Skip to main content
sharethis

นศ.นิติศาสตร์จาก 4 มหาลัย 3 ภูมิภาค ร่วมโครงการสังเกตการณ์ศาลผ่านมิติสิทธิมนุษยชน เผยยังขาดความบกพร่องในหลายด้าน เช่น การพิจารณาคดีไม่ครบองค์คณะ ขาดล่ามท้องถิ่น และการเลือกปฏิบัติ

27 พ.ค. 56 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาเวทีสาธารณะ “คดีสิทธิมนุษยชน กรณีการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม” โดยร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AIHR) และคณะนิติศาสตร์ จาก 4 มหาวิทยาลัย 3 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยทักษิณ
 
นักศึกษานิติศาสตร์แต่ละมหาวิทยาลัย นำเสนอผลจากการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีจริงในชั้นศาล 936 คดี ผ่านมุมมองทางสิทธิมนุษยชน โดยเน้นว่ากระบวนการพิจารณาคดีและกระบวนการในศาลมีความบกพร่อง ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เข้าสู่กระบวนการไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จำแนกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่
 
1. การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาบกพร่อง เช่น ผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีไม่ครบองค์คณะแม้เป็นคดีร้ายแรง โทษสูงและมีผลกระทบต่อตัวผู้ถูกตัดสินมาก ผู้พิพากษาไม่ตรงต่อเวลา ไม่จดจ่ออยู่กับการพิจารณาคดี นั่งเหม่อลอยขณะสืบพยาน ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ร่วมซักถามเพิ่มเติมขณะสืบพยาน มีพฤติกรรมหว่านล้อมหรือข่มขู่ให้จำเลยรับสารภาพผิด บางครั้งมีการพิจารณาหลายคดีพร้อมกันในห้องเดียว ผู้พิพากษาจึงอาจพยายามรวบรัดประเด็นการพิจารณา แม้ว่าประเด็นนั้นอาจเป็นประโยชน์กับจำเลย รวมไปถึงมีผู้พิพากษาแสดงตนสั่งสอนบาปบุญคุณโทษ ศีลธรรมอันดีงาม แก่จำเลย ใช้ถ้อยคำรุนแรงกับจำเลยเพราะเห็นว่าเป็นผู้กระทำความผิดทั้งที่ยังไม่ได้ตัดสิน ถือว่าเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้จำเลยเกิดความกลัวหรือหวั่นเกรง
 
2. ศาลไม่มีบริการล่ามแปลภาษาที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับคนที่มีข้อจำกัดในการสื่อสาร ศาลมีล่ามเฉพาะภาษาสากลที่ได้รับการยอมรับ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แต่ไม่มีล่ามภาษาถิ่น ภาษาชนเผ่า ที่กลุ่มชาติพันธ์ใช้ เช่น ภาษามลายู ภาษาปกากะญอ ฯลฯ จึงมีการนำบุคคลที่ศาล”เชื่อว่า” เข้าใจภาษาถิ่นและภาษาไทยมาแปลให้ เช่น นักโทษที่มานั่งฟังการพิจารณา แม่บ้านของศาล หรือผู้เข้าฟังการพิจารณาที่เป็นญาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่มีหลักประกันใดๆว่าการแปลจะถูกต้องเป็นธรรม  ผู้พิพากษาเองก็ไม่เข้าใจภาษาถิ่น เพราะไม่ใช่คนในท้องถิ่น จากการสังเกตการณ์ นักศึกษาพบว่าล่ามที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ แปลภาษามลายูได้ไม่ถูกต้องตามเจตนาของจำเลย การพิจารณาจึงไม่ยุติธรรม บางครั้งจำเลยก็ไม่เข้าใจที่ศาลพูด หรือไม่เข้าใจบันทึกคำให้การ แต่ก็ยินยอมเซ็นชื่อไปทั้งที่ไม่เข้าใจ 
 
3. การเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันของเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ศาลเลือกตรวจค้นชาวบ้านหรือชาวชนเผ่าที่แต่งกายแปลกจากคนทั่วไปมากกว่า ในขณะที่ปล่อยปละละเลย หรือตรวจคนที่แต่งตัวอย่างคนเมืองน้อยกว่า หากแต่งกายแบบชาวบ้านหรือชาวชนเผ่าจะก็เป็นที่จับตามองและตรวจค้นอย่างเข้มงวดมากกว่า  นอกจากนี้ยังมีการถูกกีดกันไม่ให้เข้าฟังการพิจารณาคดี แม้ว่าโดยหลักการแล้ว จะเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าผู้เข้าฟังจะเป็นญาติหรือไม่ก็ตาม นักศึกษาผู้สังเกตการณ์พบว่า ตอนแรกที่แสดงตนเป็นคนทั่วไปเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตอบอย่างหนึ่ง บ้างก็ไม่ให้เข้าฟัง แต่เมื่อแสดงตนเป็นนักศึกษากลับได้รับอนุญาตให้เข้าฟัง ในขณะที่ศาลในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานีก็ไม่อนุญาตให้เข้าฟังโดยอ้างเรื่องความปลอดภัยของผู้ฟังตามสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่อีกสองจังหวัดคือ ยะลา และนราธิวาสกลับสามารถเข้าฟังได้ นอกจากนี้ยังมีการกีดกันไม่ให้นักศึกษาเข้าฟังก็มีบ้าง โดยอ้างว่า ระดับการศึกษาไม่ถึง ห้องเล็กหรือไม่ให้เก้าอี้ไม่พอ บางครั้งนักศึกษาได้เข้าฟัง แต่เก้าอี้ไม่พอ ญาติจำเลยกลับต้องเป็นฝ่ายออกจากห้องพิจารณาคดีแทน  
 
4. ความบกพร่องด้านการบริการ การประชาสัมพันธ์ และสื่อประชาสัมพันธ์ในศาล ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ เสียงตามสาย ป้ายประกาศ หรือป้ายประชาสัมพันธ์ในศาล ติดไว้ไม่ชัดเจน สร้างความสับสนแก่ผู้ร่วมฟัง เช่น ป้ายเขียนหน้าห้องพิจารณาคดีว่า “เขตหวงห้ามเฉพาะ” “เฉพาะเจ้าหน้าที่” ทำให้ญาติที่มาฟังการพิจารณาไม่กล้าเข้าห้องเพราะไม่แน่ใจว่าเข้าไปได้หรือไม่ 
 
5. ความบกพร่องของอัยการ และทนายขอแรง (ทนายที่ศาลแต่งตั้งให้) เช่น อัยการไม่ตรงต่อเวลา แสดงท่าทีเหยียดหยามฝ่ายจำเลย ทำกิจกรรมอื่นในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี  ทนายขอแรงทำงานไม่เต็มที่ ร่วมมือกับอัยการและผู้พิพากษา บีบบังคับให้จำเลยรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว
 
นอกจาก 5 ประเด็นปัญหาสำคัญแล้ว นักศึกษาผู้สังเกตการณ์ยังเล็งเห็นปัญหาอื่นๆอีก เช่น การใส่โซ่ตรวน การใส่กุญแจมือ ผู้ต้องขังทั้งที่คดีความยังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีการตัดสินว่ากระทำความผิดจริง การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันไม่พอ การกำหนดความสุภาพของการแต่งกาย ซึ่งคนต่างกลุ่มต่างชนชั้นย่อมมีมุมมองความสุภาพต่างกัน สุภาพในความคิดของชาวบ้าน อาจไม่ใช่ความสุภาพของข้าราชการ แต่ผู้ที่มีอำนาจกำหนดว่าอะไรคือความสุภาพเรียบร้อยกลับเป็นคนในระบบราชการซึ่งมีทุนทรัพย์ที่จะซื้อหาเครื่องแต่งกายมากกว่า
 
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษานิติศาสตร์ได้ลงสนามศึกษาเองเพื่อให้เห็นจริงว่าบทบัญญัติทางกฎหมายและกระบวนการพิจารณาคดี กับสภาพความเป็นจริง มีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร จากผลการสังเกตก็พบว่า หลายประเด็นไม่สอดคล้องกันจนบางครั้งความเป็นจริงก็ละเมิดบทกฎหมาย ทว่ากลับเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ไม่มีใครให้ความสำคัญ เช่น การมีล่าม กฎหมายระบุว่าต้องมี แต่ในความจริงกลับพบว่าเป็นปัญหามาก การให้นักศึกษามาสังเกตการณ์ดังที่ทำกันอยู่นี้ยังมีน้อยมาก ในระดับนักศึกษา นอกจากโครงการนี้ก็ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโครงการแรกๆ ก็ว่าได้ 
 
ไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงประเด็นการถูกเลือกปฏิบัติว่า เมื่อเรายอมรับว่าคนในสังคมมีความแตกต่างกัน กฎหมายจะต้องเป็นประกันว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติตอบอย่างเท่าเทียมกัน ศาลก็เป็นเครื่องประกันอย่างหนึ่ง รายงานที่ออกมาเป็นสิ่งสะท้อนว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำ เจ้าหน้าที่ศาลยังไม่คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า การเรียนการสอนทุกวันนี้เป็นอย่างไร จึงสร้างคนเหล่านี้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้ที่ใช้กฎหมายทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษา ทนายความ อัยการ ต่างเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยุติธรรม ควรต้องมีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ยังคิดแบบอำนาจนิยม เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนไปแล้ว
 
สราวุธ เบญจกุล ผู้พิพากษา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงถึงประเด็นที่นักศึกษาถูกกีดกันไม่ให้เข้าฟังการพิจารณาคดีว่า ในฐานะที่เป็นพลเมือง ถ้าเป็นคดีทั่วไปก็ย่อมมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีอยู่แล้ว ไม่มีใครหวงห้ามได้ กรณีผู้พิพากษาไม่ตรงต่อเวลา ก็มีการลงโทษกันอยู่ เมื่อสองเดือนที่แล้วเคยมีการลงโทษผู้พิพากษาที่มาทำงานสาย ลงโทษให้งดเลื่อนตำแหน่ง 1 ปี ส่วนการขึ้นนั่งบัลลังก์ ผู้พิพากษาจะรอให้คู่ความมาพร้อมก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่บัลลังก์ไปตาม ผู้พิพากษาไม่ได้มาสายเสมอไป สำหรับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างพิจารณาคดี ในปลายเดือนนี้จะมีการออกหนังสือเวียนเรื่องการห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในห้องพิจารณาคดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
 
ทั้งนี้ โครงการเรียนรู้และสังเกตการณ์ในชั้นศาลเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดยการสนับสนุนของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AIHR) เริ่มจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันฯที่อยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ ในรูปของวิชาเรียนและการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เพื่อจะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางศาลและจัดทำข้อเสนอออกสู่สาธารณะ กระทั่งปัจจุบันมีการประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนภายในพื้นที่ และมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 4 แห่ง ดังที่ได้นำเสนอผลงานไปข้างต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net