Skip to main content
sharethis

 

15 พ.ค.56  นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ระบุว่า ตามที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนว่ากระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดเกี่ยวกับการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา และจะให้ความสำคัญในการดำเนินการที่จะใช้วิธีการผสมผสานตั้งหลักเกณฑ์ เรื่อง จำนวนเด็ก และความรับรู้ความเข้าใจของชุมชนด้วย กรณีจะยุบต้องเป็นการยุบตามธรรมชาติ กล่าวคือไม่มีเด็กนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือชายขอบจะไม่ยุบ แต่ก็ยังปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชนด้วยว่า  ทางกระทรวงศึกษาธิการจะยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยมาก และเป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ

ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนกรณีคัดค้านการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ รวม 2 คำร้อง คือ คำร้องที่ 270/2554 และคำร้องที่ 59/2556 ซึ่งทาง กสม. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคลรับผิดชอบ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และลงพื้นที่เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลประกอบการดำเนินการในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยในขณะเดียวกันได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ขอความร่วมมือสั่งการชะลอการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก่อนจนกว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสม เพื่อดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งให้ กสม. ทราบว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้ทาง สพฐ. รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 กสม. ยังได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ สพฐ. ขอทราบข้อมูลว่าในปัจจุบันได้ดำเนินการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกี่โรงเรียน พร้อมโรงเรียนที่ยุบ โรงเรียนหลักและโรงเรียนที่มาเรียนร่วม และเมื่อดำเนินการยุบควบรวมไปแล้วเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร รวมถึงมีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่พร้อมที่จะจัดการศึกษาหรือรับโอนโรงเรียนขนาดเล็กจาก สพฐ. ซึ่ง กสม. ได้รับหนังสือตอบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2554 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 551 แห่ง และมีจำนวนโรงเรียนในสังกัดฯ ทั้งที่จัดการศึกษาเองและรับโอนสถานศึกษาจาก สพฐ. มาแล้ว จำนวน 1,290 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลบางพื้นที่ก็มีความพร้อมที่จะรับโอนสถานศึกษามาจากกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะนี้ กสม. โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคลอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ เพื่อจัดทำรายงานและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เน้นว่ากระทรวงศึกษาธิการควรคำนึงสิทธิและโอกาสของเด็กตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๙ ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และ“การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ” ประการสำคัญการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 26 ด้วย 

นางวิสาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคุณภาพของเด็ก ซึ่งเป็นที่ทราบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กต่ำลง ดังนั้นสังคมจึงเห็นพ้องกันว่า ควรต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพของเด็กเป็นสำคัญโดยระดมทรัพยากรสนับสนุน ซึ่งการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาถือเป็นการลงทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรต้องเน้นการทำให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอย่างพึ่งพิงตนเองได้ในวิถีชุมชนและควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเด็กจำนวนมากทั้งที่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันและกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และรัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอแนะที่มาจากการจัดเวทีของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนซึ่งได้ระดมความคิดเห็นได้ข้อเสนอแนะที่ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์อันสูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ อันเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยต้องถือเป็นปฏิบัติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net