Skip to main content
sharethis


หลังมรณกรรมของ Margaret Thatcher เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2556 เรื่องราวของเธอก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเพราะ “ผู้หญิงเหล็ก” คนนี้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ผลักดันนโยบาย ‘เสรีนิยมใหม่’ และแผ่ขยายลัทธิเสรีนิยมใหม่

ปลายเดือนเดียวกันนั้น The Reading room จัดเสวนา Thatcher Is Dead! Long Live Thatcherism! ทำความเข้าใจอิทธิพลและมรดกของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในทศวรรษ 1970-1980 คนนี้ โดยร่วมสนทนากับ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่านนโยบายต่างๆ ของแธตเชอร์ โดยเฉพาะเรื่องการกำเนิดและล่มสลายของระบบรัฐสวัสดิการซึ่งเกิดที่อังกฤษเป็นที่แรก
 


พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

เมื่อกล่าวถึงแธตเชอร์ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงกระแสความคิดปรัชญาทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีอิทธิพลต่อแธตเชอร์มาก่อน ก่อนที่เธอจะชนะการเลือกตั้ง ต้องผ่านการต่อสู้ทางความคิดโดยเฉพาะในแวดวงของปัญญาชนอังกฤษอย่างหนักและยาวนาน มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่กระแสความคิดแบบแธตเชอร์จะถูกดึงขึ้นมา จนมีการปฏิรูปประเทศอังกฤษที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันนี้ เหล่านี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากไม่มีแธตเชอร์ก็ย่อมมีคนอื่นทำในลักษณะเดียวกัน เพราะเป็นกระแสความคิดที่มาจากรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งในยุโรปตะวันตก กระแสความคิดที่มีอิทธิพลในเวลานั้น เป็นของ ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek)

การขึ้นมาของแธตเชอร์ เป็นผลมากจากความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการอังกฤษ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปีค.ศ.1945 ในยุโรปสงครามยุติเมื่อเดือนพฤษภาคม อังกฤษในเวลานั้นเป็นรัฐบาลผสมแห่งชาติ เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม พรรคการเมืองจึงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสู้กับฝ่ายศัตรู เมื่อชนะสงครามผ่านไปสักพัก พรรคแรงงานที่อยู่ในรัฐบาลก็ถอนตัวทันที ทำให้รัฐบาลล้ม ต้องเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านมาตลอด หันมาหาเสียงด้วยการชูนโยบายรัฐสวัสดิการว่ารัฐจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย มีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติและการจ้างงานเต็มที่ เรียกได้ว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียน (Keynesian) กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณ เก็บภาษีเพื่อรัฐสวัสดิการ

ขณะที่ฝ่ายเชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ฮีโร่สงคราม นำประเทศรบชนะฮิตเลอร์มา หาเสียงและโจมตีพรรคแรงงานว่าการนำรัฐสวัสดิการครบถ้วนเข้ามาจะนำไปสู่ระบอบรัฐเผด็จการ เพราะรัฐดูแลทุกสิ่งจนสุดท้ายอาจเข้าแทรกแซงสิทธิส่วนบุคคล ความคิดเช่นนี้เชอร์ชิลได้มาจากหนังสือ The Road to Serfdom ของฮาเย็ค แต่กระนั้นก็ตามพรรคแรงงานกลับชนะการเลือกตั้งอย่างไม่มีใครคาดคิด ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล

เคลแมนท์ แอตต์ลี (Clemant Atlee) เข้ามาผลักดันรัฐวิสาหกิจ สร้างสวัสดิการแม่และเด็กเงินชดเชยบำเหน็จบำนาญคนชรา การสาธารณสุขแห่งชาติ สวัสดิการการศึกษา โอนกิจการอุตสาหกรรมหนักเป็นของรัฐ ไม่ใช่แค่สาธารณูปโภค แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน โทรศัพท์ โทรคมนาคม ขนส่งมวลชน พลังงาน ฯลฯ ปรับอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อจุนเจือรัฐสวัสดิการ การกำหนดค่าจ้างงานก็ให้รัฐบาล สหภาพแรงงาน และนายจ้างมาประชุมกันเพื่อต่อรองการขึ้นค่าจ้างประจำปี เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีคนงานประท้วงเพิ่มโดยรัฐมีหน้าที่อยู่ตรงกลาง  สหภาพแรงานของอังกฤษจึงเข้มแข็งมากในเวลานั้น และผ่านการต่อสู้มาจนมีประวัติยาวนานนับร้อยปีแล้ว จนรัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของสหภาพ และเกิดเป็นพรรคแรงงาน

ยุคทองของรัฐสวัสดิการและการนัดหยุดงานในอังกฤษ

เมื่อเข้าสู่ยุค 1950-60 ก็เป็นช่วงยุคทองของรัฐสวัสดิการอังกฤษ เศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวเคนเซียนโดยตลอด แม้ว่าต่อมาพรรคแรงงานจะแพ้เลือกตั้ง มีพรรคอนุรักษ์นิยมขึ้นมาแทนก็ยังใช้นโยบายเดิม เพราะเป็นระบบที่คนอังกฤษต้องการ เศรษฐกิจยังเจริญเติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่มาในยุค70 เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันจากต่างชาติ อังกฤษเองก็เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเวลา อัตราการว่างงานต่ำยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเริ่มโตช้า ในที่สุด คนก็เริ่มว่างงานมากขึ้น สวนทางกับแนวคิดของเคนเซียนที่ว่า เมื่อคนว่างงานเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่กลับกลายเป็นว่า เงินเฟื้อก็เรื้อรัง คนว่างงานก็มาก รัฐวิสาหกิจก็ขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างแต่ละปีจะบวกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมถ่านหินของรัฐที่มีอยู่เกือบ 200 แห่งล้วนแต่ขาดทุน ยิ่งราคาน้ำมันขึ้น ต้นทุนการผลิตก็เพิ่ม ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก คนงานก็เรียกร้องเพิ่มค่าจ้าง รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มตลอดเวลา ทั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ในที่สุดวิกฤติเศรษฐกิจจากการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักก็มาถึง ราคาสินค้าในประเทศขึ้นเร็ว ส่งออกได้น้อยลง เงินปอนด์อ่อนค่า ในที่สุดก็ต้องของให้ IMF ช่วย

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว  ยุค70 ยังเป็นยุคทองของการสไตรค์ (การนัดหยุดงาน) ของคนงานอังกฤษทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างเหมืองถ่านหิน คนขับรถเมล์ พยาบาล ฯลฯ  เพราะนายจ้างไม่อยากขึ้นค่าจ้าง ทำให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ฐานภาษีในยุคนั้นยังแคบลงเรื่อยๆ คนเริ่มไม่อยากทำธุรกิจ เพราะรัฐเก็บภาษีมากจึงขาดแรงจูงใจ คนส่วนใหญ่เรียนจบแล้วก็อยากทำงานในรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ มากกว่าทำธุรกิจส่วนตัว จนเกิดวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ ดูได้จากระบบช่วยเหลือคนว่างงานเป็นอัตราค่าจ้างรายได้ที่สูงมาก ทำให้คนไม่อยากทำงาน

พูดง่ายๆ ว่า Welfare State มันดูดี แต่มันแพง ต้องอาศัยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งพอ

จุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมาสู่อำนาจ ไม่ใช่ปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่เธอชนะการเลือกตั้ง หากแต่เป็นปี1974  หลังวิกฤตราคาน้ำมันและการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 1973 เป็นช่วงเวลาที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละวัน คนงานหยุดงานยืดเยื้อ โดยเฉพาะคนงานเหมืองถ่านหินจนกระทั่งไฟฟ้าในประเทศดับ รัฐบาลพรรอนุรักษ์นิยมต้องยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพราะไม่สามารถควบคุมเหล่าสหภาพแรงงานทั้งหลายได้ ผลคือไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก แต่พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงมากที่สุด ได้ตั้งรัฐบาล มีเฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)  เป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งแพ้เลือกอย่างราบคาบตั้งก็เข้าสู่วิกฤตการณ์ภายในพรรค เกิดวิกฤตการต่อสู้ทางแนวคิดในพรรค 2 แนวทางหลักซึ่งผู้คนเรียกกันว่า Wets Tory กับ Dries Tory  ทั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมนั้นถูกเรียกว่า พรรคทอรี โดยสมาชิกพรรคยุคแรกเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย เรียกว่า Wet ในยุคต่อมาสมาชิกพรรคมาจากคนธรรมดา เรียกว่า Dry

แธตเชอร์ เองก็มีพื้นเพเป็นลูกสาวเจ้าของร้านของชำในเมืองลิเวอร์พูล เป็นสมาชิกรุ่นใหม่ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคนสามัญธรรมดา เริ่มแรกชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เวลานั้นอังกฤษเต็มไปด้วยการแบ่งชนชั้น โดยสังเกตจากสำเนียงภาษา แธตเชอร์เองก็เป็นคนบ้านนอกที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง ในขณะที่ ภายในพรรคอนุรักษ์นิยมก็เกิดลักษณะ 2 ขั้วขึ้นมา คือกลุ่มเก่าที่เป็นขุนนาง กับพวกสามัญชนอย่างแธตเชอร์ นำโดยคีธ โจเซฟ (Keith Joseph) เบอร์หนึ่ง และแธตเชอร์ เป็นเบอร์สอง


เดินสายท้าทายถึงมหา’ลัย โจมตีแนวสังคมนิยมอย่างหนัก

การต่อสู้ทางความคิดนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ในพรรค แต่เคลื่อนไหวภายนอกด้วย เพื่อโน้มน้าวสาธารณชน ปัญญาชนต่างๆ มีการร่วมมือกับสถาบันกิจการเศรษฐกิจเพื่อวิจัยบนฐานของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดแข่งขันเสรี ต่อต้านรัฐสวัสดิการ แต่สถาบันเหล่านี้ก็เป็นวิชาการมากเกินไป ไม่พอที่จะเป็นถังความคิด(Think Tank)ที่จะเสนออะไรท้าทายสังคม ไม่เน้นการผลักดันให้เกิดความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งในสังคม ทั้งสองจึงตัดสินใจตั้ง Center for Policy Study (CPS) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อรณรงค์ทางความคิดต่อผู้มีอิทธิพลต่อสาธารณชน เพราะในอังกฤษจะยังไม่เคยมีหน่วยงานแบบนี้มาก่อนเลยก็ตาม ในขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับมีหน่วยงานเช่นนี้จำนวนมาก

ตลอดเวลา 3-4 ปีนั้นโจเซฟเดินทางปาฐกถากว่า 500 ครั้ง มีสนามสำคัญอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อวิพากษ์รัฐสวัสดิการและสังคมนิยมว่าสร้างวัฒนธรรมพึ่งพารัฐ บั่นทอนความคิดริเริ่มทางธุรกิจ แล้วเสนอนโยบายปฏิรูปตลาด ลดบทบาทของรัฐ เพิ่มบทบาทของเอกชน เน้นการใช้กลไกราคา ลดภาษี ส่งเสริมธุรกิจเอกชน ขจัดเงินเฟ้อ ลดอำนาจสหภาพแรงงาน

ปี 1974 พรรคอนุรักษ์นิยมมีการเลือกผู้นำคนใหม่ โดยแธตเชอร์ได้ก้าวมาเป็นผู้นำพรรค เนื่องจากเบอร์หนึ่งอย่างโจเซฟ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพราะในช่วงหาเสียงนั้นเขาเผลอพูดทำนองว่า “รัฐสวัสดิการทำให้ลูกไม่มีพ่อเต็มไปหมด” ซึ่งสร้างประเด็นถกเถียงจนทำให้เขาต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคและแธตเชอร์ขึ้นเป็นผู้นำแทน

ปี 1976 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องมีการกู้เงินจาก IMF

ปี1978สหภาพแรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศในขณะที่หิมะตกหนัก พรรคแรงงานเจรจากับคนงานไม่ได้จึงสูญเสียความน่าเชื่อถือไป นี่จึงเปลี่ยนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แธตเชอร์ขึ้นมามีอำนาจ ปี1979 ภายหลักพรรอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง แธตเชอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ช่วงแรกฐานอำนาจยังไม่เด็ดขาด มีทั้ง ‘Wet’ และ ‘Dry’ ปะปนกันไป รัฐบาลจึงมีคนกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ปนกันและทำให้มีปัญหาในเวลาต่อมา แต่ภายหลังกลุ่มเก่าก็ค่อยๆ หมดอำนาจลงในที่สุด

