Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 500 คน พากันไปคุกคามเวที "เดินหน้าผ่าความจริง" ของ ปชป.ที่ลำพูนในวันที่ 8 มิ.ย. คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านไว้อย่างดีในเฟซบุ๊กของเขา ผมเห็นด้วยกับคุณสมบัติอย่างเต็มที่ และไม่มีอะไรจะกล่าวเสริมไปกว่านั้น
 
แต่เบื้องหลังการกระทำที่ "น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง" นี้ เท่าที่ผมพยายามสืบมาได้นั้นน่าสนใจ เพราะสะท้อนพัฒนาการของขบวนการคนเสื้อแดง อย่างน้อยก็ในจังหวัดภาคเหนือ
 
เสื้อแดงในเชียงใหม่และลำพูนนั้นประกอบด้วยคนที่อยู่ร่วมกับ "แกนนำ" หลายกลุ่ม ที่เรียกว่า "แกนนำ" คือคนที่ดำเนินกิจการสื่อ ที่สำคัญคือวิทยุท้องถิ่น หรือวิทยุออนไลน์ หรือเว็บไซต์ แกนนำเหล่านี้ช่วงชิงเสื้อแดงระหว่างกัน แม้ไม่ถึงกับโจมตีกันอย่างโจ่งแจ้งนัก แต่ฟังให้ดีก็จะเห็นรอยร้าว และการเสียดสีกันอยู่เป็นประจำ
 
แนวนโยบายทางการเมืองหลักๆ อาจไม่ต่างกันนัก แต่ต่อประเด็นต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันเลย เช่นระหว่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส.วรชัย เหมะ กับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ คุณเฉลิม อยู่บำรุง บางฝ่ายสนับสนุนคุณเฉลิม เพื่อจะได้ทักษิณกลับมาไวๆ อีกบางฝ่ายอยากได้ทักษิณกลับมาไวๆ เหมือนกัน แต่รับไม่ได้กับการปล่อยฆาตกรลอยนวล
 
ความแตกต่างที่สำคัญควรตราไว้ก็คือ แกนนำบางกลุ่มให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพราะที่จริงแกนนำเองก็เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล กินเงินเดือนในฐานะข้าราชการการเมืองอยู่ แต่อีกบางกลุ่มมีข้อสงวน กล่าวคือสนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ได้ เพราะรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้ฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่จำเป็นว่าจะเห็นสอดคล้องกับรัฐบาลไปทุกเรื่อง พูดอีกอย่างหนึ่งคือความเป็นอิสระกว่า
 
หนึ่งในกลุ่มแกนนำต่างๆ เหล่านี้ (อาจอยู่ระดับชายขอบ ซึ่งก็ดี เพราะทำให้เขาบอกสิ่งที่เขารู้ได้เต็มที่) บอกผมว่า ที่จริงเกือบทุกกลุ่มได้รับการสนับสนุนทางใดทางหนึ่งจาก "เจ๊" หรือคนของ "เจ๊" ในความเห็นของเขา พรรคเพื่อไทยเองก็ยินดีกับความแตกแยกของเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ เพราะทำให้เสื้อแดงไม่สามารถต่อรองอะไรกับพรรคได้ พรรคเองเลือกบางกลุ่มว่าเป็นคนของพรรค และทิ้งบางกลุ่มว่าไม่ใช่คนของพรรค (แต่ก็คิดว่าตัวเองคุมได้)
 
ผมใช้คำว่าพรรคเพื่อไทยตามเขา แต่ที่จริงแล้วถามว่าอะไรคือพรรคเพื่อไทย คงตอบไม่ได้ง่ายๆ ที่แน่นอนก็คือพรรคไม่ได้เป็นองค์กรที่พัฒนาถึงระดับ "สถาบัน" คือขาดความสามารถในการปรับตัว, วินัย, มีเครือข่ายองค์กรลงลึก, และเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ (ตามทรรศนะของ Samuel P. Huntington)
 
ดังนั้น คำว่าพรรคเพื่อไทยของเขาคงหมายถึง "เจ๊" และบริวารเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เจ๊" และบริวารคือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย
 
กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนความสัมพันธ์ภายในของขบวนการคนเสื้อแดงได้ดีคนเสื้อแดงโดยทั่วไปรับไม่ได้กับการที่ปชป.จะมา"เดินหน้าผ่าความจริง" ที่ ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน เพราะมีชาวบ้านในตำบล 2 ราย ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุมเมื่อปี 2553 ปัญหาคือจะตอบโต้ ปชป.อย่างไร
 
กลุ่มหนึ่งซึ่งออกมาปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้อง ก็คงไม่เกี่ยวข้องจริงๆ เพราะวิทยุของพวกเขาไม่ได้ประสานให้เสื้อแดงในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาประท้วง กลุ่มนี้สัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอย่างใกล้ชิด การประท้วงด้วยความรุนแรงเป็นภัยต่อรัฐบาลเอง เขาอ้างว่าเขาจัดเวทีคู่ขนานในลำพูน แต่ห่างกันถึง 3 กม. ไม่ได้ไปเผชิญหน้ากับผู้สนับสนุน ปชป.ในที่เกิดเหตุ
 
กลุ่มที่เป็นแกนนำการประท้วงในที่เกิดเหตุ คือกลุ่มที่แม้ได้รับความช่วยเหลือจาก "เจ๊" เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของคนรัฐบาล ระดมเสื้อแดงจากเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง ไปร่วมกับเสื้อแดงลำพูนในการประท้วง เจตนาเดิมคือต้องการไปถามผู้นำ ปชป.ว่าคุณฆ่าเขาทำไม แต่ก็บานปลายจนมีการโจมตีกันด้วยหนังสติ๊ก
 
กลุ่มที่ออกมาปฏิเสธอาจเดือดร้อนเพราะมีคนเสื้อแดงที่สวมเสื้อซึ่งมีตราหรือข้อความของพวกเขาคือ"รักเชียงใหม่๕๑"อยู่ด้วย จึงอ้างว่ามีการจ้างคน 300 คน ให้สวมเสื้อนั้น ไปปะปนกับฝูงชนเพื่อใส่ร้ายกลุ่มเสื้อแดงของเขา แต่ความจริงแล้วสมาชิกของสองกลุ่มนี้ เคยสังกัดกลุ่มเดียวมาก่อน จึงไม่แปลกที่หลายรายยังใช้เสื้อของอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการกับอีกกลุ่มหนึ่ง และเดิมก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ปชป.แต่อย่างไร
 
โดยไม่มีข้อมูลดิบอะไรเพิ่มเติม ผมให้สงสัยว่า ในการแย่งชิงมวลชนคนเสื้อแดงระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้น ยุทธวิธีที่ใช้น่าจะมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือการดึงทรัพยากรออกมาเฉลี่ย กลุ่มใดที่เข้าถึง "เจ๊" ได้มาก ก็อาจมีทรัพยากรออกมาเฉลี่ยได้มาก ในขณะที่กลุ่มซึ่งมีเสื้อแดงสนับสนุนมาก ก็มีทรัพยากรเฉลี่ยได้มากเช่นกัน (เช่นเวลาชุมนุม มีข้าวแกงน้ำแข็งเลี้ยงดูกัน) สรุปก็คือการมีทรัพยากรสำหรับเฉลี่ยกันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะได้จากที่ใด ยุทธวิธีที่สองคือยกระดับการเคลื่อนไหวให้แหลมคมมากขึ้น เป็นการเอาใจผู้คนซึ่งว้าวุ่นอยู่เวลานี้ (ใจเขาใจเรานะครับ ฟังความหยาบคายป่าเถื่อนของรายการทีวีบลูสกายก็จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี) เสื้อแดงก็มีเหตุที่จะต้องว้าวุ่นใจอยู่ไม่น้อยไปกว่าเสื้อเหลือง, สลิ่ม และหน้ากากขาว ก็คน "กำพืด" เดียวกันทั้งนั้น
 
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนขบวนการคนเสื้อแดงกำลังแตกร้าวกันเอง ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความแตกร้าวในขบวนการ แต่นั่นเป็นชะตากรรมของขบวนการหรือองค์กรเคลื่อนไหวของมวลชนระดับล่าง (sabaltern) ที่ไหนๆ ก็เคยเผชิญมาแล้วทั้งนั้น
 
การที่มวลชนคนระดับล่างในสังคมหนึ่งๆ จะถูกจัดองค์กร (organized) ขึ้นเป็นขบวนการนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบการเมืองประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ในยุโรปองค์กรของมวลชนคนระดับล่างนี่แหละที่ทำให้ต้องขยายสิทธิเลือกตั้งให้เป็น "สากล" แก่ทุกคนในสังคม และเพราะกุมคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ในมือ จึงทำให้พรรคการเมืองต้องลงมาเชื่อมต่อ และจัดองค์กรให้ตอบสนองต่อคะแนนเสียงนี้ให้ได้ จึงเป็นพลังบังคับให้การพัฒนามีลักษณะเท่าเทียมกัน
 
ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ในทุกสังคมทั้งยุโรป, ละตินอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย การจัดองค์กรของมวลชนระดับล่างนั้นฝ่ายซ้ายเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน (ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องอธิบายในที่นี้) ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่ม "แดงสยาม" จึงมีนัยยะสำคัญแก่ขบวนการเสื้อแดง ไม่ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมจะครอบงำขบวนการมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ประสบการณ์ของฝ่ายซ้ายน่าจะช่วยให้การจัดองค์กรเป็นไปได้มากขึ้น ความ "เสมอภาค" ที่ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องตลอดมา จะมีนัยยะที่ลึกมากขึ้นกว่าการต่อต้านอภิสิทธิชนทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ เพื่อเปิดทางให้ทักษิณกลับบ้านเท่านั้น
 
องค์กรที่พัฒนาขึ้นเป็นสถาบัน (พรรคการเมือง, สหภาพแรงงาน, สหอาชีวะ, ฯลฯ) จะช่วยทำให้มวลชนคนระดับล่างเลิกแวดล้อมผลประโยชน์ของตนกับบุคคล (ทักษิณ, ยิ่งลักษณ์, ณัฐวุฒิ, จตุพร, หรือ "เจ๊" และ "เฮีย" ฯลฯ) ไปสู่การยึดมั่นกับนโยบายการพัฒนาที่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน
 
แต่ยังครับ ขบวนการเสื้อแดงยังไปไม่ถึงตรงนั้น แม้กระนั้นก็มีสัญญาณบางอย่างที่น่าสนใจ แกนนำ (ชายขอบ) ที่คุยกับผมกล่าวถึง "เจ๊" ว่า ก็เสื้อแดงเราทิ้งตัวบุคคลมาตั้งเยอะแยะแล้ว คนอายุตั้ง 60 แล้วยังทิ้งได้ (ผมไม่ทราบว่าเขาหมายถึงใคร ทักษิณ หรือคนอื่นๆ อีกมากก็ไม่ทราบ) สาอะไรกับ "เจ๊" คนเดียว
 
แกนนำ (ชายขอบ) อีกคนหนึ่ง ที่พยายามผลักดันให้พรรคเพื่อไทยใช้ระบบไพรมารีในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เล่าว่าเขาถูก "เจ๊" เรียกไปปราม ผู้สนับสนุนเขาบางคนเล่าว่า ได้รับข้อเสนอเป็นตัวเงินด้วยซ้ำให้หยุดการเคลื่อนไหวแบบนี้
 
ผมคิดว่า การจัดองค์กรภายในของขบวนการเสื้อแดงกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีอะไรเคลื่อนไหวอยู่ข้างล่างมากกว่าปรากฏการณ์ที่เรามองเห็นจากข้างบน หลายคนมองเห็นว่า การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า แต่การไปร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ระยะยาวแก่คนเสื้อแดง แม้กระนั้นในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งยังมองเห็นแนวทางข้างหน้าไม่ชัดนั้น "เจ๊" ก็สำคัญ แต่ดูเหมือน "เจ๊" แตกต่างจาก "เจ้าพ่อ" ในอดีต ตรงที่ทั้งสองฝ่ายต่างสำนึกเต็มเปี่ยมว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง "เจ๊" และคนเสื้อแดง เป็นการแลกเปลี่ยนบริสุทธิ์ ไม่มีความภักดีใดๆ เจือปนอยู่เลย
 
ดังนั้น จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะยั่งยืน เพราะในการแลกเปลี่ยน คนเราย่อมเปลี่ยนคู่ความสัมพันธ์ได้เสมอ
 
อย่างไรก็ตาม หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล จะนำไปสู่อะไรข้างหน้าก็ยังคาดเดาไม่ถูก แต่ไม่มีวันที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะถอยกลับทางเดิม เพื่อไปเป็นสมุนของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมาหลายชั่วโคตร ฉะนั้น การรัฐประหารในทุกรูปแบบ จึงไม่อาจให้ผลอย่างที่คาดหวังได้อีกแล้ว
 
 
 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกที่ คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชน 17 มิถุนายน 2556
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net