Skip to main content
sharethis

คนรักหลักประกัน ร้อง กมธ.ธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบดีเอสไอ-นพ.ประดิษฐ-กมล กล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม-ผอ.องค์การเภสัชกรรม เพื่อความเป็นธรรมกับองค์การเภสัช เริ่มสอบ 16 พ.ค.นี้

 
 
วันนี้ (2 พ.ค.56) ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นจดหมายถึงประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบระบบการทำงานและผลการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการกล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเกี่ยวข้องการฮั้วประมูลซื้อยาพาราเซตามอล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
 
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อภ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านการผลิต และจัดหายาจำเป็นเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดหายาให้กับสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ จากที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาท กลับลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2,536 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ยังพัฒนาและผลิตยาจำเป็น จัดหาเครื่องมือแพทย์ในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลและสายสวนหัวใจ จัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะไม่ทำกำไรมากเพียงพอ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้ ช่วยสำรองยาในภาวะวิกฤต ดังเช่น กรณีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการสำรองยาในช่วงมหาอุทกภัย และเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาจำเป็น อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ด้านยาได้
 
“การสอบสวนครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกต เกี่ยวกับการกระบวนการกล่าวหาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเลขานุการ และการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะ ราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
 
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานขององค์การเภสัชกรรมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาจำเป็นในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้มากขึ้น ประหยัดงบประมาณด้านยาได้หลายพันล้านบาทต่อปี แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลดังกล่าว อาจจะขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นายแพทย์วิทิต และนายแพทย์วิชัย ถูกตรวจสอบโดยมิชอบ หรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทาง ให้กับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไรจากงบประมาณของแผ่นดิน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกเลิกคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาก่อนหน้านี้
 
“เราต้องช่วยกันจับตา และปกป้องระบบยาของประเทศ ไม่ให้กลไกลการเมืองมากลั่นแกล้งคนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม และไม่ยอมเปิดทางให้ธุรกิจยา มาหาประโยชน์กับความเจ็บป่วยของประชาชนได้” นายอภิวัฒน์ กล่าว
 
ทางด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเน้นในส่วนของธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขและกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยคณะอนุกรรมาธิการจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ทั้งนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้
 
 
 
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ที่ ๑/๒๕๕๖
 
วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
 
เรื่อง   ขอให้ตรวจสอบระบบการทำงานและผลการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการกล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อความเป็นธรรม
 
เรียน   ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย    ข่าว DSI สอบพบองค์การ เภสัชฯ ฮั้วประมูลซื้อยาพาราฯ สำนักข่าว TNN
 
ตามที่ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรม จำนวน 148 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท จนกระทั่งวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงว่า ตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พุทธศักราช 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ หรือ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม และได้ส่งสำนวนรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แล้วนั้น (ดูเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย)
 
ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักประกันคุณภาพชีวิตคนไทยที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนพลเมืองผู้เสียภาษีทุกคน ตระหนักถึงภารกิจขององค์การเภสัชกรรมในการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านการผลิตและจัดหายาจำเป็นเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดหายาให้กับสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ จากที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาท กลับลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2,536 ล้านบาท[1], ผลิตยาจำเป็น, จัดหาเครื่องมือแพทย์ในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลและสายสวนหัวใจ, จัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะไม่ทำกำไรมากเพียงพอ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้, ช่วยสำรองยาในภาวะวิกฤต ดังเช่น กรณีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการสำรองยาในช่วงมหาอุทกภัย, เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาจำเป็น และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ด้านยา จะเห็นได้ว่าการทำงานขององค์การเภสัชกรรมส่วนหนึ่งย่อมขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ หรือ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม ถูกตรวจสอบโดยมิชอบหรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทางให้กับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไรจากงบประมาณของแผ่นดิน
           
นอกจากนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกระบวนการกล่าวหาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเลขานุการ และการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในกรณีนี้ ซึ่งไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย
 
ดังนั้น ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ใคร่ขอให้ทางคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการกล่าวหาองค์การเภสัชกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยังผลให้เกิดการคุ้มครองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
(นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา)
ผู้ประสานงาน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
 

[1] ที่มา : ปริมาณที่ขาย*ในปี 55 (บาท) จาก MIS
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net