การตอบสนองทางสังคม สู่การสนับสนุนขบวน P-move

เดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายจุดบนบาทวิถีและบนสื่อออนไลน์ ในบรรดาการชุมนุมที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ม็อบ” นั้น มีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ประชาธิปไตยทางตรง ในการเจรจาของการเมืองภาคประชาชนระหว่างผู้บริหารประเทศที่ใช้อำนาจประชาธิปไตยในระบบ “ตัวแทน” ขบวนการนี้มีชื่อว่า “P-move หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม1 เป็นขบวนการที่มาจากการรวมตัวกันของเครือข่ายชุมชนและคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัติ การขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาที่ไม่ได้มาจากฐานการดำรงอยู่ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขีดเส้นจำกัดความหมายของพลเมืองด้วยกฏหมายสัญชาติจนเกิดคนไร้รัฐอย่างคนไทยพลัดถิ่น การเปิดช่องว่างทางกฏหมายให้การแข่งขันแบบเสรีนิยมช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครองที่ดินไปจากเกษตรกร ไปจนถึงการแย่งชิงสายน้ำทำลายวิถีชุมชนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอันเป็นแหล่งพลังงานเพื่อการพัฒนา

การเคลื่อนไหวของขบวนคนชายขอบในครั้งนี้ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการขยายขอบเขตการแสดงตัวตนเชิงพื้นที่ (space) จากบาทวิถีหน้าทำเนียบรัฐบาล ผ่านเส้นทางถนนราชดำเนิน เดินเรื่องบนหน้ากระดาษของสิ่งพิมพ์ สู่ริมข่าวบนจอโทรทัศน์ ลัดไปสู่การขยายพื้นที่ทางความคิดที่ไม่ถูกจำกัดบน Social Media2 ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่ถูกนำมาก่อรูป “แนวร่วมทางความคิด” อันเป็นกำลังใหม่ในการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม ด้วยการฉายภาพชีวิตจริง จากตัวจริง ปัญหาจริง เนื้อหาจริง ว่าทำไมคนเหล่านี้ต้องจากบ้านมาไกล มากินข้าวข้างถนน ตากแดด ตากฝนอยู่ข้างทาง ทำอะไรบ้างระหว่างชุมนุม รวมถึงแจงเหตุผลของการเรียกร้องของแต่ละปัญหา ว่าทางออกและการเยียวยาว่าควรเป็นอย่างไร ผลลัพธ์จะกระทบต่อเป้าหมายหรือไม่ ผู้เขียนจึงขออธิบายสิ่งที่พบเห็นจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเริ่มจาก 1) รูปแบบ-เป้าประสงค์ของขบวนการ 2) เครื่องมือ-ช่องทางใหม่ในการสื่อสาร ไปจนถึง 3) เงื่อนไข-การตอบสนองทางสังคม อันเป็นตัวอธิบายของปรากฏการณ์ กล่าวคือ

 

1. รูปแบบ-เป้าประสงค์ของขบวนการ

P-move เป็นขบวนการทางสังคมที่มีรูปแบบการจัดขบวนจาก “เครือข่ายย่อย” มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายใหญ่โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มอำนาจและพลังการต่อรอง มีการบริหาร การออกแบบกิจกรรม และการตัดสินตามมติที่ประชุมของแกนนำชุมชน โดยมีที่ปรึกษาเป็นนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน หลักการของการเคลื่อนไหวนั้นจะให้ความสำคัญกับการจัดรูปแบบความสัมพันธ์กับรัฐ การจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยการแก้กฏหมายและขยับบรรทัดฐานทางสังคม โดยแสดงพลังมวลชน แสดงตัวตนด้วยการรวมกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน นำเสนอข้อมูลความทุกข์ร้อน ด้วยการรณรงค์ไปสร้างความเข้าใจ ไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการเจรจาด้วยการปิดล้อม-เดินขบวนกดดันให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นหยิบยกปัญหาขึ้นมาแก้ไขให้เป็นรูปธรรม เอกลักษณ์ของขบวนการที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยสมัชชาคนจนในปี 2538 ในลักษณะนี้ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2541) เห็นว่านี่เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวเอง กล่าวคือ

