Skip to main content
sharethis

‘สุภิญญา’ สงวนความเห็น เผยติดใจให้ช่องสาธารณะรายเดิมโดยยังไม่มีเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ หลังมติบอร์ดกระจายเสียง กสทช.อนุญาต กองทัพบก-อสมท.-กรมประชาสัมพันธ์-ThaiPBS ทำโครงข่ายทีวีดิจิตอล ระยะเวลา 15 ปี แลกคืนคลื่นฯ ใน 5 ปี

 
17 มิ.ย.56 - ที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. มีมติอนุญาตให้ กองทัพบก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9), กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล หรือการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (Multiplex: MUX) ในระยะเวลา 15 ปี โดยครั้งนี้ยังไม่ได้พิจารณาลงมติเรื่องราคา และทั้ง 4 ราย จะต้องทำแผนการลงทุนและขยายโครงข่ายร่วมกันเสนอเข้ามาอีกรอบ
 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงเพิ่มเติม หลังที่ประชุม กสท.ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจให้ทั้ง 4 รายเดิมได้ใช้สิทธิ์ทำตรงนี้ เพราะส่วนหนึ่งทั้ง 4 รายเดิมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นต้นทุนเดิมมาก่อนแล้ว อาทิ เสา อุปกรณ์ และความชำนาญ  รวมถึง ทั้ง 4 รายได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการยินดีในการยอมคืนคลื่นความถี่เดิมที่ถือครองอยู่ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ กสทช.มีมติ จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ระยะเวลาในการคืนคลื่นเร็วกว่าที่ระบุไว้ในแผนแม่บทฯ จาก 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี 
 
สำหรับกรณีสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ที่จะหมดอายุสัมปทาน พ.ศ.2563 และช่อง 7 หมดอายุสัมปทาน พ.ศ.2565 ยังติดสัญญาสัมปทานอยู่จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามรถใช้เวลาการคืนคลื่นให้สั้นลงขึ้นเหมือนทั้ง 4 ช่องนี้ได้อย่างไร
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า แม้ส่วนตัวจะเห็นชอบกับการให้ใบอนุญาตโครงข่าย แต่ได้สงวนความเห็นในการไม่เห็นชอบการพิจารณาความจำเป็นให้รายเดิม อย่าง ช่อง 11 และ ช่อง 5 ได้รับสิทธิ์การประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ในระหว่างการออกอากาศคู่ขนานอัตโนมัติ โดยที่ยังไม่มีการสร้างเงื่อนไข หรือหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ที่ชัดเจนจาก กสทช. ในการที่จะสามารถเห็นแผนการปรับตัว ปรับผังรายการ หรือแผนการหารายได้ เพื่อเป็นทีวีบริการสาธารณะในอนาคต
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ตนเองได้เคยทำสงวนความเห็นและมติในการประชุม กสท. ครั้ง12/2556 วันจันทร์ที่ 25 มี.ค.56 เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะแล้ว ส่วนความชัดเจนเรื่องมาตรฐานการกำกับราคาของโครงข่ายฯ ได้เสนอให้ กสท.เร่งเปิดเผยข้อมูลกับผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล 24 ช่อง เพื่อความเป็นธรรมของรายใหม่ในการตัดสินใจ  ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ก็ควรตื่นตัวติดตามอย่างใกล้ชิด
 
 
ทั้งนี้ มติประชุม กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสท.) ครั้งที่ 23/2556 ดังนี้
 
1.  เห็นชอบผลการพิจารณาการตรวจสอบความชอบด้วยสถานะภาพตามกฎหมาย และความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5)  กองทัพบก  สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่เสนอ โดยพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ ความจำเป็นของการประกอบกิจการ และการใช้คลื่นความถี่ จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ และการคืนคลื่นความถี่ ดังนี้
 
1.1 กรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5)  กองทัพบก  สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กรมประชาสัมพันธ์ เห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ภายใต้บทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 74 โดยกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 83  วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติเห็นชอบการกำหนดระยะการคืนคลื่นความถี่ ตามที่แจ้งความประสงค์ไว้กับคณะกรรมการ 
 
1.1.1 ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5)  กองทัพบก นำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่สอง ตามมาตรา 10 (1) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อ กสท. เพื่อพิจารณาภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีมติ โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
 
1.1.2 ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กรมประชาสัมพันธ์ ตามข้อ 1.1 (2) นำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่สาม ตามมาตรา 10 (3) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อ กสท. เพื่อพิจารณาภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีมติ โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
 
1.2 กรณีสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา 88 และกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 83  วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ภายในระยะเวลาการอนุญาตให้ประกอบกิจการและใช้คลื่นความถี่ที่เหลืออยู่
 
2.  เห็นชอบผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก  บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และเพื่อประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศไทย และประโยชน์สาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควร
 
2.1 อนุญาตให้กองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เป็นระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ กสท.มีมติ
 
2.2 เห็นสมควรกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขในการอนุญาตเพิ่มเติมเฉพาะรายของผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ 2.1 ดังนี้
 
2.2.1  ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ภาคผนวก ก และตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. 2556 รวมถึงประกาศ กสทช. อื่นที่เกี่ยวข้อง
 
2.2.2  ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเป็นไปตามหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ และเงื่อนไขที่ กสท. กำหนด
 
2.2.3  เสนอแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบ แอนะล็อกโดยละเอียดต่อ กสท. เพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
 
2.2.4  การขยายโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ให้ปฎิบัติตามที่ กสท. กำหนด
 
2.2.5  เพื่อให้ประชาชนที่เปลี่ยนมารับบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลสามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกที่เคยชมอยู่เดิมได้อย่างต่อเนื่อง ให้ผู้รับใบอนุญาตข้อ 2.1 มีหน้าที่ออกอากาศบริการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 83 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในระบบแอนะล็อก คู่ขนาน (Simulcast) ตามมติ กสท. ครั้งที่ 6/2556  วาระที่ 4.9  เรื่อง แนวทางการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกบนโครงข่ายระบบดิจิตอล โดยให้ออกอากาศบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลแบบรายละเอียดคมชัดสูง (HD) จนกว่าจะยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลาที่ กสทช. ได้พิจารณากำหนดเวลาคืนคลื่นไว้ตามข้อ 1 
 
2.3 กรณีที่ กสทช.ปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อให้มีการใช้งานความถี่อย่างมีประสิทธิภาพหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลตาม 2.1 จะต้องดำเนินการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์โครงข่ายเพื่อให้บริการให้สามารถใช้งานกับคลื่นความถี่ที่กำหนดในแผนความถี่ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายใดๆ จาก กสทช. หรือสำนักงาน กสทช.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net