เมื่อแธตเชอร์เข้ามาก็ปฏิรูปเศรษฐกิจ ออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน เพิ่มอำนาจนายจ้าง เช่น หากจะนัดหยุดงานต้องประชุมสมาชิกและมีมติก่อน หรือแม้กระทั่งมาตรการตัดเงินช่วยเหลือครอบครัวคนงานที่หยุดงาน เจรจากับสหภาพแรงงานอย่างแข็งข้อ เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและการประกอบการด้วยการลดอัตราภาษี ดำเนินนโยบายการเงินตามแนวทางของมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) คือหยุดเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง ธุรกิจโรงงานพังระเนระนาด คนว่างงาน พาเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเพื่อปราบเงินเฟ้อ

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจ

เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะช็อก อัตราเงินเฟ้อต่ำลงกะทันหัน ประชาชนไม่พอใจแธตเชอร์ เกิดกบฏในพรรคอนุรักษ์นิยม ทว่าปี1982 กลับเกิดสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ขึ้นมาเสียก่อน แธตเชอร์นำอังกฤษชนะสงคราม และตามมาด้วยการเลือกตั้งใหม่ในปี 1983 การกลับมาเป็นรัฐบาลแธตเชอร์ 2 นั้นได้คะแนนเสียงท้วมท้น เธอจัดการถีบพวก Wet ออกไปจากพรรค ทำให้มีฐานทางการเมืองมั่นคง แล้วจึงเริ่มลงมือจัดการกับสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งเข้มแข็งที่สุด และเคยโค่นล้มพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อปี 1974

การสิ้นสุดยุค ‘สหภาพแรงงานครองเมือง’

ในปี1984 คณะกรรมการถ่านหินประกาศปิดเหมืองถ่านหินที่ขาดทุน ทั้งแบบเร่งด่วนและทยอยปิด คนงานเองก็รู้ตัว จึงเริ่มปลุกระดมนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยอร์คเชียร์ (Yorkshire) เป็นการหยุดงานที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เดือนมีนาคม1984  ข้ามไปถึงปี1985 รวมแล้ว 11 เดือน มีการไล่คนงานออกถึงราว 200,000 คน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีคนงานที่ทำงานอยู่ เพราะคนหยุดงานไม่สามารถขัดขวางคนที่จะเข้าไปทำงานได้เนื่องจากแธตเชอร์มีการเตรียมการไว้อย่างดีโดยแก้กฎหมายห้ามเรื่องนี้ไว้ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลเข้มงวด จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ครั้งนี้ แธตเชอร์ได้บทเรียนจากปี 1974 มาแล้ว จึงตระเตรียมโครงสร้างไว้อย่างดี โดยค่อยๆ เปลี่ยนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นก๊าซและน้ำมัน ลดการพึ่งพาเหมืองถ่านหิน หากโรงไฟฟ้าใดยังใช้ถ่านหินอยู่จะต้องสะสมถ่านหินให้ใช้ได้อย่างน้อย 1 ปี รวมไปถึงการแก้กฎหมายไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวคนงานที่นัดหยุดงาน

ในที่สุดคนหยุดงานมาประท้วงเริ่มสับสนวุ่นวาย เพราะไม่ได้ค่าจ้าง ครอบครัวก็ไม่เงินช่วยเหลือจากรัฐ เมื่อถึงหน้าหนาว ไฟฟ้าก็ไม่ดับ ดังนั้นนอกจากคนหยุดงานและครอบครัวแล้วก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบ ครอบครัวคนงานไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ไม่มีฮีทเตอร์ ไม่มีเงินซื้ออาหาร เมื่อถึงต้นปี 1985 คนงานก็หมดแรง ยอมแพ้ สิ้นสุดยุคสหภาพแรงงานครองเมือง และหลังจากนั้นมาก็ไม่อาจท้าทายอำนาจรัฐได้อีกต่อไป ในขณะที่รัฐก็ดำเนินการแปรรูปกิจการต่างๆ เป็นของเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อถึงปี1987 แธตเชอร์ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 จึงปรับเปลี่ยนระบบประกันสุขภาพ (National Health Service/NHS)  ที่ขาดดุลอย่างหนักเนื่องจากผู้สูงอายุเยอะขึ้นด้วย เป็นการตัดรายจ่ายของรัฐ ดึงภาคเอกชนเข้ามาทำแทน

แต่เมื่อถึงในช่วงปี 1989 คะแนนนิยมของแธตเชอร์ก็เริ่มตกต่ำลง

คะแนนนิยมของแธตเชอร์ตกด้วย 2 สาเหตุหลัก หนึ่งคือ นโยบายต่อต้านสหภาพยุโรปหรือ อียู เวลานั้นกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเริ่มรวมตัวกันตั้งสหภาพ วางแผนจะใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่แธตเชอร์ต่อต้านอย่างหนัก ตามแนวคิดของฮาเย็ค เธอเชื่อว่าการรวมเป็นสหภาพยุโรปมีรัฐบาลเดียวจะเป็นรัฐเผด็จการ จนสร้างความเบื่อหน่ายให้กับพรรคพวกของเธอเอง ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่เห็นว่าอังกฤษต้องเข้าร่วมสหภาพ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องตามกระแส ทว่าตัวชี้ขาดที่ทำให้แธตเชอร์ตกเก้าอี้ก็คือ ภาษีท้องถิ่น หรือภาษีบำรุงท้องที่ แธตเชอร์จะคิดภาษีเป็นอัตราเดียวจากการนับจำนวนประชากรรายบุคคล แทนที่จะแบ่งประเภทว่าอยู่ใกล้ไกล และคิดจากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ ทำให้คนไม่พอใจ เพราะเดิมคนไม่เสียภาษีก็ต้องเสียขึ้นมา เกิดการจลาจลประท้วง ต่อต้านไม่ยอมจ่าย และสุดท้ายเมื่อหมดวาระแธตเชอร์ก็ถอนตัวออกไปในเดือนพ.ย. ปี1989

โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน ทุนนิยมนี่มันทุนนิยมจริงๆ

จะเห็นได้ว่าแธตเชอร์ได้เข้ามาในยุคสมัยที่สังคมนิยมรัฐสวัสดิการของอังกฤษกำลังมีปัญหาอย่างมาก แล้วก็สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งที่แธตเชอร์ทำก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกา ที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรม มาเป็นการบริการ ความสำคัญของอุตสาหกรรมเดิมในยุโรปและอเมริกาลดลงแต่กลับเคลื่อนไปเติบโตที่เอเชียแทน เนื่องจากแข่งขันไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก เหล็กกล้า หรือเหมืองถ่านหิน ปัจจุบันเหมือนถ่านหินในอังกฤษเหลือเพียง 6 แห่ง

กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมทุนนิยมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง เมื่อนั้น กำลังแรงงาน โครงสร้างอาชีพต่างๆ ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย คนที่เคยประกอบอาชีพแบบเก่าๆ มีทักษะเดิมๆ ก็กลายเป็นล้าสมัย ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่คนก็ล้าสมัยไปด้วย จึงต้องหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ซึ่งมีรายได้น้อยลง แต่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้โทนี แบลร์  (Tony Blair) ชนะการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

 

วิโรจน์ อาลี

ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต(flexible production) การผลิตมากๆ ให้ต้นทุนถูก ใช้แรงงานไร้ฝีมือเริ่มหมดความสำคัญลงเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่อเมริกาก็สร้างสร้างตัวละครผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมาทดแทนสิ่งที่ยุโรปเคยผลิตได้ อย่างในเอเชียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย มีหลายคนตั้งคำถามว่า แธตเชอร์กับเรแกนด์ร่วมกันตั้งเสรีนิยมใหม่(Neo Liberalism) จึงทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป หรือเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้วเพราะ Fordism ได้สร้างชนชั้นกลางที่มีความต้องการบริโภคหลากหลายขึ้นมา ทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนไป

มีหลายเสียงเห็นว่ารัฐบาลของแธตเชอร์สร้างประโยชน์ให้คนชนชั้นหนึ่ง แต่ก็ทำให้อังกฤษเสียหายมากเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามว่าโทนี แบลร์คืออะไร เป็นภาคต่อหรือเป็นวิวัฒนาการตรงข้ามกับแธตเชอร์(Antithesis) แบลร์ให้ความสำคัญกับสังคม เป็นการสร้างจุดขายแบบชนกับแธตเชอร์ซึ่งพูดเอาไว้ว่าไม่มีสังคม ''There is no such thing as society. There are individual men and women, and there are families'' แต่แบลร์บอกว่าจำเป็นต้องมีสังคม ต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้ขยายตัวได้ และเอาส่วนต่างนั้นกลับไปจุนเจือสังคมได้ เพื่อให้สร้างรัฐสวัสดิการได้ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนระบบการผลิตได้ ทำให้อังกฤษมีความสามารถในการแข่งขัน และยุคนี้ก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูจริง

พิชิต: แบลร์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาแบบมีธงชัดเจนว่าจะต้องเลิกสังคมนิยม แม้พรรคแรงงานของเขาจะตั้งขึ้นมาบนแนวคิดสังคมนิยมเกือบร้อยปีแล้ว แต่แบลร์ก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนอำนาจของสหภาพแรงงานที่เคยมีอิทธิพลต่อพรรคแรงงานอย่างมากลงเรื่อยๆ เสนอทางเลือกที่สาม คือไม่สังคมนิยมสุดโต่ง และไม่ทุนนิยมเกินไป แต่เขาก็ยังต้องต่อสู้อย่างหนักมากกว่าจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสู้กับประเพณีภายในพรรคที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี และสู้กับสหภาพแรงงานซึ่งมีอำนาจมาก เมื่อขึ้นมาได้จึงมีอำนาจมาก แต่ฝ่ายสังคมนิยมก็เกลียดแบลร์ เชื่อว่าทางเลือกที่สามก็เป็นเพียงการตกแต่งลัทธิแธตเชอร์ เท่านั้น แบลร์เองก็ไม่ได้ให้สวัสดิการมากขึ้นจากเดิมแถมยังตัดบางอย่างออกไปมากกว่ายุคของแธตเชอร์ด้วยซ้ำ มีการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ แต่ที่ทำที่ไม่สำเร็จก็คือ การปฏิรูประบบราชการ การพยายามเปิดเสรีข้าราชการท้องถิ่น

 

คำถาม

1. แนวคิดระบบเศรษฐกิจของอังกฤษใน 30 ปีที่ผ่านมาวางอยู่บนแนวความคิดแบบใด

พิชิต: ต้องกล่าวถึง ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค ในฐานะเป็นคู่ชกคู่แค้นของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ตอนที่เคนส์เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคออกมา ยืนยันว่ารัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ กลไกตลาดมีปัญหาที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ได้ รัฐบาลต้องเข้าช่วย สองคนนี้เจอกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เคมบริดจ์ มีการโต้ถียงกัน ช่วง20ปีแรก ความคิดของเคนส์เป็นฝ่ายชนะ กลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจมาตรฐานของซีกโลกทางตะวันตกทั้งหมด ฮาเย็คก็หันมาเขียนงานวิชาการ ปรัชญาการเมือง

เรแกน + แธตเชอร์

ปัจจุบันเมื่อพูดถึงเสรีนิยม ฮาเย็คก็เป็นคนสำคัญที่มีบทบาทมาก แต่เมื่อพูดคำว่าเสรีนิยมจะต้องระวัง เพราะในสหรัฐอเมริกา เสรีนิยมหมายถึงพรรคเดโมแครต ซึ่งค่อนไปทางซ้ายสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการ เช่น โอบามา ไม่ใช่เสรีดั้งเดิมที่เน้นบทบาทปัจเจกชน ลดบทบาทรัฐ ดังนั้นพวกเสรีนิยมจริงๆ ที่ยังเชื่อในสิทธิส่วนบุคคลเหนือรัฐ จึงต้องหาชื่อใหม่ เป็นเสรีนิยมคลาสสิกแบบจอห์น ล็อก(John Locke) ซึ่งฮาเย็คเป็นผู้นำทางความคิดในกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นปัจเจกชนเป็นจุดเริ่มต้น สิทธิทางบุคคลเหนือสิทธิส่วนใหญ่ เชื่อว่าสังคมจะมีระเบียบและสงบสุขได้เองหากถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าแทรกแซง รัฐบาลที่จะมีจึงต้องมีอำนาจจำกัดมากที่สุด มีเพื่อส่งเสริมสิทธิส่วนบุคคลทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องแข่งขันกันให้เกิดการผลิตและความมั่งคั่งในสังคม ทุกคนจะได้ประโยชน์แม้ว่าจะมีความขัดแย้งบ้างแต่จะมีสันติภาพ นี่คือหลักความคิดที่นำไปแนวคิดสู่ตลาดเสรี ซึ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงปี 1970 เพราะเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียนเริ่มมีปัญหาเหมือนกันทั่วยุโรป

 แนวความคิดดังกล่าวเกิดในสหรัฐก่อน แล้วจึงแพร่มาในอังกฤษ เข้าไปมีอิทธิพลต่อนักการเมืองในสหรัฐส่งอิทธิพลต่อปีกการเมืองหนึ่งของพรรครีพับบิกันซึ่งมีโรนัลด์ เรแกนอยู่ ส่วนในอังกฤษ ความคิดนี้เข้าไปมีอิทธิพลทางปีกของแธตเชอร์ จึงการเกิดการปฏิวัติของเรแกนในอเมริกา ควบคู่ไปกับการปฏิวัติของแธตเชอร์ในอังกฤษ นโยบายที่ทั้งสองคนทำค่อยซึมเข้าสู่องค์กรระหว่างประเทศสององค์กรคือ world bank กับ IMF กระทั่งยุคต้น 90 ทั้งสององค์กรก็ประกอบเป็นชุดนโยบายที่ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่จะรับความช่วยเหลือจากสององค์กรนี้ในการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือให้สร้างความเจริญในประเทศ เช่น การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า และเนื่องจากทั้งสององค์กรมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองวอชิงตัน จึงเรียกนโยบายนี้ว่าฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะใช้วิธีการช็อกเศรษฐกิจแบบที่แธตเชอร์ทำ คนจนที่ต้องพึ่งพารัฐสวัสดิการได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกฉันทามติวอชิงตันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นคำที่คิดโดยสังคมนิยมฝ่ายซ้ายเพื่อบอกว่าการกลับมาใหม่ที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่าเดิมของเสรีนิยม เพราะทำงานได้แม้ในระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตามหลักใหญ่ของเสรีนิยมก็คือการสร้างเสถียรภาพทางมหภาค เปิดเสรีการค้าและการลงทุน ลงทุนข้ามชาติได้เยี่ยงคนชาติ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ แยกโครงสร้างพื้นฐานออกจากการบริการ โครงสร้างพื้นฐานเป็นของรัฐ แต่ให้เอกชนแข่งกันบริการ ลดการกำกับควบคุม สร้างวินัยการคลัง จัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐให้เน้นเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เก็บได้มากขึ้น

2. มีข้อถกเถียงว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษหรืออเมริกา ถ้าสามารถทำได้จะมีเอกชนเข้ามาแข่งขันกันมากกว่าประเทศโลกที่สาม นี่ถือเป็นมายาคติ หรือเป็นความจริง

พิชิต: ขึ้นอยู่กับวิธีการ ไม่ว่าเป็นการแจกคูปองไว้แลกหุ้น การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือแจกหุ้นไปเปล่าๆ ก็ได้ ว่าจะโปร่งใสแค่ไหน แต่เมืองไทยยังไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง มีเพียงการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจให้เป็นมหาชน  (Corporatization) แต่รัฐยังถือหุ้นมากกว่าร้อยละ50-60 ซึ่งมีข้อดีคือทำให้โปร่งใสมากขึ้น ตรวจสอบได้ มีข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึง       

3. วิธีคิดของแธตเชอร์ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ทว่าทำไมนโยบายต่างประเทศของเธอจึงมีลักษณะเป็นชาตินิยมมาก

วิโรจน์:  เรื่องการระหว่างประเทศเป็นแนวคิดสัจนิยมที่ชัดเจน เน้นการหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด พรรคอนุรักษ์นิยมเชื่ออยู่ตลอดว่าการรวมยุโรปจะทำให้เกิดปัญหาในที่สุด เพราะต้องตัดอำนาจอธิปไตยของตนเองให้ฝ่ายอื่นบริหาร การตรวจสอบยาก ระบบราชการขนาดใหญ่ทำให้ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีหายไปกับการอุดหนุนสินค้าเกษตร และอื่นๆซึ่งทำให้การรวมกันมีปัญหา ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เดวิด แคเมอรอนได้ใช้เรื่องนี้เป็นเดิมพันในการเลือกตั้งว่าจะให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

พิชิต: กรณีของสหภาพยุโรป แธตเชอร์ไม่ได้เริ่มต่อต้านจากฐานคิดชาตินิยม แต่เริ่มจากความเป็นไปได้ ที่จะปรับให้เข้ากับแนวคิดตัวเอง คือ  ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลขนาดใหญ่เกินไป เป็นระบบขุนนาง จะมีธนาคารแห่งชาติซึ่งมีอำนาจครอบคลุมหลายประเทศขึ้นมา เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

วิโรจน์ : เนื่องจากเวลานั้นเยอรมนีกับฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการทั้งคู่ ทำให้แธตเชอร์ระแวงว่ารูปแบบของสหภาพยุโรปจะออกมาเป็นแบบนี้ด้วย แล้วจะมีผลมาบังคับประเทศอังกฤษ จนรัฐบาลไร้กลไกจัดการกับระบบเศรษฐกิจของตัวเอง

พิชิต: ในเวลานั้นมีเสียงต่อต้านแธตเชอร์ มีกระแสความเชื่อว่ายังไงก็ต้องรวมเข้า เมื่อเกิดสหภาพยุโรป การใช้จ่ายของภาครัฐไม่เหมือนกัน บางประเทศขาดดุลงบประมาณมาก ในขณะที่บางประเทศขาดดุลงบประมาณน้อย ปริมาณงานและระดับเงินเฟ้อก็ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เท่ากัน แต่ใช้เงินในสกุลเดียวกัน สุดท้ายก็จะเห็นว่าธนาคารแห่งชาติของแต่ละประเทศก็ยังมีอำนาจในการดูแลตัวเอง แยกไปจากกลุ่ม เมื่อเกิดไม่ประสานกันขึ้นมาก็มีปัญหาทั้งหมด เช่น ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจกรีซ ทำให้ค่าเงินยูโรของกรีซต่ำ แล้วค่าเงินระบบเดียวกันคือยูโรก็ตกตามไปด้วย

4. การเปลี่ยน mode of production จาก Fordism มาเป็นการบริการแล้ว มีการรองรับการจ้างงานคนอย่างไร เพราะ Fordismวางอยู่บนฐานการผลิตเชิงปริมาณ

วิโรจน์: ตอนแธตเชอร์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีมีคนตกงานกว่าล้านคน หลังแธตเชอร์ออกไปกลายเป็นสองล้านกว่า หลังเมเยอร์ออกไปกลายเป็นสามล้านกว่า ในภาพรวมจึงถือว่าแก้ปัญหาอุปทานแรงงานไม่ได้ แต่มันเกิดช่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ให้คนเข้าไปสู่งานที่มีรายได้สูงได้ แล้วก็ตามมาด้วยการบริการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ทำให้เกิดงานทดแทนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกิดงานหลากหลาย เช่น ทำงานเป็นกะได้ เลือกได้ มีความยืดหยุ่นสูง

พิชิต: ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จคือสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง ซอฟท์แวร์ ยา ล้วนมีสิทธิบัตร แล้วยังมีแอนนิเมชั่นในสิงคโปร์ ส่วนเรื่องคนงาน ปัญหาอยู่ที่ไม่เคยมีการเปิดช่องให้คนงานที่ตกงาน จนถึงทุกวันนี้คนงานรุ่นเดิมก็ยังข่มขื่นมากเมื่อพูดถึงแธตเชอร์ เพราะชุมชนเดิมถูกทำลายลงไปเลย กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมของผู้อพยพใหม่ แต่คนที่ได้รับประโยชน์คือคนอีกรุ่นหนึ่งที่อายุยังไม่มากและยังสามารถปรับทักษะตัวเองเข้ากับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป

5.คิดว่าแธตเชอร์จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์อย่างไร

พิชิต:  แธตเชอร์มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ยุโรปแน่นอน เพราะสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เพียงกระแสในอังกฤษ แต่ในยุโรปตะวันตกทั้งหมด แต่หากจะนำมาเทียบกันนายกรัฐมนตรีไทยคนไหน ก็ต้องไม่ลืมว่าคนอังกฤษที่ไม่ชอบเธอก็แทบจะถุยน้ำลายเมื่อพูดถึงเธอ แต่คนที่ชอบก็ชอบเอามากๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net