  • เป็นแรงกดดันโดยตรง ด้วยจำนวนและกิจกรรมต่าๆ เช่น การล้อมทำเนียบรัฐบาล การเดินขบวนแสดงพลัง เพื่อให้ได้บรรลุข้อเรียกร้องของตน

  • เป็นกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านเห็นว่า ตัวเองมีอำนาจ เห็นอำนาจของตนเองจากการการรวมตัวกัน-ร่วมกันต่อสู้ เพิ่มความมั่นใจและสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใน

  • เป็นวิธีการในการสื่อสารความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก และข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อเรียกร้องต่อสังคมหรือสาธารณะชน

เกี่ยวกับวิธีเคลื่อนไหว จะเห็นว่าการปรากฏตัว 18 วัน กลางเดือนพฤษภาของชาวบ้านกว่า 2,000 คน ที่จากบ้านมา อยู่-กิน-นอน บนพื้นคอนกรีตใต้ร่มผ้าใบสีฟ้า มีที่มาสืบเนื่องจากการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 แล้วมีการรับปากว่าจะมีการตั้งคณะทำงานดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่เรื่องดังกล่าวกลับเงียบหายไป เมื่อคำสัญญาไม่ได้รับการตอบสนอง การเมืองภาคประชาชนจึงต้องกลับมาปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลและริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งข้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาทั้ง 400 กรณี เปิดพื้นที่ให้ตัวจริงได้พบกับตัวแทนมารับแผนและข้อเสนอในการคลี่คลายปัญหาทั้ง 8 ประเด็น คือ

1. การจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัย

2. การพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง

3. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

4. ผลกระทบจากเหมืองแร่

5. เขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเล

6. กลุ่มปัญหาชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติ

7. คดีคนจนและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

8. กลุ่มปัญหาผลกระทบจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ

 

การเคลื่อนขบวนเจรจา-เรียกร้องมีทั้งการใช้ไม้อ่อนตั้งแต่การประกอบพิธีทางศาสนา การเดินขบวนศิลปวัฒนธรรม การแห่ขบวนพืชผักทรัพยากรธรรมชาติในการเรียกร้องโฉนดชุมชน ไปจนถึงการใช้ไม้แข็งด้วยการตรึงกำลังล้อมประตูเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ทุกกรณีมีการขยายผลและผลิตซ้ำด้วย Social media ที่เผยสองภาพคู่กันเสมอคือ “กระบวนการสันติวิธี”และ“ความทุกข์ร้อนที่เป็นของจริง” ของผู้ที่ยืนรออยู่ตรงหน้า กำลังดึงให้ผู้รับผิดชอบก้าวออกมาตอบสนองการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม

หากลองเปรียบเทียบย้อนไป 18 ปี ที่ระบบโทรศัพท์ไร้สายเพิ่งเริ่มต้น เมื่อสมัยสมัชชาคนจนครั้งแรกแล้ว การจัดขบวน การรวมตัวจากเครือข่ายย่อยสู่ขบวนใหญ่ ไปจนถึงการนำข้อเสนอเนื้อหาที่หลากหลายพร้อมๆกัน คงจะไม่ง่ายอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

 

2. เครื่องมือ-ช่องทางใหม่ในการสื่อสาร

เมื่อยุคม๊อบมือถือมาสู่ยุคม็อบSmartphone ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวและเป็นแหล่งข่าวได้ด้วยตนเอง การเผยแพร่สาระที่มีความโปร่งใส ด้วยความเข้มข้นและฉับไว ก็กลายเป็นจุดแข็งของการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้โดยอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการใหม่ที่สำคัญ คือ

ด้านความฉับไว โปรแกรม LINE บน Smartphone ถูกใช้อัพเดทข้อมูลในการจัดกลุ่มเฉพาะ ส่งต่อ ภาพ เสียง และพิมพ์อักษร กระจายข้อมูลในแนวราบบอกเล่าสถานการณ์ ให้ทุกคนในกลุ่มเข้าถึงข้อมูลสดได้ทั่วถึงพร้อมกัน เป็นช่องทางใหม่ที่ไม่มีในสมัยที่โทรศัพท์ยังใช้พูดคุยได้อย่างเดียว

ด้านความโปร่งใส การสื่อสารทางตรงในการถ่ายทอดภาพวิถีชีวิต การออกแรงคิด ลงแรงดำเนินกิจกรรมนำเสนอปัญหาในตอนกลางวัน ประชุมกันต่อจนดึกดื่น กับหลายคืนที่ฝนตกเปียกแฉะจนหาที่แห้งนอนไม่ได้ ต้องยกของขึ้น แล้วยืนคอยให้กลุ่มฝนเคลื่อนผ่านจนน้ำขังไหลลงท่อหมดไปถึงจะได้นอน ไม่ก็ตื่นต่อไปทั้งวัน ช่วยกันหุงหาอาหาร เตรียมป้ายข้อความ อุปกรณ์ประกอบการรณรงค์ในวันใหม่ ส่งทีมแกนนำเข้าไปทำเนียบหรือกระทรวงเพื่อเจรจา ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกถ่ายทอดสดอยู่ตลอดเวลา จากผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมสู่สายตาสาธารณะ โดยมี Facebook เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่าบรรยากาศในที่ชุมนุมไม่ได้เป็นดินแดนสนธยาอย่างที่เข้าใจ มีการแจ้งสถานะความคืบหน้าและกิจกรรมในวันต่อไป มีความโปร่งใสของกิจกรรมและชีวิตประจำวัน มีภาพคู่ขนานว่าในสภาวะที่ยากลำบาก ยังมีความงดงามของวิถีชุมชน มีความสมบูรณ์ของการหนุนทรัพยากรว่า เสบียงที่ได้นั้นมาจากใคร ได้รับรู้ว่า อาหาร ข้าวสาร ผัก ผลไม้ ส่วนใหญ่ก็คือของแทนตัวคนทางบ้านที่ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมในขบวนหน้าทำเนียบได้ เป็นตัวอย่างของเงื่อนไขในการสร้างความไว้วางใจจากประชาชนทั่วไปที่จะไม่เคลือบแคลงเป็นแรงต้านต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ด้านความเข้มข้น แม้ว่าครั้งนี้จะยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์สื่อ Social Media ที่ชัดเจนว่าแต่ละขั้น แต่ละช่วงเวลา ว่าทีมสื่อจะโยนประเด็นร้อนในพื้นที่ให้เข้าไปอยู่ในกระแสได้อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในครั้งนี้ก็คือ การนำเสนอ โต้ตอบข้อมูลโดยตรงจากผู้เขียนแถลงการณ์ โดยการโพสข้อมูลในลักษณะข้อความ ภาพ และ วิดิโอ ผ่าน Facebook และ Youtube เผยสาระของต้นตอปัญหา ไปจนถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหา ด้วยมุมมองของเจ้าทุกข์โดยตรง ซึ่งเจ้าทุกข์นั้นก็สามารถถาม-ตอบเพิ่มความลึกให้ข้อมูลในการติดตามได้อย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่ข่าวที่ทำได้เร็วโดยไม่ต้องรอแต่นักข่าวที่เป็นคนกลางแต่เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันSocial Network ก็เป็นเครื่องมือสื่อสารทางอ้อมด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ นักข่าวสื่อสาธารณะทั้งหลายในปัจจุบันก็ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือติดตามแหล่งข่าว ตามไปทำข่าวนำเสนอความเคลื่อนไหว และเชื่อมโยงข่าวกระแสหลักเข้ากับกระแสรองเข้าด้วยกัน เช่น นักข่าวพลเมืองกับสถานีโทรทัศน์ThaiPBS นักข่าวอิสระกับสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไป

 

3. เงื่อนไข-การตอบสนองทางสังคม

 

การปราศรัยบนเวทีต้องมีเวลาพัก แต่การแชร์ข้อมูลบน Social Media สามารถผลิตซ้ำและทำงานได้ตลอดเวลา เงื่อนไขในการสื่อสารที่เปลี่ยนไปได้ขยับให้คนนอกค่อยๆ เข้ามาใกล้คนชายขอบที่เป็นคนใน โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยของพื้นที่และเวลาเหมือนแต่เดิม แถมยังเพิ่มความเข้มข้นในการตอบสนองทางสังคมทั้งภายในและภายนอก จากการสื่อสารแบนราบและเข้มข้นขึ้นในขบวนการ พร้อมกับส่งผ่านข้อมูลที่ต้องการขยายสู่ภายนอกโดยไม่ต้องรอสื่อกลาง จนเกิด “แนวร่วมทางความคิด” เป็นมิตรจากการตอบสนองทางสังคม เป็นผลลัพธ์ของการติดตามข้อมูลจนเกิดความเข้าใจ เปลี่ยนสถานะจากคนนอกมาเป็นคนใน เป็นกำลังใจในการแก้ปัญหา ลงขันบริจาคเงินทุน หนุนเรื่องอาหาร การเกิดแนวร่วมทางความคิดจากคนที่ไม่รู้จักกัน เช่น คนขับ TAXI ที่ติดตามเรื่องราวผ่านทาง Facebook สามารถตัดสินใจได้ว่าพื้นที่จุดหมายตรงที่ชุมนุมจะมีความวุ่นวายหรือรถติดหรือไม่ เขารู้สึกว่าผู้ชุมนุมนั้นโปร่งใส มีความเข้าใจว่า “ม๊อบ”ไม่ได้มีแต่แบบที่ปิดถนนสร้างปัญหา แต่มีแบบที่เคลื่อนไหวโดยประชาชนอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน

 

บทสรุป

การตอบสนองทางสังคมที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นว่าหากนำ Social media มาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยวิธีการดังกล่าว เราจะสามารถขยับบรรทัดฐานทางสังคม ด้วยการกระชับพื้นที่ ทำลายระยะห่าง ระหว่าง"คนนอก" และ "คนใน" เราจะได้ทั้งกระจกสะท้อนและประตูบานใหม่ในขณะเดียวกัน กล่าวคือ Social Media ได้เปิดประตูบานใหม่ให้คนสามัญทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้น การขยับกระบวนทัศน์น่าจะทำได้ในจำนวนมากขึ้นพร้อมๆกัน การขยายผลต่างๆน่าจะใช้เวลาลดลง การนำเสนอสาระ / ข้อเสนอในการต่อรองจากเครือข่ายย่อยจะไม่ถูกชูอยู่แค่แถลงการณ์จากแกนกลางอย่างเดียวอีกต่อไป และต่อไปจำนวนของผู้ชุมนุมที่อยู่ตรงหน้าถนน ทำเนียบ รัฐสภา หรือ กระทรวงต่างๆ ก็อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในกดดันให้คู่กรณียอมเปิดประตูให้แกนนำเข้าไปร่วมโต๊ะเจรจาอีกต่อไป “แนวร่วมทางความคิด”ที่เกิดมาจาก Social Media หรือสื่อออนไลน์ จะเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มใหม่ที่ขยับบรรทัดฐานทางสังคม ร่วมลงแรงมาเคลื่อนไหวมีส่วนรวมไปได้พร้อมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541) หน้า 69

 

หมายเหตุ

1 ขบวนการ P-move มีการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ขบวนการทางสังคมใหม่” (New Social Movement) ที่ก่อรูปขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 จากการรวมตัวของเครือข่ายที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องนานถึง 17 ปี อย่างสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน (สคจ.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับเครือข่ายชุมชนในลักษณะเดียวกัน คือ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.), สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.), สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.), เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา, เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

2 Social Media หมายถึง สื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยใช้สื่อต่างๆ เป็นตัวแทนในการสนทนา โดยได้มีการจัดแบ่งประเภทของ Social Media ออกเป็นหลายประเภท เช่น ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ (Publish) ที่มี Wikipedia, Blogger เป็นต้น, ประเภทสื่อแลกเปลี่ยน (Share) ที่มี YouTube, Flickr, SlideShare เป็นต้น, ประเภทสื่อสนทนา (Discuss) ที่มี MSN, Skype, Google Talk เป็นต้น และยังมีอีกหลายประเภท โดยอีกประเภทของ Social Media ที่สร้างความสับสนให้บ้าง ก็คือ ประเภทเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือที่เรียกกันว่า Social Network ที่มี Facebook, LinkedIn, Google+ เป็นต้น ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 13 กันยายน 2554

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท