Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผมมีความรู้สึกแปลกๆเมื่อเห็นคำกล่าวหรือคำให้สัมภาษณ์หรือแม้แต่ในถ้อยคำสำนวนในคำฟ้องหรือคำให้การในทำนองขอความเมตตาจากศาล ทั้งๆที่หน้าที่ความรับผิดชอบของศาลนั้นมีหน้าที่ที่จะให้ความยุติธรรมตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมอยู่แล้ว ซึ่งหมายความถึงการใช้หลักกฎหมายเป็นฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจว่าจะเมตตาหรือไม่เมตตาใคร และยิ่งมีความรู้สึกแปลกหนักเข้าไปอีกเมื่อเห็นในแบบฟอร์มของศาลที่ระบุว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” เพราะการพิพากษาคดีคงมิใช่เรื่องที่จะ “แล้วแต่จะโปรด”แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้พิพากษาเราอยู่เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ เราจะอำนวยความยุติธรรมไม่ว่าแก่ผู้ใด บริสุทธิ์ เข้มแข็ง กล้าต่อสู้ต่ออำนาจที่มาบีบบังคับ อำนาจที่จะมาจากสถานใดก็ตาม อำนาจที่เป็นกำลังอาวุธ กำลังอิทธิพล อีกทั้งอำนาจความยั่วเย้า ยั่วยวนของวัตถุนิยม เราต้องต่อสู้อำนาจเหล่านั้น จงรักษาความยุติธรรมเหมือนชีวิต เหมือนสุภาษิตลาตินบทหนึ่งว่า fiat justitia ruat coelum แปลว่า จงให้ความยุติธรรมแม้ฟ้าจะถล่มก็ตาม” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า do justice and let the sky fall หรือ let justice be done though the heavens fall

กอปรกับประมวลจริยธรรมตุลาการฯก็ได้กำหนดว่า “หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและ  นิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติอย่างนั้นอย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทอดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ” เมื่อผู้พิพากษามีความเป็นกลางและมีอิสระปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจใดๆ     ผู้พิพากษาย่อมมีหลักประกันในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ผลที่ตามมา คือประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบและกระบวนการยุติธรรม ประชาชนทุกฐานะ อาชีพ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย (Equality before the law) โดยไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย(No one above the law)

นับแต่เกิดวิกฤตทางการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลใดก็ตาม ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาคดีตามอำนาจหน้าที่ของตนได้สร้างความค้างคาใจให้แก่ประชาชนเป็นอันมากถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลาง จนล่าสุดที่ถึงกับมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านจากประชาชนจากกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล(อาญา) หรือกลุ่มเสื้อแดงหน้าศาลรัฐธรรมนูญและการปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจากฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาว่าเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น

เหตุแห่งความสงสัยในความเป็นกลางของศาลนั้นเกิดได้ในไม่กี่เหตุ คือ
 

1.การมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทางการเงิน

การมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทางการเงินย่อมทำให้ผู้พิพากษาและตุลาการขาดความเป็นกลาง ซึ่งในประเด็นนี้ไม่มีข้อสงสัยต่อการดำเนินการของศาลในวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาแต่อย่างใด และสังคมยังเชื่อมั่นในความโปร่งใสอยู่ในระดับที่สูงมาก แม้ว่าจะมีข่าวการไล่ออกผู้พิพากษาอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีเฉพาะบุคคลไม่ได้เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด
 

2.การมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

การมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลนี้ อาจเป็นกรณีของความสัมพันธ์ทางเครือญาติไม่ว่าจะเป็นญาติทางสายโลหิตหรือญาติทางการสมรส และยังหมายความรวมถึงความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการเกิดอคติได้ ในประเด็นนี้เริ่มมีข้อสงสัยเกิดขึ้นแต่มิใช่ประเด็นในแง่ของความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่เป็นประเด็นของความสัมพันธ์ในทางความคิด หรือทัศนคติทางการเมือง ดังปรากฏการณ์ที่มีการปรึกษาหารือระหว่างประมุขของฝ่ายตุลาการศาลต่างๆและเลขาธิการฯ จนเกิดความงุนงงสงสัยว่าศาลสามารถทำได้ด้วยหรือ มิหนำซ้ำบางคนในที่ประชุมนั้นยังได้รับอานิสงส์ของการเปลี่ยนทางการเมืองนั้นเสียอีกด้วย
 

3.การตัดสินคดีล่วงหน้า

สำหรับความเกี่ยวข้องของผู้พิพากษาและตุลาการในกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นได้สองกรณี คือ การแสดงความความเห็นไว้ก่อนหน้า และการเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือมีส่วนได้เสีย เนื่องจาก เมื่อผู้พิพากษาและตุลาการได้เคยเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงใดมาก่อนแล้ว ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำเอาความเชื่อหรือข้อเท็จจริงที่ตนเองเคยรับรู้มาเป็นส่วนในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำวินิจฉัย ซึ่งในกรณีนี้ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในอดีตแต่ปรากฏถี่ขึ้นในช่วงหลังไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์สื่อมวลชนแทบจะเรียกว่าเป็นรายวันเลยก็ว่าได้จากประธานศาลหรือจากอธิบดีศาล จนผู้ทีมีคดีความในศาลหรือประชาชนทั่วไปเกิดความสงสัยในความเที่ยงธรรมในคดีที่ยังอยู่ในศาลและคดีที่เข้าไปสู่ศาลภายหลังการให้ความเห็นต่อสาธารณะของบุคคลดังกล่าวนั้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าศาลจะเกิดความสูญเสียในความเชื่อมั่นจากประชาชนไปมากก็ตาม แต่ก็มิได้สูญเสียไปจนหมดสิ้นไปเลย ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังต่อสถาบันศาลมากว่าสถาบันอื่นอีกมาก แต่น่าเสียดายที่ในช่วงหลังๆนี้ศาลในฐานะที่เป็นกรรมการกลับมาเป็น “คู่ความ”หรือ “คู่กรณี”เสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ปรากฏชัดแจ้งว่าชอบหรือไม่ชอบกลุ่มตรงกันข้ามกับความเชื่อทางการเมืองของตนเองหรือการลงมาค้าความเสียเอง เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่ศาลจะต้องหันมาทบทวนตัวเองว่าเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์ต่อต้านอำนาจศาลเกิดขึ้น เพราะหากศาลไม่ทบทวนหรือปรับบทบาทให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยดังเช่นศาลในนานาอารยประเทศทั้งหลายแล้ว แทนที่ที่ประชาชนจะร้องขอความเมตตาต่อศาลเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา ศาลเองนั่นแหล่ะครับที่จะต้องมาร้องขอความเมตตาจากประชาชนแทน

 

----------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2556

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net