7 เรื่องความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกรณีของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง

ขณะที่สื่อหลายแห่งนำเสนอเรื่องของ แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง โดยพยายามลบล้างวาระทางการเมือง หรือสื่อว่าเรื่องที่เขาทำเป็นการต่อต้านอเมริกัน เชส มาดาร์ ทนายความเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด
 
จากกระแสข่าวการดำเนินคดีกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลแฉการกระทำละเมิดสิทธิฯ ของกองทัพสหรัฐฯ ให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ เชส มาดาร์ ทนายเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ thenation.com กล่าวถึงเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิด (myth) เกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
เชส มาดาร์ กล่าวในบทความว่า สื่อส่วนมากมักจะนำเสนอเรื่องในประเด็นใหญ่ๆ โดยปราศจากบริบทและมุมมองทำให้เกิดความผิดพลาดหรือการบิดเบือนข้อมูล เช่น การรายงานว่าเรื่องที่รั่วไหลออกไปเป็น "เรื่องลับสุดยอด" หรือการที่วิกิลีกส์กำลังสร้างโลกอุดมคติด้วยการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องโปร่งใส หรือเรื่องที่ว่าสิ่งที่แมนนิ่งทำไม่ใช่เรื่องทางการเมืองแต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยา (หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ) ทำให้ตัวผู้เขียนบทความต้องออกมากล่าวถึงความเชื่อผิด 7 อย่างในเรื่องของ   แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
 
1.) แรงจูงใจของแมนนิ่งเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนสติฟั่นเฟือน
 
เรื่องแรกคือการที่สื่อมักกล่าวว่า แมนนิ่งออกมาเปิดเผยรายงานทหารและข้อมูลทางการทูตที่ควรเป็นความลับเป็นเพราะว่าแมนนิ่งเป็นพวก "ไม่เต็ม" บ้างก็บอกว่าเพราะเขาเป็นเกย์หรือทั้งสองอย่าง แต่ในความจริงแล้ว แมนนิ่งได้เปิดเผยแรงจูงใจของตัวเองออกมาว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เขาบอกว่า "ผมต้องการให้คนรู้ความจริง ...ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม... เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลพวกนี้แล้ว คุณก็ไม่สามารถทำให้สาธารณชนตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลได้"
 
เราอาจเห็นต่างกันในเรื่องผลกระทบที่มาจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยแมนนิ่ง แต่ในเรื่องแรงจูงใจที่เขาเปิดเผยข้อมูล แมนนิ่งได้บอกด้วยตัวเองตรงไปตรงมาแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเรื่องเพศ เช่นเดียวกับที่อดีตนายทหาร อีธาน แมคคอร์ด (คนเดียวกับที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ได้รับบาดเจ็บในวีดิโอ "Collateral Murder" ที่เป็นวีดิโออื้อฉาวที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงนักข่าวและประชาชนอิรัก) กล่าวไว้ว่า การยึดติดกับเรื่องเพศสภาพของแมนนิ่ง เป็นแนวคิดที่พยายามกลบเกลื่อนวาระทางการเมืองของแมนนิ่ง
 
 
2.) ทั้งแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง และ วิกิลีกส์ เป็น "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian)
 
คำว่า "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian) เปรียบเสมือนเป็นคำด่าที่แรงมากในกลุ่มคนอังกฤษที่มีการศึกษา มีความหมายโดยนัยระดับเดียวกับคำว่า "หัวรุนแรง" และ "พวกไม่ยอมรับความเห็นต่าง" หรือบางครั้งก็เป็นการด่าว่า "อุดมคตินิยม" ในเชิงลบ ซึ่งก็ดูแย่พอๆ กัน
 
เชส กล่าวว่า แม้การปล่อยข้อมูลลับของรัฐบาลของแมนนิ่งจะเป็นการฝ่าฝืนระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่แมนนิ่งทำก็ไม่ได้เข้าใกล้ "การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องโปร่งใส" ซึ่งแม้แต่แมนนิ่งและวิกิลีกส์เองก็ไม่ได้เรียกร้องหรือกล่าวถึงแนวคิดอุดมคตินี้ 
 
แต่เชสคิดว่า สิ่งที่นายทหารแมนนิ่งทำน่าจะเป็นการตั้งรับในเชิงปฏิบัติต่อการปกปิดข้อมูลของรัฐบาล และข้อมูลลับที่แมนนิ่งเปิดโปงก็มีเพียงร้อยละ 1 จากเอกสารทั้งหมด 92 ล้านฉบับที่ทางการสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นเอกสารลับ
 
 
3.) วิกิลีกส์ เป็นสิ่งที่ต่อต้านอเมริกัน
 
เชสกล่าวว่าที่คนคิดเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะวิกิลีกส์ต่อต้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แต่ทว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดล้วนมีความเห็นคล้อยตามวิกิลีกส์ในประเด็นนี้
 
วิกิลีกส์เองก็มีแถลงการณ์ภารกิจที่กล่าวอ้างถึงอดีตปธน. โทมัส เจฟเฟอร์สัน และศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากเรียกพวกเขาว่าเป็นพวกต่อต้านอเมริกันก็คงฟังดูแปลก เชสบอกว่า พวกเขาดูเหมือนคนมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมคลาสสิกที่บังเอิญมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และมาจากซิลิคอน วัลเลย์ (ย่านธุรกิจไอทีในสหรัฐฯ) อีกทั้งเมื่อประเมินจากแถลงการณ์ของแมนนิ่งและวิกิลีกส์ (ทั้งแถลงการณ์ส่วนตัวและแถลงการณ์สาธารณะ) แล้วก็ไม่พบว่าพวกเขามีอคติใดๆ กับสหรัฐฯ
 
 
4.) แบรดลี่ย์ ทำให้ข้อมูล "ความลับสุดยอด" รั่วไหล
 
จริงอยู่ที่ว่านายทหารแบรดลี่ย์ดูจะชอบการเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงที่เป็น "ความลับสุดยอด" แต่เชสก็บอกว่าแบรดลี่ย์ก็เป็นเช่นเดียวกับประชาชนรายอื่นๆ จำนวนราว 1.4 ล้านคน ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล "ความลับสุดยอด" ด้านความมั่นคง ซึ่งถ้าหากมีคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมากกว่าจำนวนประชากรในวอชิงตันดีซี ข้อมูลเหล่านั้นยังจะถือว่าเป็น "ความลับ" อยู่หรือไม่
 
เชส ระบุอีกว่าในหมู่เอกสารของแมนนิ่งที่มีการเผยแพร่ ไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่ถือว่าอยู่ในระดับ "ความลับสุดยอด" ข้อมูลโทรเลขทางการทูตมากกว่าครึ่งไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการ และภาพวีดิโอคลิปที่มีเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่สังหารชาวอิรักหลายคนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการเช่นกัน
 
และแม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนในอิรักหลายแสนคนเสียชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็มักจะอ้างว่า การเผยแพร่ข้อมูลของแมนนิ่งทำให้มีคนถูกสังหาร หรืออย่างน้อยก็ส่งผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดถึงในข้อต่อไป 
 
 
5.) การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์ ทำให้มีคนถูกสังหาร ทำให้ประเทศสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์
 
แต่ในช่วงสามปีหลังจากที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีพลเรือน ทหาร หรือแม้กระทั่งสายลับคนใดได้รับอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลเลย อาจจะจริงที่ว่ามีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ 2 คนถูกเรียกตัวกลับจากประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่มันก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นวินาศภัยทางการทูต และฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยนั้นก็ได้ให้คำมั่นพวกเราไว้แบบนี้เช่นกัน
 
 
6.) สิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมา ไม่ได้มีความสำคัญอะไร
 
อาจจะมองต่างจากข้ออื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จพอๆ กัน ในความจริงแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์อาจจะมีบทบาทเล็กๆ แต่ก็เป็นบทบาทสำคัญในการประท้วงของตูนีเซีย และทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่ขยายเวลาการวางกำลังในอิรัก นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงกลายมาเป็นเรื่องตามข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์และนิตยสารชั้นนำหลายร้อยชิ้นในหลายประเทศ ทั้งสื่อของเยอรมนี อินเดีย และกระทั่งสื่อสหรัฐฯ ถ้าหากสิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมาเป็นเรื่องไม่สำคัญจริง มีหรือที่สื่อจะนำมาตีพิมพ์
 
 
7.) ความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะทำให้เรามีความเสี่ยง แต่ความไม่รู้จะทำให้เราปลอดภัย
 
เชส บอกว่าแนวคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด การที่ทหารอเมริกันสามารถเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความสามารถสูงในการกุมความลับเอาไว้ได้ และบางครั้งก็มีการบิดเบีอนความจริง หรือกระทั่งมีการโกหก
 
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยใช้วิธีการเดียวกันในสงครามแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการเก็บความลับของรัฐบาลทำให้มีการนองเลือด (และสูญเสียเงิน) ทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และจากประเทศที่ถูกสหรัฐฯ รุกรานซึ่งสูญเสียมากกว่าหลายเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่นโยบายการต่างประเทศใหญ่ๆ กลายเป็นวินาศกรรมและความล้มเหลวเมื่อไม่มีข้อมูลสำคัญ
 
 
 
เชส มาดาร์ เป็นทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองในนิวยอร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เรื่อง "The Passion of Bradley Manning: The Story behind the Wikileaks Whistleblower"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Seven Myths About Bradley Manning, The Nation, 03-06-2013

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท