Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานในจังหวัดลำพูน ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันแรงงาน เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการบังคับใช้นโยบายค่าจ้าง 300 บาท และให้ทบทวนมติ ครม. ที่ให้คงค่าจ้าง 300 บาทถึงปี 2558 พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) สหภาพแรงงานใน จ.ลำพูน ได้แก่ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) และ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) นำโดยนายมเหศวร ประเสริฐสังข์ แกนนำสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ได้ยื่นจดหมายถึงนายพินิจ หาญพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผ่านไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีส่งเสริมสิทธิแรงงาน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามตรวจสอบนโยบายค่าจ้าง 300 บาท และให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 22 พ.ย. 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ต่อไปในปี 2557 และ 2558 โดยเสนอให้ปรับค่าจ้างขึ้นอีก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น

โดยข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ ซึ่งมีนายวิสิษฐ์  ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ มีใจความดังนี้  "เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

"ในปี พ.ศ. 2556 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน  ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้"

"1.ขอให้รัฐบาล มีมาตราการและนโยบาย ไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้มาตรา 75 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน   ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล  ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย

2. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามตรวจสอบนโยบายค่าจ้าง 300 บาท เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ ไม่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มทุน และมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชน สหภาพแรงงาน ตัวแทนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม ทั้งระดับชาติและในแต่ละเขตพื้นที่แต่ละจังหวัด

3. ขอให้รัฐบาลช่วยคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแท้จริงตามเจตนารมย์ของรัฐบาล

4. ขอให้รัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98  เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

5. ขอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554  ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58  เพราะควรมีการปรับค่าจ้างขึ้นอีก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น  เนื่องเพราะแท้จริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทก็ยังไม่พอค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอยู่รอดและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนเช่นกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมไทย

6. ขอสนับสนุนให้แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในแต่ละพื้นที่ มีสิทธิเลือกตั้งและสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ ได้

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50  เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียว เสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตราการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า  เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตราการ  นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใช้แรงงานไทย  ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net