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ประมาณหลุมบ่อที่แสนสยดสยองบนพระจันทร์ที่จะท้าทายความสามารถแม้แต่จิตรกรอย่างเฮียโรนิมัส บอส (Hieronymus Bosch)***

แม้ภายหลังกองกำลังรักษาความสงบได้ยิงกระสุนฟอสฟอรัสขาวเข้าไปยังกลุ่มชาวนาผู้ชุมนุม “นกต่อ” ด่ออองซานซุจียังย้ำอีกว่าเธออยู่ข้างเดียวกับเหมืองทองแดงและเธอจะลงโทษชาวนาเหล่านั้นที่ได้ประท้วงเหมืองโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน

หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ทำให้เห็นปีศาจนกต่อตนนี้ คือเมื่อชาวมุสลิมในเมืองเมกติลา (Meiktila) ย่างกุ้ง และรัฐยะไข่ถูกสังหารโดยกลุ่มชาวพุทธฝ่ายขวาจากชุมชนชาวพม่าแท้ (Bamar) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นฐานเสียงสำคัญของด่อออองซานซุจี

ท่านผู้หญิง**** ได้ลุกขึ้นมาประณามการสังหารหมู่นี้หรือไม่ เธอเปล่า

สิ่งเหล่านี้มันไม่เหมือนด่ออองซานซุจีตัวจริงเอาเสียเลย คำอธิบายเดียวที่เป็นไปได้คือนี่เป็นอุบายชั่วของทหารที่วางแผนลักพาตัวเธอและนำหุ่นเชิดขี้ประจบมาสวมรอยแทน

เราคงได้แต่เพียงหวังว่าใครสักคนจะปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระ...แล้วก็เร็ว ๆ นี้ด้วย

 

เชิงอรรถ

* ด่อ (Daw) เป็นคำนำหน้าชื่อผู้หญิงพม่าวัยกลางคนขึ้นไปทั้งที่แต่งงานแล้วหรือไม่ได้แต่งงาน มีความหมายใกล้เคียงกับ “นาง” ในภาษาไทย แต่ใช้อย่างกว้างขวางมากกว่าและยังมีนัยยะเรื่องการให้ความเคารพ ดังนั้นจึงไม่มีชาวพม่าที่กล่าวถึงด่ออองซานซุจีว่า “อองซานซุจี” เฉย ๆ แต่จะมี “ด่อ” นำหน้าชื่อด้วยเสมอ

**เฟาสต์ (Faust) เป็นตัวเอกของตำนานเก่าแก่ของเยอรมัน ชีวิตของเฟาสต์จัดเป็นเรื่องราวแบบโศกนาฏกรรม เฟาสต์เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในชีวิตแต่กลับไม่พอใจกับชีวิตของตน และได้ตกลงกับปีศาจเพื่อแลกวิญญาณของตนกับความรู้และความสุขทางโลก เฟาสต์เป็นตัวละครที่ถูกศิลปินเยอรมันหลายยุคหลายสมัยจับมาสร้างเป็นงานศิลปะและวรรณกรรม แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นบทประพันธ์เรื่องเฟาสต์ของเกอเธ (Johann Wolfgang von Goethe)

***เฮียโรนิมัส บอส (Hieronymus Bosch) เป็นจิตรกรชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงจากการวาดบานพับภาพ (triptych) บานพับภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของบอสเป็นภาพของสวรรค์กับนรกชื่อ The Garden of Earthly Delights

**** The Lady เป็นสมญานามที่ทั่วโลกมอบให้ด่ออองซานซุจีด้วยความรักและเคารพ ผู้แปลขอแปลตรงตัวในที่นี้ว่า “ท่านผู้หญิง” ด้วยท่าทางและท่าทีที่สง่างามของเธอที่ทำให้อดคิดมิได้ว่าเธอเป็น “ท่านผู้หญิง” จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net