24 มิ.ย. ทัศนะปฏิวัติกับ 'พุทธินาถ พหลโยธิน' ผมยอมรับครั้งเดียว ครั้งที่พ่อผมกับคณะราษฎร์ร่วมกันทำ

รายงานพิเศษชุดนี้คือการกลับไปทบทวนเรื่องราวและรับฟังมุมมองจากทายาท ‘คณะราษฎร’ ผู้ก่อการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ในโอกาสการเวียนมาถึงอีกปีของวันแห่งการเปลี่ยนแปลง ยิ่งสำหรับ ‘รัฐสภาไทย’ เองแล้ว เหตุการณ์นี้ก็คือการนำไปสู่การเริ่มต้นในเวลาต่อมา

 

“ยี่สิบสี่มิถุนายน มหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย 
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี 
 …….”

 

 

เสียงเพลง ‘วันชาติ 24 มิถุนา’ ดังคลอเบาๆขณะที่เรากำลังพูดคุยกับ ‘พุทธินาถ พหลโยธิน’ หรือ ลุงแมว บุตรชายของ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ (พจน์ พหลโยธิน ) ในโอกาสการเวียนมาถึงอีกครั้งของวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมื่อครั้ง พ.ศ. 2475 และสำหรับ ‘รัฐสภาไทย’ แล้ว เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเริ่มต้นในเวลาต่อมา

สำหรับรายงานพิเศษชุดนี้ สิ่งที่เราอยากรู้คือ การกลับไปทบทวนเรื่องราวและรับฟังมุมมองจากทายาท ‘คณะราษฎร’ ผู้ก่อการอภิวัฒน์ในวันนั้นมานำเสนอ ถึงแม้ว่าปัจจุบันบุคคลเหล่านี้หลายท่านจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางทางการเมืองแล้ว แต่พวกเขาคือคนที่เฝ้าดูปัจจุบันผ่านสายตาของผู้รับรู้อดีตจากบคนรุ่นก่อนอย่างใกล้ชิด ความทรงจำและแนวคิดเหล่านี้นี้จะเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ส่องทางให้คนรุ่นเราและรุ่นหลังจากเราต่อไป ในวันที่เรากำลังคุยกับลุงแมว ลุงกำลังเขียนบันทึก – หนังสือ รวมไปถึงรวบรวมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราเชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน

 

‘พุทธินาถ พหลโยธิน’ หรือ ลุงแมว บุตรชายของ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ (พจน์ พหลโยธิน)

ก่อนการพูดคุยในเรื่องเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ลุงแมวออกตัวกับเราอย่างชัดเจนว่า เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนเพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่การต่อรองด้านความมั่นคงทางอาหารและแรงงานกับกลุ่มประเทศอื่นๆในโลก ไปจนถึงการพัฒนาสกุลเงินเอเชียบอนด์ และเมื่อเข้าสู่การสนทนา ลุงเปรียบเทียบดังตัวละครปัจจุบันกับประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าคิด

“ทักษิณก็เหมือนจอมพล ป .(พิบูลสงคราม)” ลุงแมวกล่าว

“โดนเหมือนจอมพล ป. และผู้กำกับก็เป็นคนคนเดียวกัน”

ถ้อยคำเชิงสัญญะไม่ได้เปิดเผยเป็นที่เข้าใจกันในช่วงเวลาที่ฝุ่นความขัดแย้งยังตลบและอะไรก็ไม่แน่นอนแบบนี้ เราจึงถามเพียงว่า ผู้กำกับการเมืองไทยที่กล่าวถึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ตอนจบอันแสนหวาน ‘ประชาธิปไตย’ จะเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นแค่ละครฉากหนึ่งที่ฉายวนๆ เป็นฉากเดิมๆที่ไม่มีวันจบ

ชายวัยเจ็ดสิบกว่าๆไม่ได้ตอบเพียงแต่พรั่งพรูถ้อยความหลัง ลุงแมวข้ามไปเล่าถึงความอัดอั้นตันใจที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยบิดาที่เป็นหัวหน้าผู้ก่อการ แม้สถานการณ์ของฝ่ายคณะราษฎร์จะเปลี่ยนแปลงไปในทศวรรษต่อมา ทั้งความขัดแย้งภายในบรรดาผู้ก่อการรวมถึงแรงบั่นทอนจากภายนอกที่สุดท้ายอำนาจนำกลับไปสู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ลุงแมวบอกว่ายังคงเลือกเดินบนเส้นทางการทหารเหมือนบิดา แม้จะถูกดูถูกในฝีมือจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนและผู้บังคับบัญชาว่า “ลื้อจะมาเป็นทหารทำไมวะ เป็นไม่ได้หรอก ลาออกไปเถอะ”

ลุงแมวฝึกฝนอย่างจริงจังถึงขนาดไปกินไปนอนอยู่ในรถถังจนมั่นใจอย่างที่สุดขนาดเอ่ยว่าเข้าใจจิตวิญญาณของรถถัง อารมณ์ขันของลุงคือ ถ้าใครจะขึ้นต้องถอดรองเท้าเพราะรักมาก

“ขัดส่วนที่เป็นทองเหลืองทุกจุด” ลุงบอก รถถังคันใหญ่ขนาดไหน ต้องขัดต้องถูอย่างปราณีตใช้แรงและเวลาเท่าไหร่ลองคิดดูกันเอง

แต่รถถังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร สิ่งที่พอรู้ๆกันคือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกำลังและอำนาจ และปกติมักเป็นผู้ได้ชัย ลุงแมวเชื่อมโยงเรื่องราวโดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงทำลายรถถังที่ทหารนำออกมาใช้เพื่อเป็นการตอบโต้และแสดงชัยชนะ สิ่งนั้นคงเป็นเรื่องที่ควรเฉลิมฉลองสำหรับผู้นิยมทักษิณทั่วไป แต่ลุงแมวให้ความเห็นที่ต่างออกไป เพราะรถถังเป็นเพียงวัตถุ ถ้าเข้าใจกลไกเราก็จัดการมันได้ แต่หลักสำคัญของรถถังคือ ‘คนขับ’

“จริงๆ แล้วประชาชนไม่ควรทำลายรถถังทิ้ง เพราะอย่างไรเสียมันก็เป็นเงินภาษีของประชาชนเอง ตัวรถถังเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน คนเสียเงินซื้อถ้าเผื่อไปทำลายมัน จบเหตุการณ์เมื่อไรต้องไปซื้าอมาใช้คืนให้แผ่นดิน ลุงแมวเป็นอาจารย์รถถัง ตั้งแต่ตัวเล็กๆจนมาเป็นอาจารย์ บอกได้เลยมันไม่ยากหรอกรถถังแค่สีสเปย์อย่างเดียวมันก็หยุดนิ่งแล้ว พ่นให้หมด ตาบอด มองไม่เห็นแล้ว

“เราก็ค่อยเคาะๆออกเรียกทหารข้างในออกมาแล้วพูดกับเขาว่า นี่พี่น้องพ่อแม่แกทั้งนั้น แกฆ่าเขาได้หรอ แกก็เป็นคนไทยเหมือนฉัน แล้วก็เขกหัวทีเตะตูดที ปล่อยกลับบ้าน ทรัพย์สินแผ่นดินไม่เสียหาย รถถังมันไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในเมือง แต่ก่อนคนไทยเรี่ยไรเงินให้ทหารไปซื้ออาวุธ เอาไปรบกับข้าศึก มันจะปั้มตราติดกับอาวุธว่า ประชาชนจังหวัดนี้ๆ เป็นคนซื้อมอบให้ทหารกองนี้ๆ ประชาชนมีบุญคุณกับทหารมาก”

หากเปลี่ยนสำนึกภายในของทหารไม่ได้ อะไรก็คงไม่เปลี่ยน ลุงแมวคงอยากสื่อกับเราประมาณนี้ เราตัดไปที่คำถามถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน คำตอบของลุงนอกจากหนักแน่น ชัดเจน ทั้งยังรวดเร็วอย่างไม่ต้องนิ่งคิด ภาพของสังคมไทยถูกอธิบายอย่างกระชับด้วยสายตาของผู้เจนชีวิต

“มนุษย์ทุกคนมีกิเลสตัณหา มันมีมาก ตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ทุกคนมีหมด ทั้งพืช สัตว์ และคน แต่มีคนพวกหนึ่งที่มันมีล้น อะไรๆก็อ้างประชาธิปไตย แต่อำนาจของกูใครมายุ่งไม่ได้มาแตะไม่ได้ และคนไทยมึงต้องโง่เข้าไว้ ลุงเห็นด้วยกับคุณทักษิณที่ว่า โลกทุกวันนี้มันไม่ได้รบกันด้วยอาวุธ มันรบกันด้วยปัญญา เวลานี้เป็นเวลาที่แต่ละประเทศมันเอาเปรียบกันด้วยปัญญา และประเทศไทยนี้ คนตระกูลเดียวฉลาด คนทั้งประเทศโง่หมด มันจะไปสู้ใครเขาได้ โดนเขาเอาเปรียบตาย ประเทศที่มีกษัตริย์ แต่กษัตริย์ของเขาเคยมาแสดงออกอะไรเหนือรัฐบาลหรืออะไรๆก็รู้ไปหมดหรือ”

ลุงแมวยังชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของเราอีกว่า เป็นปัญหาตั้งแต่ในระดับจิตสำนึก ประสบการณ์จากเมื่อครั้งรับจ้างไปรบที่เวียดนามเป็นความทรงจำที่สะท้อนมาถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ลุงจึงเล่าให้ฟัง

“แต่ก่อนลุงเป็นทหาร เวลาไปรบที่เวียดนาม ตอนนั้นเมืองไทยมันไม่มีที่ให้รบ ลุงเห็นคนเวียดนามเวลาเขาสู้ เขาเอาชีวิตเข้าแลก จะเอาแผ่นดินเขาคืน แต่คนไทยทุกวันนี้ดีแต่เห่าหอนไม่ใช่ออกมาจากจิต คนไทยเห็นธงชาติเหมือนเห็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง เคยระลึกไหมว่านี่คือชาติ คือความภูมิใจ มีไหม เกาหลีเท่หน่อยก็ไป ญี่ปุ่นเท่หน่อยก็ไป เคยมีอะไรให้เขาเอาอย่างบ้าง เคยภูมิใจในความเป็นคนไทยจริงด้วยจิตรและวิญญาณไหม”

ความร้อนแรงของผู้เป็นทายาทของหัวหน้าคณะราษฎร์ยังคงลุกโชนแม้จะผ่านช่วงวัยหนุ่มสาวมานานโข เราเสียอีกที่ออกจะมึนชาไปบ้าง

“ไม่ใช่ลุงไม่รักชาตินะ แต่เวลาเพลงชาติขึ้น ลุงแมวยืนไหม..ไม่ยืน เพราะเคารพต่อธงชาติมามากแล้ว เป็นหนี้แผ่นดินแล้วก็ใช้หนี้แผ่นดินหมดแล้ว วันหนึ่งเขาบอกมึงไม่ต้องใช้หนี้แล้ว ลุงก็ลาออก”

สิ่งที่ต้องเผชิญในฐานะลูกชายของคณะราษฎร์ไม่ง่าย การลาออกของลุงแมว ตอนแรกเราคิดว่าน่ามาจากความเหนื่อยล้าตรากตรำต่อสนามรบ ความยากลำบากที่ต้องเผชิญในที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ ลุงว่า

“เขาให้ลุงออกเพราะข้อหาซ่องสุมกำลังปฏิวัติ”

“ลุงถามเขาว่า ทำไมถึงเชื่อว่าผมทำอย่างนั้น เขาว่าก็แกเป็นลูกคุณพ่อ พระยาพหลฯ และเป็นลูกน้องมนูญ รูปขจร ลุงถามเขาว่า ที่บอกทั้งสองประการนี้ ผมต้องปฏิวัติใช่ไหม พันเอกมนูญใน ยศตอนนั้น เขาจบมาจากไหน ผมจบมาจากไหน เขานักเรียนนายร้อย ผมโรงเรียนนายสิบ เขายศพันเอก ลุงแมวยศพันตรี เขายังทำไม่สำเร็จ ลุงแมวจะซ่องสุมกำลังอย่าว่าแต่จะชวนคนไปปฏิวัติเลย ชวนหมาไปปฏิวัติหมามันก็ไม่เอากับผม

“แล้วเขาก็ถามว่า ลุงเชื่อหรอว่าประเทศไทยปฏิวัติแล้วจะเจริญ” ลุงตอบว่า

“ผมยอมรับครั้งเดียวครั้งที่พ่อผมกับคณะราษฎร์ร่วมกันทำ ครั้งนั้นถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่มีผม เพราะโทษประหารเจ็ดชั่วโคตร เป็นกบฏนะ เขามุ่งมั่นเอาชีวิตเขาเข้าแลกเอาประชาธิปไตยมามอบให้คนไทย แต่ครั้งต่อๆมามันไม่ใช่ มันแค่เปลี่ยนฝูงเหลือบเพื่อสูบเลือดเนื้อประเทศชาติ โดยอ้างสามประ ประตัวแรกคือประเทศชาติมันย่ำแย่แล้วเลยต้องปฏิวัติ ประตัวที่สองประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าแล้วเลยต้องปฏิวัติ ประตัวที่สามคือ ประชาธิปไตยมันไม่มั่นคงสักทีเลยต้องปฏิวัติ แต่ไอ้ประสามตัวเคยได้ประโยชน์จากการรัฐประหารไหม มีแต่คนกลุ่มที่ทำร่ำรวยมีเงินมีทองขึ้นมา”

บทสนทนาที่เข้มข้นขึ้น เราย้อนกลับไปถามถึงข้อกล่าวหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นและอาจจะรวมถึงในสมัยนี้ในข้อที่กล่าวว่าคณะราษฎร์  ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ลุงแมวว่า

“ที่ว่าคณะราษฎร์ชิงสุขก่อนห่าม มันจะชิงสุกก่อนห่ามได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่ได้ใส่ความรู้ประชาธิปไตยให้ประชาชน เขาเป็นราชาธิปไตยแล้วเขาจะให้ประชาธิปไตยหรือ ไม่มีทาง มันขัดกับความเป็นจริง เพราะฉะนั้นโกหก เป็นไปไม่ได้ที่ราชาธิปไตยจะมอบประชาธิปไตยให้ แล้วก็ไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนกับราษฎร 2475 จะไม่เกิดขึ้นเลยหากคุณพ่อไม่เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 7 ทรงไม่อยู่ในธรรมและเอาปัญหามาลงที่ประชาชน ปลดข้าราชการออก

“เรื่องสะสมมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 6 ใช้เงินไปจนไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ จนต้องโละออก เพราะกษัตริย์ถือว่ามีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ประชาชนไม่มีความรู้ คณะราษฎร์เขาเตรียมไว้แล้ว เตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ อันนั้นของปลอม….” ซึ่งลุงแมวเน้นว่า นี่คือหนึ่งในหกหลักตามประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 ที่เรียกว่า ‘หลักการศึกษา’ และหากยึดหลักนี้ ประชาธิปไตยจะไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห่ามตามที่ ‘เขา’ ว่ามา

เมื่อถึงเวลาอันสมควรในคำถามสุดท้าย เราไม่ลืมถามถึงความเชื่อมั่นในระบบผู้แทนแบบรัฐสภาและภาพลักษณ์ในปัจจุบัน

“ถ้าเผื่อมันเป็นประชาธิปไตยจริงเมื่อไรมันก็จะพัฒนาไปเมื่อนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่เป็น” ลุงแมวยืนยัน เราสงสัยเล็กน้อยเพราะเป็นรัฐบาลของน้องสาวของคนที่ลุงแมวเองก็เอ่ยแสดงความเห็นด้วยหลายครั้ง หลายประเด็น

“แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมาจากการเลือกตั้ง มันชื่อว่าประชาธิปไตยแต่มันไม่ใช่ พูดกันนี้ รู้ไหมว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเขาสร้างมามีความหมายอะไร” ลุงแมวทิ้งคำถามสั้นๆนี้เอาไว้ ส่วนคำตอบคงเป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะคิด

ตอนเราลากลับลุงแมวขอตัวไปซ้อมเพลง ‘วันชาติ24 มิถุนา’ เพื่อร่วมร้องอีกครั้งในงานเฉลิมฉลองวันชาติที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งจะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2556 นี้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

ด้วยจิตวิญญาณของลูกผู้นำคณะราษฎร์ที่ยังพร้อมขับเคลื่อนทางความคิด บรรยากาศค่ำคืนเมื่อ พ.ศ. 2475 กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง...

วันรุ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่หลายคนวาดหวังอาจเจิดจ้าดุจตะวันฉาย. 

เพลงวันชาติ ๒๔ มิถุนา

24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ 
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย 
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี 
สำราญ สำเริง รื่นเริง เต็มที่ 
เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลายร่างกายก็เป็นปฏิกูล 
พวกเราต้องร่วมรักพิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญคู่ประเทศไทย 
เสียกายเสียชนม์ยอมทนเสียได้
เสียชาติประเทศไทยอย่ายอมให้เสียเลย 
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

 

หมายเหตุ : เพลงวันชาติ 24 มิถุนา แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 โดย มนตรี ตราโมท เพื่อใช้เป็นเพลงวันชาติ 24 มิถุนา ในยุคของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ใช้มาเพียง 21 ปี ก็ถูกยกเลิกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยได้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 เรื่องวันชาติ และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริ­ย์ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ซึ่งเป็นผลให้จะต้อ­งยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ไปเสีย ต่อมาเพลงนี้จึงเป็นเพลงที่นักประชาธิปไตยใช้รำลึกวันที่ได้รัฐธรรมนูญในทุก­ๆ วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท