Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศของผม เคยประสบความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากว่า ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามจนถึงขณะที่รัฐบาลยอมแพ้ (หลังจากโดนระเบิดปรมาณูสองลูก) ประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลายเป็น “คนคลั่งชาติ” (ultra-nationalist) ภายใต้การนำทางการเมืองของทหารและการโฆษณาชวนเชือผ่านสื่อกระแสหลัก เสียงของคนเหล่านี้ก็ดังกลบเสียงของ “คนที่รักชาติ” (patriot) 

ในสมัยนั้น ทั้งนักการเมือง กองทัพและประชาชน (ถูกบังคับ) เชื่อมั่นว่า ประเทศของตนปกครองด้วยลูกหลานของเทวดา ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะแพ้ในการสู้รบ (เพราะฝ่ายรัฐอ้างว่า ประเทศญี่ปุ่นคุมครองโดยบรรดาเทวดา) แต่ผลการสงครามเป็นอย่างไร เป็นที่รู้กันของทุกท่าน 

ที่นี่ ผมขอนำเสนอความเข้าใจส่วนตัวของผมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง “คนรักชาติ” กับ “คนคลั่งชาติ” ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่ความจริงแล้วมีลักษณะภายในแตกต่างกันไปทั้งสิ้น ในบริบทนี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจความหมายของคำว่า ชาติ ให้กว้างที่สุด

“คนคลั่งชาติ” เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากประเทศของตนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (ในโลก) และเมื่อมีคนอื่นมาชี้จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของประเทศของตน ก็จะโมโหและปฏิเสธทันที (หรืออีกนัยหนึ่ง คนคลั่งชาติไม่ยอมรับความเป็นจริง) ส่วน “คนที่รักชาติ” จะยอมรับจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของประเทศของตน (เพราะนั่นคือความเป็นจริง) และพยายามจะแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องดังกล่าว เพื่อทำให้ประเทศของตนดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่ดีเพื่อชาติ “คนคลั่งชาติ” มักจะเคลื่อนไหวตามสูตรสำเร็จรูปที่ฝ่ายรัฐกำหนดให้ และเชื่อมั่นว่า ตัวเองทำสิ่งที่ดีแล้ว เพราะทำตามคำสั่งของรัฐ ส่วน “คนที่รักชาติ” จะค้นคิดและพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ดีเพื่อชาติคืออะไร และตัวเองต้องทำอะไรเพื่อชาติ เพราะสิ่งที่ดีสำหรับชาติอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของรัฐ และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และเหตุการณ์ปัจจุบัน ทุกครั้งเพื่อทำสิ่งที่ดี คนที่รักชาติจะใช้สมองก่อนใช้พลังหรือกำลังกาย 

ทางด้านความเชื่อ “คนคลั่งชาติ” เชื่อว่า ความเชื่อที่ถูกต้องมีแต่ความเชื่อที่คนในประเทศของตนนับถือเท่านั้น โดยที่ความเชื่อของชาติอื่นๆ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ฉะนั้นพวกเขาจะปฏิเสธความเชื่อเหล่านี้และไม่ยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อภายในประเทศของตน ส่วน “คนที่รักชาติ” ถึงแม้ว่าตนมีความเชื่อที่เหนียวแน่น แต่สามารถยอมรับความหลากหลาย เพราะเข้าใจอย่างดีว่า การไม่ยอมรับความเห็นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อชาติของตน และสิ่งที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาในชาติของตนคือ “ความเข้าใจกัน” ไม่ใช่ “การปฏิเสธกัน” 

ในทำนองเดียวกัน “คนคลั่งชาติ” จะติดตามโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐผ่านสื่อ ยึดถือเนื้อหาของมัน (หรือ ถูกชวนเชื่อไปเรื่อยๆ) และค้นหาศัตรูตลอด ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ ส่วน “คนที่รักชาติ” จะตั้งคำถามต่อโฆษณาชวนเชื่อ และต่อต้านกระแสที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะตระหนักถึงภัยที่เกิดจากโฆษณาชวนเชื่อ และรู้ว่า ศัตรูที่แท้จริงต่อชาติคือโฆษนาชวนเชื่อ 

แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นกับชาติของตน “คนรักชาติ” ยอมเสียสละเพื่อชาติของตน โดยไม่มีความลังเลและไม่หวังค่าตอบแทน เพราะตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองต่อชาติ ส่วน “คนคลั่งชาติ” มักจะกล่าวหาคนที่ไม่ยอมเสียสละเพื่อชาติ แต่ตัวเองอยู่ที่ที่ปลอดภัยโดยไม่มีความเสียสละใดๆ เพราะคนเหล่านี้คิดว่า การกล่าวหานั้นเป็นความเสียสละ 

“คนที่รักชาติ” พยายามจะสร้างมิตรภาพกับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีปัญหากับประเทศอื่นๆ คนรักชาติจะพยายามแก้ไขโดยอาศัยเหตุผล วิจารณญาณและ ดุลยพินิจ เพื่อให้แนวทางแก้ไขที่ไม่มีฝ่ายใดที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่หาแนวทางแก้ไขแบบ “win-win” (ชนะทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีผู้แพ้) ซึ่งเอื้อต่อการรักษามิตรภาพ ส่วน “คนคลั่งชาติ” เมือเจอปัญหากับประเทศอื่นๆ  จะมีปฏิกริยาทางความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และมักจะเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรง เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพของประเทศตนจะไม่แพ้ในการสู้รบ 

น่าจะชัดเจนแล้วว่า ทำไมเราต้องการ “คนที่รักชาติ” แต่ไม่ต้องการ “คนคลั่งชาติ” เพราะคนรักชาติจะพยายามสร้างชาติให้เข้มแข็ง แต่คนคลั่งชาติจะนำประเทศไปสู่ความเสียหาย 

ปัญหาคือ คนคลั่งชาติเองไม่เคยยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนคลั่งชาติ แต่เรียกตัวเองเสมอว่าเป็นคนรักชาติ ความรักต่อชาติ เรียกว่า patriotism ส่วนความคลั่งชาติเรียกว่า ultra-nationalism ซึ่งเป็นความเชื่อสุดโต่งของชาตินิยม (nationalism ซึ่งสำหรับคำนี้ คำแปลที่ถูกต้องที่สุดนั้นไม่ใช่ชาตินิยม แต่ “รัฐนิยม”) ถึงแม้ว่าคนคลั่งชาติประกาศตัวเป็นคนรักชาติ ในใจของเขาแทบจะไม่มีความรักต่อชาติ เพราะความคลั่งชาตินั้นเกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว 

มีข้อแตกต่างที่ชัดเจน คนคลั่งชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการปกครองแบบเผด็จการ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเผด็จการพยายามสร้างความคลั่งชาติ โดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ การควบคุมสื่อ การล้างสมอง การจำกัดเสรีภาพ ฯลฯ การศึกษาเพื่อสร้างความคลั่งชาติ ไม่ทำให้เด็กนักเรียนฉลาดขึ้น แต่สอนเยาวชนเพื่อให้เป็นคนที่ไม่คิดหรือคิดไม่เป็น เพราะคนที่คิดเป็นไม่น่าจะนับถือความคลั่งชาติ 

ส่วนความรักต่อชาติเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างประชาสังคมที่แข็งแรงในบรรยากาศประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิด 

เพื่อส่งเสริมความรักต่อชาติ เราต้องทำอะไรบ้าง?

“สื่อ” สามารถทำหน้าที่ได้ในทุกด้าน ถ้าสื่อยอมเป็นเครื่องมือของรัฐ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความคลั่งชาติ ในทางกลับกัน เมื่อสื่อปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก journalism ทีแท้จริง สามารถเป็นกำแพงป้องกันประชาชนจากการภัยโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ 

เช่นเดียวกันกับบรรดา “ครู” สิ่งที่เราควรปลูกฝังในใจของเด็กนักเรียนนักศึกษาคือการมีความรักต่อชาติ การศึกษาไม่ควรเป็นเครื่องมือของการสร้างความคลั่งชาติ (สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น หรือกำลังเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเผด็จการอื่นๆ) 

ในสุดท้าย ในฐานะเป็น “พ่อแม่” ลองคิดดูว่า เมื่อเราตอบสนองความต้องการของลูกทุกประการโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้น ลูกจะโตเป็นคนดีหรือไม่ (หรือสำหรับคนที่ยังไม่มีลูกเหมือนผม แทนคำว่า “ลูก” กับ “ลูกศิษย์” หรือ “ลูกน้อง” ก็แล้วกันครับ) ถ้าท่านรักลูกของท่าน จำเป็นต้องห้ามลูกทำสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้ว่าลูกอยากจะทำสิ่งนั้นก็ตาม เช่นเดียวกันกับ “ชาติ” ของเรา “ชาติ” มีความต้องการ แต่ความต้องการบางอย่างของชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาตินั้นเอง ในกรณีเช่นนั้น หน้าที่ของเราคือไม่ให้ชาติของเรากระทำสิ่งนั้น 

โดยสรุป สิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เคารพนับถือชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำตามทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาติของสั่งให้เราทำ ตรงกันข้าม เราต้องดูแลชาติด้วยความรัก และทำสิ่งที่ดีเพื่ออนาคตของชาติ และห้ามชาติทำสิ่งที่ไม่ดีต่อชาติ ผมคิดว่า นี่คือความหมายของ “ความรักต่อชาติ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net