เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์ ดี แต่ทำไมไม่ทำ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชิ้นที่สอง จากชุดบทความ เกษตรอินทรีย์: จากไร่นาสู่โต๊ะอาหาร เป็นการมองความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในสังคมไทย ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การกระจาย และการบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ สังคม สถาบันและชีวิตประจำวันของเรา


อนึ่ง ภายในสองไตรมาสแรกของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือ การทำนาปรังในภาคกลาง, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจภาคอีสาน และเกษตรอินทรีย์ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ในบทความนี้ ผู้เขียนตั้งคำถามว่า---ทำไมเกษตรกรจำนวนมากจึงไม่ทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็พูดว่า เกษตรอินทรีย์ดี ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ดีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม?

เรามักได้ยินคำสรรเสริญความดีงามของเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรามักได้ยินเสียงประณามเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมี

บ่อยครั้งที่เสียงเรียกร้องให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ มักจะไม่ใส่ใจเหตุผลของเกษตรกรที่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นสังคมจึงไม่เข้าใจว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ใครๆ ก็ว่าดี ทำไมจึงไม่สามารถขยายผล เกษตรกรไม่ทำเพิ่ม พื้นที่ผลิตไม่เพิ่ม หรือเกษตรกรทำแล้ว เลิกไปในที่สุด?

มีคำถามที่ท้าทาย แต่เราแทบไม่เคยถาม เช่น จริงหรือไม่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมี จริงหรือที่เกษตรกรไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพ จริงหรือที่เกษตรกรขาดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม จริงหรือที่พวกเขาคิดถึงแต่เงินเพียงอย่างเดียว?

ภาพสร้างเกี่ยวกับ “เกษตรอินทรีย์”

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการชื่อดัง James C. Scott  ได้อธิบายการสร้างความทันสมัยในภาคเกษตรกรรมในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับองคาพยพ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านพร้อมกัน เช่น การความหมายของเวลา เปลี่ยนเป้าหมายของการใช้พื้นที่ทางกายภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าทางจริยธรรมให้แก่การทำงานขึ้นมาใหม่ โดยนัยดังกล่าว การสร้างความทันสมัยจึงเป็นโครงการที่มุ่งเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เพื่อสร้างอรรถประโยชน์ และผลิตผลสูงสุด การสร้างความทันสมัยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อจัดจำแนกประเภทให้แก่สิ่งต่างๆ และเน้นการสร้างความเหมือนกันของธรรมชาติ เพื่อให้ง่ายต่อการแจงนับและควบคุม เช่น การแยกประเภท “พืชที่มีมูลค่า” กับ “พืชที่ไม่มีมูลค่า” และการแจงนับมูลค่าของพืชที่มีมูลค่าเท่านั้น เพื่อให้สามารถคำนวณผลกำไรที่เกิดจากการดัดแปลงธรรมชาติ[i]

จากข้อเสนอของ  Scott หากพิจารณาการจำแนกเกษตรเคมี/เกษตรอินทรีย์ จะพบว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ถูกสร้างขึ้นผ่านการจำแนกประเภทเกษตรอินทรีย์/เกษตรเคมี และการสร้างความหมายในเชิงขั้วตรงข้าม ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ถูกสร้างความเข้าใจว่าเป็นระบบเกษตรกรรมในอุดมคติ เป็นระบบเกษตรปลอดภัย ช่วยให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ฯลฯ เกษตรเคมีถูกสร้างความหมายเท่ากับระบบเกษตรที่เลวร้าย เป็นอันตราย เป็นสาเหตุของความล่มสลายของเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา ฯลฯ การจำแนกความแตกต่างระหว่างระบบเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว นำไปสู่การให้คุณค่าและมูลค่าให้แก่ระบบเกษตรอินทรีย์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ คือเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีถูกตีตราว่าเป็น “คนที่ขาดความรู้” “ขาดจิตสำนึก” “ไม่รักธรรมชาติ” “ไม่รับผิดชอบต่อสังคม” เป็น “ฆาตกร” ที่ฆ่าผู้บริโภคให้ตายผ่อน เพียงเพราะพวกเขาไม่ทำเกษตรกรรมตามอุดมคติที่สังคมคาดหวัง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

การรณรงค์ผ่านสื่อจำนวนมากสร้างความเชื่อว่า เกษตรกรไทยเสพติดปุ๋ยเคมี มีพฤติกรรมเสพติดยา (ฆ่าแมลง) ใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ มีความโลภ อยากรวยเร็ว ชอบทำนาแบบมักง่าย เน้นทำเกษตรแบบรวดเร็ว ปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตระยะสั้น เพราะอยากได้ผลผลิตมาก จึงเร่งปุ๋ยเร่งยา โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับคนหรือธรรมชาติ ฯลฯ  ทำให้ข้อเรียกร้องต่อการเปลี่ยนแปลง พุ่งเป้าไปที่ตัวเกษตรกร ให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำเกษตร โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่บีบบังคับให้เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อไป

ทั้งๆ ที่การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นผลของการส่งเสริมระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ทำกันมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษในสังคมไทย  และเป็นกระบวนการที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างสลับซับซ้อน แต่การวิเคราะห์ผลกระทบของเกษตรแผนใหม่ กลับลดทอนความซับซ้อนของปรากฏการณ์ โดยเลือกที่จะหยิบยกปัจจัยบางด้านมาอธิบาย เช่น การกล่าวว่าการปลูกข้าวพันธุ์ผสม ซึ่งตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อม และทำให้ผลผลิตลดลงในระยะยาว ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน และการล่มสลายของครัวเรือนชาวนา ซึ่งแม้จะมีส่วนจริง แต่ก็เป็นเพียงเงื่อนไขบางประการของการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรม

ในขณะที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่มีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น พลังผลักดันของระบบตลาด ที่ทำให้เกิดการปลูกพืชพันธุ์สมัยใหม่อย่างแพร่หลาย เพื่อส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่สามารถจัดการได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่กลับใช้แร่ธาตุต่างๆ ในดินจนเสียสมดุล ศักยภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีในหมู่เกษตรกรที่มีฐานะแตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนาระบบชลประทานที่ไม่มีความเท่าเทียมกันในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตแตกต่างกัน ฯลฯ เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่าเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิวัติเขียวในประเทศไทย

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า การตัดสินใจของเกษตรกรในการทำเกษตรกรรม เป็นผลมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศอย่างสลับซับซ้อน ครั้งหนึ่งผู้เขียนถามชาวนาอีสานว่า ทำไมไม่ปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิม ทำไมจึงเปลี่ยนมาปลูกข้าวพันธ์ใหม่ ชาวนาตอบว่า เพราะข้าวพันธุ์ดั้งเดิมแข็งหลายชนิดผลผลิตไม่ดี รสชาติไม่อร่อย และขายไม่ได้ราคา ในขณะที่ข้าวพันธุ์ใหม่หลายชนิดให้ผลผลิตสูง เมล็ดข้าวนิ่มเมื่อหุงสุกแล้ว รสชาติดีกว่า จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดี

แม้ชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีจะพูดถึงข้อดีของข้าวพันธุ์ใหม่ กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนกลับพบว่าชาวนาจำนวนมากยังคงปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ แม้ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อส่งออกที่สำคัญ ชาวนาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงใช้ที่ดินส่วนหนึ่งปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิมอยู่  ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เพื่อใช้ทำแป้งสำหรับทำขนม เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเชิงจารีตประเพณี ฯลฯ การตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวของชาวนา ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า การตัดสินใจของชาวนาในการทำเกษตรมีเหตุผลสลับซับซ้อน แต่คนภายนอกอาจละเลยการนำมุมมองของเกษตรกรมาใช้ในการวิเคราะห์

น่าประหลาดใจว่า เสียงเรียกร้องให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร พากันเหล่านั้นหลงลืมไปอย่างไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 50 ปีเศษนี้เอง ชาวนาไทยไม่รู้จักสารเคมีทางการเกษตร แต่เป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนได้พากันส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ แนะนำให้ชาวนารู้จักปุ๋ยเคมีและใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรในปัจจุบัน เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมระบบเกษตรแผนใหม่ ซึ่งมีกลุ่มคนหลายฝ่ายร่วมกันสร้างและควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ  

ก่อนการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 หรือก่อนปี 2500 นักวิชาการทางการเกษตรบันทึกว่า เป็นเรื่องยากลำบากที่ทำให้ชาวนาไทยยอมรับระบบเกษตรสมัยใหม่ เพราะชาวนาไทยเคยชินกับการทำนาแบบธรรมชาติ ไม่ยอมใช้ปัจจัยนำเข้า เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิต ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศระบุว่า ปัญหาการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ เกิดจากการไม่สามารถโน้มน้าวใจชาวนาไทยให้ลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตอื่นๆ มาใส่นา ทีมนักวิจัยจากต่างประเทศถึงกับบินมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมชาวนาไทยจึงไม่ยอมใช้ปุ๋ยเคมี แม้จะมีการแจกให้ใช้ฟรีๆ หรือขายในราคาถูก ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในเวลานั้น

ผลการวิจัยพบว่า ชาวนาภาคกลางมีแนวโน้มยอมรับปุ๋ยเคมี มากกว่าชาวนาภูมิภาคอื่นๆ เพราะชาวนาภาคกลางเห็นว่าการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคกลางสามารถสร้างผลผลิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาภาคกลางเข้าถึงระบบชลประทานได้ดีกว่า ส่วนชาวนาภาคอีสานกลับมองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม แต่ผลผลิตกลับไม่เพิ่มมากมาย ชาวนาอีสานขึ้นชื่อว่าไม่ยอมรับปุ๋ยเคมี เพราะเห็นว่าการซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่นา ได้ข้าวไม่คุ้มค่าราคาปุ๋ย ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของทีมผู้เชี่ยวชาญที่พบว่า ปริมาณเฉลี่ยของปุ๋ยเคมีที่ใช้ไปในภาคอีสาน สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนนี้ ไม่เพียงพอที่จะชักจูงใจให้ชาวนามองเห็นผลกำไรจากการซื้อปุ๋ยเคมี จึงไม่สามารถกระตุ้นชาวนาที่ทำนาเพียงแค่พอมีข้าวพอกินให้หันมาปลูกข้าวเพื่อขาย  ส่วนกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มยอมรับการใช้ปุ๋ยเคมีมากกว่า นักวิจัยจึงมีข้อสรุปว่า หากการใช้ปุ๋ยเคมีไม่สร้างผลผลิตเพิ่มชัดเจน ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ชาวนาก็ไม่ยอมรับปุ๋ยเคมีมากขึ้น

นอกจากนั้น นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของชาวนาไทยให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ชาวนาไทยใช้เหตุผลในการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่ปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ทัศนคติ คุณสมบัติส่วนบุคคล และมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจใช้สารเคมีทางการเกษตรของชาวนาไทย ถ้าผลตอบแทนจากการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรยังไม่ปรากฏชัดเจน ชาวนาจะไม่ยอมลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่นา จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากต้องการให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมีต้องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นักส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่ต้องทำให้ชาวนาประจักษ์ด้วยตนเองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งหมายความว่าราคาปุ๋ยเคมีต้องไม่สูงเกินไป และพันธุ์ข้าวต้องตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี รวมถึงมีการกำหนดนโยบายจัดการน้ำที่เหมาะสมด้วย [ii]

น่าสนใจว่า เหตุใดข้อเท็จจริงที่สำคัญเช่นนี้ กลับถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการพูดถึงปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรณรงค์ผ่านสื่อโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี กลับไม่เคยพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับได้ยินการตอกย้ำมายาคติว่า เกษตรกรไทยชื่นชอบและเสพติดสารเคมีทางการเกษตรแบบถอนตัวไม่ขึ้น น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่มีการประณามเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีทางการเกษตร เรากลับได้ยินการยกย่องบิดาแห่งเกษตรสมัยใหม่ ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรม “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อย่างสม่ำเสมอ หม่อมเจ้าสิทธิพรเป็นชนชั้นสูงที่สนใจการเกษตรสมัยใหม่ และเป็นผู้ผลักดันเกษตรสมัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ผ่านการทำหนังสือพิมพ์กสิกร และการทำฟาร์ม “บางเบิด” ของพระองค์ท่านที่จังหวัดประขวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นแปลงศึกษาดูงาน และเป็นตัวอย่างของการจัดการฟาร์มแบบเกษตรสมัยใหม่[iii] ความย้อนแย้งเห็นได้จากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรณรงค์การผลิตอาหารปลอดภัยยกย่องบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ แต่กลับมีทัศนคติเชิงลบต่อชาวนาที่เดินตามรอยบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งที่เราควรให้ความสนใจมากขึ้น คือการพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาภาคเกษตรจากมุมมองของเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง เช่น เหตุผลเรื่องการใช้สารเคมีทางการเกษตร การรับรู้ความความเสี่ยงของสารเคมีทางการเกษตรจากมุมมองของเกษตรกร และเงื่อนไขของการเลือกใช้สารเคมีทางการเกษตรในพืชแต่ละประเภทที่เกษตรกรปลูก หรือในแต่ละช่วงเวลาของการผลิต ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในชนบท ซึ่งมุมมองของเกษตรกรอาจแตกต่างจากความเข้าใจของคนนอก แต่ก็ถือว่าสำคัญต่อการทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่บีบบังคับเกษตรกรอยู่ในปัจจุบัน

ทว่าความเป็นจริงกลับหาได้เป็นเช่นนั้น ในขณะที่สังคมตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตร และผู้บริโภคชนชั้นกลางตื่นตัวเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น ความตื่นตัวดังกล่าวในหลายกรณี กลับกลายเป็นแรงกดดันสำหรับเกษตรกรที่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตร  ส่วนเกษตรกรที่ตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรและหันมาทำเกษตรอินทรีย์  พวกเขากลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ และไม่ได้รับเงินชดเชย สำหรับต้นทุนที่ต้องจ่ายไป หรือผลผลิตที่ลดลงในช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระความคาดหวังของสังคมโดยลำพัง

ความทุกข์ที่ไม่มีใครฟัง

ข้อมูลจากการจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรในหลายโอกาสที่ผู้เขียนเข้าร่วมพบว่า เกษตรกรที่มีฐานะยากจนระบุว่าพวกเขาไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งๆ ที่มีความสนใจ เพราะมีอุปสรรคมากมาย เช่น การมีที่ดินน้อย ทำนาได้ผลผลิตน้อย ขายข้าวได้เงินไม่พอกิน ทำให้ครัวเรือนชาวนาเห็นว่าการทำงานรับจ้างมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของครัวเรือน ด้วยเหตุผลดังกล่าว การรีบทำนาให้เสร็จ เพื่อเอาเวลาไปทำงานรับจ้าง จึงเป็นกลยุทธ์การดำรงชีพที่สำคัญสำหรับครัวเรือนชาวนาในยุคของที่สังคมชนบทถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุนนิยม และชนบทพึ่งพิงรายได้จากภาคเมืองมากขึ้น ดังนั้นในมุมมองของชาวนายากจนจำนวนไม่น้อยจึงเห็นว่า การทำนาหว่าน และใส่ปุ๋ยเคมี สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำรงชีพที่มีข้อจำกัดมากกว่าการทำนาอินทรีย์

นอกจากนั้น เงื่อนไขด้านแรงงานก็เป็นข้อจำกัดของชาวนาในการทำนาอินทรีย์ด้วย ชาวนาระบุว่า พวกเขาไม่มีแรงงานในครัวเรือนเพียงพอในการทำนา และไม่มีเวลาในการดูแลไร่นามากนัก ชาวนาบางคนให้ข้อมูลว่า ปัญหาค่าแรงสูง ทำให้ชาวนาไม่มีเงินที่จะจ้างแรงงานในการผลิต แต่การทำนาอินทรีย์ต้องใช้แรงงานสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำปุ๋ยหมัก การปักดำ การกำจัดวัชพืช และการเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น บางโครงการเรียกร้องให้เกษตรกรนั่งคัดสิ่งเจือปนและพันธุ์ข้าวปนที่ติดมาด้วยมือก็มี ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานจึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของครัวเรือนชาวนาที่ต้องการทำนาอินทรีย์ ยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาโรคร้อน ความแห้งแล้งยาวนา ฝนทิ้งช่วง น้ำไม่เพียงพอทำนา ผลผลิตไม่ดี หญ้าและวัชพืชระบาด แย่งอาหารจากต้นข้าว การทำนาอินทรีย์ยิ่งต้องการแรงงานในการดูแลไร่นามาก และเป็นการใช้แรงงานในการจัดการไร่นาต่อเนื่องตลอดทั้งปี  เงื่อนไขนี้กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับครัวเรือนชาวนาที่ยากจนและมีแรงงานในการทำนาไม่เพียงพอ

ชาวนาบางคนระบุว่า การระบาดของแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่ชาวนาอินทรีย์ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงต้องยอมรับความสูญเสีย ส่วนการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน แม้จะช่วยป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด เพราะชาวนาทำการเกษตรในระบบเปิด จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และมีความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืชจากแปลงเกษตรข้างเคียง เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างจากราคาข้าวเคมีมากนัก การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ชาวนาไม่มีแรงจูงใจที่จะทำนาอินทรีย์

นอกจากนั้น ชาวนาบางคนเห็นว่าการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านๆ มา เป็นการทำตามนโยบาย เมื่อหมดโครงการ หรืองบประมาณ ก็หยุดการส่งเสริม การขาดความจริงจังต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ขาดความเชื่อมั่น และเมื่อมีปัญหาในการผลิต ก็ขาดผู้ให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหา

 ผู้เขียนตระหนักว่า เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ในระบบที่แตกต่าง ย่อมมีเงื่อนไขการผลิตแตกต่างกัน มีรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบการผลิตแตกต่างกัน เกษตรกรย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรได้รับการสนับสนุนด้านความรู้  และเทคโนโลยีในการผลิตหรือไม่ มีทุนเพียงพอหรือไม่ มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตหรือไม่ เกษตรกรถูกควบคุมกระบวนการผลิตอย่างไร มีตลาดรับซื้อผลผลิตหรือไม่ ตลาดรับซื้อผลผลิตราคาเท่าไร รวมถึงมีเงื่อนไขการหักเงินรายได้ ในกรณีที่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่

ประเด็นที่ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังมากขึ้น คือเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใด เนื่องจากผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะโดยการส่งเสริมของบริษัทธุรกิจการเกษตร หรือองค์กรพัฒนาเอกชน มักเป็นการผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญามีผลดีและผลเสียอย่างไรยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ผลิต พื้นที่แหล่งผลิต เงื่อนไขการผลิต เงื่อนไขการรับซื้อ แต่การศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรพันธะสัญญาในระบบเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่มากพอ

ในขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญากับธุรกิจเอกชน มักจะมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการสนับสนุนในด้านความรู้หรือเทคโนโลยีการผลิต งบประมาณ และปัจจัยการผลิตค่อนข้างดี มีตลาดรับซื้อค่อนข้างแน่นอน ราคารับซื้อผลผลิตค่อนข้างแน่นอน แต่ระบบนี้มีการควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด และมีการบังคับใช้แรงงานอย่างเข้มข้น รวมถึงมีเงื่อนไขการหักเปอร์เซ็นต์เงินรายได้ หรืออาจปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ทำให้เกษตรกรที่ผลิตภายใต้มีความกดดันและมีความเสี่ยงสูง

สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน เป็นระบบการผลิตที่มีการสนับสนุนด้านความรู้หรือเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างดี แต่การสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยการผลิตยังจำกัด และมักจะไม่มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และขาดการส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทำแบบไม่ครบวงจร เกษตรกรขาดความเชื่อมั่นว่าจะขายผลผลิตได้กำไร อย่างไรก็ดี ในระยะหลังการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบตลาดมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า รวมถึงมีการพัฒนานวตกรรมใหม่ ที่เชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เช่น ระบบ Community Support Agriculture (CSA) ซึ่งมีการทำข้อตกลงว่า ผู้บริโภคและผู้ผลิตคือหุ้นส่วนผู้สนับสนุนความอยู่รอดของกันและกัน โดยผู้บริโภคต้องจ่ายเงินก่อนล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต และยอมซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าปกติ เพื่อช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ แลกเปลี่ยนกับการที่เกษตรกรจะผลิตอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าสำหรับการบริโภค

ชีวิตไม่เป็นดังเช่นในนิทาน

จะเห็นได้ว่า เกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมี อาจไม่ประสบปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างของชาวนาอินทรีย์ในภาคอีสานบางคน เพื่อสะท้อนภาพชีวิตชาวนาที่กำลังประสบปัญหาอยู่จริง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม และการพยายามทำความเข้าใจถึงเงื่อนไข ข้อจำกัด ปัญหาและแรงกดดันของชาวนาอินทรีย์ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับภาพความเข้าใจเชิงอุดมคติที่หลายคนคุ้นชิน

กรณีแรก: นางสมสุข วังงาม (นามสมมติ)

นางสมสุข วังงาม เป็นชาวนายากจน จากจังหวัดอุบลราชธานี เธอมีฐานะยากจน จัดอยู่ในกลุ่มคนชายขอบ เพราะเธอมีที่นาเพียงแค่ 10 ไร่ และมีรายได้ต่ำมาก สามีของเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เธอคลอดลูกคนที่สาม นางสมสุขไม่มีเงินซื้อรถไถและเครื่องจักรช่วยทำนา ดังนั้นเธอจึงใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัว ร่วมกับแรงควาย เพื่อไถนา ยิ่งไปกว่านั้น นางสมสุขยังมีฐานะเป็นแม่ม่าย เธอมีภาระเลี้ยงดูลูกถึง 3 คน เมื่อลูกๆ เติบโตขึ้นสู่วัยแรงงาน ลูกสาวสองคนที่อยู่ในวัยรุ่นได้อพยพไปทำงานต่างถิ่น เหลือลูกชายเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นแรงงานช่วยนางสมสุขทำนา ครอบครัวนางสมสุขใช้แรงงานของครอบครัวทำนา เพราะไม่มีเงินจ้างแรงงานมาช่วยทำนาเหมือนครัวเรือนอื่นๆ นางสมสุขไม่มีเวลาไปทำงานรับจ้าง เธอจึงไม่มีรายได้จากทางอื่น

เนื่องจากนางสมสุขมีที่ดินน้อย เธอได้ข้าวแค่พอกิน เหลือขายเพียงเล็กน้อย  นางสมสุขได้เงินจากการขายข้าวเพียงปีละ 4,000-5,000 บาท เท่านั้น แต่รายได้ก้อนนี้ก็ต้องใช้ในการใช้หนี้สิน และลงทุนทำนาในปีต่อไป ซึ่งหมายความว่าเธอแทบไม่มีกำไรจากการทำนาเลย

นางสมสุขก็เหมือนเพื่อนบ้านของเธอที่ยังคงทำนาเคมี เธอเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หลายหมื่นบาท นอกจากนี้เธอยังเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านและอื่นๆ จำนวนไม่มากนัก หนี้สินเหล่านี้เกิดจากการกู้เงินมาลงทุนทำนาในอดีต ใช้สร้างบ้าน และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พูดตามความจริงแล้ว ความอยู่รอดของครอบครัวนางสมสุขไม่ได้มาจากการขายข้าวอินทรีย์ แต่มาจากเงินที่ได้จากการทำงานรับจ้างของลูกๆ ทั้งสามคน จำนวนเงินส่งกลับของลูกสาวสองคนที่ออกไปทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมกรุงเทพ นับเป็นรายได้หลักของครอบครัว ส่วนลูกชายที่ช่วยนางสมสุขทำนาก็อพยพไปทำงานในโรงงานหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว

นางสมสุข เป็นชาวนารุ่นแรกที่สมัครเข้าร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง เธอเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์จะทำให้ทั้งชาวนาและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี และทำให้ดินฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ผู้เขียนตระหนักว่า นางสมสุขมีความศรัทธาในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมาก เห็นได้จากการที่เธอทำนาอินทรีย์มานานกว่า 7 ปี เธอเลี้ยงวัวควายเพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ยคอก เธอทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง และเธอทำหมักปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวนาเกษตรอินทรีย์บางคนไม่ทำ

อย่างไรก็ดี เพียง 2-3 ปีหลังจากปรับเปลี่ยนแปลงนามาเป็นเกษตรอินทรีย์ นางสมสุขก็ถูกให้ออกจากโครงการ ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงว่า เธอแอบใส่ปุ๋ยเคมีในนา เมื่อผู้เขียนพบเธอครั้งแรกในงานประเพณีของหมู่บ้าน นางสมสุขยอมรับว่า เธอถูกให้ออกจากโครงการจริง เธอไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ในครั้งแรกที่เราพบกัน แต่เมื่อผู้เขียนฉุกคิดว่า แม้จะออกจากโครงการมาหลายปีแล้ว เหตุใดนางสมสุขจึงยังคงทำนาอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนสนใจใคร่รู้เหตุผลที่ทำให้เธอถูกให้ออกจากโครงการ เมื่อเราสานสัมพันธ์จนสนิทสนมคุ้นเคยกัน วันหนึ่งนางสมสุขก็เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอถูกให้ออกจากโครงการฯ เพราะลูกสาวของเธอที่ทำงานในโรงงานที่กรุงเทพใส่ปุ๋ยเคมีลงในแปลงนาอินทรีย์ของเธอ

เมื่อผู้เขียนถามว่า ทำไมลูกสาวของเธอจึงทำเช่นนั้น นางสมสุขเล่าว่า:

 “วันนั้นฉันกลับมาจากถอนกล้า หลังจากทำงานกลางแดดร้อนมาทั้งวัน ฉันเหนื่อยและหิวมาก ฉันเดินเข้าไปในครัว แล้วก็รู้สึกหน้ามืด และล้มลงสลบไปบนพื้นครัว น้องสาวของฉันที่อยู่บ้านใกล้กันมาเห็นเข้า จึงโทรศัพท์ตามลูกสาวของฉันที่ทำงานอยู่กรุงเทพ เมื่อลูกสาวของฉันกลับมา เธอโกรธมากที่ฉันทนทรมานทำนาอินทรีย์ เธอไม่พอใจที่การทำนาอินทรีย์ทำให้ฉันต้องเหนื่อยมาก เธอจึงออกไปซื้อปุ๋ยเคมีจากร้านค้าในหมู่บ้าน แล้วกลับเอามาหว่านใส่แปลงนา เพื่อแกล้งให้ฉันถูกไล่ออก เมื่อผู้ตรวจแปลงนามาเห็นเข้า ฉันก็ถูกไล่ออก สมใจลูกสาวของฉัน”

คำถามผุดขึ้นในใจของผู้เขียน---ทำไมลูกสาวนางสมสุขจึงอยากให้แม่ของเธอเลิกทำนาอินทรีย์?

นางสมสุขเล่าว่า ลูกสาวของเธอมองว่า การทำนาอินทรีย์ทำให้เธอต้องทำงานหนัก แต่กลับให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า แต่เมื่อนางสมสุขยืนยันว่าจะทำนาอินทรีย์ต่อไป ทั้งที่ข้าวอินทรีย์ที่ขายแต่ละปีได้เงินไม่พอเลี้ยงชีพ ลูกสาวของเธอก็ไม่อาจขัดขวางความต้องการของแม่ ปัจจุบันนางสมสุขจึงยังคงทำนาอินทรีย์อยู่เรื่อยมา การที่นางสมสุขแน่วแน่ในการทำนาอินทรีย์ ทำให้เพื่อนบ้านเรียกเธออย่างชื่นชมแกมล้อเลียนว่า “ชาวนาอินทรีย์ตัวจริง แต่ไม่มีใบปริญญา” นางสมสุขนับเป็นภาพสะท้อนของชาวนาที่มีความมุ่งมั่นศรัทธาต่อเกษตรอินทรีย์ แต่เงื่อนไขทางสังคม และแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ทำให้เธอไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนั้นผลผลิตข้าวที่เธอปลูก จึงไม่สามารถขายในราคาข้าวอินทรีย์ แม้ว่าต่อมาเธอจะสมัครเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ภายใต้การส่งเสริมขององค์กรพัฒนาเอกชนอีกแห่งหนึ่ง แต่รายได้จากการขายข้าวก็ไม่ได้ทำให้เธออยู่รอดได้ เพราะเธอต้องกู้เงินโครงการมาปรับที่นา และปลูกข้าวเหลือผลผลิตขายไม่มาก และยังถูกกดราคาข้าวต่ำมากด้วย 

ชาวนารายย่อย มีที่ดินน้อย และมีฐานะยากจน อย่างเช่นนางสมสุข เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง เพราะชาวนารายย่อยมักจะปลูกพืชคู่ขนาน เช่น การทำนาหลายระบบ หรือทำนาเคมีคู่ขนานกับทำนาอินทรีย์ และชาวนารายย่อยจำนวนไม่น้อยมักจะเช่านาคนอื่นทำกินด้วย ที่ชาวนารายย่อยทำการผลิตพืชคู่ขนาน ก็ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะการทำนาหลายแปลง ช่วยกระจายความเสี่ยง และช่วยเพิ่มแหล่งรายได้

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชคู่ขนานกลับทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกตัดสินว่าทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์และถูกให้ออกจากโครงการฯ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีกฎว่าชาวนาต้องทำเกษตรอินทรีย์ในทุกแปลงเกษตรที่ตนเป็นผู้จัดการดูแล นั่นเท่ากับว่าชาวนาถูกบีบให้เลิกทำการผลิตหลายระบบ เพื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่ชาวนารายย่อยกลับไม่มีความมั่นใจว่า การทำนาอินทรีย์ในที่ดินขนาดเล็ก เพียงอย่างเดียว จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นการคาดหวังให้ชาวนายากจนพึ่งตนเองได้จากการทำนาอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดี แต่กลับทำให้ชาวนายากจนมีความเปราะบางมากขึ้น และมีทางเลือกในการดำรงชีวิตที่แคบลง[iv]

กรณีที่สอง: นายคำ พานทอง (นามสมมติ)

นายคำ พานทอง ชาวนาฐานะปานกลาง จากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยทำนาอินทรีย์นานถึง 10 ปี ที่นาของเขาได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเป็นเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 7 ปี แต่ในปีที่ฉันพบเขา ไม่นานเขาก็ลาออกจากโครงการ นายคำเล่าว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์มีปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ค่าแรงงานรับจ้างเพิ่ม แต่กลับไม่มีตลาดอินทรีย์รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ถูกกดราคาข้าวจากผู้รับซื้อที่ผูกขาด

เท่าที่ฉันได้พบและรู้จากปากคำของเพื่อนบ้าน นายคำเป็นชาวนาที่ขยันมาก เห็นได้จากการทำนาหลายแปลง ทั้งยังไปทำงานรับจ้างก่อสร้างนอกฤดูทำนาอีกด้วย ยามว่างเขายังทำโรงสีข้าวขนาดเล็กในหมู่บ้านด้วย แต่นายคำบอกว่า การที่ขายข้าวอินทรีย์ได้ราคาไม่แตกต่างจากข้าวเคมีมากนัก แต่กลับมีการหักเงินสะสมจากราคาขายข้าว ถึงกิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อสมทบเข้ากลุ่มผู้ผลิตฯ แม้โครงการจะบอกว่า เงินหักสะสมดังกล่าวเป็นเงินออมเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่ในมุมมองของชาวนาเช่นนายคำ การหักเงินดังกล่าว ทำให้ชาวนาได้เงินสุทธิจากการขายข้าวน้อยลง ในมุมมองของชาวนาจึงมองว่า การหักเงินสะสม เปรียบเสมือนการยึดเงินของชาวนาไปเป็นตัวประกัน เพื่อบีบบังคับให้ชาวนาปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำนาอินทรีย์ หากโครงการตรวจสอบพบว่าชาวนาทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์โดยจงใจ ชาวนาคนที่ทำผิดก็จะถูกริบเงินสะสมทั้งหมดที่ออมไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กฎระเบียบของการทำนาอินทรีย์ และเงื่อนไขการปรับด้วยการหักเงินสะสม จึงกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งไม่อยากทำนาอินทรีย์[v]

จากข้อเท็จจริงและกรณีศึกษาที่นำเสนอมาข้างต้น ทำให้เข้าใจว่าการที่เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์เป็นผลสำเร็จ ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาขาดความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมี หรือไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพ อีกทั้งไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาขาดจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาคิดถึงแต่เงินเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและนิเวศเข้ามากำกับทิศทางการทำเกษตรของไทย ตลอดจนมีแรงกดดันมากมาย ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจต้องการทำเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นหากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อรณรงค์เรื่องการผลิตอาหารปลอดภัยต้องการบรรลุผลสำเร็จ สิ่งที่ควรตระหนัก คือการช่วยลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ที่จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตอาหารปลอดภัย และสร้างเงื่อนไขเชิงสนับสนุนที่จะช่วยให้เกษตรกรทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น  



[i] Scott, James C. 1998. Seeing Like a State: How Certain Schemes to Improve the Human Condition Have Failed. New Haven and London: Yale University Press.

[ii] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Kolshis, Halvar J. (1972). Modernization of Paddy Rice Farming in Northeast Thailand with Special Reference to Use of Fertilizer. Unpublished Ph.D. Dissertation of Agricultural Economics, The University of Kentucky.

[iii] ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมใน อนุสรณ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร: บทความและเกี่ยวกับ ม.จ.สิทธิพร. 2514. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

[iv] สัมภาษณ์นางสมสุข นาสวรรค์ ชาวนาอินทรีย์บ้านนาสวรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 13 เมษายน 2551.

[v] สัมภาษณ์นายคำ พานทอง ชาวนาอินทรีย์บ้านนาสวรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน 2551.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท