Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“การชุมนุม” เป็นสิทธิการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองไว้ และเป็นปฏิบัติการสำคัญของการเมืองภาคประชาชน เพื่อให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มตนให้ได้รับความสนใจ ที่ผ่านมามีความพยายามจัดการดูแลการชุมนุมโดยเสนอให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะขึ้นมาเป็นการเฉพาะแต่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี เวลานี้มีคดีอันสืบเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองหลายคดี และคำพิพากษาของศาลในคดีเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการชุมนุมเรียกร้องกันในอนาคต

เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ออกมาชุมนุมในคดี “ปีนสภา” ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 จำเลยมีทั้งหมดสิบคน เป็นเอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวที่ทำงานมาอย่างยาวนาน การชุมนุมครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ โดยผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภาแล้วเข้าไปนั่งที่โถงหน้าห้องประชุมใหญ่ของอาคารรัฐสภา คดีดังกล่าวอัยการกล่าวหาว่าจำเลยมั่วสุมก่อความวุ่นวาย บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย และยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 215 และ 365

ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ดและแปด ศาลวินิจฉัยว่าเป็นหัวหน้าการชุมนุมมีความผิดให้ลงโทษจำคุกสองปี ปรับ9,000บาท และจำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี ปรับ 9,000บาท เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี สี่เดือน ปรับ 6,000 บาท และจำคุกแปดเดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกและกระทำไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง จึงรอการลงโทษสองปี

คำพิพากษาในคดีนี้ ฝากข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ให้พิจารณาต่อ ดังนี้

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ต้องมีเจตนารบกวนความสงบสุข
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยสั่งลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ ที่เจ็ดและที่แปด ในความผิดตามมาตรา 215 วรรคสาม ในฐานะที่เป็นหัวหน้าการชุมนุม และจำเลยที่ห้า ที่หก ที่เก้าและที่สิบมีความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก จึงต้องมาพิจารณาว่า จำเลยทั้งสิบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 จริงหรือไม่
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก ระบุว่า “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิด การวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 
จะเห็นว่าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นการมั่วสุมที่ทำให้เกิด “การวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” และกฎหมายมาตรานี้ก็อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ดังนั้นสิ่งที่มาตรา 215 มุ่งคุ้มครองคือ ความสงบสุขของประชาชน หากจะปรับใช้กฎหมายให้ถูกต้องกับเจตนารมณ์แล้ว การ “มั่วสุม” ที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จำเลยต้องมี “เจตนา” ที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และรบกวนความสงบสุขของประชาชนด้วย
 
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า การชุมนุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อประท้วงการทำงานของสนช. ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการทำหน้าที่ของสนช.ก่อนการเลือกตั้ง โดยขณะนั้น สนช.กำลังประชุมพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอย่างน้อย 11 ฉบับ ซึ่งจำเลยทั้งสิบเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ควรรอให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณามากกว่า และการพิจารณาร่างกฎหมายของสนช.ในขณะนั้นเป็นไปอย่างเร่งรีบ มีการผ่านกฎหมายจำนวนมากในการประชุมเพียงไม่กี่นัด จำเลยทั้งสิบจึงมีข้อกังขาว่าสนช.ได้ศึกษาและพิจารณาร่างกฎหมายเหล่านั้นอย่างรอบคอบหรือไม่
 
การชุมนุมของจำเลยทั้งสิบ และผู้ชุมนุมกลุ่มกป.อพช.จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือรบกวนความสงบสุขของประชาชน แต่เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่ของสนช. ซึ่งเป็นเสรีภาพการชุมนุมที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 การกระทำของจำเลยและผู้ชุมนุมอื่นๆ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก เพราะไม่มีเจตนากระทำต่อคุณธรรมที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง
 
การที่ศาลตีความว่า การชุมนุมคัดค้านสนช.และบุกเข้าไปในรัฐสภา มีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง อาจก่อให้เกิดบรรทัดฐานในการมองคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อไปในอนาคต เพราะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออก ย่อมต้องมีลักษณะการรวมตัวตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและย่อมก่อความไม่สะดวกขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นปกติทั่วไปของการชุมนุม การตัดสินลงโทษโดยที่ไม่มองเจตนาของการชุมนุมว่ามีความประสงค์ที่จะรบกวนความสงบสุขของประชาชนเป็นเจตนาหลักหรือไม่ ย่อมเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆ ในครั้งต่อไป
 
บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ต้องประทุษร้ายต่อบุคคล ไม่ใช่สิ่งของ
ในคำพิพากษา ศาลระบุว่า “...เมื่อปรากฏว่าการเข้าไปดังกล่าวมีการใช้กำลังผลักดันประตูกระจกกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาจึงถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย และผู้ชุมนุมที่ปีนรั้วเข้าไปมีจำนวนมากกว่า 100 คน จึงเป็นการบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดเกินกว่าสองคนขึ้นไป อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (1) (2) ...” จะเห็นว่าศาลตีความว่า การใช้กำลังผลักดันประตูกระจกของผู้ชุมนุมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อบุกรุก มีผลให้อัตราโทษสูงขึ้นกว่าการบุกรุกธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ขณะที่บุกรุกธรรมดามีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น 
 
ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่า ผู้ชุมนุมบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายจริงตามที่ศาลตัดสินหรือไม่ โดยพิจารณาว่า แค่ไหนจึงเรียกว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย”
 
นิยามของคำว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า “ทำการประทุษร้ายแก่กาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้ หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ใน ภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา การสะกดจิตหรือ วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน” จะเห็นว่า การใช้กำลังประทุษร้ายคือการมุ่งกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของ “บุคคล” การบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงหมายถึงการประทุษร้ายต่อบุคคลเพื่อบุกรุกเข้าไป เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนี้ พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมที่ผลักดันประตูกับเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาเพื่อเข้าไปภายในไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประทุษร้าย เพราะไม่มีการกระทำที่มุ่งต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล แม้ว่านายปรีชา ชัยนาเคน ตำรวจรัฐสภาและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา จะเบิกความว่า ได้รับบาดเจ็บแขนถลอกจากการโดนประตูกระแทก ก็เป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการผลักดันประตูเท่านั้น ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้กำลังทำร้ายร่างกายของนายปรีชาเพื่อบุกรุกเข้าไป
 
เมื่อประกอบกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2553 ซึ่งวางหลักไว้ว่า การที่จำเลยดึงกระเป๋าถือโดยยื้อแย่งกันจนสายกระเป๋าขาดติดมือผู้เสียหายโดยไม่ได้ผลักผู้เสียหาย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การกระทำเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็สามารถเทียบเคียงกับคดีนี้ได้ว่าการกระทำต่อวัตถุไม่ได้กระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคลไม่น่าจะอยู่ในความหมายของคำว่าประทุษร้าย
 
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5573/2554 ซึ่งวางหลักไว้ว่า การที่ชาวบ้านร่วมชุมนุมและเดินขบวนกันเพราะไม่พอใจที่ทางราชการมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอนาทมในที่อื่น ที่ไม่ใช่ตำบลนาทม โดยมีชาวบ้านร่วมกันกว่า 200 คน ไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ใดมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา การกระทำความผิดมาเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม จะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้เข้าชุมนุมทุกคนไม่ได้ ลำพังแต่จำเลยเป็นผู้ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน 2 กลุ่ม ที่มีคนร้ายบางคนกระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือพฤติการณ์อันใดที่แสดงการขัดขวางมิให้ ศ. กับพวกนำรถดับเพลิงเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเผาสะพาน ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 83 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แสดงให้เห็นว่าหากการชุมนุมเริ่มต้นด้วยความสงบ แม้ภายหลังผู้ชุมนุมบางคนจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ขัดต่อกฎหมาย ผู้ชุมนุมคนอื่นก็ไม่ต้องรับผิดในการกระทำเหล่านั้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คล้ายคลึงกัน เพราะการผลักดันประตูนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ได้วางแผนเตรียมการกันมาก่อน และเกิดขึ้นโดยผู้ชุมนุมเพียงไม่กี่คนที่ไม่ใช่จำเลย แต่ศาลในคดีนี้กลับนำการผลักดันประตูมาเป็นเหตุในการลงโทษจำเลย 
 
