รอบโลกแรงงานเมษายน 2556

ชาวบังกลาเทศผละงานประท้วงรัฐบาลทั่วประเทศ
 
2 เม.ย. 56 - ตำรวจบังกลาเทศรายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้จุดชนวนระเบิดทำมือขนาดเล็กและจุดไฟเผารถยนต์หลายคันในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุดในกรุงธากา
 
พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักและพันธมิตรอีก 17 พรรค จัดการประท้วงครั้งนี้เพื่อปลุกระดมให้มีการผละงานทั่วประเทศในวันนี้ เพื่อกดดันให้รัฐบาลปล่อยตัวสมาชิกฝ่ายค้าน 150 คนที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งก่อนหน้า  ตำรวจระบุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงครั้งนี้อย่างน้อย 30 คน
 
การเรียกร้องให้มีการผละงานประท้วงเป็นกลยุทธเพื่อตอกย้ำถึงความต้องการของพรรคฝ่ายค้านในบังกลาเทศ การผละงานประท้วง รวมถึงการออกมาประท้วงบนท้องถนนหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 คน
 
รัฐสภาบราซิลมีมติแก้ไขกฎหมาย เปิดทางคนรับใช้ในบ้านกว่า 6 ล้าน มีสิทธิเท่าเทียมพนักงานทั่วไป
 
4 เม.ย. 56 - การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่าคนทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งรวมถึง แม่บ้าน คนดูแลเด็ก คนขับรถ และผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ สามารถทำงานได้มากที่สุด 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะได้รับค่าจ้างล่วงเวลาหากทำงานเกินเวลาและได้อัตราค่าจ้างพิเศษสำหรับกะกลางคืน
 
ตัวเลขทางการระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลต่อผู้ทำงานรับใช้ในบ้านประมาณ 6,500,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงถึง 6,100,000 แต่ตัวแทนจัดหางานระบุว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,700,000 คน โดยแรงงานรับใช้ภายในบ้านเป็นภาคที่มีพนักงานมากที่สุดอันดับสามของบราซิล
 
บราซิล ซึ่งกว่าครึ่งของประชากร 194 ล้านคน มีเชื้อสายชาวแอฟริกัน เป็นประเทศสุดท้ายในทวีปอเมริกาที่ล้มเลิกระบบทาสเมื่อปี 2431 นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่าการพึ่งพาคนงานรับใช้ในบ้านของครอบครัวบราซิลนั้นฝังรากอยู่ในประวัติศาสตร์การใช้ทาสของประเทศ
 
ก่อนหน้านี้ คนงานรับใช้ในบ้านไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับพนักงานทั่วไป ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแจ้งชื่อคนงาน เพื่อจะได้ใช้สิทธิประกันสุขภาพและผลประโยชน์หลังเกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนงานกว่า 2 ใน 3 ไม่ได้ถูกแจ้งชื่อจากนายจ้าง
 
นายครูซา โอลิวิเอรา ประธานบริหารสมาพันธ์คนทำงานรับใช้ในบ้านแห่งบราซิล กล่าวว่า นี่ไม่ใช่แค่ประเด็นความเท่าเทียมกันของสิทธิ แต่ยังเป็นการบูรณาการทางสังคมและการชดเชยให้แก่คนทำงานรับใช้ในบ้านเกือบ 8 ล้านคนในบราซิล
 
ประเด็นดังกล่าวได้รับการถกเถียงอย่างมากในสื่อบราซิล เนื่องจากสิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางวัฒนธรรม ที่อาจจะทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางต้องเลิกจ้างคนใช้
 
 
คนงานชาวเกาหลีใต้ยังคงทยอยกันข้ามพรมแดนกลับ
 
6 เม.ย. 56 - คนงานชาวเกาหลีใต้ยังคงทยอยกันข้ามพรมแดนกลับหลังเกาหลีเหนือปิดพรมแดนติดต่อกันเป็นวันที่ 4
 
ในวันนี้คนงานเกาหลีใต้ยังคงทยอยกันออกจากนิคมอุตสาหกรรมแคซองของเกาหลีเหนือ ข้ามแดนกลับสู่เกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้คาดว่า ภายในวันนี้จะมีคนงานเกาหลีใต้ข้ามแดนกลับเข้ามาราว 600 คน  ผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง คนหนึ่งกล่าวว่า เห็นทหารเกาหลีเหนือบริเวณชายแดนติดอาวุธพร้อมรบเต็มที่  แต่ยังไม่เห็นการเสริมกำลังแต่อย่างใด เกาหลีเหนือนั้น ไม่ได้ขับไล่คนงานเกาหลีใต้ออกนอกประเทศ แต่เจ้าของกิจการตัดสินใจให้คนงานกลับเพราะการปิดพรมแดน ทำให้วัตถุดิบต่างๆ ไม่อาจขนส่งไปยังโรงงานได้ ทำให้ต้องหยุดการผลิตไป โดยปริยาย  สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแคซองนี้เป็นความร่วมมือของรัฐบาลเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้โดยมีผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้และใช้แรงงานชาวเกาหลีเหนือ
 
คนงานท่าเรือชิลีเลิกสไตร์ค
 
7 เม.ย. 56 - กลุ่มคนงานการท่าเรือในชิลีได้ยุติการหยุดงานที่ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์ ที่ส่งผลให้การขนส่งทองแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศเป็นอัมพาต  สหภาพแรงงานการท่าเรือชิลีแถลงว่า ขณะนี้ คนงานได้กลับไปทำงานตามปกติแล้ว   ภายหลังมีการบรรลุข้อตกลงกับบริษัทเอกชนอัลตราพอร์ท ซึ่งดูแลท่าเรือเมจิลโลเนส ทางเหนือของชิลี  โดยให้คนงานมีเวลารับประทานอาหารกลางวันไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง  และให้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ขณะที่ เอวิลิน  มัตเทอี  รมว.แรงงานได้เข้าร่วมการเจรจาจนนำไปสู่การยุติการหยุดงาน
 
ทั้งนี้ การนัดหยุดงานของคนงานได้ลุกลามไปยังท่าเรือต่างๆ 8 แห่งในประเทศชิลี ส่งผลกระทบต่อการขนส่งทองแดงวันละประมาณ 9,000 ตัน รวมทั้งการส่งออกผลไม้บางชนิดด้วย   สำหรับชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ของโลก  โดยชิลีผลิตได้ปีละ 5.6 ล้านตันหรือราว 1 ใน 3 ของการผลิตทองแดงทั่วโลก
 
คนงานเกาหลีเหนือไม่ไปทำงานที่ "นิคมอุตสาหกรรมแคซอง"
 
9 เม.ย. 56 - สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า คนงานเกาหลีเหนือไม่ได้รายงานตัวเข้าทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมแคซองในวันนี้ (9 เม.ย.) หลังเกาหลีเหนือประกาศถอนคนงานทั้งหมดออกและระงับการดำเนินการทั้งหมดโดยไม่มีกำหนด
 
ทั้งนี้ มีบริษัทของเกาหลีใต้กว่า 120 แห่ง ที่เปิดดำเนินการภายในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง ซึ่งตั้งอยู่ในเกาหลีเหนือ โดยมีการจ้างคนงานเกาหลีเหนือกว่า 53,000 คน การที่เกาหลีเหนือระงับกิจกรรมในนิคมแคซองซึ่งถือเป็นโครงการความร่วมมือเดียวที่ยังเหลืออยู่ระหว่างสองเกาหลีเมื่อวานนี้กลายเป็นเหตุตึงเครียดล่าสุด
 
โฆษกกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ไม่มีคนงานชาวเกาหลีเหนือเข้ารายงานตัวเข้าทำงานในเช้าวันนี้ ขณะที่คนงานชาวเกาหลีใต้หลายร้อยคนยังคงเดินทางไปทำงานตามปกติ ด้านประธานาธิบดีปัก กึน-ฮเยของเกาหลีใต้ กล่าวว่า การบอยค็อตต์ไม่มาทำงานครั้งนี้ อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเกาหลีเหนือ
 
เธอกล่าวในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในกรุงโซลว่า การลงทุนคือความสามารถในการคาดการณ์ผลและความไว้วางใจ และเมื่อเกาหลีเหนือกระทำการละเมิดกฎและคำสัญญาเช่นนี้ ขณะที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง จะไม่มีประเทศใดในโลกจะลงทุนในเกาหลีเหนืออีก
 
เหตุการณ์นี้่ถือเป็นหนึ่งในวิกฤติครั้งเลวร้ายที่สุดระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 และนับเป็นครั้งแรกที่มีการระงับการดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่เมื่อปี 2004  เหตุตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายปะทุขึ้นนับตั้งแต่สหประชาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรที่แข็งกร้าวขึ้นกับเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้ที่ทดสอบนิวเคลียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
 
 
คนงานท่าเรือฮ่องกงประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
10 เม.ย. 56 - คนงานท่าเรือในฮ่องกงพากันผละงานประท้วงต่อเนื่องหลังการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงไม่เป็นผล ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก
 
คนงานท่าเรือในฮ่องกงราว 500 คนยังคงปักหลักประท้วงต่อเนื่องนานถึง 2 สัปดาห์เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ซึ่งพวกเข้าระบุว่าไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงมานานเป็น 10 ปี ในขณะที่ค่าครองชีพต่างๆ ได้ถีบตัวสูงขึ้นไปมาก โดยพวกเขาต้องการขอขึ้นค่าแรงราวร้อยละ 20 และให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น แต่การเจรจาระหว่างตัวแทนแรงงานกับฝ่ายผู้บริหารเมื่อวานนี้ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ผลจากการผละงานประท้วงทำให้มีตู้สินค้าจำนวนมหาศาลตกค้างอยู่ที่ท่าเรือของฮ่องกง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 3 ของโลก ทำให้การทำงานของท่าเรือแทบจะกลายเป็นอัมพาตและสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทที่บริหารท่าเรือเป็นมูลค่าถึงวันละ 640,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 
 
′ซีอีโอ ไรอันแอร์′ แก้ข้อกล่าวหา หลัง ถูก ′2 แอร์โฮสเตส′ ฟ้องว่าถูกใช้งานเยี่ยง ′ทาส′
 
12 เม.ย. 56 - ‘ไมเคิล โอเลียรี’ ซีอีโอ สายการบิน ‘ไรอัน แอร์’ สายการบินสัญชาติไอริช บินไปนอร์เวย์ ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 เม.ย.56) เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าสายการบินต้นทุนต่ำของเขาใช้พนักงานราวกับ ‘ทาส’ หลังถูกคว่ำบาตรจากสหภาพแรงงานและนักการเมืองของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน
 
รายงานระบุว่าอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2 คน ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสายการบินเพราะถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและกล่าวหาว่าสายการบินละเมิดกฏหมายแรงงาน โดยทนายของทั้งคู่ระบุว่าสัญญาจ้างงานของไรอันแอร์ ‘เป็นสัญญาทาส’
 
ขณะที่นายโอเลียรีให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทให้ความเคารพกฎหมายยุโรปอย่างมาก และบอกว่าเขาต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อใน ‘การฟ้องร้องอันเป็นเท็จ’ ครั้งนี้
 
สายการบินไรอันแอร์มีเป้าหมายที่จะเติบโตในนอร์เวย์  แต่ถูกนักการเมืองและสหภาพแรงงานออกมาเรียกร้องให้นักเดินทางคว่ำบาตร ไม่ใช้บริการสายการบิน เพราะเหตุการณ์ฟ้องร้องครั้งนี้  
 
นอกจากนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 เม.ย. 56)  ‘เจนส์ สโตลเท็นเบิร์ก’ นายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ประกาศว่า จะไม่เดินทางกับสายการบิน ‘ไรอัน แอร์’  อีกต่อไป
 
ก่อนหน้านี้สายการบินไรอันแอร์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 175 ลำ นับเป็นลูกค้าในยุโรปรายใหญ่ที่สุดของโบอิ้งที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ ปัจจุบันไรอันแอร์เป็นหนึ่งในสายการบินที่รวยที่สุดในโลก โดยมีเงินสดมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 120,000 ล้านบาท
 
สหภาพแรงงานครูเดนมาร์กจับมือเป็นโซ่มนุษย์ยาว 35 กม.ประท้วงถูกสั่งปิดโรงเรียน
 
10 เม.ย. 56 - ครูอาจารย์ในเดนมาร์กหลายพันคน จับมือเป็นโซ่มนุษย์ยาว 35 กิโลเมตร จากกรุงโคเปนเฮเกนไปจนถึงรอสกิลด์ เพื่อประท้วงกรณีถูกนายจ้างห้ามปฏิบัติงาน (lockout) นาน 1 สัปดาห์ หลังล้มเหลวเจรจาเกี่ยวกับชั่วโมงการสอน
       
มีครูอาจารย์จากสหภาพครูเดนมาร์ก ราวๆ 6,000 คน จับมือเป็นโซ่มนุษย์เรียงแถวไปตามถนนสายหลักในวันอังคาร (9) เพื่อแสดงพลังคัดค้านเทศบาลนครต่างๆ ที่ตัดสินใจปิดโรงเรียนระดับประถมและมัธยมทุกแห่ง หลังจากการเจรจาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานซึ่งยืดเยื้อมานานหลายเดือน ได้ล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
       
“เราต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกครูมีความเป็นหนึ่งเดียวกันและเราพร้อมที่จะต่อสู้ ไม่ว่าจะนานเป็นเดือนหรือสองเดือน” นิโคไล กุนนาร์สัน ครูและหนึ่งในแกนนำจัดการประท้วงบอก
 
รายงานข่าวระบุว่า สหภาพครูเดนมาร์กปฏิเสธกฎหมายแรงงานใหม่ที่เสนอโดยหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งความเห็นต่างก็คือพวกนายจ้างต้องการยกเลิกข้อกำหนดตายตัวเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงที่ครูคนหนึ่งจะได้พักเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอน โดยพวกเขาบอกว่าควรยกสิทธิ์ให้แต่ละโรงเรียนมีสิทธิ์กำหนดเวลาเตรียมการสอนด้วยตนเอง
       
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหา lockout ครูราวๆ 67,000 คนทั่วเดนมาร์กถูกห้ามเข้าไปยังสถานที่ทำงาน และนักเรียนราว 875,000 คนก็ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะไม่มีครูคอยสอนหนังสือ
 
พนง.พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายลูฟวร์ประท้วงล้วงกระเป๋า
 
11 เม.ย. 56 - พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายลูฟวร์ชื่อดังในกรุงปารีสของฝรั่งเศสได้ปิดทำการอย่างสิ้นเชิงเมื่อวานนี้เมื่อพนักงานพากันผละงานประท้วงปัญหานักล้วงกระเป๋าที่ทำลายภาพลักษณ์จนไม่มีชิ้นดี
 
นักท่องเที่ยวพากันแสดงความผิดหวังเมื่อพบว่า พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายลูฟว์ร์ของฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้เข้าชมวันละไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ได้ปิดบริการลง เนื่องจากพนักงานพากันชุมนุมประท้วงปัญหาโจรล้วงกระเป๋านักท่องเที่ยวที่ระบาดอย่างหนัก จนทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของฝรั่งเศสลงจนไม่เหลือชิ้นดี แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีเหยื่อโจรล้วงกระเป๋ามากน้อยเพียงใด แต่โฆษกของพิพิธภัณฑ์ได้ยืนยันว่าปัญหาโจรล้วงกระเป๋ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แม้ตำรวจจะเข้ามาจัดการ และพิพิธภัณฑ์ก็ให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาก็ไม่ได้เบาบางลงเลย โดยพิพิธภัณฑ์ได้ออกฎเหล็กว่าผู้กระทำความผิดที่ถูกจับได้จะถูกห้ามเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ตลอดไป
 
โจรล้วงกระเป๋าส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ที่อพยพมาจากประเทศในยุโรปตะวันออกประมาณ 30 คน โดยกระจายกันออกล่าเหยื่อทั้งที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ในกรุงปารีส สำหรับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แห่งนี้มีพนักงานราว  1,000 คน เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวมาแวะชมถึง  10 ล้านคน
 
คนฝรั่งเศสหางานทำนอกประเทศมากขึ้น
 
14 เม.ย. 56 - คนฝรั่งเศสที่ออกไปหางานทำในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 14% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยคนฝรั่งเศสจำนวนมากไปหาโอกาสที่ดีกว่า หลังจากศก.ประเทศเริ่มซบเซา
 
ตัวเลขของรัฐบาลพบว่าคนฝรั่งเศสอายุ 18-25 ที่ออกไปหางานทำในต่างประเทศ มีจำนวน 155,266 คน โดยคนหนุ่มสาวฝรั่งเศส 27% ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มองเห็นว่าตัวเองจะมีอนาคตในหน้าที่การงานก็ต่อเมื่อไปหางานทำในต่างประเทศ ส่วนเมื่อปีที่แล้วมีคนที่คิดเช่นนี้เพียง 13%
 
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยไซแอนซ์โพ กล่าวว่าอัตราว่างงานในหมู่หนุ่มสาวที่สูงถึง 25% ทำให้คนหนุ่มสาวมุ่งหน้าไปหางานในต่างประเทศ เพื่อจะได้เริ่มต้นอาชีพการงานที่สดใส
 
ในภาพรวมแล้ว อัตราว่างงานของฝรั่งเศสขึ้นถึง 10% ผลจากการลอยแพคนงานหลายพันคนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ตกต่ำ
 
หัวหน้าคนงานคลั่งกราดยิงแรงงานต่างด้าวในไร่สตรอเบอร์รีในกรีซ
 
19 เม.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซวันนี้ว่า เกิดเหตุหัวหน้าคนงานกรีซ ใช้อาวุธปืนกราดยิงแรงงานต่างด้าวในไร่สตรอเบอร์รีเมื่อวานนี้ ทำให้แรงงานต่างด้าวประมาณ 30 คนได้รับบาดเจ็บ หลังจากที่พวกเขามาขอรับเงินเดือนค้างจ่าย โดยแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบังกลาเทศ ถูกยิงในหมู่บ้านเปโลปอนเนเซียน ทางตอนใต้ของกรีซ แรงงานหลายคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่โชคดีไม่ใครบาดเจ็บสาหัส
 
ส่วนเจ้าของไร่สตรอเบอร์รี และหัวหน้าคนงาน ถูกจับกุมตัวได้ในเมืองเนีย มาโนลาดา ห่างจากกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ไปทางตะวันตกประมาณ 26 กิโลเมตร โดยเมืองดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานอพยพหลายพันคนเข้ามาทำงานในไร่
 
โดยก่อนเกิดเหตุ มีแรงงานประมาณ 200 คน มารวมตัวกันขอเงินเดือนที่นายจ้างยังไม่ได้จ่าย แต่กลับถูกหัวหน้าคนงานอย่างน้อย 1 คน กราดยิง ด้านนายซิมอส เคดิโคกลู โฆษกรัฐบาล ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเขาเรียกว่า เป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม
 
ทั้งนี้ ความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติรุนแรงมากขึ้นในกรีซ ซึ่งแรงงานชาวกรีซ 1 ใน 4 ตกงาน หลังจากประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน 5 ปี
 
โรงงานเสื้อผ้าถล่มในบังกลาเทศ
 
24 เม.ย. 56 - เจ้าหน้าที่กู้ภัยบังกลาเทศรายงานว่า อาคาร 8 ชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเสื้อผ้า ตลาด และสาขาธนาคาร เกิดพังถล่มลงมาบริเวณชานกรุงธากา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 ราย และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก
 
รายงานระบุว่า เหตุเกิดที่อาคารรานา พลาซ่า ในเขตซาวาร์ห่างจากกรุงธากา 30 กิโลเมตร เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.00 น. ตามเวลาไทย) และมีเพียงชั้นแรกของอาคารที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานดับเพลิงกล่าวว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้กู้ศพของผู้เสียชีวิต 15 ราย ออกมาจากซากปรักหักพัง และเกรงว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ได้มีการขอกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือในการกู้ภัยแล้ว เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและเจ้าหน้าที่กู้ภัยของกองทัพหลายร้อยคนพร้อมด้วยเครื่องตัดคอนกรีตและปั้นจั่นกำลังขุดลงไปในซากปรักหักพังเพื่อดึงคนที่ติดอยู่ในนั้นออกมา ขณะที่ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ก็เข้ามาช่วยเหลือโดยใช้มือเปล่า
 
ด้านตำรวจท้องถิ่นกล่าวว่า สถานการณ์ยังเลวร้ายและเกรงว่าจะมีคนติดอยู่ในซากปรักหักพังอย่างน้อย 100 คน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียงรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 35 คนถูกส่งเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ส่วนอีก 150  คนได้รับการปฐมพยาบาลโดยไม่ได้นอนโรงพยาบาล คนงานของโรงงานเสื้อผ้าเล่าว่า เขาอยู่ในแผนกตัดผ้าของโรงงาน เขาและเพื่อนร่วมงานได้ยินเสียงดังสนั่นแล้วตัวอาคารก็ถล่มลงมาภายในไม่กี่วินาที แต่เขาและเพื่อนร่วมงานอีก 2 คนออกมาได้ แต่คนงานในแผนกตัดผ้าอีกอย่างน้อย 30 คนยังไม่ทราบชะตากรรม ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์โซมอยของบังกลาเทศรายงานว่า มีรอยร้าวบนอาคารดังกล่าวเมื่อบ่ายวานนี้ สร้างความแตกตื่นให้กับคนงานที่ตื่นตระหนก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันรายงานดังกล่าว ตึกถล่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบังกลาเทศเนื่องจากส่วนใหญ่ฝ่าฝืนกฎหมายการก่อสร้างในการสร้างอาคารหลายชั้น.
 
เหยื่อตึกถล่มบังกลาเทศพุ่งอย่างน้อย 273 ศพ
 
25 เม.ย. 56 - ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากเหตุพังถล่มของอาคารโรงงานเสื้อผ้าสูง 8 ชั้น นอกกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 273 คนแล้ว ขณะที่หน่วยกู้ภัยบังกลาเทศซึ่งเร่งทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง สามารถช่วยผู้รอดชีวิตที่ติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารดังกล่าวออกมาได้ถึง 45 คน
       
รายงานข่าวระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร 8 ชั้น “รานา พลาซา” พังถล่มลงมาบริเวณนอกเมืองหลวงของบังกลาเทศนั้นได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 273 รายแล้ว และมีแนวโน้มจะพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นคนงานสตรีที่ทำงานกับบริษัทด้านสิ่งทออยู่ภายในอาคารดังกล่าว
       
อย่างไรก็ดี อาเหม็ด อาลี ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจดับเพลิงแห่งชาติ เผยว่า หน่วยกู้ภัยบังกลาเทศสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาจากใต้ซากอาคารที่ถล่มถึง 45 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้รอดชีวิต 41 คนที่ระบุว่าพวกเขาอยู่ในชั้นที่ 4 ของอาคารในช่วงที่เกิดการถล่ม
       
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ชาวบ้านจำนวนมากต่างอาสาเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในภารกิจค้นหาและกู้ภัยตลอดระยะเวลากว่า 2 วันที่ผ่านมา แม้พวกเขาจะต้องทำงานโดยใช้มือเปล่า
       
ด้านชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีหญิงวัย 63 ปีของบังกลาเทศ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (25) ว่าจะตามล่าเจ้าของโรงงานเสื้อผ้ามาลงโทษ หลังพบหลักฐานว่ามีการบังคับให้พนักงานกลับเข้าไปในตัวอาคารทั้งที่มีการตรวจพบรอยร้าว
       
ล่าสุด แพทริก เวนเทรลล์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลธาการวมถึงผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศเร่งหามาตรการสร้างความปลอดภัย รวมถึงปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงานในประเทศซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศว่ากำลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลบังกลาเทศและองค์กรแรงงานสิ่งทอของบังกลาเทศเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เพลิงไหม้
 
ยอดเหยื่อตึกถล่มในบังกลาเทศเพิ่มเป็น 304 ราย
 
26 เม.ย. 56 - ยอดผู้เสียชีวิตจากตึกโรงงานเสื้อผ้าถล่มในบังกลาเทศเพิ่มขึ้นเกิน 304 รายแล้วในวันนี้ ขณะที่อีกหลายพันคนยังคงรอติดตามข่าวอยู่แถวที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาญาติมิตรที่สูญหาย
 
โฆษกกองทัพบังกลาเทศ แถลงว่า ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวน 304 ราย และได้รับความช่วยเหลือออกมากว่า 2,300 คน นับตั้งแต่อาคารถล่มเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดของผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งต้องถูกตัดแขนขาออก เพื่อที่หน่วยกู้ภัยจะได้นำตัวออกจากซากอาคารได้
 
จับเจ้าของโรงงานถล่มที่บังกลาเทศ
 
27 เม.ย.56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยกู้ภัยสามารถค้นหาจนพบผู้รอดชีวิตเกือบ 50 คนใต้ซากอาคาร รานา พลาซ่า ในแถบชานกรุงธากาเมื่อวานนี้ หลังอาคาร 8 ชั้นพังถล่มลงมาตั้งแต่เช้าวันพุธ
               
ล่าสุด สามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาได้อีก 2 คนในเช้ามืดวันนี้ ทำให้ทีมกู้ภัยยังมีความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมอีก และสร้างความหวังให้กับญาติๆ หลายพันคนที่ถือรูปของผู้สูญหายและเฝ้ารอฟังข่าวรอบซากปรักหักพังของอาคารด้วยความเศร้าโศก แม้ว่าพบศพผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มเติมทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 324 คนแล้ว ขณะที่จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการช่วยเหลือออกจากซากอาคารได้กว่า 2,300 คน
               
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ตำรวจสามารถจับกุมเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 2 คนได้แก่ นายบาซลัส ซามัด ประธานบริษัท นิว เวฟ บัตทันส์ และ นิว เวฟ สไตล์  และนายมาห์มูดูร์ ราฮามาน ทาปาช กรรมการผู้จัดการของโรงงานหนึ่งในสองแห่งนี้  ในเช้ามืดวันนี้ โดยทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  หลังจากพวกเขาบังคับให้คนงานกลับเข้าไปทำงานในตึกทั้งที่พบรอยแตกร้าวในอาคารตั้งแต่เย็นวันอังคาร แม้ว่าตำรวจมีคำสั่งให้หยุดการทำงานและให้อพยพคนออกจากตึก
               
อย่างไรก็ตาม ข่าวการบังคับคนงานกลับเข้าไปในตึกที่แตกร้าวและการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจุดชนวนให้เกิดกระแสโกรธแค้น มีคนงานหลายพันคนชุมนุมประท้วงในบริเวณตึกถล่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีและขยายลุกลามไปยังโรงงานแห่งอื่นในวันศุกร์จนทำให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายคนงาน
 
“เวิลด์แบงก์” เผย แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนครองแชมป์ “ส่งเงินกลับบ้าน” มากที่สุดในอาเซียน ไทยรั้งที่ 4
 
29 เม.ย. 56 - รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นและการพัฒนาฉบับล่าสุดระบุว่า ฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชาชนอพยพไปทำงานในประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 12.6 ล้านคน ครองแชมป์ในฐานะดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับบ้านมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       
โดยในปี 2012 ที่ผ่านมา แรงงานชาวตากาล็อกที่ไปทำมาหากินอยู่ในต่างแดน ได้ส่งเงินกลับมายังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนคิดเป็นวงเงินสูงถึง 24,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 716,935 ล้านบาท)
       
นอกจากฟิลิปปินส์จะเป็นดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดในภูมิภาคแล้วแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนซึ่งมีจำนวน 12.6 ล้านคนยังครอง “อันดับที่ 3 ของโลก” ในด้านการส่งเงินกลับบ้านสูงสุดเป็นรองเพียงแค่แรงงานจากอินเดีย (69,350 ล้านดอลลาร์) และแรงงานจีนแผ่นดินใหญ่ (60,240 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น
       
สำหรับดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนาม (10,000 ล้านดอลลาร์) และอินโดนีเซีย (7,200 ล้านดอลลาร์)
 
ส่วนประเทศไทยถูกจัดให้เป็นดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีที่แล้วพี่น้องแรงงานไทยที่เดินทางไปขายแรงงานในต่างแดน มีการส่งเงินกลับประเทศคิดเป็นวงเงิน 4,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 120,880 ล้านบาท)
       
ขณะที่มาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับ 5 มีแรงงานส่งเงินกลับบ้าน 1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 37,220 ล้านบาท) ในปีที่แล้ว
       
ขณะที่เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว มีแรงงานส่งเงินกลับบ้านในปีที่ผ่านมาคิดเป็นวงเงิน 560 ล้านดอลลาร์, 250 ล้านดอลลาร์ และ 110 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ
 
อย่างไรก็ดี มีเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งทางธนาคารโลกระบุว่าไม่พบข้อมูลว่ามีแรงงานส่งเงินกลับประเทศ คือ สิงคโปร์และบรูไน ดารุสซาลามซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปขายแรงงานในต่างแดน เหมือนกับแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน
       
ข้อมูลจากรายงานของเวิลด์ แบงก์ยังระบุว่า ในปี 2012 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียอดเงินที่แรงงานส่งกลับประเทศรวมกันสูงถึง 47,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นยอดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2011 ถึง 8.43 เปอร์เซ็นต์
       
แต่หากคิดรวมยอดเงินทั้งหมดที่แรงงานพลัดถิ่นในทุกทวีปทั่วโลก ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดของตนในปีที่ผ่านมานั้น จะสูงถึง 401,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 11.7 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ราว 5.3 เปอร์เซ็นต์
       
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าขณะนี้มีผู้คนมากกว่า 215 ล้านคนทั่วโลกต้องอพยพออกไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่อีกมากกว่า 700 ล้านคนเป็นแรงงานที่ต้องอพยพย้ายถิ่นอยู่ภายในประเทศของตัวเอง
 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ไอเอ็นเอ็น, ครอบครัวข่าว, คมชัดลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท