Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความชิ้นที่ 5 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

กระแสข่าววิพากษ์โครงการจำนำข้าวและอาการเคลียร์ตัวเลขขาดทุนไม่แจ้งจนเป็นที่น่าพอใจของ รมต.กระทรวงพาณิชย์ จนมีผลทำให้เกิดการโยนหินถามทางอีกครั้งว่าอาจปรับราคาข้าวที่รับซื้อจากชาวนาเหลือเพียงตันละ 1.3 หมื่นบาทเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา  สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับชาวนาในทุ่งหนองบอน ต.จักราช อ.ผักไห่  ที่ก่อนหน้านี้เผชิญปัญหาภัยแล้ง  น้ำแห้งคลองและฝนล่า จนต้องลงทุนเร่งสูบน้ำหลายทอดเพื่อเริ่มทำนาปรังเพื่อปลูกข้าวอายุ 110 วันให้ทันได้เกี่ยวก่อนน้ำจะมาในหน้าน้ำช่วงเดือนกันยายน  แต่ฝนก็กลับมาตกชุกหนักในช่วงต้นเดือนมิถุนายน   ข้าวอายุกว่า 30 วันซึ่งกำลังแตกก่องามถูกน้ำท่วมขังจนมีแต่น้ำขาวไปหลายสิบไร่ และอีกหลายแปลงกำลังรอความหวังว่ากรมชลประทานจะลดบานประตูลงเพื่อลดระดับน้ำที่ปล่อยเข้านาเพื่อรักษาแปลงนาที่ยังเหลืออยู่  

“คิดผิดหรือเปล่าไม่รู้ที่เลือกทำนาหรือเลือกพรรคเพื่อไทย  เราก็สงสัยว่าทำไมไม่บริหารเหมือนรุ่นทักษิณ รุ่นนั้นราคาข้าวดี แล้วทำไมไม่เดินตามรอยที่เขาทำไว้ดี รุ่นนั้นทำไมไม่มีปัญหาเลย ข้าวตันละ  12,000 – 13,000 บาท  หลายคนก็พูดเหมือนเราว่าคิดผิดหรือเปล่าถ้าโดนลดราคาข้าว  ลดราคาลงมา ชาวนาแย่ทันทีเลย  รัฐบาลนี้จำนำข้าว 15,000 บาท เรายังโดนตัดความชื้นเหลือ 12,000 บาท  ถ้าจำนำเหลือ 10,000 บาท เราไม่เหลือแค่ 7,000 – 8,000 บาทเหรอ?  ถ้าอย่างนั้นเราร่วงทันทีเลย  เพราะตอนนี้ค่าแรงก็ขึ้นแล้ว  ค่าเช่าก็ขึ้นแล้ว  รัฐบาลประกาศจะทำอะไรก็ทำได้ แต่พอมันขึ้นมาแล้ว มันลงยาก ลดราคาข้าวแล้ว ค่าแรง ค่าปุ๋ย ลดหรือเปล่า?  ต้องลดค่าแรงลงด้วยสิจะได้ยุติธรรม  รักษาหน่อยสิคำพูด จะดีมากเลยถ้ารักษาได้”  รังสรรค์  และวราพร  กำลังแพทย์  ระบายให้ฟังอย่างอึดอัดใจ

 

เลือกเพื่อไทยพราะโครงการรับจำนำข้าว

บ้านของรังสรรค์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับบ้านจรูญ น้าสาวที่คอยเอาแรงและเป็นที่ปรึกษาในการทำนา  จรูญซึ่งเปิดบ้านเป็นร้านขายของชำเล็กๆ ในหมู่บ้าน  และกลายเป็นที่พบปะพูดคุยสังสรรค์กันของชาวบ้านในหมู่ยามเย็นค่ำ     รังสรรค์ บอกว่า ชาวนาที่นี่เทคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยจนล้มแชมป์เก่าเจ้าประจำจากพรรคชาติไทยพัฒนาลงได้  และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเขาก็ยังจะคอยเชียร์ให้เป็นรัฐบาลจนครบ 4 ปี 

“35 เสียงที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคชาติไทยพัฒนาที่หน่วยเลือกตั้งนี้เพราะนโยบายจำนำข้าวนี่แหละ  บ้านนี้ มี 3 เสียง ผม เมีย และปู่  ให้ทั้ง 3 เสียงเลย  ลำพังหัวคะแนนไม่ค่อยเท่าไหร่หรอกช่วงหาเสียง แต่ช่วงหลังนี้เข้ามาบ่อยขึ้นอย่างช่วงหน้าแล้ง ชาวนาในหมู่นี้ กับอีกหมู่นึงก็มาคุยกันก่อนจะไปทำประชาคม  ว่าจะให้เขามาขุดคลองแก้น้ำแล้ง ลำพังงบประมาณของพื้นที่มันไม่พอ ก็ต้องให้ สส.เขามาช่วย” [1]

 

ความหวังจากโครงการรับจำนำข้าว

รังสรรค์ (44 ปี) และภรรยา  (36 ปี)  เพิ่งหันกลับมาเมื่อปี 52  ก่อนหน้าเคยทำนามานานหลายปีแล้วไม่ประสบความสำเร็จจนคิดเปลี่ยนอาชีพไปซื้อที่ 20 ไร่ ทำสวนส้ม และน้อยหน่า ไกลถึง แม่สอด แต่ก็ต้องคว้าน้ำเหลวอีกครั้งเมื่อระยะทางระหว่างบ้าน สวน และแหล่งจำหน่ายห่างไกลจนทำให้ผลกำไรจากผลผลิตต่ำกว่าค่าน้ำมันและการจัดการ  จนต้องขายสวนทิ้งเพื่อตัดหนี้เมื่อปี 2549  แล้วหวนกลับมาทำนาทั้งนาปีข้าวฟางลอย และนาปรัง อีกหนพร้อมๆ กับเป็นพ่อค้าขายน้ำปลาขวดที่รับจากแหล่งกระจายรายใหญ่แถวบ้านบรรทุกปิ๊กอัพเร่ขายไปไกลถึงสุพรรณบุรี และนครปฐม มีกำไรประมาณวันละ 500 บาท  ตลอดช่วง 4 เดือนที่เว้นว่างจากการทำนา

ปีที่แล้ว (ปี55) ทั้งคู่เริ่มได้รับผลกำไรจากการทำนาปรังเป็นกอบเป็นกำ  จากการเช่านาทำ 38 ไร่ ซึ่งมีสัญญาเช่า 6 ปี ค่าเช่าไร่ละ 1,000 บาท คงเดิมมาตั้งแต่เริ่มทำปี52   จนคิดขยายพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มขึ้น โดยลงทุนเช่านาของน้องสาววราพร 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเดินและร่องน้ำ จนต้องควักเงินลงทุนปรับแปลงนานั้นไป 150,000 บาท และซื้อทางเข้านาจากนาต้นทางอีก 30,000 บาท เพื่อให้ผ่านทางได้ตลอดไปโดยทำสัญญาตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วและเริ่มปรับที่นาไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา   เพื่อที่ว่าจะได้เริ่มต้นทำนาปรังได้ใหม่ในพฤษภาคม รับโครงการจำนำข้าวรอบ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์   รังสรรค์เชื่อว่าหากเขาทำนาขายข้าวในโครงการรับจำนำได้ 2 เที่ยว เขาก็จะสามารถใช้หนี้คืนทุนได้หมดและหลังจากนั้นก็จะเหลือเป็นผลกำไรในระยะยาว   ขำ – วราพร เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเบิกนาเช่าใหม่ว่า 

“ถ้าไม่มีจำนำข้าวก็ต้องทำทางขุดเข้าไปอยู่ดี  เพราะว่าทำนาปีมันไม่ได้อะไร ทำนาปรังดีกว่า   จำนำนี่เราทำแค่ 2 เที่ยวมันก็ได้แล้วไง  ที่เหลือต่อจากนั้นก็เป็นกำไรในระยะยาว   ทำนาทุน 5,500 – 6,500 บาท/ไร่ รวมค่าเช่านาแล้ว ประหยัดค่าแรงเพราะทำนากันเอง  จ้างเขาทำขึ้นราคาค่าแรงแล้วทำไม่ได้อย่างที่เราต้องการ พอประหยัดได้ 2,000 บาท มันก็พอได้   ทีนี้เรากะเหตุการณ์ข้างหน้าไม่ได้  ข้าวเป็นเพลี้ยบ้าง เป็นโรคบ้าง  หนอนลง ฉีดยาหลายเที่ยว ต้นทุนก็เพิ่ม  เราก็ได้น้อยลงอีก”   

 

พฤษภาคมฝนมาช้า จนเกรงว่าจะไม่ได้ปลูกข้าว 110 วัน

ก่อนที่จะมีการชี้แจงงบประมาณประจำปี และอภิปรายถึงโครงการรับจำนำข้าวในรัฐสภาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม  ก่อนหน้านั้นราวต้นเดือนเดียวกันนี้  เป็นช่วงที่ชาวนาในเขตที่ลุ่ม อ.ผักไห่ หลายแห่ง ต่างวิตกกังวลกับฝนที่ไม่ตกลงมา ในขณะที่น้ำในแม่น้ำลำคลองและลำรางแห้งขอด  จนชาวนาหลายคนต้องตัดสินใจลงทุนเพิ่มเพื่อวิดน้ำเข้านา  เพราะหากทำนาปลูกข้าว 110 วันตามเกณฑ์กำหนดของโครงการรับจำนำ  พวกเขาต้องหว่านข้าวก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า น้ำที่จะมาในช่วงหน้าน้ำของทุกปีราว 10 – 15 กันยายน นั้น จะไม่ท่วมข้าวที่กำลังได้อายุเก็บเกี่ยวของพวกเขาเสียก่อน 

“ปีที่แล้วนาตั้งเยอะ ได้ข้าวแค่ 16 ตัน  กข.51  มันเป็นข้าวเบา  เที่ยวนี้เลยเอาข้าวหนักดีกว่า ได้น้ำหนักกว่า แต่ก็ว่าเสี่ยง  เราถึงต้องรีบ ก็นับวันอายุข้าวแล้ว น่าจะได้เกี่ยวทันก่อนน้ำมา”  ขำเล่า

ทั้งคู่เล่าว่า  ช่วงที่ชาวนาต้องการน้ำเพื่อเริ่มตีเทือก แต่ไม่มีน้ำใช้นั้น มีคนรับจ้างสูบน้ำเข้านา โดยสูบจากคลองไปเข้าลำราง  ชม.ละ 100 – 120 – 140 บาท  จากนั้นคนทำนาต้องสูบน้ำจากลำรางเข้านาเอง  ส่วนของครอบครัวกำลังแพทย์ นั้นไม่ได้จ้าง ใช้เครื่องสูบน้ำเก่าที่ใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อสูบน้ำ  1 ตัว ยืมน้าจรูญ ซึ่งมีกำลัง 2 แรงม้ามาใช้อีก 1 ตัว   และต้องซื้อเครื่องสูบน้ำมือสองเพิ่มอีก 1 ตัว ราคา 26,000 บาท    นาปรังที่เช่าทำเที่ยวนี้ 60 ไร่ ในที่นา 5 แห่ง ในทุ่งลาดชะโดและทุ่งจักราช  ลงทุนเพื่อตีเทือก หว่านข้าวให้ได้  เฉพาะค่าสูบน้ำถึง 14 วัน คิดเป็นค่าน้ำมันดีเซลวันละ 2,000 บาท  รวมเป็นเงิน 28,000 บาทนั้น   ยังไม่รวมค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างปั่นนา ตีเทือก ยาคุมหญ้า และปุ๋ยซึ่งใช้เครดิตจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ซื้อมาแบบปลอดดอกเบี้ยเป็นเงิน 220,000 บาท สำหรับการลงทุนรอบแรกของการทำนาเที่ยวนี้

เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ 2 ตัวไม่พอใช้ ส่วนเครื่องสูบน้ำ 2 กำลังแรงม้าของน้า ก็มีคิวขอยืมใช้จากเพื่อนที่ทำนาด้วยกันยาวเหยียด  รังสรรค์อยากได้เครื่องสูบน้ำเพิ่มเพื่อให้พอใช้งาน แต่ต้องระงับไว้ก่อนเพราะนาเที่ยวนี้ลงทุนไปเยอะมากแล้ว

 

ฝนชุก นาล่ม กลางเดือนมิถุนายน

15 มิถุนายน 56   นาเช่าของทั้งคู่ในทุ่งหนองบอน ขนาด 28 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น 6 กระทง  ที่หว่านข้าวชัยนาท และข้าว กข. 47 ซึ่งมีอายุ  110 วัน ไปเมื่อ 11 พฤษคม ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ราวปลายสิงหาคม ต้นกันยายนนั้น  กลับถูกน้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา  จนทำให้น้ำท่วมข้าวในกระทงนาที่ลุ่มที่สุดจมน้ำท่วมขาวไปก่อน  และนาอีก 2 กระทงกำลังจะท่วมมิดใบข้าว  ซึ่งหากน้ำท่วมนานถึง 1 สัปดาห์ ข้าวก็จะเน่าเสีย และไม่สามารถฟื้นตัวได้เลย

“ข้าวอายุ 35 วัน เพิ่งหว่านปุ๋ยครั้งแรกไป  ไร่ละ 3 ถัง ปุ๋ย 18-8-8 กระสอบหนึ่ง 50 กก. ก็ 780 บาท แล้ว  ค่าเทือกไร่ละ 220 ปั่นอีก 220 บาท นี่ซื้อปุ๋ยเตรียมหว่านรอบ 2 ไว้ด้วย  ข้าวกำลังงามแตกกอเลย” 

เสียงเครื่องสูบที่ได้ยินแว่วๆ ไปทั่วทุ่งหนองบอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น    เป็นเสียงที่สูบน้ำออก   กลับกันกับเมื่อเดือนพฤษภาคม   รังสรรค์บอกว่า ชาวนาทำนาพร้อมๆ กัน ตอนที่ต้องการน้ำแต่ไม่มี ก็แย่งน้ำกัน    แต่ช่วงนี้เราไม่ต้องการน้ำ  ฝนตกหนักในคืนวันที่ 12 มิถุนยายนที่ผ่านมา พอ 2 วันถัดมา น้ำก็ไหลเข้ามาในทุ่งได้ทุกทิศทางเพราะฝนตกใต้เขื่อน และต่างคนต่างก็ไม่เอาน้ำ   เขาต้องป้องนากันน้ำโดยใช้วิธีดำน้ำลงไปในลำรางเพื่องัดดินข้างใต้ขึ้นมาถมคันคูตลอดวันแทนการสูบน้ำออก  เพราะน้ำในลำรางเต็มปริบ และไม่รู้จะสูบออกไปทางไหนได้ 

น้ำมีอยู่ล้อมรอบเต็มไปหมด แต่ดอกผลจากต้นข้าวในนากำลังละลายหายไป  ขำเล่าว่า  ปีที่แล้วเธอลงทุนทำนา 200,000 บาท  ขายข้าวได้ 480,000 บาท  เหลือครึ่งหนึ่ง จ่ายค่าเช่านาเกือบ 70,000 บาท เหลือเงินประมาณ 200,000 บาท  ก็นำบางส่วนไปใช้หนี้   เธอเป็นหนี้ที่กู้ยืมคนในหมู่บ้าน 300,000 บาท มาใช้จ่ายในครอบครัวและส่งลูกเรียน  และ ตอนเริ่มทำนาปีแรก กู้หนี้สหกรณ์เพิ่มอีก 550,000 บาท   ดอกเบี้ยร้อยละ 9บาท/ปี  มีสัญญากำหนดใชหนี้ให้หมดภายใน 5 ปี โดยผ่อนชำระปีละ 110,000 บาท  ไม่รวมดอกเบี้ยที่ตัดส่งในแต่ละงวด  ตอนนี้เธอเหลือหนี้สหกรณ์อยู่ 330,000 บาท  กับภาระที่จะต้องเลี้ยงดูและส่งเสียลูก 3 คน ซึ่งกำลังเรียนในระดับมัธยมปลายและชั้นประถม โดยคนโตอายุ 16 ปี ชั้นม.6  คนกลาง 14 ปี ชั้น ม.4  และคนเล็ก 7 ปี ชั้น ป.1

“ทำนา 3 – 4 เดือนจะได้เงิน  เราต้องกินต้องใช้ทุกวัน ขั้นต่ำเดือนเดือน 15,000 บาท เราต้องเร่ขายของช่วงที่ไม่ได้ทำนา  เราจะไปหาที่ไหน   เคยคำนวณว่า ถ้าลงทุนทำนาอย่างนี้ 3 ปี ก็หมดหนี้ ถอนทุนได้  ครบวาระ 4 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์พอดี”  

 

ในขณะที่เพื่อนชาวนา 1 คันรถปิ๊กอัพกำลังวิ่งไปดูบานประตูน้ำที่อยู่ทางดอนขึ้นไปจากทุ่งนาของพวกเขา เพื่อร้องขอให้ชลประทานลดบานประตูน้ำลง ชะลอไม่ให้น้ำท่วมนาข้าวที่เหลือ    รังสรรค์ และวราพร ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันดีกับผู้นำชาวนานักสู้อย่างลุงวิเชียร พวงลำเจียก  ตอนไปขอคำปรึกษาเรื่องเงินค่าชดเชยนาถูกน้ำท่วมเมื่อปี 53 – 54  ยังเสนอทางลงของโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้ชาวนาและรัฐบาลอยู่รอดครบวาระอย่างที่พวกเขาซึ่งได้ลงคะแนนเสียงเทให้เพราะนโยบายนี้ไว้ด้วยว่า  ถ้ารัฐบาลยังราคารับจำนำข้าวไว้ที่ตันละ 15,000 บาท และจำกัดโควตาให้ครอบครัวละ 500,000 บาท หรือ ไม่เกิน 25 ตัน  น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในภาวะทีทั้งคู่และชาวนาในทุ่งหนองบอน ต.จักราชกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว  

จ๊อด – สำอาง กล่อมฤกษ์  (44 ปี) เพื่อนชาวนาของวราพรและรังสรรค์ ในทุ่งหนองบอน  มีนากระทงหนึ่ง ขนาด 7 ไร่ เคียงกันกับนาของขำ ถูกน้ำท่วมจนมิดต้นข้าว เห็นแต่น้ำขาว    รอบฤดูปลูกนี้เขาทำนาในทุ่งนี้ เกือบ 100 ไร่  เป็นนาตัวเอง 30 กว่าไร่  นอกนั้นเช่า  ลงทุนไปแล้ว 200,000 กว่าบาท  แต่ตอนนี้นากว่า 70 ไร่ ถูกน้ำท่วมไปแล้วนานราว 1 สัปดาห์ เพราะที่นาลุ่มกว่าคนอื่น  ยังเหลือลุ้นว่าน้ำจะไม่ปล่อยเข้ามาจนท่วมข้าวอยู่อีก 20 กว่าไร่

“เครียดจนไม่รู้จะทำยังไง  ปีหน้าเจ้าของนาจะขึ้นค่าเช่าจาก 1,000 บาทเป็น 1,500 บาท  ปีหน้า ถ้าราคาข้าวอยู่เกณฑ์เดียวเหมือนปีนี้ก็ยังพออยู่ได้  แต่ถ้าราคาข้าวต่ำกว่านี้ อยู่กันไม่ได้แน่  ต้นทุน/ไร่ ก็ 5,000 กว่าบาทแล้ว ได้ข้าว 80 ถัง  ขายได้ตันละ 13,000 – 14,000 บาท กำไลครึ่งๆ   ต้นทุนปีนี้พอๆกับปีที่แล้ว จะมีแต่ค่าน้ำมันวิดน้ำเข้า หมดค่าวิดน้ำไปแสนกว่าบาท ปลูกข้าว กข.41 อายุ 110 วัน น้ำมาท่วมเสียก่อนตอนนี้  ถ้าข้าวไม่รอดหมื่นพออยู่ได้ ต่ำกว่าหมื่นตายอย่างเดียว เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นดีกว่า”

 

นาแล้ง วิกฤติแลโอกาส ของชาวนาในทุ่งผักไห่

หลังเกี่ยวข้าวนาปรังหนแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ทางการประกาศไม่ให้ทำนา  ให้หยุดทำนาไป 8 เดือน  ชาวนาในทุ่งผักไห่  ชาวนาหลายคนตัดสินใจสูบน้ำเข้านาทำนาปรังรอบ 2 กันต่อ  บ้างก็ขอแจ้งติดมิเตอร์กับสำนักงานการไฟฟ้า   มีเพียงส่วนน้อยที่ถอดใจไม่ทำนา และรอดูน้ำอีกทีเดือนกันยายน เพราะเป็นที่ดอนและเห็นว่าต้องลงทุนเพิ่มมากเกินกำลังจะจ่าย   นอกจากนี้ยังมีชาวนา 8 ราย ผืนนารวมกัน 140 ไร่  ลงขันกันสูบน้ำจากนาเข้าคลอง

ตุ่น – ลำไย พูลเพิ่ม หนุ่มฉกรรจ์วัย 47 ปี อดีตชาวนาที่ผันตัวเองมาทำบ่อปลาและรับจ้างสูบน้ำเข้านาในทุ่งผักไห่ หลังจากเคยทำนาล่มเพราะพายุอีร่าและถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาเช่าเสียหายอีกรอบ จนขาดทุนและเลิกทำนาที่อ.เดิมบาง จ.สุพรรณ เมื่อปี  33  ระบาด เล่าว่า  เขาใช้รถซาเล้งบรรทุกมีท่อสูบและเครื่องสูบไปประจำจุดต่างๆ ของผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นคนทำนาในทุ่งผักไห่ราว 10 กว่ารายรวม 1,000 กว่าไร่  ค่าจ้างมีตั้งแต่ 200 – 500 บาท/ครั้ง ขึ้นกับขนาดที่นา  และจะวนกลับมาสูบน้ำให้นาแปลงนั้นอีกทีใน 5 - 7 วันถัดมา จนกระทั่งหยุดสูบก่อนเกี่ยวข้าวราว 10 วัน   ซึ่งเขาว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจ และ  “ดีกว่าทำนาเองเสียอีก”  แม้บางครั้งต้องออกไปเฝ้าเครื่องสูบน้ำในนายามค่ำคืนค่อนคืนก็ตาม  นอกจากค่าจ้างวิดน้ำแล้ว   หลังเกี่ยวข้าวขาย  ชาวนาที่ว่าจ้างก็มักให้เงินแก่ตุ่นเพิ่ม  2,000 – 3,000 บาท  

ประภาส แย้มอุทัย  (50 ปี) ชาวนา 1 ใน 8 รายที่ร่วมลงหุ้นกับเพื่อน ครั้งนี้บอกว่า   จึงร่วมหุ้นกับติดมอเตอร์ขนาด 7 แรงม้าเพื่อใช้สูบน้ำจากในคลองเขาราง    โดยเครื่องสูบน้ำเป็นของกลุ่มซึ่งเคยซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อคราวฤดูแล้งปี53  สมาชิกใหม่ 6 คน ที่ลงหุ้นจ่ายเงินซื้อแค่ท่อพญานาค 10,000 บาท   และขอสำนักงานไฟฟ้าติดตั้งมิเตอร์เกษตร อีกต่างหาก  ส่วนค่าไฟ แบ่งจ่ายโดยหารค่าไฟกับขนาดของนาของแต่ละรายที่ลงขัน  หลังจากวิดน้ำจากคลองเข้าลำรางแล้ว  แต่ละคนต้องตั้งเครื่องสูบน้ำเข้านาของตัวเอง  ประภาสเล่าว่า พวกเขา  เคยเสนอโครงการให้เทศบาลทำคลองส่งน้ำเป็นคลองปูนผ่าเข้าไปตามแนวคลองส่งน้ำเดิมที่มีอยู่ในทุ่ง ตรงคลองตาเข่ง ซึ่งใช้งบหลายแสน  และเสนอไป 3 ปีแล้ว  แต่เขายังไม่ทำ   ขุดลอกให้แต่คลองลำรางบางแห่ง  ส่วนลำรางในนาต้องขุดกันเอง  เขายอมรับว่าทำนาปีนี้ลงทุนซื้อน้ำไปมากทีเดียว

 “เช่านาเขา 18 ไร่  ข้างนอกทุ่งนี้อีก  10 ไร่  ถ้าไม่ทำก็ต้องจ่ายค่าเช่าฟรี ก็ต้องเสี่ยงทำ   ปกติทำนาต้องสูบน้ำทุก 7 วัน แต่ช่วงต้นพฤษภาคมแดดแรง สูบมาแล้วน้ำแห้งไว  ปกติสูบแล้วปล่อยทิ้งไว้ 10 วันค่อยสูบใหม่ จนกว่าข้าวจะใกล้ได้เกี่ยวจึงหยุดสูบ     แต่ดีหน่อยที่ว่าทำเลที่นาของเขามันเป็นที่ดอน  หากน้ำหากมาก่อนช่วงหน้าน้ำ น้ำจะไปลงทางบางปลาม้า  นาคู จักราช  หนองน้ำใหญ่  ต้นเดือนกันยายนปี 54 ที่ชาวนาสุพรรณ กับที่ จักราช หนองน้ำใหญ่มาประท้วงไม่ให้น้ำปล่อยเขานาเพราะนากำลังจะได้เกี่ยวนั่นน่ะ ถึงเขาปล่อยเข้า ก็อีกหลายวันกว่าน้ำจะมาถึงที่นานี่   ผมมัวแต่วิ่งหารถเกี่ยวข้าว  เลยไม่ได้ไปประท้วงปิดถนนกับเขาไง”

“ช่วงนี้เขาเร่งรีบกันทำนาเพราะราคาข้าวมันดี  เขาว่ากันอีกว่าหมดจาก “ชินวัตร” แล้ว  ราคาข้าวไม่ได้อย่างนี้หรอก  แต่อย่างว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ลงเลือกตั้งอีกสมัยหน้า  ก็คงได้เลือกกันเข้ามาอีก”  ประภาสให้ความเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกระแสข่าวลดราคาข้าวในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่สั่นกระเพื่อมอย่างรุนแรงอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เคยส่งสัญญาณลดราคาข้าวรับจำนำเหลือตันละ 1.3 หมื่นบาทเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้

ไม่แน่ว่า   หากราคาข้าวรับจำนำปีหน้าลดราคาจาก 15,000 บาท แล้วเขาขายข้าวได้ไม่ถึงหมื่นบาท  ชาวนาเสื้อแดงที่เทคะแนนเชียร์พรรคเพื่อไทยเพราะติดใจนโดยบายเด็ดๆ มาตั้งแต่สมัยทักษิณ อย่างประภาส  ก็อาจจะต้องออกมาร่วมขบวนประท้วงตัวเองร่วมกับพรรคพวกเพื่อนพ้องในทุ่งจักราชที่กำลังตกที่นั่งเดียวกันนี้ได้เหมือนกัน

 

 


[1] จำนวนชาวนาในหมู่บ้านของรังสรรค์ที่ขึ้นทะเบียนชาวนาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 มีทั้งสิ้น 56 ราย คิดเป็น 47% ของจำนวนครัวเรือน อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านมีอาชีพค้าขาย ทำงานโรงงาน และลูกจ้างบริษัท  ตามลำดับ    ในขณะที่การเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ในหมู่บ้านนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 353 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net