Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"All that is necessary for the triumph of evil is that good men do nothing." (Edmund Burke)
“ความชั่วร้ายจะได้รับชัยชนะด้วยสิ่งสำคัญคือคนดีไม่อินังขังขอบอะไรเลย” (เอ็ดมันด์ เบิร์ก)


ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองในซีเรียน่าจะถึงหรือเลยหลักแสนไปแล้ว แม้ว่าการคาดคะเนจากสำนักข่าวต่างๆ จะหยุดนิ่งอยู่เพียง 70,000-80,000 ก็ตาม นอกจากนี้มีการคาดคะเนว่าจะมีจำนวนชาวซีเรียที่อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านจำนวนล้านกว่าคนรวมไปถึงประชาชนที่เคลื่อนย้ายหนีภัยสงครามภายในประเทศตัวเองอีก 4 ล้านคน

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของนายบัชชาร อัลอะซัดกับฝ่ายขบถถือได้ว่าเป็นผลผลิตของการลุกฮือประท้วงในอาหรับ (Arab Spring) ที่เลวร้ายที่สุดและไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้หรืออันไกล  สาเหตุสำคัญเพราะซีเรียเป็นพื้นที่ขัดแย้ง ชิงไหวชิงพริบระหว่างมหาอำนาจ 2 กลุ่มที่เคยมีความขัดแย้งกันมาก่อนในช่วงสงครามเย็น ฝ่ายแรกคือฝ่ายตะวันตกที่สนับสนุนฝ่ายขบถรวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่นับถือนิกายซุนนีย์ ฝ่ายที่ 2 คือรัสเซียและจีนรวมไปถึงประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับตะวันตกคืออิหร่านและเลบานอนซึ่งถือว่าตนเป็นพันธมิตรและคอยส่งอาวุธพร้อมกำลังพลในการช่วยเหลือรัฐบาลของนายอัลอะซัดรวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่นับถือนิกายชีอะห์

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อสงครามกลางเมืองซีเรียคือบทบาทของประเทศที่มีงบประมาณทางทหารสูงที่สุดในโลกและมีกองกำลังที่ทรงอิทธิพลยากจะหาใครทัดเทียมก็คือตะวันตก  (1) ก่อนอื่นต้องมาดูว่าตะวันตกมีปฏิกิริยาอย่างไรกับอาหรับสปริง

ตะวันตกกับอาหรับสปริง

นับตั้งแต่เกิดอาหรับสปริงเมื่อปี 2011 ตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ของนายบารัก โอบามา ค่อนข้างวางตัวเป็นกลาง การที่ประชาชนประเทศต่างๆ ไม่ว่าตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ซาอุดิอาระเบีย บาเรนได้ลุกขึ้นมาประท้วงและขับไล่ผู้นำเผด็จการที่ปกครองมาหลายทศวรรษได้ถูกกรุงวอชิงตันมองว่าสามารถก่อปัญหาให้กับเสถียรภาพในตะวันออกกลางอย่างใหญ่หลวง สหรัฐฯ เอง ในช่วงสงครามเย็นได้ถือว่าผู้นำเผด็จการเหล่านั้นทำให้ประเทศอยู่ในภาวะสมดุลคือไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงรวมไปถึงท่าทีซึ่งค่อนข้างประนีประนอมกับอิสราเอลภายหลังสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับในปี 1973 อย่างเช่นอียิปต์(2)

ในสายตาของตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ ฯ อาหรับสปริงยังเป็นเรื่องน่าละอายใจของที่อุตสาห์ทำสงครามขับไล่รัฐบาลเผด็จการของอัฟกานิสถานและอิรักออกไปและเข้ายึดครองเป็นเวลาเกือบทศวรรษ แต่ไม่ได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทในการจุดกระแสประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง (แบบค่อยเป็นค่อยไป) ได้เท่ากับการที่พ่อค้าขายผลไม้ที่เผาตัวเองประท้วงต่อรัฐบาลท้องถิ่นก่อนจะลามมาเป็นรัฐบาลแห่งชาติของตูนีเซียเพียงคนเดียว ที่สำคัญอาหรับสปริงยังทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าจะผู้ปกครองชุดถัดไปของประเทศเหล่านั้นจะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่หัวไม่รุนแรงหรือว่าเป็นมุสลิมหัวรุนแรงที่จะเป็นปรปักษ์ต่อตะวันตกและอิสราเอลอย่างเช่นอิหร่านในปี 1979 หรือไม่

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้นำประเทศเหล่านั้นไปไม่รอด ตะวันตกจึงค่อยๆ แสดงบทบาทเพื่อไม่ให้เสียศักดิ์ศรีของผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและเพื่อจะได้เชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลที่มาจากประชาชนเพื่อไม่ให้สูญเสียดุลแห่งอำนาจ ที่เห็นได้ชัดเช่นเมื่อสหรัฐฯ เห็นว่าฮอสนี มูบารัก ของอียิปต์จวนจะถูกขับออกจากตำแหน่งโดยประชาชน ประธานาธิบดีโอบามาจึงขี่กระแสออกปากเรียกร้องให้จอมเผด็จการออกจากตำแหน่งไป  เช่นเดียวกับรัฐบาลเยเมนที่สหรัฐ ฯ จำเป็นต้องให้เยเมนภายใต้รัฐบาลของนายอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์มี เสถียรภาพเพื่อความร่วมมือในการไล่ล่าผู้ก่อการร้ายซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในเยเมน ข่าวที่ว่าภายหลังจากนายซาเลห์ได้ลาออกจากประธานาธิบดีเพราะกระแสอาหรับสปริงแล้วจะถูกส่งตัวไปรักษาที่สหรัฐฯ  สะท้อนว่าสหรัฐฯ ไม่ได้โกรธเคืองหรือเดือดร้อนอะไรกับการปกครองแบบเผด็จการของนายซาเลห์กว่า 2 ทศวรรษ

หรือลิเบีย  มูอัมมาร์  กัดดาฟี บุรุษที่ตะวันตกเคยชังน้ำหน้าอย่างเหลือล้น โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยประนามว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้ายตัวฉกาจและสั่งเครื่องบินบุกโจมตีลิเบียทางอากาศมาแล้ว แต่ในช่วงหลังลิเบียได้ให้ความช่วยเหลือแก่ตะวันตกในการร่วมกันจัดการกับผู้ก่อการร้ายมุสลิม จนเมื่ออาหรับสปริงในลิเบียได้ขยายตัวเป็นสงครามกลางเมือง และฝ่ายขบถได้รับชัยชนะ มีการค้นพบในภายหลังว่ารัฐบาลของกัดดาฟีได้ร่วมมือกับหน่วยราชการลับของอังกฤษ (MI6) ในการนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อการร้ายมาทรมานเพื่อหาข้อมูล

จึงไม่ต้องสงสัยว่านาโต้ก็ได้โหนกระแสสนับสนุนฝ่ายขบถเพื่อกำจัดกัดดาฟีออกไป เข้าทำนองว่า "ขออยู่กับฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ"จึงไม่ต้องสงสัยว่าอาหรับสปริงในจอร์แดน ซาอุดิอาระเบียและบาเรนซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นและเป็นจุดยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางนั้นตะวันตกจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวเป็นอันขาดแม้แต่การประนามแม้ว่าจะมีข่าวการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศทะยอยออกมาอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม

แต่สำหรับซีเรียถือได้ว่าเป็นกรณีอาหรับสปริงที่ซับซ้อนและท้าทายสำหรับตะวันตกอย่างมาก

 

ตะวันตกกับสงครามกลางเมืองซีเรีย

ตระกูลอัลอะซัดปกครองซีเรียตั้งแต่ยุคของนายฮาเฟด อัลอะซัดเมื่อปี 1971 -2000 และบัชชาร อัลอะซัดผู้เป็นลูกชายก็ได้สืบตำแหน่งต่อภายหลังจากนายฮาเฟดได้ถึงแก่กรรม   ในปี 2001 ซีเรียก็ได้ให้ความช่วยเหลือสหรัฐ ฯ ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายพอสมควร แม้ว่าซีเรียจะถูกสหรัฐฯ ประนามว่าเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย (State Sponsors of Terrorism)ร่วมกับ เยเมนใต้  อิรัก  ลิเบีย คิวบาและอิหร่าน  และมีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่านเพราะตระกูลอัลอะซัดนับถือศาสนาอิสลามนิกายอะลาวิตซึ่งเป็นนิกายย่อยของชีอะห์ที่นับถือกันมากในอิหร่านและอิรัก  แต่ซีเรียก็มีความสัมพันธ์พอใช้ได้กับตะวันตกซึ่งต้องการให้ซีเรียมีส่วนร่วมในการทำสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรัก เมื่ออาหรับสปริงของซีเรียเกิดขึ้น ตะวันตกจึงถือว่าไม่ใช่ธุระอะไรที่จะมาต่อต้านอัลอะซัดจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์จนถึงปัจจุบัน จนเมื่อการประท้วงเริ่มขยายตัวเป็นสงครามกลางเมือง ตะวันตกก็ยังแสดงความลังเลใจ และหันมาอยู่ข้างฝ่ายขบถเมื่อสงครามทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

มีใครหลายคนเรียกร้องให้ตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ช่วยเหลือพลเรือนตาดำ ๆ ของซีเรียโดยเข้ามาแทรกแซง โดยการแทรกแซงของตะวันตกอาจตั้งอยู่บนทางเลือกหลายข้อดังต่อไปนี้

1.การส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย วิธีการนี้ได้รับการเรียกร้องมากเพราะน่าจะได้เห็นผลไวและนำไปสู่ฉากสงครามที่ตื่นตาตื่นใจอีกครั้ง แต่ในความจริงมีความแต่มีความเป็นไปได้น้อยมาก ด้วยสาเหตุสำคัญหลายประการซึ่งหลายอย่างเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อตะวันตกแต่ก็เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของโลกด้วย

ผลกระทบต่อตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ

-คนอเมริกันต่างเบื่อหน่ายกับสงครามอัฟกานิสถานและอิรักเต็มทน การส่งกองกำลังสหรัฐฯ เข้าไปอาจทำให้เกิดการติดหล่มของกองทัพเหมือนดัง  2 ประเทศที่ได้กล่าวมา การเสียชีวิตของทหารอเมริกันและงบประมาณที่ต้องผลาญไปอย่างมหาศาลย่อมส่งผลถึงคะแนนความนิยมของตัวโอบามาเอง นโยบายเช่นเดียวมีลักษณะเหมือนกับประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตคือบิล คลินตัน ที่ปฏิเสธไม่ยอมส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 และสงครามในอดีตยูโกสลาเวียในช่วงทศวรรษที่เก้าสิบ ถึงแม้จะเป็นวาระการดำรงตำแหน่งที่  2 แต่โอบามาคงไม่อยากจะเดินทางออกจากทำเนียบขาวด้วยคะแนนความนิยมตกต่ำเหมือนประธานาธิบดีก่อนหน้านี้หลายคนเป็นแน่

-สหรัฐฯ ทราบดีว่าทั้งรัสเซียรวมถึงจีนให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรียเต็มที่เช่นรัสเซียส่งอาวุธคือขีปนาวุธให้อัลอะซัด การบุกซีเรียจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและทั้ง 2 ประเทศซึ่งเปราะบางเต็มทีเลวร้ายกว่าเดิมเพราะทั้ง 2 ประเทศไม่เห็นด้วยการกระทำเช่นนี้โดยอ้างว่าเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น และการแทรกแซงของสหรัฐฯด้วยกำลังทางทหารก็ยิ่งยากมากขึ้นเพราะรัฐบาลอัลอะซัดมีอาวุธทันสมัยอยู่เรื่อยๆ 

-ฝ่ายขบถของซีเรียประกอบด้วยกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (นับถือนิกายซุนนีห์) การส่งอาวุธไปช่วยก็อาจจะกลายเป็นหอกกลับมาทิ่มแทงตะวันตกได้  สหรัฐฯ เมื่อเมื่อถูกแรงกดดันจากชาวโลกก็ให้การช่วยเหลือปัจจัยที่ไม่ใช่อาวุธแก่ฝ่ายขบถและผู้อพยพลี้ภัย อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ดูจะโอนอ่อนมากขึ้นเมื่อพันธมิตรคืออังกฤษและฝรั่งเศสได้พยายามขอให้สหภาพยุโรป "ผ่อนปรน"มาตราการการคว่ำบาตรอาวุธแก่ซีเรียเพื่อเป็นการช่วยเหลือขบถของซีเรียหัวไม่รุนแรง ถึงแม้จะกลับมีหลายประเทศในสหภาพยุโรปไม่เห็นด้วยแต่สุดท้ายความพยายามนี้ก็สำเร็จ แต่ดูเหมือนยังหาคำตอบได้ยากว่าฝ่ายขบถจะนำความได้เปรียบนี้ไปสู่ชัยชนะหรือไม่ เพราะรัสเซียแสดงไม่ความพอใจการตัดสินใจของสหภาพยุโรปเลยใช้เป็นข้ออ้างในการส่งอาวุธไปให้อัลอะซัดมากขึ้น

-สหรัฐฯ พบกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 อันเป็นผลให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและทางทหารใหม่ เพตากอนหรือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ต้องตัดงบประมาณทางทหารลง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในการโอบล้อมเอเชีย (Pivot towards Asia) ที่อเมริกาต้องการมุ่งความสนใจมาที่เอเชียเป็นหลักเพื่อแข่งขันกับจีนซึ่งก้าวเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในเวทีโลก แต่อาหรับสปริงและสงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ รวมไปถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านทำให้นโยบายของสหรัฐฯต้องสะดุดเพราะตระหนักดีว่าไม่สามารถทอดทิ้งภูมิภาคนี้ไปได้แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ไม่ต้องการให้บทบาทของตนถล้ำลึกเข้าไปในตะวันออกกลางมากกว่านี้เพราะต้องมีค่าใช้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นจำเป็น


ความมั่นคงของโลก

ตามความคิดของทั่วไปว่าความวุ่นวายในซีเรียอาจกระฉอกออกนอกประเทศไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางย่อมส่งผลถึงเรื่องของราคาน้ำมันและเศรษฐกิจของโลกรวมถึงตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมาอีกหากสหรัฐฯบุกเข้าไปในซีเรียเช่น

-รัฐบาลซีเรียครอบครองอาวุธร้ายแรงคืออาวุธเคมีไว้เป็นจำนวนมาก หากรัฐบาลอัลอะซัดต้องมีอันเป็นไป กลุ่มอัลกออิดะฮ์อาจนำไปใช้ในการก่อการร้ายได้ทั่วโลกถ้ากองทัพสหรัฐฯไม่สามารถเข้าไปบุกยึดคลังอาวุธไว้ทัน แต่ในปัจจุบันอิสราเอลซึ่งดูวิตกกังวลยิ่งกว่าใครในภูมิภาคตะวันออกกลางได้แอบส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีโรงงานผลิตอาวุธเคมีของซีเรียเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งไปให้อิหร่าน (ซึ่งอิสราเอลวางแผนจะบุกโจมตีครั้งใหญ่อีกเช่นกัน)และกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนและยังป้องกันไม่ให้ตกเป็นอาวุธสำหรับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในอนาคต

-การล้มลงของรัฐบาลซีเรียอาจส่งคลื่นกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นอิรักซึ่งนายกรัฐมนตรีคือ นูริ อัลมาลิกิซึ่งมีความสนิทสนมกับซีเรียและอิหร่านเพราะนับถือนิกายชีอะห์ อันเป็นผลให้เกิดระเบิดรายวันโดยผู้ก่อการร้ายนิกายซุนนีย์และมีท่าทีจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในอนาคตระหว่าง 2 นิกายดังกล่าว รวมไปถึงเลบานอนที่ซีเรียเข้าไปมีอิทธิก็เกิดสงครามภายในย่อยๆ ระหว่างผู้สนับสนุนนายอัลอะซัดและฝ่ายขบถ นอกจากนี้เพื่อนบ้านของซีเรียไม่ว่าอิรัก จอร์แดน ตุรกี อิสราเอล ซึ่งก็ต้องแบกรับผู้อพยพขาวซีเรียมากอยู่แล้ว ภาวะอนาธิปไตย อาจทำให้มีผู้อพยพมากกว่านี้อันจะซ้ำเติมเศรฐกิจของบางประเทศเช่นจอร์แดนซึ่งก็มีความขัดแย้งทางการเมืองที่รอวันจะระเบิดขึ้นมาหากต้องพบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงกว่านี้

-ผู้เขียนยังมาคิดเล่นๆ (ความเป็นไปได้อาจจจะน้อยแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้)หากฝ่ายขบถชนะอาจส่งผลให้เกิดอาหรับสปริงภาค 2.0   ขึ้นเพราะเป็นแสดงให้เห็นว่าพลังของเจตจำนงของมวลชนอยู่เหนือเผด็จการ  ถึงแม้ว่าสงครามกลางเมืองในซีเรียอาจเป็นผลให้อาหรับสปริงที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศหยุดชะงักแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว หากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในอนาคต เช่นประชาชนเห็นว่าบริบทของประเทศตนแตกต่างจากซีเรีย การประท้วงครั้งใหญ่อาจจะไม่ได้นำไปสู่ชะตากรรมเดียวกับซีเรีย หรืออาจจะมีคนคิดวางแผนแบบมุทะลุในการทำให้รัฐบาลต้องล้มไม่ว่าจะเกิดความพังพินาศกับประเทศเท่าไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นอนาคตที่ต้องจับตาดูต่อไป 

 ภาคนี้อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในจอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน ซึ่งจะทำให้ความวุ่นวายในตะวันออกกลางแรงขึ้นไปอีกเพราะมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนีย์และนิกายชิอะห์เข้ามาปะปนด้วย หรือถ้าขึ้นซ้ำอีกในอิหร่านซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีนี้ สหรัฐฯก็คงจะชื่นชอบเพราะถ้าสำเร็จ ฝ่ายปฏิรูปจะขึ้นมามีอำนาจและเจรจากับสหรัฐฯ และอิสราเอลในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ได้ดีกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ความวุ่นวายอย่างยืดเยื้อในอิหร่านในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกก็คงทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก

-คลื่นความวุ่นวายอาจเดินทางผ่านความขัดแย้งของ 2 นิกายเลยไปถึงประเทศที่เป็นปมที่สหรัฐฯ พยายามแก้คืออัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ จะถอนทหารออกไปในปี 2014 และปากีสถานประเทศในเอเชียใต้ที่ครอบครองระเบิดนิวเคลียร์หลายสิบลูกแต่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนิกายชีอะห์และซุนนีย์ ไปพร้อมๆ กับการชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพ สหรัฐฯ จึงหวาดกลัวในเรื่องเสถียรภาพของปากีสถานอย่างมาก ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ก่อการร้ายสามารถใช้ความวุ่นวายของปากีสถานในการแอบขโมยหรือปล้นระเบิดนิวเคลียร์จากรัฐบาลไปได้สักหนึ่งลูกแล้วพร้อมจะปฏิบัติการที่ไหนก็ได้

ทางเลือกอื่น ๆ

โอบามาเคยประกาศว่าหากทราบว่ารัฐบาลอัลอะซัดใช้อาวุธเคมีกับพลเรือนก็จะให้สหรัฐฯ เพิ่มบทบาทมากกว่านี้อันทำให้คนตีความว่าอาจส่งกำลังทหารเข้าไป แต่เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการใช้อาวุธเช่นนี้อย่างชัดเจน โอบามาก็ยังคงยึดมั่นสุภาษิต "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" อันสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยดังที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ตะวันตกจึงมีทางเลือกสำหรับแก้ปัญหานอกจากข้อ 1.ข้างบนดังต่อไปนี้


2.เสนอให้รัฐบาลและฝ่ายขบถเจรจากันเพื่อยุติการทำสงคราม ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแต่ทำประสบผลได้ยากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นได้ในอดีตว่าล้มเหลวหลายครั้งแม้จะมีทูตสันติภาพที่มีบารมีมากก็ตาม เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ยอมรามือกัน อัลอะซัดไม่มีทางลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีและฝ่ายขบถไม่มีทางยอมวางอาวุธ  การฆ่าสังหารกันอย่างโหดเหี้ยมของทั้ง 2 ฝ่าย (ถึงขั้นผ่าอกเพื่อกินหัวใจ) ทำให้ทุกคนทราบดีว่าคงจะไปจับมือกับอีกฝ่ายไม่ได้ด้วยความหวาดระแวงกันจนทุกฝ่ายก้าวไปสู่จุดที่ให้อภัยต่อกันไม่ได้ไม่ได้เลย ส่วนคำถามที่ว่าซีเรียจะสามารถแตกเป็น 2 ประเทศได้หรือไม่ คำตอบคือยากเพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างกระจายกำลังกันไปทั่วประเทศทำให้มีความเป็นไปได้คือซีเรียกลายเป็นรัฐล้มเหลวเป็นระยะเวลาเกินทศวรรษ นอกจากนี้ฝ่ายขบถซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การพยายามเจรจาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในฝ่ายขบถอาจนำไปสู่การแตกกลุ่มกันเพราะอาจหวาดระแวงว่าจะหันมาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล


3.ในการการเวทีการเจรจา ตะวันตกต้องการคนกลางเช่นสหประชาชาติและสันนิบาตอาหรับแต่ปรากฏว่าล้วนเป็นองค์กรเป็ดง่อย ไร้ประสิทธิภาพทั้งสิ้น  ตะวันตกจึงต้องเกลี่ยกล่อมให้รัสเซียและจีนยุติการช่วยเหลือซีเรียหรือว่าบีบให้อัลอะซัดทำวิธีใดวิธีหนึ่งเช่นยอมแพ้หรือยอมเจรจากับฝ่ายขบถ  ก็เป็นวิธีการทูตที่ยากเย็นยิ่งนักเพราะทั้ง 2 ประเทศถือว่าซีเรียเช่นเดียวกับเกาหลีเหนือเป็นประเด็นในการต่อรองทางอำนาจในช่วงสงครามเย็นครั้งใหม่นี้ จากหลายครั้งสะท้อนว่าทั้งรัสเซียและจีนมีแนวโน้มที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยู่ตรงกันข้ามกับความต้องการของตะวันตก แต่ปัจจุบันรัสเซียสามารถทำให้อัลอะซัดยอมมาเจรจากับฝ่ายขบถได้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัสเซียมีความจริงใจต่อการกระทำของตน และจะรู้ได้อย่างไรว่าการเจรจาจะไม่กลับไปสู่ข้อ 2 อีกครั้ง


4.สนับสนุนฝ่ายขบถเต็มที่โดยไม่ส่งกองกำลังเข้าไปในลักษณะเดียวกับลิเบีย แต่สหรัฐฯก็รู้ดีว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งฝ่ายขบถบดขยี้อัลอะซัดได้เหมือนกับกัดดาฟีอาจเป็นการติดปีกให้เสือเช่นนอกจากจะมีอาวุธทันสมัยจากตะวันตกเอง อาวุธเคมีก็ตกอยู่ภายใต้มือของผู้ก่อการร้าย นอกจากนี้ฝ่ายขบถก็จะหันมาต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองซึ่งอาจทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนโซมาเลีย (3)  วิธีนี้สามารถแก้ไขได้คือการพยายามเสริมสร้างให้รัฐบาลเฉพาะกาลมีความเข้มแข็งสามารถประสานผลประโยชน์ให้ลงตัวกันได้ทุกฝ่าย แต่ที่สำคัญต้องไม่ให้ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์มีอิทธิพลเหนือกลุ่มอื่น แต่หากดูความแตกต่างของก๊กต่างๆ แล้วค่อนข้างเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ที่สำคัญคือถ้าฝ่ายขบถชนะก็จะมีการ "เช็คบิล" คือกวาดล้าง สังหารหมู่หรือคุมขังชาวซีเรียที่อยู่ฝ่ายอัลอะซัดโดยเฉพาะชาวนิกายอาละวิตเป็นจำนวนมากเพื่อลงโทษและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมา การบีบให้ฝ่ายขบถไม่ให้ทำเช่นนั้นได้เป็นเรื่องยากยิ่งเพราะไม่มีผู้นำที่สามารถสั่งการเด็ดขาดได้เพียงคนเดียว แต่สิ่งนี้ถ้านำซีเรียไปสู่เสถียรภาพและความเชื่องภายใต้อำนาจของตะวันตกก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร  กระนั้นถ้ามุสลิมหัวรุนแรงได้ขึ้นมามีอำนาจอาจส่งผลถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในอนาคตก็ได้


5.แอบเอาใจเชียร์ให้อัลอะซัดชนะเพราะจะทำให้ซีเรียกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าภายหลังจากนั้นก็จะเกิดการเช็คบิลกับประชาชนเช่นเดียวกับถ้าฝ่ายขบถชนะและอัลอะซัดก็คงจะหันมาเช็คบิลกับประเทศในกลุ่มอาหรับที่แอบช่วยเหลือฝ่ายขบถไม่ว่าตุรกี ซาอุดิอาระเบีย กาต้าซึ่งผู้ปกครองล้วนนับถือนิกายซุนนี นอกจากนี้อัลอะซัดอาจหันมาเล่นงานสหรัฐฯ โดยการช่วยเหลืออิหร่านมากขึ้น เว้นไว้แต่ว่าจะสามารถ "เกี้ยเซียะ"หรือหันมาจูบปากกันได้ในภายหลังแต่ตะวันตกก็เสียหน้าไปไม่น้อยที่ยอมให้คนพาลของโลกกลับเข้ามามีอำนาจและละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่อีกครั้ง และแน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์และซุนนีก็อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นเพราะชาวซุนนีรับไม่ได้ที่พวกเดียวกันต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะพวกนิกายอื่น


6.สวดมนต์ขอพระเจ้าให้เหตุการณ์คลี่คลายไปเอง


อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงการคาดคะเนที่มีข้อมูลจำกัดซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามามีผลต่อโฉมหน้าของเกมการเมืองในประเทศซึ่งมีสถานการณ์รุนแรงและละเอียดอ่อนทางการเมืองมากที่สุดจุดหนึ่งของโลกแถมยังมีตัวละครร่วมแสดงอีกมากมายบนผลประโยชน์ที่ยอมความกันไม่ได้  ซึ่งว่ากันตามจริงคงจะหาคนพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตของสงครามกลางเมืองของซีเรียได้อยากยิ่งว่าจะจบลงเมื่อใดและจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไรแม้แต่คนที่เราสวดมนต์อ้อนวอนในข้อ 6 ถ้าถามจริงๆ จังๆ พระองค์ก็อาจจะทรงยอมรับว่ากำลังงงๆ อยู่เหมือนกัน

************************************************

 

(1) ประกอบด้วยสหรัฐฯ และประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและนาโต อย่างไรก็ตามอาจเกิดปัญหาในการตีความขึ้นมาได้ว่าประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นตะวันตกไม่จำเป็นต้องมีความคิดหรือนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกันก็ได้ดังกรณีวิกฤตค่าเงินยูโรที่กำลังจะทำให้สหภาพยุโรปแตกเป็นเสี่ยง ๆ หรือฝรั่งเศสเคยไม่เห็นด้วยกับการบุกอิรักของสหรัฐฯ เมื่อปี 2003 แต่เพื่อความสะดวกก็ขอกล่าวโดยรวมๆ ว่าเป็นตะวันตก (Western)

(2) โซมาเลียเป็นประเทศล้มเหลวที่พื้นที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มขุนศึกต่างๆ เป็นเวลา 20 กว่าปีโดยปราศจากรัฐบาลกลางที่มีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศ แม้ว่าตะวันตกจะพยายามตั้งรัฐบาลที่กรุงโมกาดิชูเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม แต่ความหวังจะให้เป็นประเทศที่มีเอกภาพดูเลือนลางมาก

(3) ประธานาธิบดีอียิปต์ที่ผลักดันให้มีการลงนามสัญญาสันติภาพระหว่างอียิปต์และอิสราเอลคืออันวาร์ ซาดัตซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบิลในปี 1978 และทำให้เขาถูกสังหารในปี 1981 โดยรองประธานาธิบดีคือฮอสนี มูบารักขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนและก็ดำรงนโยบายเป็นมิตรกับอิสราเอลไปตลอดการดำรงตำแหน่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net