Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน จี้ ‘ปลอดประสพ’ ลาออกรองนายกฯ-ประธาน กบอ. เฉ่งใช้คำพูดดูถูกประชาชน-ข่มขู่ไม่ให้ชุมนุมประท้วง ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมีรัฐธรรมนูญรับรอง ส่อเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย

 
จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและอุทกภัย (กบอ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2556 ระหว่างการเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดงานสัมมนาและนิทรรศการด้านการ บริหารจัดการน้ำระดับนานาชาติ หรือการประชุมผู้นำด้านน้ำ เอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific water summit) ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ว่า
 
"หากมีการชุมนุมประท้วงก็จะสั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดไปดำเนินคดี ดังนั้น ขอเตือนอย่ามาชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง จะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จัดคุกไว้ให้เท่านั้น และจะไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะมาเกะกะด้วย”
 
วันนี้ (16 พ.ค.56) เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน นำโดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล ได้ออกมาตอบโต้นายปลอดประสพ โดยแสดงความเห็นว่า มีพฤติกรรมแบบอำนาจนิยม ขาดภาวะความเป็นผู้นำ และเรียกร้องให้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.
 
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า นายปลอดประสพ เป็นถึงรองนายกฯ แต่กลับไม่ก้าวหน้าทางความคิด ส่อถึงการเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ด้วยการใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามประชาชน และข่มขู่ว่าจะจับถ้าหากมีการชุมนุมประท้วง ทั้งที่สิทธิการชุมนุมที่ไม่ทำผิดกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญรับรอง
 
“รัฐบาลชุดนี้บอกว่าได้อำนาจมาจากประชาชนตามหลักประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมของนายปลอดประสพที่ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว กลับแสดงออกถึงความเป็นเผด็จการ และขาดภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่มีความเหมาะสมที่จะมาบริหารประเทศ จึงสมควรลาออกจากการเป็นรองนายกฯ และประธาน กบอ.” นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายประชาชนอีสาน ได้ติดตามคัดค้านโครงการจัดการน้ำของรัฐบาล 3.5 แสนล้าน เพราะเป็นโครงการที่ไม่โปร่งใส ประชาชนไม่มีส่วนร่วม นอกจากนี้ปัญหาการจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล
 
“หากมีการจัดเวทีเกี่ยวกับการจัดการน้ำในภาคอีสาน ชาวอีสานจะออกมาคัดค้าน และใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญขับไล่นายปลอดประสพอีกด้วย” นายสุวิทย์กล่าว
 
ในขณะที่นางผา กองธรรม แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดการน้ำร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้าหากภาครัฐมีการฟังเสียงสะท้อนของประชาชนยิ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้น แต่ถ้าภาครัฐคิดที่จะรวบอำนาจทุกอย่างเอาไว้เอง จะมีประชาชนไว้ทำไม คิดเอง ทำเอง ทุกอย่าง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วยังเปรียบเทียบประชาชนคนทุกข์ยากว่าเป็น สวะ หรือ ขยะ อีก อย่างนี้ใช้ไม่ได้
 
“นักการเมืองมาจากไหน มันก็มาจากประชาชนเลือกตั้งทั้งนั้น ถ้าไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แล้วจะไปฟังเสียงใครกัน ข้อเรียกร้องของประชาชนที่จะนำเสนอถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว เพราะชาวบ้านรู้ว่าจะใช้ทรัพยากรของตัวเองอย่างไร เพราะพวกเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิดจนตาย” นางผากล่าว
 
นางผา กล่าวต่อว่า โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน นั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมาเร่งดำเนินโครงการในตอนนี้ เพราะหากจะมีโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม 1.) จะต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการจัดการน้ำโดยรัฐในทุกๆ ประเด็นให้จบสิ้นเสียก่อน 2.) การจัดการน้ำต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดความเป็นชุมชนโดยเด็ดขาด
 
ด้านนายคงเดช เข็มนาค ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เป็นโครงการที่นำเงินมาผลาญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ชาวบ้านเคยมีบทเรียนจากการจัดการน้ำของรัฐฝ่ายเดียวมาแล้ว รู้ดีว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา
 
“ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเก่าที่รัฐเคยสร้างปัญหาไว้ ยังแก้ไขไม่จบเลย ยังจะเอาโครงการใหม่เข้ามาสร้างปัญหาทับถมกันลงไปอีก อย่างนี้ประชาชนที่เคยมีบทเรียนไม่เห็นด้วยแน่นอน” นายคงเดชกล่าว
 
นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาการขุดลอกน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเจ็บซ้ำมามากพอแล้วกับการจัดการน้ำ โดยที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลย ภาครัฐคิดเอาเองทั้งหมดว่าต้องการทำอย่างไร โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น 3.5 แสนล้านบาท ก็จะเป็นเหมือนโครงการจัดการน้ำของรัฐที่เคยสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบ
 
“โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นถ้าไม่สร้างการมีส่วนร่วมแก่ประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้ออกแบบ ก็อย่าหวังเลยว่าชาวบ้านที่เคยมีบทเรียนจะเห็นดีด้วย” นายวิเชียรกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net