การปฏิรูปที่ดิน คปอ. สู่ข้อตกลงสัญญารัฐบาล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
ความขัดแย้งเรื่องที่ดินในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของสังคม ที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางออก แต่กระทั่งปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวยังดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะขยายขนาดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณามูลเหตุของเรื่องจะพบว่า เกิดจากโครงสร้างการจัดการที่ดินของรัฐไทย ที่จำแนกระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐและของเอกชน โดยในส่วนระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐจะให้อำนาจรัฐบริหารจัดการโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น พื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายป่าไม้ประเภทต่างๆ เป็นต้น ส่วนกรรมสิทธิ์ของเอกชนก็จะให้สิทธิ์การจัดการโดยเอกชน
อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน โดยการบริหารจัดการจะใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญ ดังนั้น เราจะพบว่าที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือนายทุน และผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยมีความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเองได้
 
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อพิพาท และความขัดแย้งระหว่างที่ดินของรัฐกับประชาชนที่มีปัญหาทับซ้อนกัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน แต่รัฐกลับไม่มีมาตรการที่เป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา ในทางตรงกันข้าม กลับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกลไกการแก้ไขปัญหาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้หลายพื้นที่มีการละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างรุนแรง เช่น การจับกุม ดำเนินคดีชาวบ้านใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในกรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย กรณีที่สาธารณประโยชน์ ต.ดงกลาง และกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น          
 
ในขณะที่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า พื้นที่พิพาทเหล่านี้ ชาวบ้านได้ครอบครอง ทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ของหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น แต่เมื่อรัฐมีอำนาจเหนือทรัพยากรตามกฎหมายที่บังคับใช้ ชาวบ้านกลับกลายเป็นผู้บุกรุก และถูกดำเนินการทางกฎหมาย
 
จากความขัดแย้งดังกล่าว ชาวบ้านได้รวมตัวเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนโดยประชาชน มีมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเฉพาะหน้าของสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินของชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งการผลักดันให้รัฐมีการกำหนดมาตรการทางภาษี โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายการถือครองที่ดินสู่เกษตรกร คนจนเมือง การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน และมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยการบรรจุเป็นนโยบาย กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 มิ.ย.53 ทั้งนี้ มีพื้นที่นำร่องที่จะดำเนินการ ทั้งสิ้นกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายภาคประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ ทางสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กลับพบว่าในหลายพื้นที่ถูกคุกคามจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านห้วยกลทา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น
 
ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนบริหารจัดการที่ดินของเครือข่ายฯ ยังคงดำเนินไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยืนยันในสิทธิของชุมชน และความเป็นเกษตรกรผู้ทำการผลิตสร้างและเลี้ยงสังคม โดยในพื้นที่ คปอ.ได้กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการจัดทำโฉนดชุมชนทั้งสิ้น 16 ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร ศรีสะเกษ และเพชรบูรณ์
 
จากการดำเนินการในพื้นที่ของเครือข่ายฯ จะพบว่า การจัดทำโฉนดชุมชนของชาวบ้านจะมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การจัดทำขอบเขตที่ดินที่จะดำเนินการโฉนดชุมชน การจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการที่ดินในรูปคณะกรรมการโฉนดชุมชน การกำหนดระเบียบข้อบังคับ กองทุนที่ดิน กองทุนสวัสดิการสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจ และการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า ในหลายพื้นที่มีการทำการผลิตแปลงรวม การใช้แรงงานร่วมกันเพื่อจัดหากองทุนกลุ่ม เช่น การทำหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การทำนารวมของทั้งชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ หรือจะเป็นที่ชุมชนเขวาโคก อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด การเก็บหาหน่อไม้รวมของชุมชนบ้านห้วยระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น
 
กล่าวได้ว่า การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นบทสรุปสำคัญของเกษตรกรและคนจนเมือง ที่ผ่านบทเรียนอันยากลำบากจากการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิในที่ดิน และการรักษาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ในท่ามกลางการคุกคามสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ปฏิบัติการดังกล่าวจึงถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญ และท้าทายต่อทัศนคติของสังคม เกี่ยวกับแนวคิดการจัดการที่ดินที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในอนาคต รวมทั้งการยืนหยัดต่อสู้ของเกษตรกรผู้ริเริ่มดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ
 
แม้การปฏิบัติการโฉนดชุมชนของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จะดำเนินไปท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ตกเป็นเบี้ยล่างทางการผลิต รวมถึงการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกดำเนินคดี ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาในระบบการจัดการที่ดินเช่นนี้ แต่ชุมชนหลายแห่งได้เริ่มต้นที่จะก้าวเดินไปสู่จินตนาการทางสังคมที่มีความเป็นธรรม รวมทั้งได้ร่วมเรียกร้อง ผลักดัน ติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง
 
ล่าสุดการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้มาชุมนุมเป็นครั้งที่ 7 ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อร่วมติดตามปัญหาบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พ.ค.56 ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล และให้ดำเนินการโฉนดชุมชน การชุมนุมดังกล่าวได้ดำเนินมาถึงวันที่ 22 พ.ค.56 กระทั่งได้มีการร่วมทำบันทึกข้อตกลง (mou) ระหว่างภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับตัวแทนภาครัฐ โดยมี นายประชา ประสพดี รมช.ช่วยมหาดไทย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุภรณ์ อัตตาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมลงนาม
 
การตกลงร่วมครั้งนั้น ทุกขั้นตอนได้มีบันทึกการแก้ไขปัญหาผ่านเวทีสาธารณะสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีข้อยุติร่วมกันไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดี ดังเช่นกรณีที่ดินทำกินและกรณีการเร่งรัดเสนอเร่งออกโฉนดชุมชน นั้น ตัวแทนรัฐบาล โดย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กำชับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ในระหว่างการดำเนินการการแก้ไขปัญหา ตามกลไก และตามดำเนินการที่มีข้อยุติเดิมอยู่แล้วนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่เร่งจัดการ รวมทั้งให้ยุติการดำเนินการต่างๆ ในอันที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใดก็ตามฝืนปฏิบัติในคำสั่ง จะจัดการในขั้นเด็ดขาด
 
นี่หมายถึงนิมิตรหมายหรือสัญญาณที่ดีอีกขั้นหนึ่ง ที่เครือข่ายฯ และภาคประชาชนต่างๆ ได้ร่วมต่อสู้เรื่อยมา เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้ผืนดินที่ทำกิน เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ไปถึงลูก สู่ถึงหลาน และถือเป็นบทพิสูจน์หัวใจอีกครั้ง ที่รัฐบาลสัญญาโดยมีการบันทึกข้อตกลงร่วม รวมทั้งมีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ ในการที่จะให้ความจริงใจอย่างเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท