Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วาดโดย วสันต์ สิทธิเขตต์ (ชื่อภาพ "ฉากจริงการเมืองไทยวันนี้" ไม่ใช่ชื่อภาพที่วสันต์ตั้งไว้ แต่ผมตั้งให้ โดยนำมาจากวรรคแรกของกลอนที่วสันต์โพสท์ขึ้นพร้อมกับภาพ) อ่านกลอนดังกล่าวได้ที่ http://on.fb.me/11vB0zr
 
1. กลวงและทื่อ
 
วสันต์ชอบที่จะเรียกงานหลายชิ้นของเขาว่าเป็นงาน "เสียดสี" ไม่ว่าจะเสียดสีสังคมหรือการเมือง แต่การเสียดสีนั้นต่างจากการด่าหรือถากถาง การเสียดสีอย่างน้อยต้องมีอารมณ์ขันและมีแง่มุมการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคม ภาพวาดชิ้นนี้ของวสันต์ขาดทั้งสองอย่าง จึงแน่ชัดว่างานชิ้นนี้ไม่ควรจะถูกเรียกว่างานเสียดสีการเมืองหรือเสียดสีสังคม หากจะเปรียบภาพนี้ของวสันต์เป็นคำพูด ก็เปรียบได้กับคำด่าผรุสวาท ที่ไม่ได้มุ่งให้ข้อมูล ไม่ได้มุ่งสร้างความขบขัน แต่มุ่งระบายความรู้สึก ในขณะเดียวกันก็มุ่งลดความเป็นมนุษย์ของผู้ที่พูดถึง (โดยการวาดให้คนอยู่ในรูปของสัตว์ซึ่งศิลปินเชื่อว่าต่ำกว่ามนุษย์) หรือสร้างความอับอายต่อผู้ที่พูดถึง (ด้วยการวาดให้เขาอยู่ในสภาพที่ศิลปินคิดว่าน่าอับอาย นั่นคือกำลังร่วมเพศ หรือถ้าไม่ร่วมเพศก็อยู่ในสภาพเปลือยและมีกำหนัด)
 
อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องของผลงานของวสันต์นั้น ไม่ได้อยู่ที่ความหยาบคาย หรือแม้แต่การลดทอนความเป็นมนุษย์และการสร้างความอับอายแก่ผู้ที่พูดถึง แต่อยู่ที่ความด้อยปัญญาของศิลปินในการให้เหตุผลสนับสนุนว่าทำไมบุคคลที่ถูกกล่วถึงจึงคู่ควรกับการวิจารณ์ในระดับความรุนแรงนั้น วสันต์ไม่ได้ให้เหตุผลสนับสนุนมากไปกว่าการพูดแบบกว้างๆ และคลุมเครือว่านักการเมืองแจกเงินซื้ออำนาจมาเพื่อเสพโลกียสุข ในแง่นี้ภาพวาดของวสันต์จึงขาดเนื้อหาของคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นคำวิจารณ์ที่ใช้คำพูดใหญ่ แต่กลวง ไร้น้ำหนัก เมื่อกระแทกเป้าหมายไปแล้วเป้าหมายไม่กระทบกระเทือน ไม่ต่างกับคำผรุสวาทของเด็กเกรียนที่อยากระบายความคับแค้นแต่ด้อยปัญญาเกินกว่าจะหาประเด็นโจมตีเป้าหมายให้กระทบกระเทือน และจนปัญญาจะชักจูงให้คนรอบข้างเข้าใจหรือรู้สึกร่วมกับตนได้
 
 
2. เฝือ เกร่อ ไร้ความคิดริเริ่ม
 
George Orwell กล่าวไว้ว่า นักเขียนพึงหลีกเลี่ยงการใช้บทอุปมาที่ถูกคนใช้กันจนเฝือ เพราะบทอุปมาหนึ่งๆ จะมีพลังกระตุ้นให้ผู้อ่าน/ผู้ชม จินตนาการตาม แล้วเห็นภาพที่สดใหม่ได้ ก็ต่อเมื่อผู้อ่าน/ผู้ชมไม่เคยได้อ่านได้ฟังมันมาก่อน เมื่อใดที่ผู้อ่าน/ผู้ชมได้ยินบทอุปมาซ้ำๆ หลายรอบเข้า จินตนาการที่ได้ย่อมหืน ไม่สดใหม่ และบทอุปมานั้นย่อมไม่คม ไม่มีพลังอีกต่อไป สิ่งที่ Orwell พูดนั้นไม่ได้จริงเฉพาะกับงานเขียนเท่านั้น แต่จริงกับงานศิลป์ประเภทอื่นด้วย เพราะการอุปมาไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปตัวหนังสือ งานศิลป์ที่ใช้ภาพสัญลักษณ์ (symbol) สื่อเนื้อหาสาระของงานนั้น ก็มีลักษณะเดียวกับบทอุปมาในงานเขียน ตรงที่ว่ามันจะมีพลังกระตุ้นอารมณ์และความคิดของผู้ชมได้ก็ต่อเมื่อมันสดใหม่ ไม่เคยถูกใช้มาแล้วอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่เฝือ ไม่หืน
 
ภาพวาดของวสันต์ไม่มีสัญลักษณ์ (หรือบทอุปมา) ใดใหม่ เขาใช้ภาพสัตว์เลื้อยคลานเพื่อเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย เขาใช้การร่วมเพศเป็นสัญลักษณ์ของการทำผิดศีลธรรม ความหมกมุ่นในโลกียสุข เขาใช้ภาพควายเป็นตัวแทนของความโง่และการโดนหลอกใช้ เขาวาดภาพกองหัวกะโหลกเป็นสัญลักษณ์ของหายนะ ความตาย ความทุกข์ทรมาน เขาวาดภาพคนกำลังเลียขานักการเมืองเพื่อสื่อว่าคนเหล่านั้นประจบประแจงนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ บทอุปมาเหล่านี้เป็นบทอุปมาที่ใช้กันดาษดื่น จนเกร่อ เฝือ หมดพลังที่จะกระตุ้นให้คิด ให้จินตนาการตาม ให้มองเห็นความเชื่อมโยงใหม่ๆ มันเป็นบทอุปมาสำเร็จรูปที่เหมาะกับคนที่ไม่สามารถคิดสร้างสรรค์บทอุปมาใหม่ๆ สัญลักษณ์ใหม่ๆ ทำได้แต่การนำเอาสิ่งที่คนอื่นคิดแล้วมาผลิตซ้ำ สำหรับงานศิลป์แล้วการขาดความคิดริเริ่ม (originality) นั้นเป็นอาชญากรรม ศิลปินคนใดที่ผลิตงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ย่อมควรถูกพิพากษาให้เป็นได้มากสุดแค่ช่าง
 
 
3. มองการเมืองอย่างฉาบฉวย อ้างคนส่วนใหญ่อย่างมือถือสากปากถือศีล
 
ศิลปินเจ้าของผลงานมองความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างฉาบฉวย เขามองความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับทหาร-ตำรวจ และความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มมวลชน ว่าไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง (กล่าวคือ นักการเมืองแจกเงิน แล้วทหาร-ตำรวจและมวลชนก็พร้อมเชื่อฟัง) เขามองสนามการเมืองว่าไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสถานที่สำหรับคนชั่วซื้อขายอำนาจกันง่ายๆ ด้วยเงิน และใช้อำนาจนั้นเพื่อเสพโลกียสุข
 
ที่แย่กว่าคือ ภาพวาดของวสันต์สื่อว่าการเมืองเป็นที่แห่งความหายนะของประชาชนคนส่วนใหญ่ ดังเห็นได้จากภาพกองกะโหลกจำนวนมากที่เป็นพื้นให้นักการเมือง ทหาร ตำรวจ สัตว์เลื้อยคลาน และสุนัข เหยียบย่ำ แต่วสันต์ลืมนึกไปว่าในความเป็นจริงแล้ว "คนส่วนใหญ่" ที่วสันต์อ้างถึงด้วยภาพกะโหลก กับเหล่าสุนัขที่มีหัวเป็นคนที่เลียขานักการเมืองอยู่นั้น เป็นคนกลุ่มเดียวกัน (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ซ้อนทับกันอย่างมีนัยสำคัญ) ในแง่นี้ภาพของวสันต์ทั้งขาดความระมัดระวังและมือถือสากปากถือศีล มันขาดความระมัดระวังตรงที่มันสื่อถึงคนกลุ่มเดียวกันราวกับว่าเป็นสองกลุ่มที่แยกขาดจากกัน และมันมือถือสากปากถือศีลตรงที่มันอ้างความสูญเสียของคนส่วนใหญ่มาเป็นเหตุผลด่านักการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็มองคนส่วนใหญ่ต่ำต้อยเพียงสุนัขที่คอยเลียขานักการเมือง
 
 
4. มุมมองศีลธรรมแบบละครน้ำเน่า
 
ภาพวาดของวสันต์สะท้อนมุมมองด้านศีลธรรมแบบละครน้ำเน่า ที่มองคนในโลกว่าแบ่งเป็นฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ตัวร้ายและตัวดี ปีศาจและเทวดา คนชั่วย่อมไม่มีมิติทางศีลธรรมที่ซับซ้อน ไม่มีเป้าหมายใดอื่นนอกจากเป้าหมายที่ต่ำและชั่ว ได้แก่การแสวงหาผลประโยชน์ทางวัตถุและโลกียสุขให้ตัวเอง และการกระทำทุกอย่างของเขาย่อมสะท้อนเป้าหมายนี้เสมอ ในละครน้ำเน่าคนดีจะคอยสนับสนุนคนดี ไม่เคยขัดแย้งขัดขวางกันเอง ในขณะที่คนชั่วก็จะทำธุรกรรมแต่กับคนชั่ว เพราะคนดีจะไม่มีทางยอมทำธุรกรรมใดๆ กับคนชั่ว ในทำนองเดียวกันวสันต์ก็มองว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่ทำธุรกรรมกับคนชั่ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ในภาพนี้เขาวาดภาพให้ใครก็ตามที่ทำธุรกรรมกับคนชั่ว (คือนักการเมือง นำโดยทักษิณ) เป็นสัตว์เดียรัจฉานที่กระเหี้ยนหาโลกียสุข
 
ในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์โลกนั้นซับซ้อนกว่าปีศาจและเทวดา เพราะมนุษย์มีความเชื่อ อุดมการณ์ ความอยาก ความกลัว ความสงสาร ความหลงใหล ความคำนึงถึงศักดิ์ศรี ที่ปีศาจและเทวดาไม่มี และสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเหตุผลชักนำการกระทำของมนุษย์แต่ละคนในแต่ละบริบทด้วยน้ำหนักต่างๆ กัน ศิลปินที่อยากเล่าเรื่องราวของมนุษย์ (ไม่ใช่เรื่องราวของปีศาจ เทวดา หรือหน้าผา ก้อนหิน) ต้องพยายามทำความเข้าใจความซับซ้อนนี้ 
 
มิติทางศีลธรรมในโลกนี้อาจซับซ้อนเกินไปสำหรับวสันต์ เขาเหมาะจะอยู่ในโลกที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ โลกที่เราสามารถลากเส้นแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นสิ่งดีกับสิ่งเลว คนดีกับคนเลว แล้วเลือกประณามคนเลวแบบตีขลุมได้โดยไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการพิเคราะห์เหตุผลที่มากมายซับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำแต่ละครั้ง ของแต่ละคน ในแต่ละบริบท เพราะคนดีก็ย่อมทำดีอยู่วันยังค่ำด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเขาดีโดยธรรมชาติ และคนชั่วก็ย่อมทำชั่วอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเขาชั่วโดยรากฐาน
 
 
5. มุมมองทางเพศแบบหลงยุค
 
ผลงานชิ้นนี้มองเซ็กซ์ว่าเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย การผิดศีลธรรม เป็นกิจกรรมของคนชั่วและสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสิ่งที่คนดีพึงหลีกเลี่ยง (หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ห้้ามสนุกกับมัน ต้องระลึกและรู้สึกผิดอยู่เสมอที่ตนได้ลงมาแปดเปื้อนกับกิจกรรมอันสกปรกโสมม) แนวคิดเกลียดกลัวเซ็กซ์นี้ราวกับหลุดมาจากยุคที่ศาสนาครอบงำความคิดคน ยุคที่มนุษย์ถูกสอนให้รู้สึกผิดกับการมีความสุขทางผัสสะแม้ว่าความสุขทางผัสสะนั้นจะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แนวคิดนี้เป็นเชื้อที่ควรจะถูกฆ่าไปตั้งแต่ตอนที่มนุษย์เปิดรับแสงสว่างของเหตุผลในยุคตื่นรู้ (Enlightenment) น่าเศร้าที่ขณะที่ส่วนอื่นของโลกกำลังผ่านกฏหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมของทุกเพศ (ไม่ใช่แค่ระหว่างสองเพศ) แต่ประเทศไทยกลับยังมีศิลปินที่ติดอยู่กับแนวคิดทางเพศที่ควรจะตายไปแล้วตั้งแต่เมื่อหลายศตวรรษก่อน 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net