ดังนั้นการที่ศาลอาญาในคดีนี้ตัดสินให้จำเลยที่หนึ่งถึงหกและจำเลยที่แปดถึงสิบ มีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) จึงเป็นการตีความคำว่า “ประทุษร้าย” กว้างเกินกว่าตัวบท และเป็นการลงโทษจำเลยโดยอาศัยการกระทำของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นมาเป็นเหตุ ทั้งที่จำเลยไม่มีเจตนาและไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ทั้งยังขัดกับแนวคำพิพากษาฎีกาที่มีมาก่อนหน้านี้ด้วย
 
การเป็นหัวหน้าการชุมนุม พิจารณาจากการกระทำอย่างไรบ้าง
ตามกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 กำหนดว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมั่วสุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อัตราโทษของผู้เป็นหัวหน้า สูงกว่าอัตราโทษของผู้เข้าร่วมการชุมนุมธรรมดาอยู่มาก
 
prachatai-InfoGraphic-38
อินโฟกราฟฟิก โดย วศิน ปฐมหยก
 
จำเลยทั้งสิบคนถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าการชุมนุมเหมือนกัน แต่ในคำพิพากษา ศาลวินิจฉัยว่าเป็น หัวหน้าการชุมนุมคือ จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ดและแปด ส่วนจำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ ไม่มีพฤติการณ์ของการเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ 
 
ในคำพิพากษา พฤติการณ์ของจำเลยที่ศาลนำมาวินิจฉัยความเป็นหัวหน้าของการชุมนุม ได้แก่ การเป็นตัวแทนในการเจรจา การตะโกนนำว่า “สนช.” แล้วให้ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า “ออกไป” การดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมโดยขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลง หรือใช้โทรโข่งจัดแถวขณะที่ผู้ชุมนุมเดินออกจากรัฐสภา การขึ้นเวทีชี้แจงก่อนยุติการชุมนุม การเป็นผู้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน การนำผู้ชุมนุมร้องเพลงและการเชิญบุคคลขึ้นเวทีปราศรัย
 
การวินิจฉัยของศาล มีข้อสังเกตที่สำคัญอยู่สองประการ
 
ประการแรก การขึ้นเวทีปราศรัยเพียงอย่างเดียว ไม่อาจใช้เป็นเครื่องชี้วัดความเป็นหัวหน้าของการชุมนุม ในคดีนี้จำเลยสองคนคือ จำเลยที่ห้าและจำเลยที่สิบขึ้นเวทีปราศรัย แต่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่หัวหน้าของการชุมนุม เพราะนอกจากการปราศรัยบนเวทีแล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุม
 
ประการที่สอง ควรตั้งคำถามว่าพฤติการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างการดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมโดยขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลง หรือใช้โทรโข่งจัดแถวขณะที่ผู้ชุมนุมเดินออกจากรัฐสภา การตะโกนนำว่า “สนช.” แล้วให้ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า “ออกไป” การเป็นผู้ดำเนินรายการเชิญคนขึ้นเวที และนำผู้ชุมนุมร้องเพลงเวลาไม่มีผู้ปราศรัย พฤติการณ์เหล่านี้จะใช้ชี้วัดความเป็นหัวหน้าในการชุมนุมได้จริงหรือไม่
 
ผู้ทำหน้าที่สื่อสารและนำกิจกรรมมวลชนดังพฤติการณ์ที่กล่าวมา มักเป็นผู้มีวาทศิลป์และสามารถสื่อสารกับสาธารณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ทำหน้าที่เหล่านี้เป็นหัวหน้ามีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการชุมนุม และหากผู้ชุมนุมจะรับฟังหรือปฏิบัติตามการร้องขอของผู้ทำหน้าที่ข้างต้นก็อาจเพราะบรรยากาศการชุมนุมพาไปมากกว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ขณะเดียวกัน ผู้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมโดยการขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลง หรือใช้โทรโข่งจัดแถวขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเดินออกจากรัฐสภา ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหัวหน้าในการชุมนุม เพราะการบอกให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม เป็นการร้องขอไม่ใช่การสั่งการ และหากผู้ชุมนุมจะปฏิบัติตามก็น่าจะเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของตนในที่ชุมนุม ไม่ใช่รับฟังและทำตาม เพราะผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวมีอำนาจสั่งการ
 
ในบรรดาพฤติการณ์ทั้งหมดที่ศาลยกมา การเป็นตัวแทนการเจรจาดูจะเป็นพฤติการณ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด เพราะผู้เจรจาจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการชุมนุม เช่น ตัดสินใจว่าจะยุติหรือชุมนุมต่อ แต่พฤติการณ์อื่นๆ ที่ศาลใช้บ่งชี้ความเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการยังคลุมเครือ และอาจเป็นบรรทัดฐานต่อการชุมนุมครั้งอื่นๆ ในอนาคต
 
รัฐสภาไม่ควรเป็นสถาบันที่อยู่เหนือประชาชน
ประเด็นสำคัญในคดีนี้ คือการที่จำเลยชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา ในคำพิพากษาระบุถึงสถานะของรัฐสภาว่าเป็นสถานที่ราชการ เป็นที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในสามอธิปไตยของรัฐ จึงเป็นสถานที่ซึ่งบุคคลทั่วไปพึงเคารพ การเข้าออกสถานที่ จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของรัฐสภาด้วยการแลกบัตร การที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในบริเวณรัฐสภาโดยไม่แลกบัตร จึงเป็นการบุกรุกและแสดงความไม่เคารพต่อสถานที่
 
การวินิจฉัยของศาลที่ย้ำว่า อาคารรัฐสภาเป็นสถานที่ใช้อำนาจอธิปไตย และเป็นสถานที่ราชการ สื่อนัยยะว่ารัฐสภามีสถานะพิเศษอันพึงเคารพ และจำเป็นต้องปฏิบัติตามพิธีรีตองในการเข้าถึง เช่น ต้องแลกบัตร แม้ในคำพิพากษาจะไม่ได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมหน้ารัฐสภา แต่ในสังคมประชาธิปไตย การใช้อำนาจของรัฐสภา มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม การเข้าพื้นที่รัฐสภาของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐสภาควรเป็นไปโดยสะดวกและงดเว้นขั้นตอนให้มากที่สุด การลงโทษผู้ชุมนุมฐานบุกรุกเพราะเข้าพื้นที่รัฐสภาโดยไม่ติดบัตรอนุญาต จึงยิ่งขยายช่องว่างระหว่างประชาชนกับรัฐสภา ทำให้รัฐสภาดูเป็นสิ่งน่ากลัว เป็นสถาบันที่อยู่สูงกว่าประชาชน ซึ่งอาจยิ่งทำลายสถานะของรัฐสภาในฐานะสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย 
 
การที่ศาลจะพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่นั้น มาตรฐานที่จะนำมาใช้พิจารณาการเข้าไปในรัฐสภา ควรจะอ่อนกว่ามาตรฐานที่ใช้พิจารณาการเข้าไปในเคหสถานบ้านเรือนของเอกชน เพื่อให้รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง และนำเสนอข้อเรียกร้องของตนเองต่อผู้มีอำนาจได้
นอกจากนี้ สถานะของรัฐสภาก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่ศาลจะต้องนำมาประกอบการวินิจฉัย เพราะความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 และ 364 ไม่มีการจำแนกสถานะของสถานที่ว่าเป็นสถานที่ราชการหรือสถานที่เอกชน ในคดีนี้ ศาลจึงเพียงแต่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสิบ เข้าข่ายความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องนำสถานะของรัฐสภามาประกอบการวินิจฉัย
 
กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคม
ในคดีนี้จำเลยไม่ได้ต่อสู้คดีในทางข้อเท็จจริงมากนัก ฝ่ายโจทก์มีทั้งภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ปีนรั้ว การปราศรัย การแถลงข่าว และการกระทำต่างๆ ในวันเกิดเหตุของจำเลยหลายคนมานำสืบต่อศาล ซึ่งจำเลยก็ยอมรับตามข้อเท็จจริงเหล่านั้นว่าพวกตนได้กระทำไปจริง มีการปีนรั้วเข้าไปในบริเวณรัฐสภาจริง ขึ้นกล่าวปราศรัยจริง และแถลงข่าวจริง
 
แต่ประเด็นที่โจทก์และจำเลยเห็นต่างกัน มีว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ 
 
ทางโจทก์นำสืบว่า การที่จำเลย “เข้าไป” ใน “อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น” อันเป็นการ “รบกวนการครอบครองโดยปกติสุข” ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 362 และการที่จำเลย “มั่วสุมกัน” “สิบคนขึ้นไป” และกระทำให้เกิด “การวุ่นวายในบ้านเมือง” ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้จำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ดังนั้น หากศาลจะตัดสินคดีโดยตีความกฎหมายแบบตัวต่อตัวตามลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นแนวทางที่ศาลไทยยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน ศาลก็อาจสั่งลงโทษจำเลยได้ 
 
แต่ทางจำเลยนำสืบว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีที่มาจากการรัฐประหาร เร่งออกกฎหมายโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนและไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน อันขัดต่อหลักประชาธิปไตย จึงไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความสอดคล้องกัน จำเลยจึงจำเป็นต้องมาชุมนุมคัดค้าน และปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาเพื่อหยุดการออกกฎหมายของสนช. เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ประเด็นทางกฎหมายในคดีนี้จึงมีว่า การกระทำที่เข้าองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามกฎหมายบางมาตรา เช่น ความผิดฐานบุกรุก ถ้าไม่ได้กระทำไปโดยเจตนาที่จะละเมิดกฎหมายนั้น แต่เป็นเจตนาเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะอื่น หรือ การฝ่าฝืนกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิบางอย่างในชีวิตประจำวัน เพื่อรักษาหลักการที่ใหญ่กว่า เช่น หลักการประชาธิปไตย หลักการสิทธิมนุษยชน อันเป็นเจตนารมณ์ที่ระบบกฎหมายทั้งระบบมุ่งคุ้มครอง จะเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้โดยชอบธรรมหรือไม่ 
 
คำพิพากษาของศาลได้กล่าวยอมรับไว้แล้วว่า “จำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ” ในฐานะเหตุของการรอลงอาญา แต่ศาลก็ยังคงสั่งลงโทษจำเลย โดยยึดการตีความตามตัวบทกฎหมาย ไม่นำบรรยากาศทางการเมืองหรือปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงเวลาเกิดเหตุมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์แน่นอนของกฎหมายลายลักษณ์อักษร และสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่สังคม
 
ข้อสังเกตที่ได้ในคดีนี้ คือ ไม่ว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นไปเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย หรือเพื่อหลักการใดก็ตาม ก็ไม่อาจเป็นเหตุผลให้ละเมิดกฎหมายใดๆ ได้ ไม่ว่าสิ่งที่กฎหมายนั้นมุ่งคุ้มครองจะถูกกระทบกระเทือนมากหรือน้อย และหลักการที่จำเลยมุ่งรักษาจะเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม การลงโทษทางอาญาจำกัดสิทธิประชาชนเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลายลักษณ์อักษรยังคงเป็นมาตรฐานปกติของระบบกฎหมายไทย
 
ในอนาคต หากมีกรณีปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนและผู้มีอำนาจไม่สนใจแก้ไข หรือมีการกระทำใดๆ ที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้นอีก การใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อการแสดงออกคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ว่าความไม่เป็นธรรมนั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใด กฎหมายบุกรุกและกฎหมายว่าด้วยการมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ก็จะเป็นกรอบที่คอยขีดเส้นกั้นการแสดงออกของประชาชนต่อไปอีก จนกว่าแนวทางการใช้กฎหมายของศาลจะเปลี่ยนแปลงไป
 
การสร้าง “บรรทัดฐาน” บนคดีที่มีพื้นฐานจาก “การแสดงออก” ซึ่งอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่านั้น คงไม่อาจเป็นเยี่ยงอย่างให้สังคมหวั่นกลัวกฎหมายจนไม่เกิดการกระทำอย่างเดียวกันขึ้นซ้ำอีก ตราบใดที่ยังมีมนุษย์ที่กล้าจะลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่ตนเองพบเห็น การวางบรรทัดฐานเช่นนี้มีแต่จะทำให้ต้องลงโทษคนอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าปัญหาที่เป็นรากฐานให้ประชาชนต้องมาชุมนุมกันนั้นจะหมดสิ้นไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net