Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดในการส่งข้อความสั้นตามฟ้อง โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาททำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรม ราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึง โทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระ เมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่กับนายอำพลที่เรือนจำในห้องฟังคำพิพากษาได้กล่าว ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ถามว่าคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะตลอดการฟังคำพิพากษาได้ยินเสียงไม่ชัด เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งอย่างสั้นๆ ไปว่า ลุงติดคุก 20 ปี" (ประชาไท 23 พฤศจิกายน 2554)

วันที่ 8 พฤษภาคมปีนี้ ครบรอบวันเสียชีวิต 1 ปีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อของ “อากง” อากงเสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำด้วยโรคมะเร็ง เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แพทย์ประจำเรือนจำแสดงถึงอคติส่วนตัวที่มีต่อนักโทษการเมืองต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในที่สุด อากงได้รับอิสรภาพ แต่อยู่ในสภาพร่างกายที่ไร้วิญญาณ

1 ปีผ่านไป สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ยังไม่เปลี่ยนแปลง หลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นจากการละเมิดกฏหมายหมิ่นฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา (ล่าสุด ในกรณีของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข) ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ทางด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยได้ถึงจุดตกต่ำอย่างที่สุด กรณีที่เกิดขึ้นกับอากงยิ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพเลวร้ายนั้น กฏหมายหมิ่นฯ ได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองมากขึ้น การตัดสินพิพากษาจำคุกอากงเป็นเวลาถึง 20 ปี และในที่สุดต้องพบจุดจบในเรือนจำ ได้สร้างความโกรธแค้นและเศร้าใจให้กับกลุ่มคนไทยหลายๆ กลุ่มถึงความป่าเถื่อนของกฏหมาย ขณะเดียวกัน กลุ่มราชานิยม (รอยัลลิสต์) กลับมีความปิติยินดี และเห็นว่า อากงสมควรได้รับโทษหนักเช่นนี้เพราะอากงได้จาบจ้วงสถาบัน (ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้) เมื่ออากงเสียชีวิต กลุ่มคนเหล่านี้กลับอธิบายอย่างตื้นๆ ว่า อากงได้ชดใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้

ในความเป็นจริง กรณีของอากงก็ไม่ต่างจากกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีหลายเหตุผลที่ผมเห็นว่า ทำไมกฏหมายหมิ่นฯ ถึงถูกใช้มากขึ้น เริ่มจากการใช้เพื่อค้ำจุนตำนาน นิทานปรำปรา หรือความเชื่อเพ้อฝัน (myths) หลายๆ อย่างที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์ การปกปิดความหวาดวิตกเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันกษัตริย์ การครอบงำสังคม การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำ-ชนชั้นนำ การคงไว้ซึ่งบทบาททางการเมืองของทหาร (ในฐานะผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์) การปฏิเสธกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย ไปจนถึงการใช้เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกของ cyberspace

แต่กลุ่มรอยัลลิสต์เหล่านี้กลับมองไม่เห็นว่า ยิ่งตนเองได้ใช้กฏหมายหมิ่นฯ มากเท่าใด กลับยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอมากเท่านั้น การใช้กฏหมายหมิ่นๆ แบบ “มั่วซั่ว” และ “ไร้ความรับผิดชอบ” ชี้ให้เห็นถึงสภาพความกระเสือกกระสน (desperation) มากกว่าความมีอำนาจ (authority) ในการบังคับใช้กฏหมายนี้กับศัตรูทางการเมือง แกนนำฝ่ายรอยัลลิสต์หลายคนยังคงรณรงค์ให้ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการกับกลุ่มที่ตนเรียกว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเจ้านั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้สถาบันมีความเสื่อมถอย และทำให้ระดับของความเคารพที่คนไทยมีต่อสถาบันได้ลดต่ำลง รอยัลลิสต์หลายคนจึงมิใช่พวกรักเจ้าที่แท้จริง เพราะมีส่วนสร้างภาพในทางลบให้กับสถาบัน หรือสรุปอีกนัยหนึ่ง กลุ่มรักเจ้านั่นเองที่ผลักดันให้เกิดกลุ่มต่อต้านเจ้า

น่าสนใจว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ ได้ทำอย่างค่อนข้างมีขอบเขต (more focused) ในช่วงก่อนการก่อรัฐประหารในปี 2549 ในฐานะเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นปกครองที่ใช้ห้ำหั่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่พรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ยังได้เคยกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ในการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องช่วยในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือแม้แต่การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลและนายทักษิณฯ ได้กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าฝ่ายตรงไม่มีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

แต่หลังจากรัฐประหารในครั้งนั้นสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก การเมืองไทยได้เปิดกว้างมากขึ้น และในความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน กลุ่มรอยัลลิสต์ได้ใช้กฏหมายหมิ่นฯ ในการกำจัดกับทุกคนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างออกไป เหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ว่าสถานการณ์ได้บานปลายเลยเถิดเมื่อกลุ่มราชานิยม ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กองทัพและพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้คนไทยทุกคนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไข หากมองจากมุมมองเหล่านี้ ศัตรูของกลุ่มรอยัลลิสต์ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วทุกแห่งของราชอาณาจักร มิใช่ทุกคนที่มีความเห็นแบบเดียวกันต่อสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครสามารถบังคับใจใครให้รักใครได้ ความรักที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ควรจะตั้งอยู่บนเป็นความรักแบบอาสาสมัคร (voluntary affection)

ตามสถิติ ในปี 2548 ได้มีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นจำนวน 33 คดี ในจำนวนนี้ มีการตัดสินคดีความและลงโทษผู้กระทำผิดจำนวน 18 คดี ต่อมาในปี 2550 (1 ปีหลังจากรัฐประหาร) การฟ้องร้องในคดีนี้ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่ามาเป็น 126 คดี อีก 2 ปีถัดมา มีคดีฟ้องร้องเพิ่มเป็น 164 คดี และได้เพิ่มเป็น 3 เท่ามากถึง 478 คดีในปี 2553 การเพิ่มขึ้นของการฟ้องร้องและเอาผิดกับเหยื่อมาตรา 112 อย่างมากและรวดเร็วได้เกิดขึ้นยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ และแน้วโน้มนี้ยังคงอยู่ แม้แต่ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้น อากงจะไม่เป็นคนสุดท้ายในเกมการแสดงความรักเจ้าอย่างสุดโต่งนี้

 

รศ.ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

มหาวิทยาลัยเกียวโต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net