Skip to main content
sharethis

 

24 มิ.ย.56  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิตยสารวิภาษา จัดงาน รัฐศาสตร์ชุมนุม: สู่ทศวรรษที่เก้าประชาธิปไตยไทย โดยในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง“รัฐศาสตร์กับวิกฤตการเมืองไทย” ส่วนในช่วงเช้าเป็นงานชุมนุมทางวิชาการ ซึ่งมีการนำเสนองานศึกษาหลายชิ้นจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สถาบันต่างๆ (อ่านหัวข้อทั้งหมดที่ด้านล่างสุด)

ในการอภิปรายเรื่องรัฐศาสตร์กับวิกฤตการเมืองไทย ยุทธพร อิสระชัย จากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงปัญหาหลายประการทั้งการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเรื่องนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ความอ่อนแอของรัฐสภา ระบบตรวจสอบที่มีปัญหา การแทรกแซงอำนาจรัฐ ส่วนการเมืองนอกระบบก็ยังมีปัญหาการสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง วัฒนธรรมที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างประชาธิปไตยยังไม่ดีพอ ตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘มวลชนาธิปไตย’ การเคลื่อนไหวการเมืองแบบมวลชนไม่ได้เป็นภาพเชิงบวกเสมอไป ถ้าประเด็นไม่สร้างสรรค์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นการที่มวลชนพยายามแทรกตัวสู่อำนาจรัฐ ก็ไม่ต่างจากที่เคยกล่าวหาทุน

เขากล่าวอีกว่าองค์ความรู้ใหม่ของรัฐศาสตร์ที่จะทันต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ยังไม่ดีพอ ทำให้ถูกตั้งคำถามมากว่ารัฐศาสตร์มีบทบาทในการแก้ปัญหาทางการเมืองได้สักเท่าไร

วิโรจน์ อาลี  จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของระบบการเมืองไทยเป็นดังที่เบน แอนเดอร์สันเคยเขียนไว้ในหนังสือเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า ในช่วงสร้างความเป็นชาติ เราสามารถแยกตัวเองออกจากอำนาจเด็ดขาด ( absolutism) ได้ ซึ่งอำนาจเด็ดขาดก็ความหมายหลากหลาย จนถึงวันนี้ปัญหานี้ก็ยังไม่จบ เหมือนเหตุการณ์พาเราไป แต่ทุกคนก็ต้องการคำตอบเดียวที่สุดโต่ง เช่น ความมั่นคงของชาติสำคัญที่สุด การรักษาไว้ซึ่งสถาบันสำคัญที่สุด เลือกไม่ได้ เชื่อว่าศาลไม่ว่าทำอะไรก็ถูกทั้งหมด เป็นต้น ถ้าไม่สามารถนิยามความเป็นชาติที่วางอยู่บนความเป็นประชาชาติหรือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางได้ก็ถือว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษามองไกลและเท่าทันสถานการณ์การต่างๆ ในโลกได้  

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากอ้างอิงถึงรัฐศาสตร์อเมริกัน ก็จะมีไว้เพื่อเชิดชูความเป็นอเมริกัน ความเป็นอเมริกันคือประชาธิปไตย รัฐศาสตร์อเมริกันเป็นหนึ่งเดียวกับประชาธิปไตย และอเมริกันก็ส่งออกประชาธิปไตย เรากต้องถามตัวเองว่าตัวตนของรัฐศาสตร์คืออะไร มันทำอะไรบ้าง ปัจจุบันนี้ดูเหมือนรัฐศาสตร์จะไม่มีที่ยืน ขณะที่ผู้คนหันศึกษากฎหมายหรือไม่ก็เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่า แต่รัฐศาสตร์กลับเน้นตั้งคำถาม เคลื่อนตัวไปมาระหว่างปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ มีความหลากหลายที่ไม่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ

 

ทำไมองค์อธิปัตย์ได้สิทธิตัดสินใจในสภาวะยกเว้น

เกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอเรื่อง“อ่าน Carl Schmitt ในบริบททวิรัฐ” เป็นงานศึกษาที่ยังไม่เสร็จ เน้นศึกษาประโยคสำคัญของ Carl Schmitt ที่ว่า องค์ประชาธิปัตย์เป็นบุคคลสำคัญที่ตัดสินใจในสภาวะยกเว้น ชมิทพยายามเข้าใจองค์อธิปัตย์โดยอธิบายในแง่เทววิทยาทางการเมืองบนพื้นฐานของการเมืองสมัยใหม่ที่แปรสภาพมาจากความเข้าใจแบบเก่า องค์อธิปัตย์จึงเป็นบุคคลที่ได้รับเทวสิทธิบางอย่างในสร้างความชอบธรรมให้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง การตัดสินใจต่างๆ ขององค์อธิปัตย์ก็เสมือนภาวะ creation  เป็นสภาวะยกเว้นให้เฉพาะบางบุคคลที่จะได้รับสภาวะนั้น เป็นที่มาของ divine right มาสู่กษัตริย์ เป็นบุคคลที่ transcend body ของ God เป็น 2 กายา

สิ่งที่ชมิททำคือการทำให้เทววิทยาส่วนนี้มาบนพื้นฐานของรัฐสมัย รัฐเสรีนิยม องค์อธิปัตย์ไม่ใช่เพียงคนใช้อำนาจ แต่สามารถใช้อำนาจในสภาวะยกเว้น โดยมีสิ่งที่ตัดกันคือ กฎหมายกับสภาวะยกเว้น กฎหมายรองรับการตัดสินใจขององค์อธิปัตย์ และองค์อธิปัตย์ก็ตัดสินใจใช้อำนาจบนพื้นฐานของการได้รับกายกเว้น เป็น free act โดยชมิทเห็นว่าสภาวะยกเว้นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในลักษณะของบรรทัดฐาน (Norm) เดิมที่วางอยู่บนพื้นฐานของอภินิหาร (miracle) ชมิทอธิบายบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่รองรับการใช้อำนาจนั้น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 ที่อนุญาตให้องค์อธิปัตย์ใช้อำนาจตรงนี้ได้ การอ่านชมิทตรงส่วนนี้จะทำให้เห็นอำนาจรัฐที่ซ้อนรัฐซึ่งเร้นตัวเองบนพื้นฐานของรัฐแบบ normative state และพยายามอธิบายลักษณะการทำงานนี้ซึ่งอาศัยการทำงานของ legal state ว่าเป็นอย่างไร

 

การเมืองวัฒนธรรมของ ลูกจีนกู้ชาติ VS หมู่บ้นเสื้อแดง

พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ นำเสนอเรื่อง Politics of Multiculturalism in Thailand โดยระบุว่าข้อถกเถียงใหญ่ของโลกนี้ไม่ได้จบลงที่ประชาธิปไตยแต่เกี่ยวพันไปถึงการกำหนดตัวนโยบายด้วย การเมืองในวันนี้มีสองเรื่องที่เพิ่มขึ้นคือ สิทธิทางเศรษฐกิจ และ สิทธิทางวัฒนธรรม โดยในเรื่องเศรษฐกิจก็จะมีการพูดถึงสวัสดิการ และเนื่องจากยุโรปมีการเคลื่อนย้ายของคนทำให้ต้องมีการพูดเรื่องวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนด้วยเช่นกัน  

สำหรับสถานะของความรู้และการต่อสู้เรื่องนี้ในเมืองไทยไม่เด่นชัดนัก ที่ผ่านมาส่วนมากจะศึกษาเรื่องนโยบายชาวเขา แต่อยากจะนำเสนอมันในบริบททางการเมืองของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีการอธิบายประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง โดยจะเห็นผ่านปรากฏการณ์ ลูกจีนกู้ชาติ กับ หมู่บ้านเสื้อแดง ทั้งนี้ ขอไม่อธิบายในมุมของเศรษฐกิจ ชนชั้น เพราะเห็นว่ามีคนพูดแล้วและเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายประกอบด้วยคนหลากชนชั้นทั้งคู่

จะเห็นว่าวิธีการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายได้ดึงเอา moment บางอันในอดีตมาพยายามปรับใหม่ และเอาคอนเซ็ปท์คนกลุ่มน้อยมาเกี่ยวพัน เช่น การที่ลูกจีนนำปมในอดีตของตัวเองมาต่อสู้ แม้ปมนั้นจะจบไปแล้ว แต่ก็สร้างภาพนี้อีกครั้ง ในการ “กู้ชาติ” กรณีเสื้อแดงจุดสำคัญของการดึงความเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นชั่วเวลาสั้นๆ ช่วงถูกปราบ ก่อนยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเกิดหมู่บ้านเสื้อแดงจำนวนมากในขณะนี้เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เป็นการแข็งข้อกับรัฐในระดับรากฐาน ดังนั้นจะเห็นว่า การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ใช้หลักเสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบตะวันตกล้วนๆ แต่เชื่อมโยงกับมิติทางประวัติศาสตร์ที่อ้างว่าตัวเองถูกกดขี่ แล้วแปรเปลี่ยนมันเป็นพลังในการกู้ชาติ ในการต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายนี้ล้วนแต่มีความเป็นพลเมือง (citizenship) เหมือนกัน แต่ดูเหมือนการเมืองปัจจุบันยังไม่ตอบคำถามของเขา

 

เสียงข้างน้อย อาจไม่ถูกเสมอไป

ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ นำเสนอเรื่อง "เสียงข้างน้อยในสังคมประชาธิปไตย" กล่าวว่า รูปแบบของการพูดถึงสิทธิเสียงข้างน้อยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือช่วงก่อนที่จะรณรงค์รับรัฐธรรมนูญในอเมริกายุคต้นๆ federalist เขียนเพื่อจูงใจตัวแทนรัฐนิวยอร์กรับรัฐธรรมนูญของสหภาพ บทความสำคัญชิ้นหนึ่งเขียนโดย Alexander Hamilton ชี้ให้เห็นว่า เสียงข้างมากที่จนและขาดความรู้เป็นอันตราย จึงพยายามจะออกแบบสถาบันทางการเมืองรองรับเสียงข้างน้อยที่ฉลาด จึงเป็นที่มาของการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในอเมริกา นี่เป็นหลักการที่สะท้อนให้เห็นว่าคำนึงถึงเสียงข้างน้อยอย่างเป็นรูปธรรม

ในเมืองไทย 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมของทั้งสองฝั่ง ด้านหนึ่งการชุมนุมยืนบนสิทธิของเสียงข้างน้อย แต่มันต่างกับสังคมที่มีพัฒนาการทางสังคมที่มีประชาธิปไตยมายาวนาน เพราะการเคลื่อนไหวของเราพร้อมจะล้มรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย ดูได้จากข้อเสนอของ พธม.ที่เสนอ ม.7 หรือกลุ่มที่สนามหลวงที่พยายามเสนอใช้ ม.3 ความน่าสนใจคือการกล่าวอ้างเสียงข้างน้อยในไทย โดยลำพังตัวมันเองไม่สามารถทำงานได้โดยหลักการโดดๆ แต่กลุ่มที่กล่าวอ้างเสียงข้างน้อยต้องผนวกกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องความดี คนดี , การเคลื่อนไหวของกองทัพ ดังนั้น วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยตามหลักสากล จึงมีปัญหาอยู่ตลอดเวลาในสังคมการเมืองไทย

เรื่องเสียงข้างน้อยในมิติเศรษฐกิจนั้น เสียงข้างน้อยจะเป็นผู้มั่งคั่ง เป็นกลุ่มอภิชนที่เชื่อว่าตัวเองกำหนดทิศทางและหาทางออกของสังคมได้ โดยขอให้คนส่วนใหญ่วางใจและเชื่อใจกลุ่มตนเองเพื่อจะหาทางออกได้ร่วมกัน

ดังนั้นจึงมีสองคำถามที่จะชี้ชวนนักรัฐศาสตร์คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องศึกษาเสียงข้างน้อยในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง และถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยต้องมาพูดเรื่องระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน เพื่อกันไม่ให้เสียงข้างน้อยเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตย

 

ชุมชนเข้มแข็ง การควบคุมแบบละเอียดของรัฐ

รัชนี ประดับ นำเสนอเรื่อง“ชุมชนเข้มแข็ง: ปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐไทยสมัยใหม่” โดยระบุว่านี่เป็นเทคนิควิทยาการของรัฐสมัยใหม่ เป็นวิธีควบคุมของรัฐแบบใหม่ ไม่ได้มีเป้าหมายจากการหลุดรอดจาการควบคุมอย่างที่เข้าใจ

ความเข้าใจต่อชุมชนเข้มแข็ง หลังพฤษภา 35 มักโยงกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กระบวนการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8  การเผยตัวของคำนี้เป็นปฏิบัติการของวาทกรรมในการพัฒนาท่ามกลางการอุปถัมภ์ของนักวิชาการ

คำเช่น การพึ่งตนเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมชุมชน เกิดขึ้นในทศวรรษ 2530 โดยอาศัยเครือข่ายอำนาจที่ทำงานใกล้ชิดชุมชนเป็นกลไกดำเนินการ จากที่เป็นกระแสทางเลือกก็เริ่มมาฮิตในทศวรรษ 2540 ร่วมไปกับเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับศิลปะของการปกครองของรัฐสมัยใหม่ เพียงแต่เน้นให้ประชาชนพึ่งตัวเองมากว่าพึ่งพิงรัฐ รัฐไม่ได้ใช้อำนาจกดบังคับ แต่คำนึงถึงการดูแลประชาชน โดยอาศัยประชาชนเองที่จะมีสำนึกในการดูแลตัวเอง จัดการชีวิตประจำวันกันเอง

หมอประเวศ วะสี ถือเป็นผู้ผลิตวาทกรรมเรื่องนี้ที่รัฐหยิบไปใช้มากที่สุดคนหนึ่ง และมีส่วนอย่างมากของการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งผ่านองค์กรอิสระ สสส. สกว. พอช. จัดการโปรแกรมพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ชุมชนเข้มแข็งมีลักษณะกำลังพัฒนาแต่ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ไม่ได้โหยหาอดีตแบบเดิม หากแต่เป็นการก่อตัวชุมชนในแบบใหม่ บริหารจัดการชีวิตโดยอาศัยสำนึกคนในชุมชนเอง ปฏิบัติการเกิดจากการกระตุ้นในเงื่อนไขของความสัมพันธ์อำนาจที่หลากหลาย จึงกลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัยต่อเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการสร้างตัวมัน เพราะไม่ได้ปราศจากอำนาจ แต่มองว่าเป็นการพัฒนาเทคนิคการใช้อำนาจอีกรูปแบบ เป็นการควบคุมอย่างละเอียดลออในเปลืองของเสรีภาพแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ขบวนการนักศึกษา..ที่ไม่ได้เข้าป่า

ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นำเสนอเรื่อง "การเมืองของอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษา : อิทธิพลทางอุดมการณ์แบบ พคท. ต่อขบวนการนักศึกษาในเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 ถึงยุคป่าแตก”  กล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้สนใจศึกษาขบวนการนักศึกษา หลัง 6 ตุลา 19 จนถึงป่าแตก โดยมุ่งศึกษากลุ่มที่ปฏิบัติการอยู่ในเมือง ไม่ใช่กลุ่มที่เข้าป่า คำถามสำคัญคือ อุดมการณ์นักศึกษาคืออะไร, ความสัมพันธ์ของขบวนการนักศึกษายุคนั้นกับนโยบายและการเมืองในปัจจุบัน, ขบวนการซ้ายไทยในบริบทการเมืองเหลืองแดงยัง function อยู่หรือไม่ และมีส่วนกำหนดการเคลื่อนไหวเหลืองแดงไหม

แง่การเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมอุดมการณ์ของนักศึกษา งานประจักษ์ ก้องกีรติ แบ่งเป็น 3 สาย คือ พวกเสรีนิยม, พวกซ้าย ไม่ใช่แบบ พคท.แต่เป็นแบบกุหลาบ สายประดิษฐ์, พวก new left บุปผาชนอเมริกัน หลัง 14 ตุลา 16 บริบทสังคมเริ่มเปิด ส่วน พคท.ก็เริ่มมามีอิทธิพลมากในยุคนี้ จนถูกปราบเมื่อ 6 ตุลา 19  นักศึกษาส่วนใหญ่ก็หนีเข้าป่า พวกที่หลงเหลือในเมืองหรือ “ผู้ปฏิบัติงานในเขตเมือง” นั้นจากหลักฐานต่างๆ การสัมภาษณ์ การอ่านเอกสาร พบว่า การขยายอิทธิพลเชิงอุดมการณ์มีนัยที่สำคัญ 2 อย่าง คือ เป็นการเคลื่อนไหวที่ออกมาจากยุทธศาสตร์ของ พคท.เอง ที่ประเมินแล้วว่าจะต้องขยายเขตงานการปฏิวัติเชื่อมเขตเมืองกับป่าเข้าด้วยกัน กับเป็นส่วนของขบวนการนักศึกษาเอง หากถามว่านักศึกษาสัมพันธ์กับ พคท.ได้อย่างไร เราจะพบว่าหลังการล้อมปราบก็เข้าสู่สถานการณ์ที่เปิดเผยตัวไม่ได้ ด้วยความที่ถูกรัฐไล่ขยี้ในทางการเมืองและต้องการแก้แค้น ทำให้ความต้องการทั้งสองส่วนมาบรรจบกัน จึงเกิดการรื้อฟื้นอุดมการณ์ภายใต้อิทธิพลพคท.ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร

ยุทศาสตร์ พคท. รูปธรรมนั้นจะมีหน่วยจัดตั้งพรรคที่อยู่ในเมือง ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองของพรรคแบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกนักศึกษารุ่นพี่ที่มีสัมพันธ์กับ พคท.ก่อนหน้า 6 ตุลาอยู่แล้ว กับ ผู้ปฏิบัติงานของพรรคโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ส่งรุ่นพี่มาเสียมากกว่า พคท.ออกทฤษฎี “กองหน้าสะพานเชื่อม” ถูกผลิตออกมาจากศูนย์การนำในช่วง 2520-2522  ตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา แต่นักศึกษาที่เข้าไปในป่าก็เริ่มทะเลาะกับพรรคในป่าแล้วเกี่ยวกับการวิเคราะห์สังคมไทยตรงนี้ ส่วนในเมืองกลับเป็นหนังอีกม้วนหนึ่ง นักศึกษาในเมืองไม่ค่อยรู้สถานการณ์ในป่า จึงยอมรับอุดมการณ์ พคท.โดยตั้งคำถามน้อย

สำหรับกองหน้าสะพานเชื่อมนั้น พคท.อธิบายว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นชนชั้นนายทุนน้อย ไม่ใช่ขบวนปฏิบัติโดยตัวเอง แต่เป็นกองหน้าในการเผยแพร่แนวคิดสังคมวิทยาศาสตร์ เชื่อมกรรมการแรงงาน นักศึกษาก็เชื่อว่าตัวเองเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต่อมาของเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้เปลี่ยนนโยบายเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น ขบวนการนักศึกษาก็ฟื้นคืนมาภายใต้ยุทธศาสตร์แบบพคท. ขบวนการนักศึกษาในเมืองช่วงนั้นแทบจะเป็นสาขาหนึ่งของพรรคด้วยซ้ำ ภายใต้การชี้นำของ พคท.นี้ก็เกิดเครือข่ายนักศึกษาระหว่างสถาบัน มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลับลวงพราง นำไปสู่การประท้วงนโยบายเศรษฐกิจ เพราะพูดการเมืองตรงๆ ไม่ได้

 

ทั้งนี้ หัวข้อทั้งหมดที่มีการนำเสนอได้แก่ เกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอเรื่อง“อ่าน Carl Schmitt ในบริบททวิรัฐ” , พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นำเสนอเรื่อง “politics of multiculturalism in thailand”, บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นำเสนอเรื่อง “ทัศนียภาพของการต่อต้าน: สู่การเมืองทัศนา”, ณัฐพล ใจจริง นำเสนอเรื่อง “เขียนสามัญชนในสังคมประชาธิปไตยไทย”, ศุภชัย ศุภผล นำเสนอเรื่อง“รุสโซในระบอบปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2745-2490” , ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ นำเสนอเรื่อง "เสียงข้างน้อยในสังคมประชาธิปไตย", ชนุตร์ นาคทรานนท์ นำเสนอเรื่อง "เหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางตรรกศาสตร์ในการเมืองไทย", ศรัณย์ วงศ์ขจิตร นำเสนอเรื่อง “66/23 ใน ‘ไฟใต้’, ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นำเสนอเรื่อง "การเมืองของอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษา : อิทธิพลทางอุดมการณ์แบบ พคท. ต่อขบวนการนักศึกษาในเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 ถึงยุคป่าแตก”, อุเชนทร์ เชียงเสน นำเสนอเรื่อง “หลังการเมืองแบบฝ่ายซ้าย- พคท. (2524-2535): การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความคิดของนักศึกษา-ปัญญาชนกลุ่มต่างๆ ยุคหลัง “ป่าแตก”, รัชนี ประดับ นำเสนอเรื่อง“ชุมชนเข้มแข็ง: ปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐไทยสมัยใหม่” 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net